จับตาฟังคำพิพากษาคดี “ศิระพัทธ์” ปลดรูป ร.10 หน้าหมู่บ้านที่นนทบุรี ต่อสู้พฤติการณ์ไม่เข้าข่าย ม.112

ในวันที่ 1 มิ.ย. 2566 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ หนุ่มนนทบุรีวัย 36 ปี ประกอบอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ รับงานวาดรูปและเล่นดนตรี ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ออกนอกเคหสถานในเวลาเคอร์ฟิว ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จากกรณีถูกกล่าวหาว่าปลดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากป้อมยามหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จังหวัดนนทบุรี แล้วนำกรอบรูปไปทิ้งลงคลอง เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 8 ส.ค. 2564 

เหตุการณ์นี้ยังมี กนกวรรณ (สงวนนามสกุล) ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโทอายุ 26 ปี ถูกฟ้องในข้อหารับของโจร หลังถูกกล่าวหาว่ารับมอบและเก็บรักษาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ศิระพัทธ์ลักมาเอาไว้ โดยในการพิจารณาคดี อัยการโจทก์ได้ขอรวมการพิจารณาสองคดีนี้เข้าด้วยกัน เนื่องจากมีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน

การพิจารณาคดีนี้ ตั้งแต่ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลได้สั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ตามคำร้องของอัยการ ที่อ้างขอให้พิจารณาลับเพื่อประโยชน์แห่งความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ทำให้ในการพิจารณาอนุญาตให้เฉพาะคู่ความในคดีทั้งสองเข้าร่วม หากแต่ในนัดสืบพยานที่มีสมาชิกกลุ่ม ศปปส. มาเบิกความในฐานะพยานโจทก์ พบว่าได้มีบุคคลภายนอกเข้ามาฟังการพิจารณาด้วย โดยไม่ได้ถูกศาลให้ออกจากห้องพิจารณาแต่อย่างใด

ในชั้นพิจารณา ศิระพัทธ์ได้ให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืนและฝ่าฝืนเคอร์ฟิว แต่ยืนยันให้การปฏิเสธในข้อหาตามมาตรา 112 ก่อนที่การสืบพยานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 เม.ย. 2566 และนัดฟังคำพิพากษาต่อมา โดยศาลต้องส่งร่างคำพิพากษาไปให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 เพื่อตรวจก่อน

.

.

ประธานชุมชนผู้กล่าวหาไม่มาเบิกความ ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อหา ม.112 แต่แรก

ในคดีนี้ ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 5 ปาก โดยโจทก์ไม่สามารถติดตามพยานปาก ทรงศักดิ์ จันทโชติ ประธานกรรมการชุมชนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาและผู้เสียหายในคดีนี้ มาเบิกความได้ ทำให้ตัดพยานปากนี้ออกไป 

พยานโจทก์ที่เข้าเบิกความ แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งชุดสืบสวนจับกุมและพนักงานสอบสวนจาก สภ.รัตนาธิเบศร์ รวมจำนวน 4 ปาก และสมาชิกจากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) อีก 1 ปาก ซึ่งมาแจ้งความกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 โดยเฉพาะ หลังพบเห็นข่าวคดีนี้

สำหรับพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนและชุดจับกุม ต่างเบิกความในลักษณะเดียวกัน โดยสรุปถึงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดี ตั้งแต่การได้รับแจ้งความจากประธานกรรมการชุมชนหมู่บ้านประชาชื่น กรณีมีผู้มาลักพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมกรอบรูปลายกนก ซึ่งอยู่ที่ป้อมรักษาความปลอดภัยจากหน้าหมู่บ้านไป 

ตำรวจฝ่ายสืบสวนจึงได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด เห็นภาพในช่วงเวลา 3.03 น. ของวันที่ 8 ส.ค. 2564 ที่พบผู้ขึ้นไปแกะพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบรูปลงมา ก่อนคว่ำหน้าภาพลง และลากถูกับพื้นไปยังเต้นท์ขายของบริเวณตลาด

จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำภาพจากกล้องไปให้สายลับสืบสวน จึงทราบตัวบุคคลว่าคือจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ตำรวจจึงได้ติดตามไปที่พักของจำเลย และจำเลยยอมรับว่าเป็นบุคคลตามภาพในกล้องวงจรปิดจริง โดยได้นำภาพไปวางที่เต้นท์ในตลาด ก่อนจะแกะภาพพระบรมฉายาลักษณ์ไปมอบให้จำเลยที่ 2 และได้นำกรอบรูปไปทิ้งที่คลองบางตลาด ตำรวจจึงได้ไปงมหากรอบรูปในคลอง และพบกรอบรูปดังกล่าว 

พนักงานสอบสวนรับว่าในตอนจับกุมจำเลยที่ 1 และแจ้งข้อหาเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 นั้น ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 มีแต่เพียงการแจ้งข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืนและฝ่าฝืนเคอร์ฟิว จนมีการเรียกมาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในภายหลังเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564

ในการเข้าตรวจค้นและจับกุมจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เกิดขึ้นโดยตำรวจไม่ได้มีหมายค้นและหมายจับ โดยอ้างว่าหลังจากการสอบสวนและตรวจค้น พบว่ามีพยานหลักฐานตามสมควร ว่าผู้ถูกจับน่าจะได้กระทําผิดอาญา และมีความจําเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้ 

ก่อนต่อมาหลังจากสอบสวนจำเลยที่ 1 ตำรวจจึงมีการไปขอออกหมายจับจำเลยที่ 2 จากศาลจังหวัดนนทบุรี โดยไม่ได้ออกหมายเรียกมาก่อน และจำเลยที่ 2 ได้เข้ามอบตัวกับทางตำรวจ

ทั้งนี้ ทั้งในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม รายงานการสืบสวนของตำรวจ บันทึกการให้ปากคำของประธานกรรมการชุมชน รวมทั้งปากคำของสมาชิกจากกลุ่ม ศปปส. ซึ่งเข้าแจ้งความเพิ่มเติมในคดีนี้ ต่างระบุถึงพฤติการณ์ในคดีที่เห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112 ด้วยถ้อยคำเดียวกันทุกตัวอักษร กล่าวคือ การที่จำเลยเดินลากพระบรมฉายาลักษณ์คว่ำหน้าภาพไปบนพื้นถนนนั้น “เป็นพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม เพราะโดยปกติพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชาชนทั่วไปต้องให้ความเคารพเทิดทูน และจะประดิษฐานไว้ในสถานที่เหมาะสม เปรียบเหมือนเป็นตัวแทนของพระองค์ท่านและสถาบันพระมหากษัตริย์ จักต้องระมัดระวังไม่ให้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์วางอยู่ในที่ที่มิบังควร อันจะเป็นการเสื่อมพระเกียรติยศเกียรติภูมิ แห่งองค์พระมหากษัตริย์”

.

สมาชิก ศปปส. เข้าขอให้แจ้งข้อหา 112 เพิ่มเองหลังเห็นข่าว อ้างถึงคดีเผารูปกรณีอื่นๆ

ขณะที่พยานปาก ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ จากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นพยานประชาชนเพียงคนเดียวที่เข้าเบิกความ ระบุว่า หลังได้เห็นข่าวสารว่ามีผู้ลักพระบรมฉายาลักษณ์ในกรณีนี้ จึงได้เดินทางไปที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ และได้ทำหนังสือร้องเรียนให้ดำเนินคดีมาตรา 112 ในกรณีนี้ยื่นต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564

ก่อนตำรวจจะได้เรียกระพีพงษ์มาสอบปากคำในฐานะพยาน โดยเขาอ้างถึงกรณีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเผาพระบรมฉายาลักษณ์แล้วถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในคดีอื่นๆ และเห็นว่าพฤติการณ์ในคดีนี้ก็ไม่ต่างจากคดีเหล่านั้น ซึ่งคาดว่า “มาจากจิตใจที่ตามอาฆาตมาดร้ายหรือไม่ประสงค์ดีต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” และยังอ้างบุคคลในคดีนี้ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทผู้ป่วยจิตเวชแต่อย่างใด

ระพีพงษ์ยังเบิกความด้วยว่า ตนมีตำแหน่งเป็นผู้ประสานงานของกลุ่ม ศปปส. เคยไปแจ้งความเกี่ยวกับมาตรา 112 เกือบร้อยคดี และได้มาเป็นพยานเบิกความในศาลประมาณ 10 คดี แต่รับว่าไม่ได้เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ในคดีนี้ ไม่ทราบผลคำพิพากษาในคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์คดีต่างๆ ที่อ้างถึงไว้ และรับว่าไม่ทราบว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะเคยมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 ในกรณีเกี่ยวกับการเผาพระบรมฉายาลักษณ์

โดยสรุป ประเด็นสำคัญในคดีนี้ คือพฤติการณ์การปลดพระบรมฉายาลักษณ์และลากภาพโดยคว่ำหน้าไปกับพื้น แต่ไม่ได้มีการแสดงออกอื่นใดอีกในระหว่างเกิดเหตุนั้น จะเข้าข่ายเป็นความผิดในข้อหาตามมาตรา 112 ที่ระบุถึงการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือไม่

>> ทบทวน ม.112 ผ่านคดีแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์: การตีความขยายขอบเขตกฎหมาย และการส่ง “เสียง” ที่ไม่ถูกรับฟัง

.

X