อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 กรณีปลดรูป ร.10 และทิ้งกรอบรูปลงคลอง ก่อนศาลให้ประกันตัว

3 พ.ย. 64 ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี นายศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ชาวจังหวัดนนทบุรี อายุ 35 ปี ประกอบอาชีพอิสระรับงานวาดรูปและเล่นดนตรี ได้เดินทางไปรายงานตัวต่อศาลตามนัด ในคดีที่เขาถูกกล่าวหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เหตุมีประชาชนเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีลักเอาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จากนั้นนำกรอบรูปไปทิ้งที่คลองบางตลาด ในช่วงเวลา 03.30 น. เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 64

>> “หนุ่มนนทบุรี” ถูก ตร.บุกจับไม่มีหมาย แจ้งข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน กรณีนำกรอบรูป ร.10 ทิ้งคลอง ก่อนศาลให้ประกันตัว

>>แจ้ง ม.112 เพิ่ม! กรณี “หนุ่มนนทบุรี” ปลดรูป ร.10 หน้าหมู่บ้าน และทิ้งกรอบรูปลงคลอง

.

หลังเข้าพบเจ้าหน้าที่ศาล พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีได้ยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 1204/2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน 

ต่อมาทนายความได้ยื่นประกันตัวศิระพันธ์ และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง เป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดนัดวันคุ้มครองสิทธิ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 

.

.

เปิดคำฟ้องอัยการระบุ จำเลย “ดูถูกเหยียดหยาม-ไม่เคารพสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์” เหตุคว่ำรูป ร.10 ลากไปตามพื้นถนน 

ในคำฟ้องพนักงานอัยการ ได้เกริ่นถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศของนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้บังคับใช้ต่อเนื่องมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร รวมถึงมาตราการการห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่าง 21.00 น. – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 จําเลยได้กระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน เวลาประมาณ 03.03 น. จําเลยได้ออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 21.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยได้เดินมาที่หน้าป้อมยามทางเข้าออกหมู่บ้านประชาชื่น อําเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับยกเว้นใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกําหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ต่อมา จําเลยได้ลักทรัพย์โดยการปีนขึ้นไปเอารูปพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จํานวน 1 ใบ ราคา 500 บาท ซึ่งอยู่ในกรอบรูปลายกนกสีทอง จํานวน 1 กรอบ ราคา 2,500 บาท รวมราคา 3,000 บาท ซึ่งติดตั้งไว้บริเวณเหนือป้อมรักษาความปลอดภัยทางเข้าออกหมู่บ้านชุมชนประชาชื่น เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ของนายทรงศักดิ์ จันทโชติ ประธานกรรมการชุมชนประชาชื่น ผู้เสียหาย ไปโดยทุจริต 

จําเลยได้ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์โดยการนําพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่ในกรอบรูปที่จําเลยลักเอาไป คว่ําหน้าลงที่พื้นถนน แล้วลากไปตั้งแต่ที่เกิดเหตุไปถึงตลาดสุขสมบูรณ์เป็นระยะทางประมาณ 190 เมตร การกระทำดังกล่าวถือเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ไม่แสดงความเคารพสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์ 

พนักงานอัยการยังระบุว่าเนื่องคดีนี้เป็นความผิดข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อประโยชน์แห่งความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์จึงขอให้ศาลพิจารณาเป็นการลับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177

ในท้ายคำฟ้องยังระบุว่า สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้าน เพียงแต่ระบุให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ไ้ด้ลักไป ซึ่งยังไม่ได้คืนราคา 500 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย

.

ศาลอนุญาตให้ประกัน โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง 100,000 บาท 

ต่อมา เวลาประมาณ 12.00 น. ศาลอนุญาตให้ประกัน โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง เป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในกรณีที่เกี่ยวเนื่องกัน คือเมื่อวันที่  24 ส.ค. 64 กนกวรรณ (สงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดนครราชสีมา ได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ หลังทราบว่าตนถูกออกหมายจับ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีของศิระพัทธ์ ลักเอาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จากนั้นนำกรอบรูปไปทิ้งที่คลองบางตลาด

กนกวรรณได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐาน “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยเอาไปเสีย หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จากเหตุที่เธอรับมอบและเก็บรักษาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ถูกลักมาเอาไว้

ภายหลังเข้ามอบตัวแล้ว กนกวรรณได้ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 155 คน ใน 159 คดี

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง 

สาวโคราชถูกออกหมายจับ “รับของโจร” เหตุรับมอบรูป ร.10 ที่ถูกปลดมา ก่อนเข้ามอบตัว และศาลให้ประกัน

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X