วันนี้ (30 ส.ค. 64) ที่สภ.รัตนธิเบศร์ นายศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ชาวจังหวัดนนทบุรี อายุ 35 ปี ประกอบอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ และรับงานวาดรูปกับเล่นดนตรี ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในฐานความผิด “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เหตุมีประชาชนเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีลักเอาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จากนั้นนำกรอบรูปไปทิ้งที่คลองบางตลาด ในช่วงเวลา 03.30 น. ของวันที่ 8 ส.ค. 64
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 ตำรวจสภ.รัตนาธิเบศร์ ได้จับกุมนายศิระพัทธ์ จากเหตุดังกล่าว โดยมีการแจ้งข้อหาศิระพัทธ์ 2 ข้อหา ได้แก่ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และออกนอกเคหสถานหลังเวลาเคอร์ฟิว ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยหลังการขอฝากขัง ศาลจังหวัดนนทบุรีได้ให้ประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ 100,000 บาท ต่อมาศิระพัทธ์ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก
.
ตร.แจ้งเพิ่ม ม.112 เหตุวางพระบรมฉายาลักษณ์ในสถานที่ที่มิบังควร ทำให้เกียรติภูมิแห่งองค์พระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย
เวลา 10.00 น. ศิระพัทธ์ พร้อมทนายความ ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ร.ต.อ.ฐิติปกรณ์ คุ้มปานอินทร์ รองสาวรวัตรสอบสวน สภ.รัตนาธิเบศร์ ได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทําที่ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 10 ส.ค 64 เวลา 09.41 น. ทรงศักดิ์ จันทโชติ อายุ 77 ปี ประธานกรรมการชุมชนหมู่บ้านประชาชื่น จังหวัดนนทบุรี ได้มาแจ้งความร้องทุกข์เนื่องจากพบว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค 64 เวลาประมาณ 03.30 น. ได้มีคนร้ายไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด มาลักเอารูปภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปลายกนกสีทองไป โดยมีกล้องวงจรปิดสามารถจับภาพขณะคนร้ายก่อเหตุไว้
เจ้าพนักงานตํารวจจึงได้เริ่มสืบสวน โดยการตรวจสอบกล้องวงจรปิดโดยรอบบริเวณสถานที่เกิดเหตุ พบว่าเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 64 เวลาประมาณ 03.03 น. ได้มีชาย 1 คน เดินทางเข้ามาที่บริเวณหน้าป้อมยามรักษาความปลอดภัยหน้าหมู่บ้านประชาชื่น ซึ่งด้านหน้าเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นผู้ต้องหาได้ปีนขึ้นไปเอาพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบรูปดังกล่าวลงมา และได้เดินลากกรอบรูปออกไป
จากการสอบถามผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้น เจ้าพนักงานตํารวจจึงพบศิระพัทธ์ ซึ่งมีตําหนิรูปพรรณตามภาพในกล้องวงจรปิดยืนอยู่บริเวณหน้าห้องพัก เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเป็นว่าเป็นพนักงานตํารวจมาสืบสวนคดีลักทรัพย์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ฯ พร้อมกับนําภาพผู้ต้องหาที่กล้องวงจรปิดบันทึกได้ ให้ผู้ถูกจับตรวจสอบ แล้วยืนยันว่าตนเองคือบุคคลที่ปรากฏในภาพดังกล่าว โดยบอกว่านำกรอบภาพไปทิ้งที่คลองบางตลาด
ต่อมาเจ้าพนักงานตํารวจจึงได้ลงไปงมหาและพบกรอบรูปลายกนกสีทอง ซึ่งมีตําหนิรูปพรรณตรงกับกรอบรูป ที่ติดอยู่บริเวณหน้าป้อมยามหมู่บ้าน แต่ไม่พบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ฯ จึงได้สอบถามผู้ถูกจับกุม ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่ได้ลักเอาภาพพระบรมฉายาลักษณ์ฯ พร้อมกรอบรูปแล้วได้ปลดภาพออก จากนั้นได้มอบให้กับเพื่อนที่รู้จักกันจากการไปร่วมชุมนุมทางการเมืองผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์
ต่อมา สภ.รัตนาธิเบศร์ ได้ดําเนินการสืบสวนเพิ่มเติมโดยตรวจสอบพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุข้อเท็จจริงพบว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ผู้ต้องหาได้เดินเข้ามาที่จุดที่พระบรมฉายาลักษณ์ติดตั้งอยู่ จากนั้นได้ปีนขึ้นไปแกะพระบรมฉายาลักษณ์และกรอบรูปลายกนกสีทอง จนหลุดออกจากผนัง เมื่อพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบรูปหลุดออกแล้ว ผู้ต้องหาได้นําพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบรูปหันด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ลงพื้น จากนั้นได้ลากพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบรูปไปกับพื้นถนนตั้งแต่ที่เกิดเหตุไปถึงตลาดสุขสมบูรณ์เป็นระยะทางประมาณ 190 เมตร ก่อนจะแกะพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากกรอบและมอบให้กนกวรรณ ฉิมทองไป ส่วนกรอบรูปได้นําไปทิ้งที่คลองบางตลาดซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 100 เมตร
จากพฤติการณ์ของผู้ต้องหาถือว่าเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ เนื่องจากโดยปกติภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ประชาชนโดยทั่วไปจะให้ความเคารพ เทิดทูน และจะประดิษฐานไว้ในสถานที่เหมาะสม เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระองค์ท่าน และจะระมัดระวังไม่ให้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์วางอยู่ในสถานที่ที่มิบังควร อันจะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ เกียรติภูมิแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ดังนั้นการกระทําของผู้ต้องหาเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แก่องค์พระมหากษัตริย์
ในวันนี้ พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติมแก่ศิระพัทธ์ ทำให้ศิระพัทธ์ถูกแจ้งข้อหาจากเหตุนี้รวมทั้งหมด 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ด้านศิระพัทธ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ผู้ต้องหาได้ลงลายมือชื่อในบันทึกรับทราบข้อกล่าวหาและบันทึกประจำวัน ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในกรณีที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 กนกวรรณ (สงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดนครราชสีมา ได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ.รัตนาธิเบศร์ หลังทราบว่าตนถูกออกหมายจับ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีศิระพัทธ์ ลักเอาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จากนั้นนำกรอบรูปไปทิ้งที่คลองบางตลาด
กนกวรรณได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐาน “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยเอาไปเสีย หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จากเหตุที่เธอรับมอบและเก็บรักษาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ถูกลักมาเอาไว้
ภายหลังเข้ามอบตัวแล้ว กนกวรรณได้ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 124 คน ใน 126 คดี
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
สาวโคราชถูกออกหมายจับ “รับของโจร” เหตุรับมอบรูป ร.10 ที่ถูกปลดมา ก่อนเข้ามอบตัว และศาลให้ประกัน
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64