พิพากษาจำคุก 3 ปี สามจำเลยคดี ม.112 “เผารูปหน้ากระทรวงแรงงาน” ก่อนลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยให้รอการลงโทษ 3 ปี และชดใช้ค่าเสียหาย

วันที่ 18 ธ.ค. 2567 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ณรงค์ศักดิ์ (สงวนนามสกุล), อธิคุณ (สงวนนามสกุล) และณัฐพล เหล็กแย้ม ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 217 จากกรณีมีกลุ่มคนวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้ากระทรวงแรงงาน จนได้รับความเสียหายในการชุมนุม #ม็อบ14กันยา64

พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้อง เป็นการกระทำเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทที่หนักที่สุดตามมาตรา 112 จำคุก 3 ปี ให้การรับสารภาพมีเหตุให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยให้รอการลงโทษ 3 ปี ให้คุมประพฤติจำเลย 2 ปี ให้ทำกิจกรรมบริการสาธารณะ 24 ชั่วโมง ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ ที่เป็นการด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ และให้ชดใช้ค่าเสียหาย 106,373.46 บาท แก่กระทรวงแรงงาน

สำหรับเหตุในคดีนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 มีการชุมนุม #ม็อบ14กันยา ของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ในช่วงเย็นจนถึงค่ำเช่นทุกวัน การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ โดยมี คฝ. วางกำลังอยู่ในกรมดุริยางค์ทหารบกเช่นเคย และเข้าประจำการบริเวณสะพานลอยหน้ากรมดุริยางค์ฯ หลังเคอร์ฟิว มีการประกาศให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน พร้อมกับมีการยิงแสงเลเซอร์ออกมาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าว มีรายงานการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาบริเวณหน้ากรมดุริยางค์ฯ  ก่อนที่เวลาประมาณ 23.00 น. เกิดเหตุไฟไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน

ต่อมาในวันที่ 17 และ 18 ก.ย. 2564 จำเลยทั้งสาม ถูกตำรวจจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 17 ก.ย. 2564 โดยณัฐพลให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม แต่ปฏิเสธในชั้นสอบสวน โดยให้การเพิ่มเติมว่า ตำรวจพูดชักจูงใจให้รับสารภาพในชั้นจับกุมว่า จะได้รับโทษน้อยลง ส่วนณรงค์ศักดิ์ได้เดินทางไปมอบตัวที่กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (กก.สส.บก.น.1) ขณะที่อธิคุณถูกจับกุมที่บ้านใน จ.อยุธยา และถูกควบคุมตัวที่ สน.พหลโยธิน รวม 2 คืน ก่อนทั้งหมดจะได้รับการประกันตัว และติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้ยื่นฟ้องในข้อหา ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 217 จากกรณีมีกลุ่มคนวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์หน้ากระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี

วันที่ 24 ต.ค. 2567 ในนัดสืบพยานวันแรก ณัฐพล ถูกจำคุกในคดีส่วนตัวที่เรือนจำพิเศษธนบุรีและไม่ได้เบิกตัวมาศาล ทำให้การพิจารณาเลื่อนไปเป็นวันรุ่งขึ้น (25 ต.ค. 2567) หลังจากนั้น จำเลยทั้งสามได้ตัดสินใจถอนคำให้การเดิมเป็นรับสารภาพตามฟ้องในส่วนอาญา คดีเป็นอันเสร็จการสืบพยานในส่วนอาญา โดยศาลสั่งให้สืบเสาะพฤติการณ์จำเลยเพิ่มเติมประกอบคำพิพากษา

สำหรับค่าเสียหายทางแพ่งยังไม่สามารถตกลงค่าเสียหายได้ แต่ทางจำเลยประสงค์จะเยียวยาและได้วางเงินจำนวนตามที่โจทก์ฟ้อง 80,000 บาท ไว้ต่อศาล ทางผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงแรงงานได้แถลงว่าติดใจจะสืบพยาน 1 ปาก เกี่ยวกับค่าเสียหายของซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์

ในวันที่ 5 พ.ย. 2564 หลังจากที่สืบพยานส่วนแพ่งในส่วนของผู้ร้องจบ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 18 ธ.ค. 2567

.

วันนี้ (18 ธ.ค. 2567) ที่ห้องพิจารณา 707 เวลา 09.30 น. ณรงค์ศักดิ์เดินทางมายังห้องพิจารณาพร้อมภรรยาและลูกวัย 3 ขวบเศษ จากการสอบถาม เขามีลูกด้วยกันทั้งหมด 4 คนและคนนี้คือคนสุดท้อง ด้านอธิคุณเดินทางมาพร้อมกับพ่อของเขา ส่วนณัฐพลที่ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรียังไม่ถึงห้องพิจารณา นอกจากนี้ผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงแรงงานได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาในวันนี้ด้วย

จนกระทั่งเวลา 10.12 น. ณัฐพลถูกเบิกตัวมายังห้องพิจารณา แต่เนื่องจากห้องพิจารณา 707 มีคดีที่กำลังสืบพยานและมีจำเลยจำนวนมาก เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์จึงแจ้งว่าให้ย้ายไปฟังคำพิพากษาที่ห้อง 709 ภายในห้องนอกจากจะมีจำเลยแล้ว ยังมีประชาชนมาเข้าร่วมให้กำลังใจด้วย

ผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษา สรุปสาระสำคัญได้ว่า ก่อนสืบพยานนัดแรกจำเลยทั้งสามได้ถอนคำให้การเดิมเปลี่ยนเป็นให้การรับสารภาพตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนความผิดทางอาญา ในการพิจารณาค่าเสียหายทางแพ่งจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงในส่วนอาญา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันวางเพลิงเผาซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมเครื่องถวายบริเวณหน้ากระทรวงแรงงาน

คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามต้องชดใช้ค่าเสียหายเท่าใด

ในทางการสืบพยาน ผู้ร้องได้นำพยานเข้าสืบพร้อมสำเนาใบสั่งจัดซื้อจัดจ้าง รับฟังได้ว่าค่าสั่งทำจัดซื้อและจัดจ้างทำซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ ฐานตั้งพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมเครื่องบูชารวมกันทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 94,000 บาท เมื่อคิดรวมกับดอกเบี้ยร้อยละ 5 จนถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 106,373.46 บาท

ในคำฟ้อง โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท แต่ในการจัดทำและจัดซื้อซุ้มเฉลิมพระเกียรติต้องสั่งทำเป็นชุด แม้ฐานที่ตั้งซุ้มนั้นจะไม่ได้ไหม้ไปด้วยก็ตาม แต่การที่ซุ้มไหม้เสียหายไป ทำให้ฐานรองที่ต้องใช้งานกับซุ้มไม่สามารถใช้งานได้ด้วยเช่นกัน จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายคืนทรัพย์ให้กลับสู่สถานะเดิม

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 217 ขณะที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดมีอายุ 19 ปี มีความรู้สำนึกผิดชอบชั่วดีแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำการเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุด คือในฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพมีเหตุให้ลงโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงในวันเกิดเหตุเป็นการชุมนุมทางการเมืองซึ่งจำเลยทั้งสามอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเป็นตัวการหรือผู้ใช้ และขณะทำความผิดจำเลยยังอายุน้อย กระทำไปด้วยความคึกคะนองเพราะการแนะนำที่ผิดจากกลุ่มผู้ชุมนุม

จำเลยทั้งสามได้ให้การรับสารภาพ แสดงถึงความสำนึกผิด และมีการขอพระราชทานอภัยโทษพร้อมที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดี อีกทั้งจำเลยทั้งสามประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะ จากรายงานการสืบเสาะไม่พบว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน

ศาลจึงเห็นว่าการลงโทษจำคุกไม่เป็นผลดีต่อจำเลย จึงให้รอการลงโทษ 3 ปี ให้คุมประพฤติจำเลย 2 ปี และให้ทำกิจกรรมบริการสาธารณะเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ ที่เป็นการด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายกระทรวงแรงงานเป็นเงินจำนวน 106,373.46 บาท และนับดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น 

เมื่อหักลบกับจำนวนเงินที่จำเลยได้ชำระเงินต้นไว้แล้วเป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องร่วมกันชดใช้เป็นเงินจำนวน 26,373.46 บาท ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ

ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษา สมพร ศรีกฤษณ์ และ วรชาติ เกลี้ยงแก้ว

.

.

อ่านฐานข้อมูลคดีนี้ : คดี 112 วัยรุ่น 3 ราย พร้อมเยาวชน ถูกกล่าวหา วางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้ากระทรวงแรงงาน ปี 64

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : ทบทวน ม.112 ผ่านคดีแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์: การตีความขยายขอบเขตกฎหมาย และการส่ง “เสียง” ที่ไม่ถูกรับฟัง

X