จับเยาวชน-วัยรุ่น 4 ราย กล่าวหาวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้ากระทรวงแรงงาน หลังศาลออกหมายจับ ม.112-วางเพลิง

17 ก.ย. 2564 ช่วงค่ำถึงดึก ชุดสืบสวน สน.ดินแดง และกองบังคับการสืบสวนสอบสวน บช.น. เข้าจับกุมประชาชน 3 ราย เป็นเยาวชน 1 ราย ตามหมายจับศาลอาญาและศาลเยาวชนฯ ที่ออกวันเดียวกัน ในข้อหา วางเพลิงเผาทรัพย์และหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้ากระทรวงแรงงาน เมื่อคืนวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา

ตกเย็นวันต่อมา (18 ก.ย. 2564) หลังศาลเยาวชนฯ และศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 3 ราย โดยศาลอาญาให้ติด EM พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหาทั้งสองกระทำซ้ำการกระทำที่ถูกกล่าวหาอันเป็นการเสื่อมเสียแก่พระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมการชุมนุม และห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 15.00 – 06.00 น. มีรายงานว่า ชุดสืบสวน บช.น. ยังร่วมกับ สภ.บางปะอิน เข้าจับกุมวัยรุ่นอีก 1 ราย ที่บ้านในอำเภอบางปะอิน จังหวัดอยุธยา ตามหมายจับจากเหตุเดียวกัน ก่อนควบคุมตัวมาที่ สน.พหลโยธิน เพื่อทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำ

ทั้งนี้ ในการออกหมายจับทั้ง 4 ราย ตำรวจไม่ได้มีการออกหมายเรียกมาก่อน ขณะถูกจับกุมถูกยึดโทรศัพท์ ทำให้บางรายไม่สามารถติดต่อผู้ที่ไว้ใจเพื่อแจ้งการถูกจับกุมตามสิทธิของผู้ถูกจับกุมได้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ไม่มีการแจ้งสิทธิตามกฎหมาย บางรายไม่ทราบด้วยว่า ตนถูกจับจากเหตุอะไร และภายหลังถูกจับกุมบางรายไม่ได้ถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจเจ้าของคดีหรือท้องที่ที่ถูกจับกุมในทันทีตามกฎหมาย 

.

จับ 3 ราย ยึดโทรศัพท์ ทนายได้พบหลังตำรวจทำบันทึกจับกุมเสร็จแล้ว 1 รายถูกนำตัวไปสอบที่ กก.สส.บช.น.ก่อน 

ราว 23.00 น. วันที่ 17 ก.ย. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่า กันต์ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี สมาชิกกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย ถูกจับกุมที่บ้านพัก ไม่ทราบเหตุที่ถูกจับ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่เพียงว่า จะนำตัวไป สน.ดินแดง จากนั้นคนใกล้ชิดก็ไม่สามารถติดต่อกันต์ทางโทรศัพท์ได้อีก หลังทนายความสอบถามไปที่พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง จึงได้รับข้อมูลว่า เป็นการจับตามหมายจับ ข้อหา วางเพลิง และมาตรา 112   

เมื่อทนายความไปถึง สน.ดินแดง ในเวลาประมาณ 01.20 น. พบผู้ถูกจับกุมอีก 2 รายคือ ณรงค์ศักดิ์ (สงวนนามสกุล) สมาชิกกลุ่ม Demo วัย 23 ปี และณัฐพล (สงวนนามสกุล) วัย 18 ปี ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า ตำรวจบุกเข้าจับทั้งสองจากที่พักตั้งแต่ประมาณ 1 ทุ่ม โดยณรงค์ศักดิ์ทราบว่าตนเองถูกออกหมายจับ และกำลังเดินทางเข้ามอบตัว แต่ตำรวจมาถึงที่พักก่อนจึงได้มอบตัวหน้าที่พัก และถูกควบคุมตัวไป บช.น. ตำรวจให้เซ็นเอกสารหลายแผ่น ก่อนพามา สน.ดินแดง 

นอกจากนี้ พบว่าตำรวจทำบันทึกการจับกุมทั้งสามคนเสร็จแล้ว โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมกระบวนการ ทั้งยังถูกยึดโทรศัพท์มือถือ บันทึกจับกุมระบุว่า กันต์ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่ 31/2564 ลงวันที่ 17 ก.ย. 2564 ในฐานความผิด “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตร้ายพระมหากษัตริย์ และร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น” 

ส่วนณรงค์ศักดิ์และณัฐพลถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1531/2564 และ 1532/2564 ลงวันที่ 17 ก.ย. 2564 ในฐานความผิดเช่นเดียวกับกันต์ กรณีของณัฐพล ชุดจับกุมได้เข้าค้นที่พัก และตรวจยึดสิ่งของเป็นของกลางรวม 12 รายการ อาทิ เสื้อ, กางเกง, ผ้าปิดหน้า, รองเท้า, หนังสะติ๊ก 1 อัน, ลูกแก้ว 10 ลูก, ประทัด 3 กล่อง, โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง โดยณัฐพลให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม กรณีของณรงค์ศักดิ์ บันทึกจับกุมยังระบุว่า ณรงค์ศักดิ์เดินทางไปมอบตัวที่กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรจนครบาล 1 (กก.สส.บช.น.1) 

ในการสอบปากคำพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้แจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 เวลาประมาณ 23.00 น. ได้มีกลุ่มคนวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์ หน้ากระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี จนได้รับความเสียหาย หลังตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุและใกล้เคียง รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ พนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับ 3 ราย และขออนุมัติศาลเยาวชนและครอบครัวกลางออกหมายจับ 1 ราย 

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 217 

ชั้นสอบสวนณรงค์ศักดิ์และณัฐพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ณัฐพลยังให้การเพิ่มเติมด้วยว่า ในชั้นจับกุมตำรวจพูดชักจูงใจให้รับสารภาพว่า จะได้รับโทษน้อยลง แต่ตนเองไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ขณะเกิดเหตุทำหน้าที่เป็นการ์ด ป้องกันมวลชนไม่ให้ปะทะกับ คฝ. ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีกลุ่มคนเผาภาพพระมหากษัตริย์ อีกทั้งตนเองไม่ได้พูดหรือกระทำการใดๆ หมิ่นประมาทกษัตริย์

ทั้งนี้ ทนายความให้ข้อมูลว่า ขณะรอสอบปากคำในช่วงตีสาม ณรงค์ศักดิ์ถูกนำตัวไปที่ห้องสืบสวน อ้างว่าไปทำบันทึกตรวจยึดของกลาง โดยไม่ให้ทนายความเข้าร่วม กระทั่งตีห้า หลังทนายความพยายามโต้แย้งขอเข้าร่วมกระบวนการในห้องสืบสวน ชุดสืบสวนจึงนำตัวณรงค์ศักดิ์กลับมาให้พนักงานสอบสวนสอบคำให้การ โดยพบว่า ณรงค์ศักดิ์มีอาการตัวเกร็ง ท่าทางหวาดกลัว

หลังเสร็จกระบวนการประมาณ 05.30 น. วันที่ 18 ก.ย. 2564 ณรงค์ศักดิ์และณัฐพลถูกคุมขังต่อที่ สน.ดินแดง เพื่อรอพนักงานสอบสวนส่งฝากขังต่อศาลอาญา ขณะที่กันต์ก็ถูกคุมขังเช่นกัน โดยช่วงเช้าประมาณ 10.00 น. มีการสอบคำให้การโดยมีที่ปรึกษากฎหมายและสหวิชาชีพเข้าร่วม เนื่องจากเป็นเยาวชน กันต์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วันเช่นกัน

ช่วงบ่าย พนักงานสอบสวนนำตัวกันต์ไปตรวจสอบการจับที่ศาลเยาวชนฯ พร้อมทั้งขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัว และคัดค้านการประกันตัว อ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเกรงผู้ต้องหาไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น 

ต่อมา ศาลมีคำสั่งว่าการจับกุมเป็นไปโดยชอบ และให้ควบคุมตัวกันต์ไว้ระหว่างสอบสวน ก่อนมีคำสั่งให้ประกันตัว โดยให้วางหลักประกันในวงเงิน 30,000 บาท ญาติของกันต์เดินทางมายื่นประกันตัว เนื่องจากพ่อและแม่อยู่ต่างจังหวัด เบื้องต้นวางเงินสดก่อน 2,000 บาท ส่วนที่เหลือจะนำมาชำระเพิ่มภายในวันที่ 4 ต.ค.นี้ มีกำหนดนัดรายงานตัวที่สถานพินิจฯ บางนา และศาล ในวันที่ 22 ก.ย. และ 11 ต.ค. 2564  

ด้านณรงค์ศักดิ์และณัฐพล พนักงานสอบสวนนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังครั้งที่ 1 อ้างเหตุต้องสอบพยานอีก 5 ปาก พร้อมทั้งคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง ระบุว่า คดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับพฤติการณ์คดีมีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์จนได้รับความเสียหายซึ่งอาจจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป เกรงว่าอาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก 

ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวณรงค์ศักดิ์ โดยเสนอหลักประกันเป็นเงินสด 18,000 บาท พร้อมกับติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าผู้ต้องหาไม่หลบหนี ส่วนณัฐพล เนื่องจากญาติอยู่ต่างจังหวัด ไม่สามารถเดินทางมาประกันตัวได้ ทนายความจึงได้เสนอหลักประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท พร้อมติด EM เช่นเดียวกัน 

ทั้งนี้ คำร้องขอประกันระบุเหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกล่าวหาของพนักงานสอบสวนแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งยังระบุเหตุการณ์โดยเลื่อนลอยเคลือบคลุมเท่านั้น ไม่มีหลักฐานตามสมควรว่า ผู้ต้องหาในคดีนี้คนใดได้กระทำการอันเป็นความผิดอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ผู้ต้องหาไม่ได้ต่อสู้ขัดขืนขณะถูกจับกุม จึงไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี อีกทั้งผู้ต้องหาประกอบอาชีพสุจริต มีภาระในการเลี้ยงดูครอบครัวและตนเอง หากถูกคุมขังไว้ระหว่างการสอบสวนจะส่งผลกระทบต่อครอบครัว

เวลา 16.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวณรงค์ศักดิ์และณัฐพลตามคำร้อง พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหาทั้งสองกระทำซ้ำการกระทำที่ถูกกล่าวหาอันเป็นการเสื่อมเสียแก่พระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมการชุมนุม และห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 15.00 – 06.00 น. นัดรายงานตัวต่อศาลในวันที่ 5 พ.ย. 2564 

ทั้งสองได้รับการปล่อยตัวที่ศาลอาญา หลังทนายความใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน แต่จะต้องเดินทางมาติด EM ที่ศาลในวันที่ 21 ก.ย. นี้

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า เงื่อนไขการให้ประกันตัวของศาลที่ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาตั้งแต่ 15.00 – 06.00 น. อาจส่งผลกระทบต่อผู้ต้องหาที่มีอาชีพรับจ้างมากจนเกินไป รวมทั้งการห้ามร่วมการชุมนุมก็เป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

.

จับวัยรุ่น อาสากู้ชีพอีก 1 ราย ขัง สน.พหลโยธิน 2 คืน ก่อนได้ประกันตัว

หลังกันต์, ณรงค์ศักดิ์ และณัฐพล ได้รับการปล่อยตัว มีรายงานเพิ่มเติมว่า มีผู้ถูกจับกุมจากเหตุเดียวกันนี้อีก 1 ราย โดยถูกจับกุมที่บ้านใน จ.อยุธยา เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะควบคุมตัวไปที่ สน.ดินแดง ก่อนได้รับแจ้งต่อมาว่า ถูกนำตัวไปที่ สน.พหลโยธิน  

ทนายความที่ติดตามไปที่ สน.พหลโยธิน พบว่า ผู้ถูกจับกุมชื่อ อธิคุณ (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญาที่ 1533/2564 ลงวันที่ 17 ก.ย. 2564 ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ และวางเพลิงเผาทรัพย์ เช่นเดียวกับ 3 คนแรก โดยขณะถูกเจ้าหน้าที่ 7-8 นาย เข้าแสดงหมายจับ อธิคุณนอนอยู่ในบ้านที่ อ.บางปะอิน แม้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง แต่ก็ไม่มีการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุม อธิคุณให้ข้อมูลด้วยว่า ตนเองกำลังเรียน กศน. พร้อมทั้งทำงานเป็นอาสาสมัครกู้ชีพ 

ในชั้นจับกุมและสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีและข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับ 3 คนที่ถูกจับกุมก่อนหน้า อธิคุณให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม โดยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน 

อธิคุณจะถูกควบคุมตัวที่ สน.พหลโยธิน รวม 2 คืน ก่อนพนักงานสอบสวนจะฝากขังต่อศาลอาญาในวันจันทร์ที่ 20 ก.ย. 2564 เนื่องจากศาลอาญาไม่รับฝากขังในวันอาทิตย์ โดยทนายความเตรียมยื่นประกันตัวเช่นเดียวกับคนอื่นๆ 

ต่อมาในวันที่ 20 ก.ย. 64 ศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังตามคำขอของพนักงานสอบสวน แต่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 18,000 บาท พร้อมกับติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)

ค่ำวันที่ 14 ก.ย. 2564 มีการชุมนุม #ม็อบ14กันยา ของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ในช่วงเย็นจนถึงค่ำเช่นทุกวัน การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ โดยมี คฝ.วางกำลังอยู่ในกรมดุริยางค์ทหารบกเช่นเคย และเข้าประจำการบริเวณสะพานลอยหน้ากรมดุริยางค์ฯ หลังเคอร์ฟิว มีการประกาศให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน พร้อมกับมีการยิงแสงเลเซอร์ออกมาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าว ซึ่งอาจทำให้กล้องและอุปกรณ์บันทึกภาพเสียหายได้ รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งมีการสั่งนักข่าวให้หยุดถ่ายทอดสด และให้แสดงบัตรนักข่าว โดยมีรายงานการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาบริเวณหน้ากรมดุริยางค์ฯ เหมือนทุกวัน ก่อนที่เวลาประมาณ 23.00 น. เกิดเหตุไฟไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน    

.

ภาพประจำเรื่องจากคลิปในทวิตเตอร์ Guard.PlodAek

X