ผู้ต้องหาคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ ใน จ.ขอนแก่น ยื่นขอประกัน อ้างยังเป็นผู้เยาว์ ต้องทำงานแบ่งเบาภาระแม่ ศาลจังหวัดพลยังไม่ให้ประกัน ชี้เป็นภัยความมั่นคง หากปล่อยชั่วคราวน่าจะหลบหนี
22 มิ.ย.60 ที่ศาลจังหวัดพล ทนายความและญาติเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว นายต้อม (นามสมมติ) ผู้ต้องหาคดีวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ อ.ชนบท และ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งถูกขังในระหว่างสอบสวนอยู่ที่เรือนจำอำเภอพล ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 60 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลา 1 เดือน โดยญาติได้วางหลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราวเป็นโฉนดที่ดิน มูลค่า 1.6 แสนบาท และตำแหน่งรองนายกเทศมนตรี ในวงเงิน 2 แสนบาท
คดีนี้ ต้อมกับวัยรุ่นในตำบลบ้านแท่น อ.ชนบท รวม 6 คน ถูกพนักงานสอบสวน สภ.บ้านไผ่ แจ้งข้อหา วางเพลิง, ทำให้เสียทรัพย์, เป็นอั้งยี่ และซ่องโจร และพนักงานสอบสวน สภ.ชนบท แจ้งข้อหา ต้อม พร้อมกับวัยรุ่นกลุ่มเดิมอีก 3 คน และเด็ก 1 คน ในข้อหาเดียวกันนี้อีก 1 คดี (อ่านรายละเอียดคดีที่ คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ: ควบคุมตัวเด็ก 14 ในค่ายทหาร และการควบคุมตัวมิชอบที่เกิดขึ้นซ้ำซาก)
คำร้องฯ ที่ยื่นต่อศาล ระบุเหตุผลในการขอปล่อยชั่วคราวว่า ผู้ต้องหามีอายุ 18 ปี ยังเป็นผู้เยาว์และยังไม่บรรลุนิติภาวะ เรียนจบชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ ยังไม่ได้เรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นเนื่องจากมีฐานะยากจน และอาศัยอยู่กับมารดาซึ่งมีอายุมากถึง 53 ปี เพียงคนเดียว บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ผู้ต้องหายังเด็ก ผู้ต้องหาหาเลี้ยงชีพโดยการรับจ้างซ่อมรถจักรยานยนต์ หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไม่มีโอกาสทำงานหาเงินมาแบ่งเบาภาระของมารดา นอกจากนี้ ผู้ต้องหาเป็นบุคคลธรรมดาหาเช่ากินค่ำ ไม่ใช่บุคคลที่มีอำนาจหรืออิทธิพลใดๆ ที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ อีกทั้งพยานหลักฐานทั้งหมดได้อยู่ที่เจ้าพนักงานตำรวจ ผู้ต้องหาไม่อาจจะไปยุ่งเหยิงได้เลย
คำร้องฯ ยังระบุอีกว่า ผู้ต้องหายังคงเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิดที่มีโทษทางอาญาเท่านั้น ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14(1) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11(1) ล้วนให้การรับรองไว้ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” ทั้งนี้ ผู้ต้องหาถูกนำไปควบคุมตัวที่ค่ายทหาร 7 วัน จึงถูกส่งตัวต่อพนักงานสอบสวน ตลอดเวลาดังกล่าวมิได้พบทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมาย หรือบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจ เข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาศาลจังหวัดพลมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลว่า ผู้ต้องหาต้องหาว่ากระทำความผิดในลักษณะเป็นขบวนการ และก่อเหตุในหลายพื้นที่ มีลักษณะเป็นภัยต่อความมั่นคง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราว กรณีมีเหตุน่าเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นนี้ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี
แม่ของต้อมกล่าวภายหลังทราบคำสั่งศาลว่า ยังไม่รู้จะทำยังไงต่อไปดี ต้องกลับไปปรึกษาญาติพี่น้อง และทนายความ ที่ยื่นประกันครั้งนี้ เพราะอยากให้เขาได้ออกมาทำงานซ่อมรถตามที่เขาเคยทำ และช่วยแม่ดำนา ตอนนี้แม่ดำนาสองคนกับน้องสาว ไม่มีเงินจ้างคนงาน ไม่รู้กี่วันจะเสร็จ
ก่อนหน้านี้ ผู้ต้องหาในคดีเดียวกันนี้ได้ยื่นขอปล่อยชั่วคราว เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต โดยระบุเหตุผลเช่นเดียวกันนี้
คดีนี้ พนักงานสอบสวนกล่าวหาผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาในข้อหาที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูง 7 ปี ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรค 5 กำหนดให้ศาลมีอํานาจสั่งขังครั้งละไม่เกิน 12 วัน รวมแล้วไม่เกิน 48 วัน ปัจจุบันพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังผู้ต้องหาเป็นผลัดที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 16 – 27 มิ.ย. 60 ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ พนักงานสอบสวนต้องสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการต้องส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดพลภายในวันที่ 9 ก.ค. ที่จะถึงนี้