ฟ้อง “ม.112” 3 ประชาชน เหตุวางเพลิงภาพ ร.10 หน้ากระทรวงแรงงาน ระหว่าง #ม็อบ14กันยา64 ก่อนศาลอาญาให้ประกัน

21 เม.ย. 2566 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นฟ้อง ประชาชน 3 คน ได้แก่ ณรงค์ศักดิ์ (สงวนนามสกุล) สมาชิกกลุ่ม Demo วัย 24 ปี อธิคุณ (สงวนนามสกุล) วัย 19 ปี และณัฐพล (สงวนนามสกุล) วัย 19 ปี ในข้อหา ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 217 จากกรณีมีกลุ่มคนวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้ากระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี จนได้รับความเสียหาย เมื่อคืนวันที่ 14 ก.ย. 2564 

คดีนี้ทั้ง 3 คน ถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 17 และ 18 ก.ย. 2564 ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 17 ก.ย. 2564 โดยณัฐพลให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม แต่ปฏิเสธในชั้นสอบสวน โดยให้การเพิ่มเติมว่า ตำรวจพูดชักจูงใจให้รับสารภาพในชั้นจับกุมว่า จะได้รับโทษน้อยลง แต่ตนเองไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ส่วนณรงค์ศักดิ์ได้เดินทางไปมอบตัวที่กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรจนครบาล 1 (กก.สส.บก.น.1) ขณะที่อธิคุณถูกจับกุมที่บ้านใน จ.อยุธยา และถูกควบคุมตัวที่ สน.พหลโยธิน รวม 2 คืน ก่อนพนักงานสอบสวนจะฝากขังต่อศาลอาญา 

ภายหลังถูกนำตัวไปฝากขัง ณรงค์ศักดิ์ ณัฐพล และ อธิคุณ ได้รับการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวและติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) นอกจากนี้พวกเขายังเคยถูกกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาตั้งแต่ 15.00 – 06.00 น.อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังครบกำหนดฝากขัง 84 วันแล้ว พนักงานอัยการไม่ได้ยื่นฟ้องคดี ศาลจึงปล่อยตัวทั้งสามคนพร้อมคืนเงินประกัน ก่อนพนักงานสอบสวนนัดทั้งสามคนเพื่อส่งตัวให้อัยการเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 และอัยการนัดมาส่งฟ้องในวันนี้

สำหรับวันนี้ ทั้ง 3 เดินทางมารายงานตัวต่ออัยการตามนัด ก่อนถูกนำตัวไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญา โดย วิชชากร สุขานุศาสน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยทั้งสามกับเยาวชนอีก 1 คน ได้ร่วมกันดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ ด้วยการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 คู่กับพระราชินี พร้อมเครื่องสักการะบูชา จํานวน 1 ชุด ราคา 80,000 บาท ของสํานักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้เสียหาย ทําให้พระบรมฉายาลักษณ์ได้รับความเสียหาย 

พนักงานอัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าว เพื่อให้ประชาชน หรือบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่พบเห็นเข้าใจได้ว่า เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขและพระราชินี ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้งเป็นการปลุกปั่นทําให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด และจูงใจให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จนอาจนํามาซึ่งความเกลียดชัง 

ทั้งนี้ อัยการได้ระบุในท้ายคำฟ้องว่า คัดค้านการปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณา อ้างเหตุว่า คดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ภายหลังศาลรับฟ้อง โดยทั้งหมดยืนยันปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทนายความได้ยื่นประกันทั้ง 3 คน ตั้งแต่เวลา 11.00 น. และในเวลา 17.00 น. อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 3 คน ระหว่างพิจารณา โดยมีประกัน ณรงค์ศักดิ์ในวงเงิน 180,000 บาท อีก 2 คน คนละ 90,000 บาท มีเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน นัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 19 มิ.ย. 2566 เวลา 13.30 น.

เกี่ยวกับการชุมนุมในค่ำวันที่ 14 ก.ย. 2564 หรือ #ม็อบ14กันยา64 นั้น เป็นการชุมนุมของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ในช่วงเย็นจนถึงค่ำเช่นทุกวัน การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ โดยมี คฝ.วางกำลังอยู่ในกรมดุริยางค์ทหารบกเช่นเคย และเข้าประจำการบริเวณสะพานลอยหน้ากรมดุริยางค์ฯ หลังเคอร์ฟิว มีการประกาศให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน พร้อมกับมีการยิงแสงเลเซอร์ออกมาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าว ซึ่งอาจทำให้กล้องและอุปกรณ์บันทึกภาพเสียหายได้ รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งมีการสั่งนักข่าวให้หยุดถ่ายทอดสด และให้แสดงบัตรนักข่าว โดยมีรายงานการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาบริเวณหน้ากรมดุริยางค์ฯ เหมือนทุกวัน ก่อนที่เวลาประมาณ 23.00 น. เกิดเหตุไฟไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน 

.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับเยาวชน-วัยรุ่น 4 ราย กล่าวหาวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้ากระทรวงแรงงาน หลังศาลออกหมายจับ ม.112-วางเพลิง

ทบทวน ม.112 ผ่านคดีแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์: การตีความขยายขอบเขตกฎหมาย และการส่ง “เสียง” ที่ไม่ถูกรับฟัง 

X