เปิดแฟ้มคดี ม.112 “สิทธิโชค” ไรเดอร์ถูกฟ้อง “วางเพลิงเผารูป” แต่จำเลยยืนยันเจตนาต้องการช่วยดับเพลิง

ในวันที่ 17 ม.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของสิทธิโชค เศรษฐเศวต ไรเดอร์ส่งอาหาร ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217 และ 358 พร้อมกับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการถูกกล่าวหาว่า นำของเหลวคล้ายว่าเป็นน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้อยู่บริเวณฐานพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี บริเวณเกาะกลางถนนราชดำเนินนอก แยกผ่านฟ้าลีลาศ ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา2564

ทั้งนี้ การชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ได้เชิญชวนประชาชนร่วมชุมนุมและเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง, ลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์และกองทัพเพื่อนำมาสู้โควิด และจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ให้ประชาชน

ต่อมาในช่วงค่ำวันที่ 19 ก.ค. 2564 ตำรวจกว่า 10 นาย ได้นำหมายจับเข้าจับกุมสิทธิโชคจากที่พักย่านรังสิต ก่อนมีการแจ้งข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง ในเช้าวันถัดมา ก่อนจะถูกนำตัวไปฝากขัง และได้รับการประกันตัว จากนั้นอัยการได้สั่งฟ้องเขาที่ศาลอาญาใน 4 ข้อกล่าวหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 

สิทธิโชคยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่อยมา และศาลได้มีการนัดสืบพยานคดีนี้ไปเมื่อวันที่ 1-2, 4 และ 8 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา 

.

ภาพรวมการสืบพยาน:  จำเลยปฎิเสธทุกข้อหา ระบุเจตนาต้องการช่วยดับเพลิงที่ลุกไหม้ตรงซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ 

ก่อนจะเริ่มกระบวนการสืบพยานที่ห้องพิจารณา 703 ศาลได้สอบถามว่า จำเลยยืนยันจะต่อสู้คดีและปฎิเสธข้อกล่าวหาใช่หรือไม่ สิทธิโชคลุกขึ้นยืนแถลงต่อศาลว่า “ยืนยันให้การปฎิเสธข้อกล่าวหาและจะขอสู้คดีต่อไป” โดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุ ตนเพิ่งจะทำงานส่งอาหารเสร็จ และได้แวะหยุดดูการชุมนุมอยู่ครู่หนึ่ง กระทั่งพบว่ามีจุดหนึ่งที่ไฟลุกไหม้ จึงได้เอาน้ำไปช่วยดับไฟ ซึ่งน้ำดังกล่าวเป็นน้ำเปล่าที่ผสมกับน้ำโคล่าสีม่วง ไม่ได้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงแต่อย่างใด โดยตัวเขาเองก็ไม่ทราบเช่นกันว่าบุคคลใดเป็นผู้ทำให้เกิดไฟลุกไหม้

ด้านทนายจำเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์ต่อพระบรมฉายาลักษณ์ แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเพียงเพราะต้องการดับไฟเท่านั้น 

การสืบพยานในคดีนี้ มีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมดรวม 11 ปาก เบิกความในทำนองเดียวกันว่า การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำพยานเข้าเบิกความ 1 ปาก คือ สิทธิโชค อ้างตัวเองเป็นพยาน

.

ผู้กล่าวหายืนยันเป็นผู้สังเกตการณ์การชุมนุมในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นต้นเพลิง และไม่ยืนยันว่าของเหลวที่จำเลยฉีดใส่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่ 

พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี รองผู้กำกับการสืบสวน สน.นางเลิ้ง และผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุ ตนได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งกลุ่มที่ปรากฎตัวในวันที่ 18 ก.ค. 2564 คือ “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” มารวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ที่ประชาธิปไตย เวลาประมาณ 14.00 น. ก่อนที่มวลชนจะนัดหมายพากันเดินไปหน้าทำเนียบรัฐบาลโดยใช้เส้นถนนราชดำเนินนอก และมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้เข้าควบคุมตั้งแนวที่บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ มีการนำแผงเหล็กมากั้น โดยชุดควบคุมฝูงชนจะยืนอยู่หลังแนวกั้น

พ.ต.ท.จงศักดิ์ เบิกความว่าระหว่างที่มีการชุมนุม ตนได้ยืนปะปนอยู่กับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เห็นว่าผู้ชุมนุมได้ทำการเผาหุ่นฟาง ขว้างปาสิ่งของ ปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ทำให้เกิดเพลิงไหม้ในหลายจุด 

พ.ต.ท.จงศักดิ์พบว่า เกิดเพลิงไหม้บริเวณฐานของพระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยได้ถือขวดน้ำพลาสติกแล้วเทของเหลวที่อยู่บรรจุด้านในจนเกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้น ในเบื้องต้นผู้กล่าวหายังเห็นว่าไม่มีเพลิง แต่พอจำเลยเทน้ำดังกล่าวลงไป เพลิงก็ลุกไหม้ขึ้นมาที่ผ้าประดับซุ้มเฉลิมพระเกียรติ 

พ.ต.ท.จงศักดิ์เห็นว่าของเหลวดังกล่าว น่าจะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเมื่อบีบลงไปแล้วเพลิงได้ลุกไหม้ขึ้นมา ที่สำคัญขวดน้ำดังกล่าวมีการเจาะรูตรงฝาขวดพลาสติก หากเป็นขวดน้ำดื่มปกติจะไม่มีการเจาะฝาในลักษณะนั้น

ต่อมา เจ้าหน้าที่ คฝ. ได้เข้าควบคุมเพลิง หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ประมาณ 5 นาที พระบรมฉายาลักษณ์จึงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด 

พ.ต.ท.จงศักดิ์ เบิกความต่ออีกว่า ในสื่อโซเชียลมีเดียของ “กนก รัตน์วงศ์สกุล” และจากหลายสำนักข่าว มีภาพตรวจสอบตัวตนของจำเลย เมื่อหาข้อมูลจากทะเบียนราษฎรแล้วก็พบว่าเป็นบุคคลๆ คนเดียวกัน ผู้กล่าวหายอมรับว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการถ่ายวิดีโอในที่เกิดเหตุไว้ เพราะกำลังวุ่นวายกับการดับเพลิง

หลังจากการชุมนุมเสร็จสิ้นลง พ.ต.ท.จงศักดิ์ ได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจัดทำสำนวน ก่อนไปแจ้งความที่ สน.นางเลิ้ง ในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เกี่ยวกับคดีนี้มีเยาวชนอีกคนที่ถูกแจ้งข้อหาเช่นกัน โดยแยกไปดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง 

.

.

ช่วงตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.จงศักดิ์เบิกความโดยสรุปว่า ตนรับราชการอยู่ สน.นางเลิ้ง มาตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน โดยทราบว่าบริเวณถนนแยกผ่านฟ้า, ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินนอก มีการติดกล้องวงจรปิดเอาไว้ สามารถดึงข้อมูลออกมาตรวจสอบได้

พ.ต.ท.จงศักดิ์ ได้เบิกความถึงในวันเกิดเหตุว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่ คฝ. ประจำการอยู่หลังแนวรั้วลวดหนาม ในวันนั้นพยานไม่ได้ทำหน้าที่บันทึกสังเกตการณ์การชุมนุม แต่จากการตรวจสอบไม่พบว่าจำเลยอยู่ใน “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” รวมถึงไม่ทราบว่าจำเลยมาถึงที่ชุมนุมกี่โมง ทั้งนี้ พ.ต.ท.จงศักดิ์ เบิกความรับด้วยว่า บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศนั้นเป็นสถานที่เปิดโล่ง และการชุมนุมไม่ได้มีลักษณะแออัดแต่อย่างใด 

เวลา 15.00 น. มวลชนได้เริ่มนำหุ่นฟางมาเผา แต่ขณะนั้นยังไม่เห็นตัวจำเลยร่วมเผาหุ่นฟางดังกล่าว หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงให้หลัง กลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มตัดลวดหนาม, ฝ่าแนว และขว้างปาสิ่งของ ในนั้นมีทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวปะปนอยู่ด้วยกัน โดยเขาได้เดินสังเกตการณ์อยู่หลังแนวลวดหนาม 

พ.ต.ท.จงศักดิ์เบิกความว่า จุดที่เขายืนอยู่คือจุดที่หันหน้าเข้าหาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ สามารถมองเห็นที่เกิดเหตุได้อย่างชัดเจน ผู้กล่าวหาเห็นจำเลยเป็นครั้งแรกที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ 

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.จงศักดิ์ไม่ทราบว่าต้นเพลิงที่เกิดขึ้นบริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรตินั้น บุคคลใดเป็นคนทำ เนื่องจากไม่ได้สังเกตดู ต่อมา เขาเห็นว่าจำเลยได้มีการบีบของเหลวบางอย่างลงในซุ้มฯ จากที่สังเกตเห็นเปลวไฟได้ลุกพรึบขึ้นมาก่อนจะดับหมอดลง ซึ่งภายหลังก็ไม่ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดได้เข้าไปควบคุมเพลิงดังกล่าว 

หลังจากเกิดเหตุแล้ว พยานได้ไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ปรากฎชัดว่าใครเป็นต้นเพลิง และในทางสืบสวนก็ไม่ปรากฎว่าของเหลวที่อยู่ในขวดเป็นของเหลวชนิดใด แต่คาดว่าน่าจะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 

พ.ต.ท.จงศักดิ์เบิกความว่า สาเหตุที่เขาไม่ได้จับกุมจำเลยซึ่งหน้า เป็นเพราะว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้น อีกทั้งเป็นคดีความมั่นคง จะต้องสืบหาพยานหลักฐานก่อน

.

เจ้าหน้าที่โยธา กทม. เข้าแจ้งความ คิดค่าเสียหายผ้าประดับสองหมื่นกว่าบาท แม้เพลิงไม่ได้ไหม้ลามถึงพระบรมฉายาลักษณ์

ประทีป ศรีจันทร์ ผู้กล่าวหาคนที่ 2 รับราชการที่สำนักการโยธา กทม. ตำแหน่งนายช่างศิลป์อาวุโส มีหน้าที่ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติ โดยหน่วยงานมัณฑนศิลป์จะเป็นผู้ออกแบบดูแลในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด

เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ประทีปเบิกความว่า ตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่มาทราบภายหลังจากในไลน์กลุ่มที่ส่งต่อกันมา ก่อนที่จะได้รับมอบหมายจาก กทม. ให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ในเรื่องวัตถุสิ่งของเสียหาย 

ในแง่ความเสียหายที่เกิดขึ้น เขาตรวจสอบแล้วพบว่า มีผ้าที่เสียหายด้านหนึ่งเป็นรอยไหม้คิดเป็นค่าเสียหายทั้งหมดประมาณ 25,000 บาท แม้จะไหม้แค่จุดเดียว แต่ตัวผ้าประดับจะต้องถูกรื้อออกมาใหม่ ทาสีใหม่ และปัดรอยเขม่าออก

พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนวางเพลิง ไม่ได้รู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เพียงแต่ได้รับมอบหมายจาก กทม. ให้มาแจ้งความ

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ประทีปเบิกความโดยสรุปว่า หลังรู้ว่ามีทรัพย์สินเสียหายก็ได้ไปสำรวจในที่เกิดเหตุประมาณ 1 วันให้หลัง เพื่อตรวจดูความเสียหาย

ประทีปเบิกความด้วยว่า บริเวณฐานซุ้มเฉลิมพระเกียรตินั้นทำจากวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ ไฟจึงไม่สามารถไหม้ได้ในฉับพลัน จึงมีแค่ผ้าประดับที่ได้รับความเสียหาย ประทีปรับว่าไม่ได้พบเห็นเชื้อเพลิงหรือเศษฟางที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เพราะไปหลังจากที่เกิดเหตุแล้วหนึ่งวัน

.

2 ตำรวจจราจร ยืนยันเห็นจำเลยบีบของเหลวใส่พระบรมฉายาลักษณ์ แต่เพลิงไหม้ไม่ได้ลุกลาม

ประจักษ์พยานปากแรก – ส.ต.ท.สุกัลย์ รัตนปริญญานนท์ กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร เบิกความว่า ตนรับราชการมาตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 จนถึงปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่จราจร มีหน้าที่อำนวยการจราจรบริเวณแยกผ่านฟ้า 

ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับมอบหมายให้ดูแลการจราจร เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมเยาวชนปลดแอก พยานเริ่มปฎิบัติหน้าที่เวลาประมาณ 14.00 น. และเสร็จสิ้นประมาณ 19.20 น.

ส.ต.ท.สุกัลย์เบิกความว่า ช่วงเวลา 14.00 น. มีชายใส่คนหนึ่งใส่เสื้อไลน์แมน สวมหน้ากากอนามัยปิดบริเวณหน้าผากและปาก กำลังหยิบขวดน้ำซึ่งบรรจุของเหลวลักษณะคล้ายน้ำมัน บีบใส่บริเวณพระบรมฉายาลักษณ์และแผงกั้นเหล็ก เมื่อพยานเห็นดังนั้นจึงรีบวิ่งเข้าไปห้าม เมื่อบีบแล้วเพลิงได้ลุกขึ้นมาวูบหนึ่งก่อนจะดับลง เนื่องจากบริเวณนั้นมีความชื้น 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ส.ต.ท.สุกัลย์ เบิกความว่า วันที่ตนปฎิบัติหน้าที่นั้นเป็นภารกิจพิเศษที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปร่วมมือกับ สน.นางเลิ้ง มีการกระจายกำลังไปตามแยกจุดต่างๆ ในบริเวณที่ไม่ห่างจากจุดเกิดเหตุ ระหว่างการชุมนุมมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 700 คน และเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลความเรียบร้อยอยู่ประมาณ 200-300 นาย

เท่าที่พยานสังเกตเห็น กลุ่มผู้ชุมนุมได้ขนหุ่นฟางมาโยนลงในแผงเหล็กกั้นที่บริเวณเกาะกลาง โดยมีเจ้าหน้าที่ คฝ. ตั้งแนวห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร บุคคลใดจะเป็นผู้จุดไฟตรงบริเวณหุ่นฟางพยานไม่ทราบ  

พยานรับว่า ก่อนที่จำเลยจะบีบของเหลวลงบนผ้าประดับซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณนั้นมีเพลิงไหม้อยู่ก่อนแล้ว เมื่อบีบของเหลวลงไปเพลิงก็ลุกไหม้อยู่วูบหนึ่งถึงค่อยดับลง ทั้งนี้ในบริเวณใต้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติไม่ปรากฎว่ามีเศษฟางไหม้ และพยานก็ไม่ทราบว่าต้นเพลิงมาจากที่ใด

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า เหตุใดพยานจึงไม่จับกุมจำเลย ณ ขณะนั้น พยานตอบว่า ขณะนั้นไม่แน่ใจว่าใช่ของเหลวที่ทำให้ไฟลุกหรือไม่ อีกทั้งสถานการณ์ก็กำลังวุ่นวาย พยานเลยห้ามไว้ก่อน แต่จำเลยไม่ได้มีพฤติการณ์ตกใจและไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด 

ส.ต.ท.สุกัลย์รับว่า ขณะที่จำเลยบีบของเหลวลงไป ไฟก็ลุกพรึบขึ้นมา แต่ไม่ได้ลามมาถึงขวด แค่ลุกไหม้ขึ้นมาเฉยๆ 

ประจักษ์พยานปากที่สอง – ด.ต.อำนาจ เก็บรักษา ตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร เบิกความว่า ตนเริ่มรับราชการตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ในวันเกิดเหตุพยานได้รับมอบหมายให้ดูแลการจราจรตั้งแต่ 10.00 น. ที่แยกผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งมีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก 

พยานสังเกตการณ์อยู่ตรงตู้สัญญาณไฟจราจร พฤติการณ์ของผู้ชุมนุมมีการเผาหุ่นฟางและมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเวลา 16.40 น. ที่แยกนางเลิ้งและแยกผ่านฟ้า รวมถึงมีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์

ด.ต.อำนาจ เบิกความว่า ในช่วงปฏิบัติหน้าที่ พบเห็นชายสวมชุดไลน์แมน บีบของเหลวใส่ซุ้มพระเฉลิมพระเกียรติ แล้วไฟลุกพรึบขึ้นมา แต่พยานไม่ทราบว่าของเหลวดังกล่าวเป็นอะไร 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุพยานปฎิบัติหน้าที่กับ ส.ต.ท.สุกัลย์ อยู่ในป้อมควบคุมสัญญาณจราจร มองเห็นผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายมาถึงแยกผ่านฟ้าลีลาศ เริ่มมีการเผาหุ่นและปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ด.ต.อำนาจรับว่า ในป้อมควบคุมสัญญาณจราจรนั้น ปิดด้วยกระจกทึบ 4 ด้าน และพยานก็ไม่ทราบว่าใครเป็นคนเริ่มเผาหุ่นฟางดังกล่าวก่อน 

พยานออกจากป้อมควบคุมสัญญาณจราจรหลัง ส.ต.ท.สุกัลย์ สาเหตุที่ออกมาเพราะเห็นไฟลุกไหม้ที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ พบเห็นชายบีบของเหลวดังกล่าวใส่ผ้าประดับซุ้มฯ สองสามครั้ง แต่ไฟก็ยังลุกพรึบอยู่ประมาณ 1-2 นาที พยานรับว่าไม่ได้เข้าตรวจยึดขวดพลาสติกดังกล่าวของจำเลยไว้เป็นของกลางเพื่อตรวจสอบ

.

.

สันติบาลไม่ได้ส่งบันทึกภาพและคลิปเหตุการณ์ให้พนักงานสอบสวน แต่ใช้ภาพที่ได้จาก “แหล่งข่าว”

พ.ต.ท.ฌพอนนท์ สองแสงจันทร์ พนักงานสืบสวน กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 เบิกความว่า ตนได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมเยาวชนปลดแอก เพื่อสอดส่องผู้กระทำความผิดทั้งหมด โดยในวันเกิดเหตุพยานแต่งกายนอกเครื่องแบบ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาอีกประมาณ 10 นาย

พยานสังเกตการณ์ชุมนุมอยู่ที่สะพานผ่านฟ้าตั้งแต่เวลา 15.00 น. กระทั่ง ช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. พยานได้ยินจากผู้ชุมนุมว่ามีการวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

พยานได้เข้าไปดูแลตรงที่เกิดเหตุ ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทำหน้าที่ถ่ายรูปบรรยากาศโดยรอบ และถ่ายตรงซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่มีไฟลุกและควันโขมงขึ้นมา หลังจากนั้นก็มีเสียงในที่เกิดเหตุตะโกนบอกว่า มีคนใส่เสื้อไลน์แมนเป็นผู้ก่อเหตุ ขี่มอเตอร์ไซด์ที่มีกล่องส่งอาหารสีชมพู ซึ่งขณะนั้นยังจอดอยู่ที่บริเวณที่เกิดเหตุ พยานจึงบอกผู้ใต้บังคับบัญชาให้ติดตามไป

ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ติดตามผู้ต้องสงสัยไปถึงที่บ้านพักแห่งหนึ่ง เห็นว่าชายคนดังกล่าวได้เดินเข้าไปในบ้าน ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานได้เฝ้ารออยู่หนึ่งคืน ก่อนเช้าวันรุ่งขึ้นก็ปรากฏว่ามีรถจักรยานยนต์จอดอยู่และมีรองเท้าสีขาวเหมือนในวันที่เกิดเหตุ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์จึงพบว่าผู้ต้องสงสัย คือจำเลยในคดีนี้ 

พยานได้ทำรายงานการสืบสวนส่งมอบให้พนักงานสอบสวน จากนั้นได้ขอศาลออกหมายจับ พร้อมเข้าจับกุมจำเลยในวันที่ 19 ก.ค. 2564 โดยมีการยึดเสื้อคลุมสีดำมีข้อความว่า Line man และรองเท้าแตะสีขาว 1 คู่ เป็นของกลาง ในชั้นจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธ

.

.

ทนายจำเลยถามค้านว่า จากรายงานการสืบสวนปรากฏข้อความว่า “วันที่ 18 ก.ค. 2564 ปรากฏชายใส่เสื้อสีดำฯ เผาพระบรมฉายาลักษณ์” แต่ในที่เกิดเหตุมีแค่ผ้าประดับที่เสียหาย ทำไมถึงรายงานว่าเป็นการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ พยานตอบว่า เป็นการรายงานตามภาพรวมที่เห็น ไม่ได้สังเกตรายละเอียดอย่างชัดเจน เนื่องจากวันนั้นมีไฟลุกไหม้

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ในการปฏิบัติตามหน้าที่วันนั้น พยานและผู้ใต้บังคับบัญชามีสาระสำคัญในการทำงานคือเก็บภาพนิ่งและถ่ายภาพเคลื่อนไหวให้ได้มากที่สุดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ พยานไม่ได้มอบหมายงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องรู้อยู่แล้ว

พ.ต.ท.ฌพอนนท์รับว่า คลิปวิดีโอที่บันทึกภาพขณะจำเลยกระทำผิดได้มาจากแหล่งข่าว ในคดีนี้ตัวพยานและผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ส่งภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวขณะที่จำเลยบีบของเหลวแก่พนักงานสอบสวนเลย 

พ.ต.ท.ณพอนนท์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ ตนยืนอยู่ห่างจากซุ้มดังกล่าวประมาณ 10 เมตร มีผู้ชุมนุมอยู่ด้วยกันมากกว่า 10 คน เกี่ยวกับไฟที่ลุกไหม้ใต้ฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พยานไม่ทราบว่าไฟลุกไหม้อยู่นานเท่าไหร่ เพราะไม่ได้สนใจเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น แต่สนใจแค่ว่าใครเป็นคนทำ

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ในคดีนี้ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ทำเอกสารระบุว่าใครเป็นผู้ลงมือวางเพลิงใต้พระบรมฉายาลักษณ์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่  ทั้งในวันเกิดเหตุ พยานไม่ได้ทำการจับกุมจำเลยซึ่งหน้า เพราะต้องมีการสืบสวนให้แน่ชัดก่อน

.

เจ้าหน้าที่พิสูจน์วัตถุพยานระบุ ไม่พบวัตถุไวไฟบนเศษผ้า แต่คาดว่าของเหลวที่จำเลยราดใส่พระบรมฉายาลักษณ์เป็นวัตถุไวไฟชนิดหนึ่ง 

ร.ต.อ.ธีรวัตน์ อึ้งสิทธิพูนพร เจ้าหน้าที่พิสูจน์วัตถุพยาน จากกองพิสูจน์หลักฐาน เบิกความว่าตนจบการศึกษาสาขานิติเวช และเริ่มรับราชการตั้งแต่ 1 พ.ค. 2558 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 7 ปี แล้ว

ในการตรวจการเกิดเพลิงไหม้ พยานตรวจจากวัตถุพยานที่ได้รับจากพนักงานสอบสวนในที่เกิดเหตุ ซึ่งจะตรวจในลักษณะที่หาน้ำมันเชื้อเพลิงและวัตถุไวไฟ โดยคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ส่งผ้าสีขาวและสีเหลืองที่มีลักษณะถูกเพลิงไหม้ไปตรวจสอบทั้งผืน จุดประสงค์เพื่อทราบว่ามีน้ำมันเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟติดมาหรือไม่ และจากการตรวจสอบก็ไม่พบวัตถุไวไฟดังกล่าว 

กรณีที่ตรวจไม่พบวัตถุไวไฟ อาจเนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟมีคุณสมบัติระเหยได้ง่าย ซึ่งน่าจะระเหยไปหมดก่อนการนำส่งตรวจพิสูจน์

ร.ต.อ.ธีรวัฒน์เบิกความต่อว่า เนื่องจากของเหลวที่จำเลยบีบใส่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้นำส่งให้ตนพิสูจน์ จึงไม่สามารถตรวจสอบทราบได้ว่าเป็นวัตถุเคมีชนิดใด แต่จากที่ปรากฎตามคลิปวิดีโอจะเห็นว่า เมื่อของเหลวดังกล่าวถูกไฟก็มีการลุกไหม้ทันที จึงเชื่อได้ว่าเป็นวัตถุไวไฟชนิดใดชนิดหนึ่ง

.

.

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.ธีรวัฒน์ เบิกความโดยสรุปว่า ตนเคยทำการตรวจพิสูจน์คดีเพลิงไหม้มาแล้วกว่า 200 คดี ในกรณีที่ตรวจไม่เจอน้ำมันเชื่อเพลิงหรือสารไวไฟ สามารถนำคราบเขม่าจากที่เกิดเหตุมาให้ตรวจสอบได้ ถ้ายังมีเชื้อเพลิงหรือสารไวไฟหลงเหลืออยู่

หากจะทราบว่าของเหลวที่จำเลยบีบเทลงนั้น เป็นของเหลวชนิดใด พนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่จะต้องเก็บของเหลวดังกล่าวมาส่งให้พยานตรวจพิสูจน์ 

ทนายจำเลยถามค้านว่า กรณีที่มีไฟลุกไหม้อยู่และมีเชื้อเพลิงอยู่ การฉีดน้ำเป็นฝอยเข้าไปมีโอกาสที่ไฟจะวาบขึ้นได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ แต่ตามหลักการแล้วน้ำควรดับไฟได้ หากมีไฟลุกไหม้อยู่แล้วฉีดน้ำเข้าไป ไฟจะดับลงโดยไม่ลุกไหม้ขึ้น

ในกรณีที่มีการเทน้ำมันลงบนเพลิงไหม้ดังกล่าว ไฟจะมีโอกาสลามมาติดที่ขวดหรือไม่ พยานตอบว่า ไฟจะลามขึ้นมาถึงขวดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระยะห่างและหลายปัจจัย 

.

พยานความเห็น-นักวิชาการ ให้ความเห็น พระบรมฉายาลักษณ์มีค่าเท่ากับตัวบุคคล ไม่สามารถล่วงเกินได้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำพิพากษายกฟ้อง ม.112 กรณีเผาซุ้มอีกคดี

พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญ สังกัดกองทัพเรือ เบิกความว่า เคยรับราชการที่หอสมุดแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ในกองทัพเรือ มีหน้าที่อบรมศีลธรรมในกองทัพเรือ ปัจจุบันเกษียณแล้ว 

พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความว่า ในทัศนะสังคมไทย พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงและพระราชินี มีค่าเท่ากับตัวบุคคล เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ใดก็เท่ากับเห็นพระองค์ท่านอยู่ตรงนั้น

หลังพนักงานสอบสวนได้ส่งภาพถ่ายของจำเลยขณะกระทำผิดให้พยานดูแล้ว พยานเห็นว่าลักษณะการกระทำของจำเลยคือการจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ พยานเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย หากจำเลยไม่พอใจต่อสถาบันกษัตริย์ สามารถที่จะแสดงออกได้หลายวิธี วิญญูชนทั่วไปไม่ควรกระทำเช่นนั้น 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความโดยสรุปว่า ตนมาเป็นพยานในคดีนี้ได้เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อไปขอความร่วมมือ โดยก่อนหน้านี้เคยทำหน้าที่ตีความถ้อยคำให้พนักงานสอบสวน เพราะพยานมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ 

เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำคำให้การ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งเอกสารหลักฐานมาให้พยานที่บ้าน ไม่ได้เดินทางไปสน.เพื่อให้การด้วยตนเอง พยานได้ตอบคำถามเป็นข้อๆ ตามที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้ เมื่อเขียนคำตอบเสร็จ ก็ลงลายมือชื่อรับรองส่งกลับให้พนักงานสอบสวน

พล.ร.ต.ทองย้อย รับว่า นอกจากคดีนี้ ตนเคยไปให้การเป็นพยานมาตรา 112 ในคดีอื่นๆ หลายคดี ส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีการกล่าวข้อความ พูด และพิมพ์ โดยพยานได้ให้การไปตามเอกสารหลักฐานที่ปรากฎ 

พล.ร.ต.ทองย้อย ยอมรับว่าตนไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้ว่าตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ ได้แต่ให้ความคิดเห็นไปตามที่ถาม โดยยอมรับว่าตนไม่ได้เห็นคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุ เพราะพนักงานสอบสวนส่งมาแค่ภาพนิ่งเท่านั้น จากภาพที่เห็นก็ปรากฎว่าจำเลยกำลังจุดไฟตรงผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควร 

พยานเบิกความอีกว่า การจุดไฟเผาดังกล่าวแสดงถึงความไม่เคารพต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 แม้จะเป็นเพียงแค่การเผาผ้าซึ่งเป็นส่วนประกอบของพระบรมฉายาลักษณ์ก็ตาม เป็นการแสดงให้เห็นว่าใครจะทำอะไรกับพระบรมฉายาลักษณ์ก็ได้ ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์หรือวิเศษอะไร และทำให้บุคคลในรูปเสื่อมเสียด้วย 

ทั้งนี้ พล.ร.ต.ทองย้อยรับว่า ไม่ทราบว่าจำเลยที่ปรากฎในภาพถ่ายมีจุดมุ่งหมายจะกระทำสิ่งใด จะเป็นการจุดไฟหรือดับไฟ ก็ไม่ทราบ 

.

.

ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล เบิกความว่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน 

พยานเบิกความว่า จากภาพการกระทำของจำเลยที่เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เห็นว่ามีความพยายามจะจุดไฟเพื่อเผาที่ประดิษฐานรูปของในหลวงและราชินี ผู้กระทำมีเจตนาที่ไม่ดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงตั้งใจเผาทำลายสิ่งที่สื่อถึงตัวพระองค์ท่าน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ต้องการดูหมิ่น เหยียดหยาม มุ่งทำร้ายต่อพระมหากษัตริย์ 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน สมชายเบิกความโดยสรุปว่า เคยเขียนวิทยานิพธ์เกี่ยวกับกฎหมายการค้า และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา พยานไม่เคยเขียนบทความ หรืองานวิชาการเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

พยานมาให้การในคดีนี้เพราะพนักงานสอบสวนมาขอความเห็น ไม่ได้มีการออกหมายเรียก แต่เป็นการประสานทางโทรศัพท์ พยานไม่เคยสอนวิชาเกี่ยวกับกฎหมายอาญา แต่เคยศึกษาเกี่ยวกับมาตรา 112 และพยานไม่เคยขึ้นเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาลยุติธรรม ทั้งในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก พยานไม่เห็นด้วยกับการปฎิรูปสถาบันฯ 

ทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบหรือไม่ว่าศาลอุทธณ์ภาค 4 เคยมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 กรณีผู้ถูกกล่าวหาเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่จังหวัดขอนแก่น พยานเบิกความว่าไม่ทราบรายละเอียดในคดีดังกล่าว ทนายความได้ยื่นคำพิพากษาคดีดังกล่าวประกอบการพิจารณา

.

เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุรับ พบผ้าประดับซุ้มฯ มีรอยไหม้ แต่ไม่ได้เก็บมาตรวจสอบ 

ร.ต.ท.หญิงณัฐชยา สิงหมารศรี เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ สังกัดกองพิสูจน์หลักฐานกลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความว่า ทำงานอยู่ในกลุ่มตรวจสถานที่เกิดเหตุมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เคยตรวจสถานที่ชุมนุมมาประมาณ 30 คดี 

ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ให้ไปตรวจเก็บวัตถุพยานในคดีทางการเมือง ที่แยกสะพานผ่านฟ้า 

พยานกับพวกรวม 6 นาย ได้เดินทางไปสถานที่เกิดเหตุ พบว่ามีสติกเกอร์และข้อความประมาณ 5 แผ่นติดอยู่ที่ฐานพระบรมฉายาลักษณ์ ผ้าประดับมีลักษณะหลอมละลาย และเศษฟางตกอยู่บริเวณใต้ฐาน ซึ่งพยานไม่ทราบว่า ผ้าที่มีลักษณะหลอมละลายเกิดจากเหตุใด และไม่ทราบว่ามีเศษฟางอยู่ใต้ฐานซุ้มเฉลิมพระเกียรติได้อย่างไร หลังจากการตรวจสอบเสร็จ พยานได้จัดทำรายงานส่งให้พนักงานสอบสวน 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.ท.ณัฐชยาเบิกความโดยสรุปว่า เคยอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการพิสูจน์พยานหลักฐานมาก่อนลงพื้นที่ รายงานตรวจเก็บวัตถุพยานทั้งหมด พยานเป็นคนทำ ทั้งนี้พยานไม่พบว่ามีรอยเขม่าสีดำที่เกิดจากเผาไหม้ในซุ้มเฉลิมพระเกียรติแต่อย่างใด

ในการปฎิบัติงาน ร.ต.ท.ณัฐชยา รับว่าเก็บแค่เศษฟางไปตรวจเท่านั้น เพราะคิดว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับเศษผ้าที่หลอมละลาย พยานไม่ได้เก็บผ้าประดับไปตรวจสอบด้วย เพราะพิจารณาตามความเหมาะสม ตามที่ได้รับการอบรมมา แม้ภายหลังจะมีการเก็บหลักฐานผ้าดังกล่าวโดยกองพิสูจน์หลักฐานกลาง แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนเก็บ 

.

สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ เข้าแจ้งความ 112-วางเพลิงเผาทรัพย์ ชี้การกระทำของจำเลยแสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อสถาบันฯ 

ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เบิกความว่า ตนเป็นผู้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สืบเนื่องจากเห็นคลิปของสำนักข่าวท็อปนิวส์ ที่มีชายไม่ทราบชื่อได้ถือของเหลวสีแดง ฉีดพ่นผ้าแพรประดับพระบรมฉายาลักษณ์ พอฉีดพ่นเข้าไปแล้วก็ทำให้ไฟลุกพรึบขึ้นมา จึงคาดว่าน่าจะเป็นเชื้อเพลิง ไม่ใช่น้ำแน่นอน 

ต่อมา พยานได้ปรึกษากับสมาชิกในกลุ่มปกป้องสถาบันฯ แล้ว ถึงค่อยนำไปกล่าวโทษที่ สน.นางเลิ้ง โดยพยานเป็นตัวแทนผู้กล่าวโทษข้อหามาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สาเหตุที่คิดว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด เพราะพระบรมฉายาลักษณ์เป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ ให้ประชาชนเคารพสักการะ 

ระพีพงษ์เบิกความว่า หากเป็นคนจิตใจปกติที่ไม่มีความอาฆาตมาดร้าย จะไม่มีทางเผาพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่ามีความอาฆาดมาดร้ายต่อสถาบันฯ ทั้งนี้พยานไม่รู้จักและไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ระพีพงษ์เบิกความว่า ตามหนังสือร้องทุกข์ตนเป็นคนจัดทำด้วยตนเอง พิมพ์ระบุไว้ว่ามีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ถนนครสวรรค์ แต่ขณะเกิดเหตุ พยานไม่ได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ เพราะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องไปหาหลักฐานเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในการกล่าวโทษ พยานไม่ทราบว่าต้นเพลิงที่ฐานซุ้มเฉลิมพระเกียรติใครเป็นคนทำ แต่ตามที่ปรากฎในคลิปวิดีโอของช่องท็อปนิวส์ หลักจากจำเลยฉีดของเหลวดังกล่าวใส่ผ้าใต้ฐานพระบรมฉายาลักษณ์แล้วไฟลุกพรึบขึ้นมาประมาณ 1 นาที ก่อนดับลง 

พยานไม่ทราบว่าจำเลยพยายามจะดับเพลิงไหม้ดังกล่าว ไม่ทราบว่าการกระทำดังกล่าวจำเลยมีเจตนาเช่นไร แต่ความคิดของพยานเห็นว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย

.

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี เห็นว่าการกระทำของจำเลยเข้าข่าย ม.112 ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้อง 

พ.ต.อ.อธิชย์ ดอนนันชัย รองผู้กำกับการสอบสวน สน.นางเลิ้ง เบิกความว่าเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 มีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองประมาณ 700-900 คน พยานจำชื่อกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวไม่ได้

ขณะที่พยานปฎิบัติหน้าที่ที่ สน.นางเลิ้ง ได้รับแจ้งเหตุจากทางวิทยุเมื่อเวลา 14..00 น. ว่ามีการชุมนุมที่แยกผ่านฟ้าลีลาศ พยานจึงเดินทางไปสังเกตการณ์ตรงสี่แยกผ่านฟ้า แต่เหตุการณ์ช่วงนั้นยังปกติดี 

ต่อมา 16.40 น. พยานได้รับแจ้งว่ามีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 มีการเผาหุ่นฟาง และขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 

หลังเหตุการณ์สงบลง กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนย้ายไปที่แยกนางเลิ้ง พยานได้เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุอีกรอบ มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้าไปด้วย แล้วพบว่าบริเวณฐานซุ้มเฉลิมพระเกียรติและผ้าประดับถูกเผา และพบสีสเปรย์พ่นเป็นข้อความต่างๆ 

พยานได้ตรวจที่เกิดเหตุพร้อมกับหน่วยพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเได้จัดทำรายงานตรวจเก็บวัตถุพยานแล้วส่งให้ตนดู ปรากฎว่ามีผ้าประดับที่บางส่วนถูกเผาไหม้ และข้อความที่พ่นสีพ่นเสปย์ จากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง 

ก่อนที่ต่อมา พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี รองผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง จะเข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานกรมโยธา กรุงเทพมหานคร และสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ก็มาดำเนินการร้องทุกข์เช่นกัน 

พ.ต.อ.อธิชย์ เบิกความย้อนไปว่า กลุ่ม ศปปส. และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มอบไฟล์ภาพและคลิปวิดีโอรายการของท็อปนิวส์ (Top News) ให้พยาน เนื่องจากเป็นคดีความมั่นคง จึงได้มีการตั้งคณะพนักงานสอบสวน โดยมีพยานเป็นหนึ่งในนั้น มีประจักษ์พยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสองนาย บรรดาผู้ที่มาแจ้งความได้ส่งภาพและรายงานการสืบสวนให้พยาน ซึ่งมีการลงลายมือชื่อรับรองไว้

พ.ต.อ.อธิชย์ ได้นำสำเนาข้อมูล ภาพถ่ายทะเบียนราษฎรเพื่อยืนยันตัวจำเลย และยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ดำเนินการขอออกหมายจับ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้จับกุมตัวจำเลยตามหมายจับ พร้อมยึดของกลางคือเสื้อแจ็กเก็ต รองเท้าแตะสีขาวจำนวนหนึ่งคู่ที่ และตรวจยืดมือถือของจำเลยเป็นของกลางเพิ่มเติม

นอกจากนี้ พยานเป็นผู้จัดทำบัญชีของกลางคดีอาญา และยังส่งของกลางผ้าสีเหลืองและผ้าสีขาวไปทำการตรวจพิสูจน์ จากนั้นจึงเรียกจำเลยมารับทราบข้อกล่าวหา และจำเลยให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา

หลังรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว พยานมีความเห็นทางคดี ให้สั่งฟ้องจำเลยในทุกข้อหา

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน  พ.ต.อ.อธิชย์เบิกความโดยสรุปว่า เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการวางเพลิงเผาทรัพย์ คดีนี้เป็นคดีแรกที่พยานทำ 

เกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุ พ.ต.อ.อธิชย์เบิกความว่า เป็นสถานที่เปิดโล่ง แต่จำนวนคนที่มาชุมนุมมีจำนวนหลายคน ประมาณ 600-1,000 คน สถานที่จึงมีความแออัด อย่างไรก็ตาม ในทางสอบสวนไม่ปรากฎว่าจำเลยมาถึงที่เกิดเหตุเวลาใด และไม่ปรากฎว่าจำเลยเป็นแกนนำ, ผู้จัดชุมนุม หรือสมาชิกกลุ่มเยาวชนปลดแอกแต่อย่างใด เป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมเท่านั้น 

ในคดีนี้พยานจำไม่ได้ว่า ได้สอบผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแพทย์หรือระบาดวิทยาไว้หรือไม่ แต่ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลมีการประกาศห้ามการชุมนุมที่มีความเสี่ยง และในส่วนของวันที่ 18 ก.ค 2564 พื้นที่กรุงเทพฯ ถูกประกาศเป็นที่ควบคุมโรคสูงสุดหรือไม่ พยานจำไม่ได้ อีกทั้งพยานก็จำไม่ได้ว่ามีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีสาเหตุจากการชุมนุมในวันเกิดเหตุหรือไม่ 

สาเหตุที่พยานสอบปากคำจากพยานหลากหลายอาชีพ เนื่องด้วยจะถามความเห็นความรู้สึกของประชาชนว่ารู้สึกอย่างไร ว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ พ.ต.อ.อธิชย์ย้ำว่าในกระบวนการคัดสรรพยานได้หาจากกลุ่มที่มีความเห็นที่หลากหลาย ไม่ได้รู้จักคนที่ให้การเป็นการส่วนตัว 

ทนายจำเลยถามค้านว่า ทำไมถึงไม่เลือกสอบปากคำพยานที่เป็นประโยชน์กับจำเลยเพื่อถ่วงดุล พยานเบิกความว่า พยานไม่ทราบว่าคนที่มาให้การอยู่ฝ่ายไหน และพยานทุกคนก็ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด 

ในการตั้งประเด็นสอบสวน พยานมุ่งสอบว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่เป็นสำคัญ เพราะพยานหลักฐานปรากฎชัดแจ้งแล้ว แม้ในรายงานจะไม่ปรากฎว่ามีการเก็บผ้าประดับดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงคือกองพิสูจน์หลักฐานกลางได้มีการจัดเก็บผ้าประดับสีขาวและเหลืองตั้งแต่ในวันเกิดเหตุแล้ว 

ต่อมา ในวันที่ 29 ก.ค. 2564 กองพิสูจน์หลักฐานเพิ่งส่งผลตรวจผ้าประดับมาให้พยาน จึงทราบว่าไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสารไวไฟ สาเหตุที่กองพิสูจน์หลักฐานส่งผลมาล่าช้า อาจเพราะมีหลายคดี และมีการชุมนุมในหลายๆ พื้นที่ นอกจากนี้ ในหนังสือส่งพิสูจน์หลักฐานกลาง พยานรับว่าไม่ได้เจาะจงให้ตรวจหาคราบน้ำมันตรงรองเท้ากับเสื้อของจำเลยที่สวมใส่ 

.

“สิทธิโชค” ยืนยันแค่ขับรถผ่านสถานที่ชุมนุม พบเห็นไฟที่กำลังลุกติดผ้า จึงนำน้ำผสมโคล่าไปดับไฟเท่านั้น

สิทธิโชค เศรษฐเศวต จำเลยในคดีนี้ ผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ส่งอาหารวัย 26 ปี ขึ้นเบิกความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ตนได้ออกไปทำงานปกติ ในช่วงเวลา 11.00 น. แถวย่านสยามและเซ็นทรัลเวิร์ล โดยเดินทางไปกับแฟนสาว นั่งซ้อนท้ายกันไป 

ในวันนั้นพยานรับงานแรกเมื่อประมาณเวลา 12.00 น. จนถึงช่วงเวลา 14.00 น. ก่อนไปส่งอาหารลูกค้าครั้งสุดท้ายของช่วงเวลานั้นที่บริเวณย่านฝั่งธนบุรี จากนั้นก็ขับกลับมาเส้นทางจรัญสนิทวงศ์และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อมารับงานที่ร้านแมคโดนัลด์ 

หลังพยานขับรถไปสักพักก็ทราบว่ามีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เลยขับไปดูที่แยกผ่านฟ้าลีลาศตรงจุดบริเวณเกิดเหตุ แล้วจอดรถจักรยานยนต์ฝั่งตรงข้ามซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่เกิดเหตุ ประมาณ 10-20 เมตร ซึ่งถนนเส้นนั้นมุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล 

สิทธิโชคเบิกความถึงบรรยากาศโดยรอบว่า บริเวณนั้นมีนักศึกษาและนักข่าวรวมตัวกัน มีกองไฟจุดหนึ่งตรงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ และกองไฟใหญ่ๆ รวมสองจุด จุดที่จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องคือซุ้มเฉลิมพระเกียรติและกองไฟขนาดใหญ่ที่เผาหุ่นฟาง เนื่องจากไฟกระเด็นออกมาจากจุดเผาหุ่นฟางที่กลุ่มผู้ชุมนุมล้อมรั้วรอบไว้ และเริ่มลามออกมาข้างนอก พยานจึงหาน้ำมาดับไฟบริเวณดังกล่าว 

กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำน้ำออกมาแจกจ่ายเพื่อควบคุมไฟไม่ให้ออกมาบริเวณนอกรั้ว ซึ่งพบว่าเป็นน้ำดื่มที่เก็บมาจากพื้น ภายหลังสามารถควบคุมเพลิงได้สำเร็จ

สิทธิโชคเบิกความว่า เทคนิคในการควบคุมเพลิงคือจะต้องใช้กุญแจจักรยานยนต์ในการเจาะฝาเพื่อให้น้ำกระจายตัวและพรมทั่วบริเวณ หากเปิดขวดน้ำและเทออกรวดเดียวก็จะทำให้สิ้นเปลือง

ต่อมา หลังจากควบคุมกองเพลิงดังกล่าวโดยใช้น้ำประมาณ 2 ขวด พยานเหลือบไปเห็นซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่มีไฟติดขึ้นมา จึงหยิบขวดน้ำอันใหม่มาจากรถจักรยานยนต์ฟู้ดแพนด้า ทำการเปลี่ยนฝาเป็นน้ำเปล่าผสมบิ๊กโคล่าสีม่วง ประกอบด้วยน้ำเปล่า 335 มล. และน้ำขวด 600 มล. ซึ่งเป็นน้ำที่จำเลยดื่มประจำ 

พยานได้พรมน้ำดื่มลงบนผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อให้เกิดความชื้น เปลวไฟจะได้ไม่ลุกลามไปจุดอื่น ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งกับพยานบอกว่าให้ลงมาก่อน เดี๋ยวจะให้รถจีโน่ดับไฟให้ แต่พยานดับไฟเรียบร้อยแล้ว 

ประมาณ 10-15 นาทีให้หลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฉีดน้ำตรงหุ่นฟางทั้งสองกอง และซุ้มเฉลิมพระเกียรติแต่น้ำอยู่ไกล รถจีโน่เข้าไปไม่ได้ เพราะมีนักศึกษาและผู้ชุมนุมกำลังอารมณ์พลุ่งพล่าน เจ้าหน้าที่เลยออกจากแนวรั้วไม่ได้ 

ต่อมา พยานได้ออกจากที่เกิดเหตุไปรับงานส่งอาหารต่อ และเลิกงานรอบสุดท้ายคือช่วงประมาณเวลา 19.47 น.

สิทธิโชคเบิกความว่า ตนมีความรู้เกี่ยวกับการดับเพลิงเนื่องจากเคยผ่านการอบรมมาก่อน ในกรณีที่น้ำน้อยฉีดเข้าไปในเชื้อเพลิงที่มีมากกว่า น้ำน้อยย่อมจะดับไฟไม่ได้ แต่ลักษณะของไฟที่ถูกน้ำพรมใส่จะเป็นอย่างไรแล้วแต่สภาพแวดล้อมและหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิ ทิศทางลม อุณหภูมิของสิ่งที่จุดไหม้ ปริมาณออกซิเจนโดยรอบ 

พยานไม่ได้มีใบรับรองประกอบวิชาชีพในการควบคุมเพลิง แต่บุคคลในกลุ่มอาสานักดับเพลิงได้สอนพยานและมาจากประสบการณ์จริงในการดับเพลิง เพราะเคยทำงานอาสามากับกลุ่มสมาคมวิทยุสื่อสาร ตั้งแต่อายุ 20 ปี จนถึงปัจจุบัน 

.

.

ช่วงอัยการถามค้าน สิทธิโชคเบิกความโดยสรุปว่า ตอนเกิดเหตุไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิง ไม่ได้ขอความร่วมมือจากกลุ่มคนที่อยู่ในบริเวณรอบซุ้มเฉลิมพระเกียรติให้เข้าช่วยควบคุมเพลิงแต่อย่างใด นอกจากพยานแล้ว ไม่มีใครใช้น้ำมาราดกองเพลิงอีก 

หลังถูกจับกุมคดีนี้ พยานรับว่าเคยเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ และเป็นสมาชิกกลุ่มสมาคมวิทยุสื่อสารประชาชนไทยตั้งแต่ปี 2563 แต่วันออกบัตรสมาชิกลงวันที่ 16 ก.ค. 2564 ซึ่งอาจจะเกิดความล่าช้าเพราะโควิด-19 และช่วงนั้นก็มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น 

.

X