ชีวิตและเลือดเนื้อของไรเดอร์-อาสากู้ภัยที่ชื่อ ‘สิทธิโชค’: “สู้แบบหมาจนตรอก ก็ดีกว่าสู้ในกรง”

เป็นเวลา 24 วันแล้วที่สิทธิโชคหรือ “แท็ค” ถูกคุมขังหลังจากที่ศาลมีพิพากษาในคดีมาตรา 112 จากคดีถูกกล่าวหาว่านำของเหลวคล้ายว่าเป็นน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้อยู่บริเวณฐานพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 และต้องรับโทษจำคุก 2 ปี 4 เดือน โดยไม่ได้รับการประกันตัว

สิทธิโชคอดอาหารตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรือนจำในวันที่ 17 ม.ค. 2566 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว เขาฉลองวันเกิดครบวันเกิด 27 ปี เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมาในเรือนจำ ปราศจากเค้ก ปราศจากอาหารและคนรัก  อาการเขาทรุดลงจนราชทัณฑ์ต้องย้ายตัวเขามาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนที่จะส่งต่อมายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  

วันนี้ (9 ก.พ. 2566) เป็นวันแรกที่เราได้พบกับแท็ค ในห้องยังมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีกสามคน ที่นั่งฟังการสนทนาราวกับเป็นพวกพ้องเดียวกัน “ขออนุญาตนะครับ ผมจำเป็นต้องอยู่” เจ้าหน้าที่แจ้งกับเราแบบนั้น  เราเห็นว่าประเด็นที่พูดคุยกับสิทธิโชคเป็นเรื่องทั่วไป จึงไม่ได้โต้แย้งว่าทนายความและลูกความมีสิทธิที่จะพูดคุยเป็นการส่วนตัว

.

ถ้าตะวันและแบมมีชีวิตอยู่จะมีความสามารถในการผลักดันการต่อสู้ไปได้

แท็คอยู่ในชุดผู้ป่วยนั่งอยู่บนเตียงคนไข้ ดูผอมลงกว่าภาพที่เราเคยเห็น แต่หน้าตายังสดใสและพูดคุยได้ไหลลื่น แม้ว่าแท็คจะบอกว่าเขา “ยกระดับ” การอดอาหารของเขา เป็นอดน้ำและอดนอนด้วยตั้งแต่เมื่อวาน (8 ก.พ. 2566)  “ก่อนหน้านี้ผมยังดื่มน้ำและนมบ้าง แต่ตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา ผมตัดสินใจอดน้ำและอดนอนด้วย ตอนนี้หนักหัวมากเลยพี่ เมื่อคืนผมไม่ได้นอน” ตลอดการพูดคุยพยาบาลสลับเข้ามาวัดความดัน วัดไข้ วัดน้ำตาลเป็นระยะ แต่ในวันนี้อาการแท็คยังอยู่ในระดับปกติ ยังไม่มีอาการแสบท้อง

แท็คถามถึงอาการ #ตะวันแบม เก็ท และเพื่อนๆ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ด้วยความเป็นห่วง เราถามเขาว่ามีอะไรฝากตะวันและแบมไหม แท็คบอกว่า “เป็นห่วงเพื่อนอยากให้เพื่อนดูแลสุขภาพ แต่พูดไปเพื่อนก็ไม่เชื่อหรอก ชีวิตตะวันแบมมีค่า ถ้าตะวันและแบมมีชีวิตอยู่จะมีความสามารถในการผลักดันการต่อสู้ไปได้ ขนาดตอนนี้ก็เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงทำให้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป”

.

ไม่เข้าใจการไม่ได้ประกันตัวของตนเอง

เราอัพเดทสถานการณ์การประกันตัวให้แท็คฟัง รวมถึงการยื่นขอประกันตัวของเขา “ไม่โอเคกับสิ่งที่ศาลทำ ผมคิดว่าจะได้ประกันเมื่อวันอังคาร ตะวันแบมต้องสู้มาหลายวันแล้ว เขาควรมีจิตใจเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่เขาทำไม่ได้เป็นแบบนั้น รู้สึกผิดหวังมากเลย ผมไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ได้ประกัน อยากรู้ว่าศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาหรือเปล่า ว่าคำพิพากษาชั้นต้นไม่ชัดเจนขนาดไหน และก่อนพิพากษาผมก็ได้ประกันและมาตามนัดศาลตลอด” 

เราอธิบายเหตุตามกฎหมายในการไม่อนุญาตให้ประกันให้เขาฟัง แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงกันแล้วก็ยังไม่เห็นว่าทำไมศาลจึงไม่ให้ประกัน “ผมไม่เข้าใจ” เขาพูดย้ำอยู่หลายรอบ แต่เขาก็ยังมีความหวังและฝากข้อความถึงแฟนสั้นๆว่า “เดี๋ยวก็ได้ออก”

.

การเข้ามาร่วมตรงนี้ ผมคาดหวังอนาคตใหม่ที่ดีกว่านี้

แท็คเล่าว่าเขาเริ่มไปม็อบตั้งแต่มีการฉีดน้ำสลายการชุมนุมที่สยาม ช่วงเดือนตุลาคม 2563 เห็นทุกคนออกมาสู้มาก เห็นเด็กแตกกระเจิง คิดว่าไม่มีความปลอดภัย เลยได้ไปช่วยในหน่วยแพทย์ ทุกครั้งที่มีการชุมนมใหญ่ๆ ก็ไปเป็นหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน แต่ไม่ได้ไปทุกครั้ง อย่างการชุมนุมที่แยกเกียกกาย ก็ได้ไป

“การเข้ามาร่วมตรงนี้ผมคาดหวังอนาคตใหม่ที่ดีกว่านี้ ผมว่านักเรียนนักศึกษา เขามองไม่เห็นอนาคตที่ดีก็เลยออกมานักศึกษามองไม่เห็นแสงสว่างว่า เค้าจะทำอะไร จบมากี่ปริญญาก็ตกงาน ทุกคนแค่มาหาทางออกที่ดีกว่านี้ประเทศไทยเคยมียุคที่มั่งคั่งมาก่อน ผมเคยเกิดทันในยุคเศรษฐกิจดี ไม่อดอยาก อาชญากรรมน้อยกว่านี้ มาถึงยุคนี้เราต้องเจอสิ่งที่แย่มาก ทั้งอาชญากรรม ยาเสพติด กัญชาถูกกฎหมาย

“ผมไม่ได้มีปัญหากับการสูบกัญชา (ของผู้ใหญ่) แต่อยากให้ควบคุมไม่ให้เด็กประถมเสพได้ ทุกวันนี้ผมเป็นอาสา ตั้งแต่เสรีกัญชามีเคสที่ผมไปรับเป็นเด็กประถมเสพกัญชาเกินขนาดเยอะมาก คุณบอกว่าเสรีแต่ไม่จำกัดวง ไม่คุมคนขาย ไม่คุมคนเสพผมไม่เห็นด้วย หรืออย่างยาเสพติดยุคนี้เม็ดละ 50 บาท ทั้งที่สมัยก่อนหายากกว่านี้ เม็ดหลายละหลายร้อยบาท ผมเคยมีคนรู้จักเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ เลยไม่ชอบ”

.

ทำงานมาตั้งแต่อายุ 14 จนลงตัวที่การเป็นไรเดอร์

ถึงตรงนี้ แท็คเริ่มเล่าภูมิหลังของตัวเองต่อไป ทำให้เราพอรู้ที่มาที่ไปของเขา ความเป็นตัวเขา ผู้รักอิสระและชอบทำงานอาสากู้ภัย-ช่วยเหลือคน

“ตอนเด็กผมอยู่กับยาย พ่อแม่แยกทาง จนตอนอายุ 14 ปี ก็มาอยู่กับปู่บุญธรรมที่ปทุมธานี และก็หาเงินเอง ตอนนี้อยู่กับแฟนสองคน

“ผมจบ ปวส. ไฟฟ้า แต่ไม่ชอบทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ผมอยากทำอะไรที่อิสระ และชอบงานอาสาสมัครมากกว่า ทำแล้วมีความสุขไปช่วยคนที่ไม่รู้จัก ผมเจียดเงินจากงานส่งอาหารไปซื้อยาซื้อของ (เพื่อใช้ในงานอาสา) เฉลี่ยเดือนละประมาณ 3,000 บาท

“ผมเป็นไรเดอร์ตั้งแต่ช่วงโควิด เป็นได้มาประมาณสามปี ก่อนหน้านั้นก็เคยทำงานโรงงาน เคยขับแท็กซี่ แต่ผมชอบอาชีพไรเดอร์ เพราะว่ามันอิสระ ถ้าเราเจออุบัติเหตุก็สามารถหยุดช่วยเหลือคนได้เลย ผมทำงานตั้งแต่อายุ 14 เป็นเด็กล้างรถ อยากหาเงินด้วยตัวเอง เคยเป็นพนักงานเซเว่น พนักงานเชสเตอร์กริลล์ ทำมาหมด

“ตั้งแต่ถูกดำเนินคดี ก็มีคนทักเฟสมาด่า แต่ที่ตัดสินใจออกจาก Foodpanda เพราะรายได้ก็น้อยและผิดหวังแถลงการณ์ของบริษัท หลังจากเหตุแบนเขาก็โทรมาขอโทษ และอยากให้กลับไปทำ แต่ผมก็ไม่ได้กลับไปขับอีก ตอนนี้มา Grab เพราะเขาเปิดรับสมัครพอดี ก่อนหน้านั้นขับทั้ง Foodpanda และ Lineman

“ผมเคยร่วมการชุมนุมกับสหภาพไรเดอร์ด้วยตอนปี 2565 เกี่ยวกับค่ารอบและระบบ จะปรับค่ารอบลงก็มีการไปชุมนุม แล้วก็ปิดรับงานในช่วงนั้น ทำให้เกิดผลกระทบ จนทางบริษัทก็มีการปรับเพิ่มค่ารอบมานิดหน่อยและทำระบบให้ดีขึ้น เราเป็นพาร์ทเนอร์กันไม่ได้เป็นลูกจ้างก็ต้องยอมรับทั้งสองฝ่าย”

.

ไรเดอร์ คือ งานเพื่อเลี้ยงชีพ – อาสากู้ภัย คือ งานที่รัก

“งานอาสาทำกับร่วมกตัญญูมาประมาณสามปี แต่จริงๆ ทำที่อื่นมาก่อนด้วยตั้งแต่ปี 2560 งานที่ทำมีทางเป็นงานแพทย์ฉุกเฉินและงานดับเพลิง ทำวันเว้นวัน ตั้งแต่ 20.00-02.00  น. ผมมีความสุขกับการช่วยใครที่ไม่รู้จัก บอกไม่ถูกเหมือนกัน มีการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ ช่วยงานจราจร ช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น มีรับแจ้งจับงู จริงๆ ผมกลัวงูนะ แต่ถ้ามีคนเรียกก็ต้องไป ผมเคยโดนงูหลามรัดแขนเพราะไม่มีคนไปด้วย งูมาพันแขนผม จนต้องมีคนมาช่วย

“ผมเคยช่วยเหลือแม่กับลูกที่ประสบอุบัติเหตุ และติดอยู่ในรถ ผมช่วยแม่ออกมาก่อนและพอไปช่วยเด็กอีกทีหนึ่งก็ได้กลิ่นน้ำมัน พอเอาเด็กออกมาได้ ไฟก็ไหม้ ถ้าไปช่วยช้ากว่านี้ก็อาจจะไม่รอดแล้ว หรืออย่างตอนเคสแตงโมผมก็ไปช่วยหา

“เวลาไปทำงานผมขี่มอเตอร์ไซค์ไปเอง มีชุดฟอร์มของร่วมกตัญญูซึ่งผมออกค่าใช้จ่ายเอง ออกค่าน้ำมันเอง ไม่เคยได้รับเงินจากการทำงานอาสา ตรงนี้แฟนผมก็สนับสนุน ไม่ได้ว่าอะไรเพียงแต่เขาไม่ได้ไปด้วย

“เคยมีเคสที่เศร้าเหมือนกัน เป็นเคสที่ผมร้องไห้เลย คือเป็นเคสมอเตอร์ไซค์ผู้ชาย ขับรถชนท้ายสิบล้อทำให้เขาเสียชีวิต ดูจากของที่ตกในที่เกิดเหตุเหมือนเขากำลังจะซื้อของแล้วกลับบ้าน ผมหาชื่อที่อยู่ไม่เจอว่าเขาเป็นใคร เลยเศร้าว่าญาติเขาจะรู้ไหมว่าเค้ามาเสียชีวิตอยู่ตรงนี้ ถ้าวันหนึ่งเราประสบเหตุแบบนี้เหมือนกัน แฟนเราจะรู้ไหม

“มีเคสที่ผมภูมิใจ คือเคสที่สามารถช่วยเหลือคนที่เขาผิดหวังจากความรัก และจะกระโดดสะพานพระรามเจ็ดได้ ตอนได้รับแจ้ง ผมก็วนรถหาไม่เจอ แต่พอวนกลับอีกรอบหนึ่งเจอ เขานั่งแอบอยู่ริมสะพาน พอเข้าไปชวนคุย เขาก็ฝากโทรศัพท์และกระโดดข้ามราวสะพานไปเลย แต่พวกเราจับตัวไว้ได้ก่อนที่จะตกลงไป จนตำรวจตามมาก็เป็นเคสที่ประทับใจว่าสามารถช่วยชีวิตเขาได้ เพราะว่าได้รับแจ้งว่ามีคนโดดสะพานบ่อยมาก เฉลี่ยเดือนละครั้ง โดยเฉพาะแถวสะพานพระรามเจ็ด และสะพานพระรามห้า แต่เคสนี้เป็นเคสที่ช่วยได้”

.

การนำตัวผมมากักขัง ทำให้ขาดรายได้

“ผมโอเคอยู่ตัวกับชีวิตแบบนี้ แต่การนำตัวผมมากักขัง ทำให้ขาดรายได้รายวันเฉลี่ยวันละประมาณ 1,000 บาท ผมมีภาระต้องส่งค่างวดรถ ค่าโทรศัพท์ที่ผ่อนกับทาง Grab และค่ากินอยู่ของผมและแฟน ผมรับผิดชอบ ส่วนค่าเช่าบ้านแฟนเป็นคนดูแล แฟนผมทำงานเป็นแม่บ้านที่หน่วยงานแห่งหนึ่ง ผมทำงานเกือบทุกวัน

“วันหนึ่งๆ ผมทำงานจะตื่นตอนเช้าตีห้าไปส่งแฟนแล้ว กลับมานอนต่อจนกระทั่ง 11.00 น. จะออกไปทำงานและรับงานจนกระทั่งถึง 20.00 น. พอหลังสองทุ่มจะไปเข้าเวรอาสาร่วมกตัญญู และทำงานถึงประมาณ 2.00 น. แต่ถ้ามีเหตุยาวอาจจะไปจนถึง 4.00 น. หรือเช้าได้ ถ้าวันไหนไม่มีเวร ผมก็จะทำงานส่งอาหารจนถึงประมาณเที่ยงคืน แล้วค่อยเข้าบ้าน”

.

สู้แบบหมาจนตรอก ก็ดีกว่าสู้ในกรง

“ผมไม่คิดมาก่อนว่าจะต้องเข้าเรือนจำเพราะว่าตอนสืบพยานผมมั่นใจว่าจะชนะ เพราะคดีมีพยานมายืนยันแค่สามคน แต่ไม่มีใครยืนยันได้ว่าน้ำที่ผมฉีดลงไปเป็นเชื้อเพลิง พิสูจน์พยานหลักฐานก็ตรวจไม่เจอสารเคมี แต่ผู้ที่ให้ความเห็นเชื่อว่าเป็นเชื้อเพลิง และศาลก็เชื่อตามผู้ที่ให้ความเห็น

“พอผมถูกดำเนินคดีและถูกขังทำให้มาเจอคนในเรือนจำ ผมเห็นว่าหลายคนถูกกล่าวหา แต่บ้านจนไม่มีเงินสู้คดี ทำไมจะต้องมาอยู่ในเรือนจำ ผมเห็นว่าเขาสามารถสู้คดีได้ ทำไมต้องให้เค้าอยู่ในเรือนจำ ไม่ให้เค้าออกไปสู้เหมือนโยนภาระไว้ที่เรือนจำ ผมคิดว่าไม่ควรมีการขังระหว่างการพิจารณาคดี ควรให้ทุกคนออกมาสู้คดี สู้แบบหมาจนตรอก ก็ดีกว่าสู้ในกรง ไม่ใช่แค่ผู้ต้องขังคดีการเมือง แต่หมายถึงผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีทุกคน 

“บางคนแค่โดนกล่าวหาแล้วต้องมาอยู่ในเรือนจำแล้ว เมียทิ้ง บ้านแตกแยก งานที่ทำ ตำแหน่งที่พยายามไต่เต้าหายหมด มีผลเสียมาก แต่พอสู้คดีแล้วชนะออกไปยกฟ้อง เดินออกจากเรือนจำไม่เหลืออะไรเลย กลายเป็นปัญหาสังคม ออกไปหางานไม่ได้ ก็วนลูปกลับมา เห็นว่ามีไม่น้อยผมรู้สึกว่ามันเป็นปัญหา เขาเป็นคนไทยเหมือนกันแม้จะไม่ใช่คดีการเมือง ผมอยากสู้เรื่องนี้ให้เป็นผลในอนาคต อนาคตของลูกหลานจะได้ไม่ถูกขังระหว่างพิจารณา 

“การที่กล่าวหาใครซักคนแล้วพยานหลักฐานไม่พอ ต้องให้ความเป็นธรรมด้วยว่า ถ้าเขายกฟ้องต้องลงโทษคนที่มากล่าวหา เพราะผมว่ามันไม่แฟร์ ไม่งั้นทุกวันก็จะมีคนมากล่าวหา นักร้องก็ร้องไปเมื่อไม่พอใจกัน”

เราถามคำถามสุดท้ายก่อนจากกันว่า หากเขาได้รับการปล่อยตัว เขาอยากทำอะไรเป็นสิ่งแรก “อยากทำงาน” “ภาระพี่” “การอยู่ตรงนี้เป็นภาระ มีเรื่องต้องจัดการอีกมาก” แท็คย้ำ

.

X