3 มี.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีข้อหาหลักมาตรา 112 และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี จากกรณีการรวมตัวเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมในยามวิกาลด้วยข้อหามาตรา 112 ในวันที่ 14 ม.ค. 2564 ที่บริเวณหน้า สภ.คลองหลวง
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง พิพากษาลงโทษจำคุกทุกข้อหา รวมโทษจำคุก 5 ปี 8 เดือน ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุกรวม 2 ปี 10 เดือน
.
นักกิจกรรมรวมตัวกันหน้า สภ.คลองหลวง หลัง “นิว” สิริชัย นาถึง ถูกจับกุมในยามวิกาลด้วยข้อหาตามมาตรา 112
ย้อนไปเมื่อคืนวันที่ 14 ม.ค. 2564 “นิว” สิริชัย นาถึง นักกิจกรรมซึ่งถูกจับกุมโดยตำรวจ สภ.คลองหลวง ในยามวิกาลด้วยข้อหาตามมาตรา 112 ทำให้เพื่อนนักกิจกรรมได้ไปรวมตัวกันที่หน้า สภ.คลองหลวง เพื่อติดตามการจับกุมและเรียกร้องให้ปล่อยตัว นิว สิริชัย
ต่อมา พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ได้ออกหมายเรียกนักกิจกรรม-นักศีกษา-เยาวชนจำนวน 12 คน ให้เข้ารับข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ในจำนวนนี้มี 8 ราย ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, เบนจา อะปัญ, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ณัฐชนน ไพโรจน์, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก, พรหมศร วีระธรรมจารี และณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม รวมทั้ง “ภูมิ” ที่ถูกแยกฟ้องในศาลเยาวชนฯ โดยถูกกล่าวหาว่า ปาอาหารหมาใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่อยู่เหนือป้าย สภ.คลองหลวง ในระหว่างการชุมนุมดังกล่าว
จากนั้น พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดธัญบุรีเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2567 โดยมีจำเลยทั้งหมด 9 คน ในข้อหา ร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า, ทำให้เสียทรัพย์, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดย 7 คน ได้แก่ พริษฐ์, เบนจา, ปนัสยา, ณัฐชนน, ชลธิศ, พรหมศร และณวรรษ ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีก 1 ข้อหา
ต่อมา วันที่ 27 ม.ค. 2568 ในนัดสอบคำให้การจำเลย พรหมศรได้ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงจำหน่ายคดีในส่วนของพรหมศร และให้อัยการฟ้องเป็นคดีใหม่ ก่อนนัดสอบคำให้การและฟังคำพิพากษาในวันนี้ (3 มี.ค. 2568)
คำฟ้องในคดีใหม่ที่มีพรหมศรเป็นจำเลยระบุพฤติการณ์ในข้อหาตามมาตรา 112 โดยสรุปว่า จำเลยได้ร่วมกับพวกนำเอาอาหารสุนัขขว้างปาใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เหนือป้ายชื่อ สภ.คลองหลวง ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นเป็นเหมือนสุนัข และพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของสุนัข จำเลยกับพวกยังได้กล่าวถ้อยคำที่วิญญูชนทั่วไปได้ฟังแล้วเข้าใจได้ว่า จำเลยกับพวกประสงค์จะขว้างปาอาหารสุนัขใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์และเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยทั่วไปต่างเคารพ สักการะบูชา เสมือนหนึ่งแทนพระองค์ และยังมีการกล่าวถ้อยคำจาบจ้วง เสียดสี หยาบคาย และไม่บังควร
.
ลงโทษจำคุกรวม 5 ปี 8 เดือน ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 10 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ส่วนที่จำเลยพยายามปรับปรุงแก้ไขถือว่าทำดีแล้ว ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป
วันนี้ (3 มี.ค. 2568) เวลา 09.00 น. ห้องพิจารณาที่ 18 พรหมศรพร้อมกับเพื่อนและทนายความได้เดินทางมาถึงศาลแล้ว แต่ในช่วงเช้ามีคดีในห้องพิจารณามากถึง 13 คดี เจ้าหน้าที่จึงรอให้คู่ความแต่ละคดีมาพร้อมเพรียงกัน โดยผู้พิพากษาได้ออกนั่งพิจารณาในเวลา 10.24 น.
เมื่อผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาได้ถามว่า พรหมศรมาถึงแล้วหรือไม่ พรหมศรจึงได้เดินไปหาผู้พิพากษาที่หน้าห้องและยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ โดยศาลได้รับไว้และแจ้งว่า คดีของพรหมศรจะต้องให้อัยการตรวจสอบเลขคดีของศาลอาญาที่อัยการขอให้นับโทษต่อ ทั้งศาลต้องนำคดีไปปรึกษากับหัวหน้าศาลและอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1
หลังจากตรวจสอบแล้วอัยการได้แจ้งว่า เลขคดีที่ระบุในคำฟ้องไม่ใช่คดีที่พรหมศรเป็นจำเลย จึงขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีของศาลนี้เท่านั้น ทนายจำเลยไม่คัดค้าน ศาลจึงได้ออกไปปรึกษาหัวหน้าศาลในเวลา 11.33 น.
ต่อมาเวลา 12.06 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาอีกครั้ง และเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปใจความได้ว่า
ในคดีนี้อัยการโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรค, จัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย, กระทำการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปทุมธานี, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังหรือก่อความวุ่นวาย โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ, ร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ และทำให้เสียทรัพย์
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 136, มาตรา 215 วรรคสาม, มาตรา 358, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเรียงตามกระทงความผิด
- ฐานร่วมกันชุมนุมและจัดให้มีการชุมนุมที่มีการรวมคนในลักษณะแออัดเสี่ยงต่อการแพร่โรค และฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เป็นการกระทำเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันชุมนุมในลักษณะแออัดเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 เดือน
- ฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลัง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่ง, ฐานร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องเสียงและฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นการกระทำเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี
- ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานร่วมกับฐานพ่นสีคำด่า สร้างความสกปรก เป็นการกระทำเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน
- ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จำคุก 4 ปี
รวมโทษจำคุก 5 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุให้ลดโทษตามกฎหมาย ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 10 เดือน พิเคราะห์แล้วไม่มีเหตุให้รอการลงโทษจำเลย ให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดำ อ.1859/2564 ของศาลนี้ (คดีร้องเพลงหน้าศาลธัญบุรีระหว่างติดตามการจับกุม “นิว” สิริชัย)
ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ ปรียานาถ เผือกสุวรรณ และ สันธนา เอื้ออารักษ์
หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จ ผู้พิพากษาได้เรียกชื่อพรหมศรถึง 2 ครั้ง แต่พรหมศรเหมือนอยู่ในสภาวะช็อก เข่าอ่อน ก่อนจะขานตอบผู้พิพากษา ผู้พิพากษากล่าวว่าตามเอกสารประกอบรับสารภาพก็เห็นว่าเป็นเรื่องดีในสิ่งที่เขาพยายามทำ กลับตัวกลับใจสำนึกในสิ่งที่ทำ ไม่ว่าเป็นการขออภัยโทษก็ดี แต่ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของศาลอุทธรณ์
จากนั้น ตำรวจศาลได้พาพรหมศรไปนั่งพักบริเวณเก้าอี้ เนื่องจากพรหมศรมีอาการหมดแรง เข่าอ่อน ก่อนจะนำตัวไปยังห้องขังของศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อรอฟังผลการขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์
.
ต่อมาเวลา 15.30 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นต้น เป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
.
.
สำหรับพรหมศร คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 3 ที่ศาลมีคำพิพากษา ในจำนวนคดี 112 ที่พรหมศรถูกดำเนินคดีทั้งหมด 6 คดี
ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวนักศึกษาธรรมศาสตร์ ลงโทษจำคุก 4 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี คดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ส่วนอีกคดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 ลงโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 30,000 บาท ก่อนลดโทษให้ เหลือโทษจำคุกรวม 3 ปี 6 เดือน และปรับ 15,000 บาท และให้รอการลงโทษโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี
.
.
อ่านฐานข้อมูลคดี
คดี 112 นักกิจกรรม 8 ราย ถูกกล่าวหาปาอาหารหมาใส่พระบรมฉายาลักษณ์หน้า สภ.คลองหลวง