วันที่ 28 พ.ค. 2567 เวลา 13.00 น. ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ส่งฟ้องคดีของนักกิจกรรม 9 คน ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีปาอาหารสุนัขใส่รูปของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ที่บริเวณหน้า สภ.คลองหลวง ในขณะรวมตัวกันเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังจากถูกจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในยามดึกของวันที่ 14 ม.ค. 2564
ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564 พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ออกหมายเรียกนักกิจกรรม-นักศีกษา-เยาวชน 12 ราย ให้เข้ารับข้อกล่าวหาในคดีนี้ ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, เบนจา อะปัญ, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ณัฐชนน ไพโรจน์, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี, อรรถพล บัวพัฒน์, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก, พรหมศร วีระธรรมจารี, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา และ ภูมิ (เยาวชน)
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่
- ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือสั่งการในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 3 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ร่วมกันกระทำการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งยังมีผู้ต้องหา 5 ราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ด้วย ได้แก่ ภาณุพงศ์, ปนัสยา, ณวรรษ, เบนจา และพรหมศร
อย่างไรก็ตาม ภายหลังพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้นักกิจกรรม 9 ใน 12 คน เข้ารับทราบข้อหามาตรา 112 เพิ่มเติม ได้แก่ พริษฐ์, เบนจา, ปนัสยา, ณัฐชนน, ชลธิศ, ภาณุพงศ์, พรหมศร, ณวรรษ และ ภูมิ (เยาวชน) โดยทุกคนทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน
ในส่วน คดีของภูมิ นักกิจกรรม อายุ 18 ปี ซึ่งเป็นเยาวชนนั้น พนักงานอัยการได้แยกฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ต่อมา ในการสืบพยานวันแรก ภูมิกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลเห็นควรให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการพิพากษาคดี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มาตรา 132 วรรค 2 กำหนดให้ส่งตัวภูมิไปที่สถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ปี ให้อบรมหลักสูตรวิชาชีพ 2 หลักสูตร โดยปัจจุบันภูมิยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจฯ บ้านเมตตา และอยู่ระหว่างการฝึกอบรมวิชาชีพ
.
สั่งฟ้อง ม.112 7 ราย ชี้ปาอาหารสุนัขใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 เป็นการเปรียบเปรยว่า ตร. เป็นสุนัข กษัตริย์เป็นเจ้าของ มีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา
พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี โดยมีจำเลยทั้งหมด 9 คน ได้แก่ เบนจา อะปัญ (จำเลยที่ 1), “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ (จำเลยที่ 2), “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (จำเลยที่ 3), ณัฐชนน ไพโรจน์ (จำเลยที่ 4), “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา (จำเลยที่ 5), ชลธิศ โชติสวัสดิ์ (จำเลยที่ 6), “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ (จำเลยที่ 7), “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี (จำเลยที่ 8) และ “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี (จำเลยที่ 9)
อย่างไรก็ตาม พริษฐ์ไม่ได้เดินทางมาตามนัดฟ้องในวันนี้แต่อย่างใด และในส่วนของ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก นั้น พนักงานอัยการจะแยกฟ้องในภายหลัง
ศุรชัย ไชยขาว พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ได้ยื่นฟ้องทั้งเก้าคนใน 7 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า, ทำให้เสียทรัพย์, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ ยังยื่นฟ้องข้อหา ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีก 1 ข้อหา กับเบนจา, พริษฐ์, ปนัสยา, ณัฐชนน, ณวรรษ, ชลธิศ และพรหมศร
พนักงานอัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จำเลยทั้งเก้ากับพวกซึ่งเป็นแกนนำหรือผู้จัดให้มีการชุมนุม เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง บริเวณ สภ.คลองหลวง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 100 คน อันเป็นการชุมนุมหรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใด ๆ ที่แออัด ในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยไม่มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด
จำเลยทั้งเก้ากับพวกยังได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และมีการกระทำในลักษณะวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำ กล่าวคือ จำเลยทั้งเก้ากับพวกได้จัดให้มีการชุมนุมรวมตัวหน้าทางเข้า สภ.คลองหลวง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตั้งแถวเป็นแนวยาวเพื่อตรวจดูแลรักษาความปลอดภัย และรักษาความสงบเรียบร้อย โดยได้ร่วมกันเปิดเพลงมาร์ชตำรวจโดยใช้เครื่องขยายเสียง 1 จบ แล้วจำเลยที่ 2 ได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “เอ้า ฟังเพลงเสร็จแล้วก็กินอาหาร”
จากนั้น จำเลยทั้งเก้ากับพวกได้ร่วมกันนำอาหารสัตว์มาโปรยบนผ้าสีขาวและยังได้ขว้างปาอาหารสัตว์ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งแถวอยู่ และยังได้มีการนำขวดน้ำเปล่าและน้ำแดงเทลงที่บันไดทางขึ้นพร้อมจุดธูปและพากันเข้ามาถือผ้าสีขาวที่ปูที่พื้นยกขึ้น ในขณะที่จำเลยคนหนึ่งได้พุดใส่ไมค์ลอยพร้อมเปิดเพลง “ธรณีกันแสง” คล้ายอยู่ในงานศพ
หลังจากนั้น พวกของจำเลยได้ร่วมกันนำสีสเปรย์มาฉีดพ่นระบุเป็นข้อความหยาบคาย ลงบนกำแพง, พื้น และกระจกบานเลื่อนบริเวณหน้า สภ.คลองหลวง ได้รับความเสียกาย เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเป็นการดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอายเสียหายแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ และเกียรติของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร และเปรียบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เหมือนสุนัขหรือสัตว์เลี้ยง เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับความเสียหาย และมีการเผยแพร่อย่างสาธารณะ
นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ถึง 6, และจำเลยที่ 8 ได้นำเอาอาหารสุนัขขว้างปาใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เหนือป้ายชื่อ สภ.คลองหลวง ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นเป็นเหมือนสุนัข และพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของสุนัข
จำเลยที่ 1 กับพวกยังได้กล่าวถ้อยคำที่วิญญูชนทั่วไปได้ฟังแล้วเข้าใจได้ว่า จำเลยกับพวกประสงค์จะขว้างปาอาหารสุนัขใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์และเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยทั่วไปต่างเคารพ สักการะบูชา เสมือนหนึ่งแทนพระองค์ และยังมีการกล่าวถ้อยคำจาบจ้วง เสียดสี หยาบคาย และไม่บังควร
การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึง 6 และที่ 8 กับพวกเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ซึ่งมีการเผยแพร่อย่างสาธารณะทางระบบอินเทอร์เน็ต
ท้ายคำฟ้อง พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี แต่ขอให้ศาลนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น ๆ
ต่อมา หลังศาลรับฟ้อง และนายประกันยื่นประกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันจำเลยทั้งหมดในระหว่างพิจารณาคดี โดยจำเลยที่ 1, 3 – 6 และ 8 ให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนคนละ 150,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 7 และ 9 ให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนคนละ 50,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
ศาลกำหนดวันนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 25 ก.ค. 2567 เวลา 09.00 น.