ศาลเยาวชนฯ สั่งส่งตัวเข้าสถานพินิจฯ 1 ปี คดี ม.112 “ภูมิ หัวลำโพง” เหตุปาอาหารสุนัข หน้า สภ.คลองหลวง เรียกร้องปล่อยตัว “นิว สิริชัย”

18 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดสืบพยานคดีของ “ภูมิ หัวลำโพง” (นามสมมติ) นักกิจกรรมวัย 20 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหลักตามมาตรา 112 กรณีร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมไปยัง สภ.คลองหลวงด้วยข้อหามาตรา 112 เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 

สำหรับการสืบพยานในวันนี้ ภูมิได้ขอกลับคำให้การ เป็นรับสารภาพ ศาลเห็นควรให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการพิพากษาคดี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มาตรา 132 วรรค 2 กำหนดให้ส่งตัวจำเลยไปที่สถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ปี ให้อบรมหลักสูตรวิชาชีพ 2 หลักสูตร และให้ ผอ.สถานพินิจฯ รายงานความประพฤติจำเลยให้ศาลทราบทุก 3 เดือน 

.

ย้อนดูคำฟ้อง “ร่วมกันปาอาหารสุนัขใส่รูป” อัยการระบุเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

สำหรับคดีนี้ มูลเหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 จากกรณีที่นักกิจกรรมและประชาชนเดินทางไปที่หน้า สภ.คลองหลวง เรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งขณะนั้นถูกจับกุมช่วงดึกของวันที่ 13 ม.ค. 2564 ในข้อหามาตรา 112 ทำให้มีการทำกิจกรรม และการปราศรัยแสดงออกอยู่บริเวณหน้าสถานีตำรวจ 

ต่อมาทาง ตำรวจ สภ.คลองหลวง ได้ออกหมายเรียกนักกิจกรรมและผู้เข้าร่วมรวม 12 รายมาแจ้งข้อกล่าวหา โดยมีจำนวน 9 ราย ที่ถูกแจ้งข้อหาหลักตามมาตรา 112 เพิ่มเติมด้วย โดยมี “ภูมิ หัวลำโพง” เป็นหนึ่งในนั้น แต่ขณะเกิดเหตุเขามีอายุ 17 ปี ทำให้ถูกแยกดำเนินคดีในฐานะเยาวชนเพียงคนเดียว

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2565 ศราวุธ เสียงแจ้ว พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 เป็นผู้เรียงฟ้องยื่นคดีของภูมิต่อศาลเยาวชนฯ โดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชุมนุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาด ทั้งมีการขว้างปาอาหารสุนัขชนิดเม็ด ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเหนือป้ายชื่อสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง 

อีกทั้งยังกล่าวถ้อยคำที่ประชาชนทั่วไปสามารถฟังแล้วเข้าใจได้ทันทีว่า จำเลยประสงค์ที่จะขว้างปาอาหารสุนัขไปยังพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ และเป็นสิ่งซึ่งประชาชนชาวไทยทั่วไปเคารพ สักการะบูชา เสมือนหนึ่งแทนพระองค์ โดยการกล่าวถ้อยคํา จวบจ้วง เสียดสีด้วยวาจา อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และประชาชนเสื่อมศรัทธา 

อัยการจึงมีคำสั่งฟ้องภูมิใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ มาตรา 112, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

ต่อมาศาลเยาวชนฯ ได้นัดสืบพยานทั้งหมด 6 นัดในช่วงเดือนตุลาคม 2566

.

ภูมิให้การรับสารภาพ-ศาลเยาวชนส่งเข้าสถานพินิจฯ เห็นว่าพฤติการณ์ร้ายแรง ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลเยาวชนได้  

ช่วงเช้าของวันนี้ ก่อนเริ่มการสืบพยานนัดแรก ที่ห้องพิจารณา 1 “ภูมิ”เดินทางมาศาล พร้อมผู้ปกครอง และที่ปรึกษากฎหมาย ก่อนที่ศาลจะออกนั่งพิจารณาคดีในเวลา 10.00 น. 

ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ศาลได้อ่านคำฟ้องและคำขอนับโทษต่อของโจทก์ให้จำเลยฟัง ก่อนที่ภูมิจะลุกขึ้นแถลงต่อศาล ขอถอนคำให้การซึ่งปฎิเสธไว้เดิม เป็นให้การรับสารภาพ 

ศาลได้เรียกภูมิมาสอบถามหน้าบัลลังก์เรื่องประวัติครอบครัว และการศึกษา โดยภูมิแถลงว่า ปัจจุบันทำงานอาสาในหน่วยกู้ภัย และกำลังจะสมัครเรียน กศน. ต่อ รวมถึงอาศัยอยู่กับผู้ปกครองซึ่งก็คืออาม่าเพียงสองคน ภูมิแถลงว่า ยินดีจะปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกอย่างที่ศาลกำหนด รวมถึงผู้ปกครองก็ยืนยันว่าจะดูแลจำเลยอย่างดี

องค์คณะผู้พิพากษาได้ออกไปปรึกษากันครู่หนึ่ง ก่อนจะกลับมานั่งพิจารณาคดีต่อ พร้อมกับอ่านคำวินิจฉัยโดยสรุปว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจฯ แล้วเห็นว่า คดีนี้ยังไม่สมควรมีคำพิพากษา เนื่องจากจำเลยไม่ได้อยู่กับบิดามารดา มีเพียงยายเลี้ยงดูโดยให้อิสระแก่จำเลย อีกทั้งจำเลยไม่ได้เรียนหนังสือ เคยกระทำความผิดทางอาญารวมทั้งหมด 8 คดี 

ที่สำคัญ ความผิดในคดีนี้จำเลยได้ร่วมกันก่อความวุ่นวายในบริเวณสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ และเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จำเลยได้ดูหมิ่นเจ้าพนักงานตำรวจ และกระทำการไม่สมควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ พระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขของประเทศและเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองไม่สามารถดูแลจำเลยได้ 

ศาลจึงใช้มาตรการพิเศษแทนคำพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มาตรา 132 วรรค 2 แก่จำเลย ส่งตัวจำเลยไปสถานพินิจฯ กำหนดเงื่อนไขให้จำเลยอบรมหลักสูตรวิชาชีพอย่างน้อย 2 หลักสูตร ตามที่จำเลยประสงค์ โดยกำหนดระยะเวลาให้จำเลยอยู่สถานพินิจ 1 ปี โดยให้ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ รายงานความประพฤติจำเลยให้ศาลทราบทุก 3 เดือน 

.

ที่ปรึกษาโต้แย้งคำสั่งศาล แต่ยังต้องรอฟัง ทำให้ถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจ

หลังจากคำสั่งศาลดังกล่าว ที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยสรุปว่า ขอศาลพิจารณาอนุญาตให้จำเลยได้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มาตรา 132 วรรค 1 แก่จำเลยแทน เพื่อที่จำเลยจะได้มีโอกาสทำงานเพื่อมีรายได้เลี้ยงดูตนเองและยายที่อายุมากและมีโรคประจำตัว 

นอกจากนี้ พฤติการณ์ของจำเลยตามฟ้องในคดีนี้ยังไม่ถือเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร อีกทั้งตลอดจนภายหลังจากเกิดเหตุคดีนี้จำเลยไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมใด ๆ อีก และพร้อมเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ไม่หลบหนี ทั้งผู้ปกครองก็ยังสามารถดูแลได้

ต่อมาช่วงเย็น เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งกับที่ปรึกษากฎหมายว่า จะต้องส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 เดือน แต่ทั้งนี้ที่ปรึกษากฎหมายยืนยันว่าเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่ง เจ้าหน้าที่ศาลจึงให้ติดตามคำสั่งอีกครั้งในวันพรุ่งนี้

ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้เย็นวันนี้ “ภูมิ” ต้องถูกนำตัวไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร (บ้านเมตตา) กรณีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 ของเยาวชนคดีแรก ที่ศาลเยาวชนฯ ได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการพิเศษโดยให้มีการควบคุมตัวเยาวชนไปที่สถานพินิจฯ หลังเยาวชนให้การรับสารภาพ

.

ต่อมาวันที่ 19 ต.ค. 2566 ในกรณีคำร้องของผู้ปกครองขอให้เปลี่ยนแปลงการกำหนดให้ส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจนั้น ศาลเยาวชนฯ ได้มีคำสั่งเห็นว่า ศาลมีคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต่อจำเลยในวันนี้ ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ ตามมาตรา 115 หรือ 119 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และไม่มีเหตุอันสมควรให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ตามมาตรา 137 จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง

ในกรณีคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของที่ปรึกษากฏหมาย ศาลเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องอุทธรณ์คำสั่งศาลกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต่อจำเลย ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนฯ มาตรา 180 จึงไม่รับอุทธรณ์

ทำให้ภูมิต้องถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจฯ ต่อไป

.

X