ยกฟ้อง ม.112 “ศิระพัทธ์” กรณีปลดรูป ร.10 หน้าหมู่บ้าน ชี้มีเจตนาลักทรัพย์ โจทก์เบิกความฟังมิได้ว่ามีเจตนาพิเศษอย่างไร ก่อนให้รออาญาข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – ลักทรัพย์

วันที่ 1 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ หนุ่มนนทบุรี วัย 36 ปี ประกอบอาชีพวาดรูปและเล่นดนตรีฟรีแลนซ์ ปัจจุบันเปิดร้านอาหารในย่านนนทุบรี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ออกนอกเคหสถานในเวลาเคอร์ฟิว ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จากกรณีถูกกล่าวหาว่าปลดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากป้อมยามหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จังหวัดนนทบุรี แล้วนำกรอบรูปไปทิ้งลงคลอง เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 8 ส.ค. 2564 

นอกจากนี้ ยังมี กนกวรรณ (สงวนนามสกุล) นักศึกษาปริญญาโท อายุ 26 ปี ถูกฟ้องในข้อหารับของโจร หลังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เก็บรักษาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ศิระพัทธ์ลักขโมยมา โดยอัยการได้ขอรวมการพิจารณาสองคดีนี้เข้าด้วยกัน เนื่องจากมีพยานหลักฐานในชุดเดียวกัน ตั้งแต่ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ศิระพัทธ์ หรือจำเลยที่ 1 ได้รับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ยืนยันที่จะสู้ในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จนถึงที่สุด 

คดีนี้ ศาลยังสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ตามคำร้องของอัยการ ที่อ้างขอให้พิจารณาลับเพื่อประโยชน์แห่งความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ทำให้ในการพิจารณาอนุญาตให้เฉพาะคู่ความในคดีทั้งสองเข้าร่วม หากแต่ในนัดสืบพยานที่มีสมาชิกกลุ่ม ศปปส. มาเบิกความในฐานะพยานโจทก์ พบว่าได้มีบุคคลภายนอกเข้ามาฟังการพิจารณาด้วย โดยไม่ได้ถูกศาลให้ออกจากห้องพิจารณาแต่อย่างใด 

อ่านประมวลการสืบพยานคดี >>> จับตาฟังคำพิพากษาคดี “ศิระพัทธ์” ปลดรูป ร.10 หน้าหมู่บ้านที่นนทบุรี ต่อสู้พฤติการณ์ไม่เข้าข่าย ม.112

เวลา 09.51 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยในวันนี้จำเลยได้มาพร้อมกับเพื่อนและครอบครัว ซึ่งศาลได้เรียกให้จำเลยทั้งสองลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงตัว ก่อนจะเริ่มอ่านข้อกล่าวหาและคำเบิกความในการสืบพยาน ก่อนจะอ่านในส่วนการพิพากษาแยกเป็น 2 ส่วน มีใจความสำคัญระบุว่า พิเคราะห์แล้วในส่วนความผิดของจำเลยที่ 1 ปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และมาตรา 112 หรือไม่

ในส่วนของฐานความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลพิเคราะห์จากคำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสืบสวนและชุดจับกุมต่างเบิกความไปในทำนองเดียวกัน พร้อมทั้งพยานหลักฐานที่เป็นกล้อง CCTV พบว่าจำเลยที่ 1 ได้ปลดรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 พร้อมทั้งกรอบรูปลายกนก ที่บริเวณหน้าหมู่บ้านประชาชื่น และพบว่าจำเลยที่ 1 ได้ลากถูกรอบและภาพดังกล่าวไปกับพื้นในยามวิกาล 

จึงพิเคราะห์แล้วเห็นว่าศิระพัทธ์ ได้กระทำผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จริง เนื่องจากในกล้องวงจรปิด ที่ถูกใช้เป็นพยานหลักฐานของคดีนี้มีเวลาที่ระบุในการกระทำผิดชัดเจนว่าคือช่วงเวลา 03.00 น. ซึ่งเป็นยามวิกาล อันเป็นการฝ่าฝืนออกนอกเคหสถานในเวลาเคอร์ฟิว 

ในส่วนข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จากพฤติการณ์ที่จำเลยได้โยนกรอบรูปลงคูน้ำ จนทำให้กรอบรูปลายกนกเสียหาย จำเลยได้วางเงินบรรเทาความเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์ซึ่งเป็นประธานชุมชนไปแล้ว เป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท

และตามหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ที่พยานโจทก์ คือระพีพงศ์ ชัยยารัตน์ ประชาชนกลุ่ม ศปปส. เบิกความว่าการที่จำเลยลากรูปไปตามทางเดิน และคว่ำพระบรมฉายาลักษณ์ไปกับพื้นนั้น เป็นการไม่ประสงค์ดีต่อรัชกาลที่ 10 เป็นการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น

ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงเจตนาที่ต้องการลักขโมยของยามวิกาลเท่านั้น เนื่องจากภาพในกล้องวงจรปิด จำเลยได้กระทำการเพียงลำพัง และกรอบรูปดังกล่าวมีความหนัก คงไม่สามารถจะเดินถือด้วยวิธีการปกติได้ การที่จำเลยต้องลากรูปไปกับพื้นจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จงใจลักทรัพย์ และฟังมิได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษที่ดูหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไร

ส่วนจำเลยที่ 2 หรือ กนกวรรณ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยรับของโจรจริงหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 โดยจากคำเบิกความของพยานโจทก์มีเพียงบันทึกการจับกุม ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าที่น้ำหนักเบา ประกอบกับไม่พบของกลางอยู่กับจำเลยที่ 2 จึงเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ ศิระพัทธ์ ยังมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ศาลเห็นว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษตัวบทกฎหมายที่หนักที่สุด โดยลงโทษในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 6 เดือน ปรับ 40,000 บาท และลงโทษในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่จำเลยได้ให้การรับสารภาพ มีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 20,000 บาท และความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ลดโทษเหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท รวมโทษจำคุก 9 เดือน ปรับ 30,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าจำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อน สมควรให้ปรับปรุงตัว มีเหตุให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี คุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี และทำงานบริการสังคม 36 ชั่วโมง ส่วนในข้อหามาตรา 112 ให้ยกฟ้อง

X