เวทีเสวนา “สิทธิเสรีภาพการแสดงออกในอีสาน” ฝ่ายความมั่นคงยกกำลังมาทำความเข้าใจ-สังเกตการณ์ ห้ามพูดเรื่องการเมือง–ม.112-ประชามติ ขู่ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 59 ที่ผ่านมา สำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพการแสดงออกในอีสาน” ณ โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล จ.ขอนแก่น โดยในช่วงเช้ามีเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย เจ้าหน้าที่จากสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย และสถานทูตสหราชอาณาจักร เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “มุมมองต่างประเทศต่อประเด็นความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม” จากนั้นเป็นวงเสวนาประเด็น “สิทธิเสรีภาพการแสดงออก” โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2552-2558), ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สำนักข่าวข่าวสดอิงลิช, ดร.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, และอานนท์ ชวาลาวัณย์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมพูดคุย
อานนท์ ชวาลาวัณย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเนื่องจากส่วนใหญ่สื่อกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ จึงทำให้ปัญหาในระดับภูมิภาคไม่ค่อยถูกนำเสนอต่อสาธารณะมากเท่าที่ควร ดังเช่น กรณีของขบวนการอีสานใหม่ที่มีการเดิน Walk for Rights ในอีสาน เพื่อพูดคุยถึงปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนและผลกระทบจากโครงการรัฐในอีสาน แต่สื่อกระแสหลักกลับไม่มีใครเล่นหรือนำเสนอ แต่ด้วยสื่ออินเตอร์เน็ตมันไปไกลจนสามารถทำให้คนในพื้นที่สามารถนำเสนอปัญหาของตนเองได้ เช่น การนำเสนอผ่านทางเฟสบุ๊ค หรือเพจของตนเอง แต่ถึงอย่างไร ขณะที่สื่ออินเตอร์เน็ตไปไกลจนทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทั่วถึงและมากขึ้นนั้น ก็มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ถือว่าเป็นปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังถูกเอาไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ไปเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง แต่ถูกใช้เพื่อปิดปากคนอื่นมากกว่า เช่น คดีความมั่นคง ซึ่งมีการตีความอย่างกว้างขวาง เหนือการควบคุมจึงส่งผลต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
ด้านประวิตร โรจนพฤกษ์ กล่าวในมุมมองของสื่อว่า นักข่าวในยุคสฤษดิ์มีความเกรงกลัวต่อทหารจนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ทหาร แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ทหารหรือรัฐ เช่น ในบทความต่างๆ ดังนั้น ผมจึงรู้สึกว่า คสช. ไม่สามารถดึงสื่อให้กลับไปเป็นเหมือนดังยุคของสฤษดิ์ได้ เพราะประเทศเราเดินมาไกลกว่านั้นแล้ว ตอนนี้แม้สังคมจะเงียบและมืด แต่ขณะเดียวกันผมยังมองว่ามันมีอารยะขัดขืนอยู่ เช่น การเดินของอีสานใหม่ หรือแม้แต่การจัดเวทีในวันนี้ของอีสานเรคคอร์ด ทั้งที่มีทหารมานั่งอยู่ภายในงาน และนี่คืออารยะขัดขืน
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มเวที พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 15 นาย มาพูดคุยกับคณะผู้จัดงานว่า ห้ามไม่ให้พูดเรื่องการเมือง, มาตรา 112 รวมทั้งห้ามแสดงความเห็นในเรื่องประชามติ ให้พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนได้เท่านั้น พร้อมทั้งเข้ามานั่งร่วมสังเกตการณ์ในเวทีโดยตลอด และถ่ายภาพผู้เข้าร่วม นอกจากนี้ หลังจบเวทีในช่วงเช้า พ.ท.พิทักษ์พล ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เจ้าหน้าที่สามฝ่าย ทหาร ตำรวจ และปกครอง ได้เข้ามาชี้แจงทำความเข้าใจ และขออนุญาตเอาคนเข้ามาฟัง เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นิติกรจังหวัด, ตัวแทนฝ่ายข่าวทหารตำรวจ และอัดเทปเก็บไว้ ถ้าคนที่พูดบนเวทีพูดในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือปลุกระดม ยั่วยุ ชี้นำให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือมีการบิดเบือนประเด็นทางการเมือง เราจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด
ด้านสำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด ชี้แจงว่า การจัดงานในครั้งนี้มีหลายองค์กรร่วมจัด เป็นการต่อยอดจากโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน รุ่น 1 ซึ่งเป็นโครงการที่ฝึกอบรมให้กับนักข่าวอาสาสมัครในการนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมุนษยชนและประเด็นปัญหาในพื้นที่ของตนสู่สาธารณะ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สั่งห้ามคุยเรื่องการเมืองในเวที “สิทธิเสรีภาพการแสดงออกในอีสาน” รวมถึงสังเกตการณ์ในงานตลอดเวลา ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจถึงประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิและเสรีภาพในเชิงประจักษ์มากขึ้น และหากจะมีการดำเนินคดีกับคนที่พูดเรื่องการเมืองจริงตามที่เจ้าหน้าที่พูดขู่ ยิ่งเป็นการตอกย้ำเรื่องสิทธิและเสรีภาพในเมืองไทยตอนนี้ที่ไม่มีอยู่จริง
การที่เวทีเสวนา “สิทธิเสรีภาพการแสดงออกในอีสาน” ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจำกัดให้พูดได้แต่เรื่องสิทธิมนุษยชน ห้ามพูดเรื่องการเมือง, มาตรา 112, หรือเรื่องการลงประชามติ อีกทั้งมีการขู่ว่าจะดำเนินคดีกับคนที่พูดเรื่องดังกล่าวหลังจบงาน ดูเป็นเหตุผลที่ย้อนแย้งกัน ทั้งยังเป็นการละเมิดพันธกรณีตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรัฐต้องคุ้มครอง “สิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง” และเสรีภาพในอันที่จะ “เผยแพร่ข้อมูลและความคิดทุกประเภท”