“เราต้องชนะในสักวัน เพราะผู้มีอำนาจไม่สามารถควบคุมเวลาได้” : คุยกับ “สมพล” ผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 จากการแสดงออกทางความคิดบนพระบรมฉายาลักษณ์

“ถ้าผมไปสู้ในประเทศที่มีประชาธิปไตย ผมคงไม่โดนคดีแบบนี้หรอก”

นี่อาจเป็นคำพูดที่แสดงถึงความคับข้องใจอย่างถึงที่สุดของ “สมพล” (นามสมมติ) พนักงานบริษัท วัย 29 ปี เมื่อเขาถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มากถึง 6 คดี จากการขับรถจักรยานยนต์ไปปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์หลายจุดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565

คำพูดดังกล่าวของสมพลไม่ใช่เรื่องเลื่อนเปื้อนแต่อย่างใด เมื่อการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บนพื้นที่พระบรมฉายาลักษณ์โดยการแปะกระดาษ ปาสี พ่นสี ทุบทำลาย หรือแม้กระทั่งการเผานั้น เคยมีคำตัดสินของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปในปี 2561 ว่า การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในการประท้วงที่สเปนไม่เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และวิจารณ์กษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ซึ่งเป็นเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย 

ในประเทศไทยเองก็เคยมีแนวคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ในคดีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ในจังหวัดขอนแก่น ช่วงปี 2560 ว่า การเผาซุ้มดังกล่าว ไม่เข้าข่ายข้อหาตามมาตรา 112 แม้จะเข้าข่ายเรื่องวางเพลิงเผาทรัพย์ก็ตาม ซึ่งศาลก็พิพากษายกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112

สมพลแนะนำตัวเองว่า เขาเป็นลูกคนกลางของครอบครัวผู้รับเหมาก่อสร้าง เรียนจบมาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ในสาขาช่างกลโรงงาน ในขณะเกิดเหตุเขาทำงานเป็นช่างฝีมือในโรงงานแห่งหนึ่ง เมื่อถูกดำเนินคดีจึงตัดสินใจลาออก และเปลี่ยนไปทำงานเป็นช่างอาคารจนถึงปัจจุบัน

สมพลเล่าว่า ครอบครัวของเขาไม่ใช่พลเมืองตื่นรู้ ไม่มีความสนใจเรื่องการเมือง สนใจแค่เพียงการทำมาหากินในแต่ละวัน และมองไม่เห็นว่าปัญหาทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาในด้านอื่นๆ ได้อย่างไร ทำให้ในสมัยวัยรุ่น เขาเองก็เคยเป็น​อิกนอแรนต์​ (ignorant)​ คนหนึ่งด้วยเช่นกัน

“ในช่วงปี 2553 ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อแดง ผมยังเป็นอิกนอแรนต์อยู่เลย ที่เขาไปชุมนุมกัน ผมยังไม่เข้าใจว่าไปทำไม จะตีกันเพื่ออะไร ทำไปเพื่ออะไร ตอนนั้นยังเด็กอยู่ ผมไม่เข้าใจเหตุการณ์บ้านเมือง ไม่อยากให้ตีกัน ไม่เข้าใจทำไมไม่รักกัน” สมพลกล่าวถึงความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช.

“แต่โตมาเรื่อยๆ ศึกษามาเรื่อยๆ ผมถึงเริ่มเข้าใจเหตุผลว่าทำไมเขาออกมาชุมนุมกัน เพิ่งมากระจ่างตอนมีการยึดอำนาจโดยการรัฐประหาร ผมเพิ่งเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ มันถึงถูกล้มได้ด้วยอำนาจของทหาร ผมรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ มันเป็นอำนาจของประชาชนทั้งประเทศที่เลือกรัฐบาลมาบริหาร มันไม่ควรถูกคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้ง่ายขนาดนี้” ความรู้สึกไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในใจทำให้สมพลเริ่มศึกษาเรื่องการเมืองไทย การรัฐประหาร และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในทางการเมืองมากขึ้น

“ผมรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์มาก ตอนที่รัชกาลที่ 9 สวรรคต ผมก็ร้องไห้ ตอนที่พระบรมศพอยู่ที่สนามหลวง ผมก็ไปช่วยเขาทำกิจกรรมที่นั่น”

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ความสงสัยเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในทางการเมืองหลายเรื่องก็เริ่มปรากฎขึ้นในใจของสมพล เขาจึงเริ่มตั้งคำถามและศึกษาหาความรู้จากหลายๆ ที่

“ทำไมรัชกาลที่ 8 ถึงสวรรคต”

“ทำไมพระมหากษัตริย์ถึงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญชั่วคราวและคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของคณะรัฐประหาร”

“ทำไมในการพิจารณางบประมาณส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งมีงบประมาณหลายพันล้านบาท ถึงมีเอกสารแค่ 7 แผ่น”

โดยเฉพาะในห้วงเวลาปี 2563 ซึ่งเริ่มมีการชุมนุมของคนหนุ่มสาวอย่างต่อเนื่อง คำถามมากมายก็เริ่มพรั่งพรูเข้ามาในหัวของสมพล และเขาก็พยายามหาคำตอบให้กับตนเอง

สมพลศึกษาข้อมูลทั้งในสื่อในประเทศไทย สื่อต่างประเทศ และสื่อของผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลายคน “คือผมก็ไม่ได้เชื่อเขาเต็มร้อยหรอกนะ แต่ก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ดูว่ามีสื่ออะไรที่โดนแบนในประเทศไทยบ้าง ที่โดนแบนเพราะอะไร ผมก็ศึกษามาเรื่อยๆ”

สมพลเปิดเผยว่าตนเองไม่เคยเข้าสังกัดกลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มใด ส่วนมากก็แค่เคยไปเข้าร่วมการชุมนุมอยู่บ้าง เพื่อดูว่าผู้ชุมนุมมาชุมนุมเพราะอะไร วัตถุประสงค์ของการชุมนุมคืออะไร อย่างในกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เขาก็เคยไปเข้าร่วมและช่วยทำกิจกรรม 

ในวันที่ 3 ส.ค. 2563 ซึ่งมีการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทนายอานนท์ นำภา ได้ปราศรัยในประเด็นปัญหาเรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน พร้อมประกาศข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถานะของสถาบันกษัตริย์ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สมพลได้ตกตะกอนความคิดและได้คำตอบที่ ‘ใช่’ ให้กับตนเอง

“ม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ ทำให้ผมตาสว่าง และการใช้อำนาจในการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงของ คฝ. ทำให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้สนใจประชาชน จากสิ่งที่ได้เห็นและรับรู้หลายอย่าง ทำให้รู้สึกว่านี่มันไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้วสำหรับตัวผม”

เมื่อสมพลเล็งเห็นว่ามีประเด็นปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งในเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดินของสถาบันกษัตริย์, กฎหมายมาตรา 112, รัฐธรรมนูญ และการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของรัฐบาลปัจจุบัน ทำให้เขาคิดว่าต้องออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงปัญหาเหล่านี้

“ตอนนั้นผมคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ช่วงเวลานั้นกระแสการชุมนุมลดลงด้วย ไม่คิดว่ามันจะเป็นปัญหาขนาดนี้ เพราะว่ามันเป็นใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยที่ไม่ได้ทำร้ายใครเลย ตอนนั้นผมเข้าใจว่าอาจจะโดนดำเนินคดีทำให้เสียทรัพย์ แต่คงไม่โดนมาตรา 112” 

สมพลยังเปิดเผยว่าเจตนาที่ทำลงไปนั้น เขาไม่ได้คิดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์ เพียงแค่แสดงออกโดยหวังว่าสถาบันกษัตริย์และกฎหมายอย่าง 112 จะมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย

การตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 ทำให้สมพลต้องลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ แล้วไปทำงานที่สามารถเข้างานเป็นกะได้ เพื่อวันไหนที่มีนัดศาล เขาจะได้ขอไปทำงานในกะกลางคืน และเดินทางมาศาลในตอนเช้า นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้เขาลำบากใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือการพยายามอธิบายกับครอบครัวถึงสถานการณ์ของตนเอง

สมพลเล่าว่าครอบครัวของเขาไม่อยากจะพูดเรื่องคดีความกับเขาสักเท่าไหร่นัก แต่ก็มีการถามไถ่เรื่องวันนัดพิจารณาคดีมาบ้างด้วยความเป็นห่วง 

“เขามีความเป็นห่วงเรื่องคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เขาก็ไม่เข้าใจเหตุผลที่ผมทำไป ผมก็พยายามพูดให้ฟัง พยายามอธิบายว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น” ในพื้นที่ครอบครัวของสมพลเองก็มีการต่อสู้ในทางความคิดด้วยเช่นกัน 

“ผมไม่ควรจะโดนคดีถึงขนาดนี้ เพราะมันก็เป็นการแสดงออกโดยใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่ควรจะโดนคดีที่มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เราเสียอนาคตไป 10 ปี 20 ปี เราไม่ได้ไปทำร้ายร่างกายใคร ไม่ได้ทำร้ายจิตใจใคร ไม่ได้คดโกงใคร” 

ปัจจุบันสมพลอาศัยอยู่กับน้า ซึ่งมีความคิดทางการเมืองไปในแนวทางเดียวกับคนเสื้อแดง เขาเล่าว่าน้ามีเข้าใจในบางเรื่องและพยายามเข้าใจในตัวเขามาตลอด แต่ก็ไม่อยากให้เขาแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มากนักด้วยความเป็นห่วง

“หลายคนบอกผมว่าสู้ไปก็เปล่าประโยชน์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรอก แต่ผมคิดว่าถ้าเราไม่จุดไฟ ไม่ตั้งต้น ไม่พยายามแสดงออก ปัญหาก็จะไม่ถูกแก้ไขและจะเพิ่มพูนไปเรื่อยๆ สุดท้ายถ้าลูกหลานเราเป็นคนโดนด้วยตนเอง เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่มีความยุติธรรม”

นอกจากนี้สมพลยังเล่าว่าการถูกดำเนินคดีทำให้การดำเนินชีวิตของเขาเปลี่ยนไป เขามีความเครียดมากขึ้น และยังเกิดความหวาดระแวงว่าตนจะถูกคุกคามหรือไม่ เนื่องจากเขาเคยเห็นเรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่โดนคุกคามและอุ้มหายหลายคน

“มันรุนแรงมาก ทั้งๆ ที่เราควรสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ เพราะงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ก็มาจากเงินภาษีประชาชน” สมพลตอบในทันทีเมื่อถูกถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อกฎหมายมาตรา 112 

“ผมอยากให้มีการแก้ไขกฎหมาย หนึ่ง คือ ปรับให้มีแต่สำนักพระราชวังเท่านั้นที่สามารถดำเนินคดีได้ สอง คือ ปรับอัตราโทษจำคุกให้ลดลง ไม่ควรมีใครติดคุก 3 ถึง 15 ปี จากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โทษมันคือการฆ่าคนโดยไม่เจตนาเลย” 

นอกจากปัญหาในตัวบทกฎหมายมาตรา 112 แล้ว สมพลยังเห็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้ตัวเขาเองไม่แน่ใจว่าศาลจะมีความเป็นกลาง ทำให้เกิดความยุติธรรมจริงหรือไม่ เมื่อคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งของเขาเป็นถึงสถาบันกษัตริย์ และเบื้องหลังบัลลังก์ศาลเองก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ประดับอยู่เหนือศีรษะ 

“หากศาลมีความเป็นมนุษย์ จะโดยเมตตาหรืออะไรก็ตาม เขาคงคิดได้ว่าพฤติการณ์แค่นี้ มันไม่สมควรที่จะผิด 112 หรือไม่ มันก็เป็นการพิจารณาของศาล ผมก็ทำใจไว้แล้ว ไม่อยากคาดหวังอะไรมาก” 

“ถ้าผมไปสู้ในประเทศที่มีประชาธิปไตย ผมคงไม่โดนคดีแบบนี้หรอก แต่นี่คือประเทศไทย ผมก็ต้องสู้ต่อไปในชั้นศาลให้ถึงที่สุด ไม่ว่าจะชนะหรือไม่ก็ตาม” สมพลกล่าวด้วยความหมดหวังกับกระบวนการยุติธรรมของไทย

เมื่อถูกถามถึงความคาดหวังที่มีต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง สมพลก็สารภาพตามตรงว่าตนเองเป็นคนที่ไม่ศรัทธากับการเลือกตั้งเท่าใดนัก

“ผมรู้อยู่แล้วว่ากฎกติกาที่ตั้งขึ้นมาในการเลือกตั้งมันไม่ได้อิงกับประชาชน ผมก็ไม่อยากหวังมากเพราะมันเป็นกติกาของเขา แต่ก็หวังให้พรรคการเมืองพูดถึงเรื่องมาตรา 112 ว่ามันเป็นโทษกับประชาชนมากแค่ไหน ควรจะแก้ไขหรือยกเลิกไปหรือไม่ ถ้าได้เข้าไปในสภาก็ขอให้พูดเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทกฎหมายนี้”

เมื่อให้จินตนาการถึงอนาคตที่มาตรา 112 ได้ถูกแก้ไขปรับปรุงไปแล้ว สมพลบอกว่า ถึงตอนนั้น ประเทศไทยคงดีขึ้นอย่างมาก เนื่องจากประชาชนก็จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งจะส่งผลให้สามารถนำงบประมาณดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ 

“ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็จะเกิดความโปร่งใสในเรื่องของการใช้งบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วย ทำให้สามารถตรวจสอบได้”

สมพลยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประท้วงโดยการอดน้ำและอาหารของสองนักกิจกรรม ตะวัน ทานตะวัน และแบม อรวรรณ ว่าทั้งสองคนคงอยากเห็นการขยับตัวของภาคประชาชนมากกว่าภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ามีปัญหาในกระบวนการยุติธรรมอยู่ 

“ผมจะไม่บอกว่าการกระทำเขาดีหรือไม่ดี สำหรับผมคือไม่มีทางที่ศาลจะเห็นใจ คิดว่าน้องคงอยากให้ภาคประชาชนเห็นมากกว่าภาครัฐ” สมพลกล่าว “ข่าวของตะวันแบมควรจะดังระดับประเทศ มีคนพูดถึงเยอะมากกว่านี้ สักวันอาจเป็นลูกหลานของคุณที่มาอดข้าวอดน้ำอยู่ตรงนี้ อาจเป็นใครก็ได้”

“คนรุ่นใหม่ไม่โดนพรอพากันดา (propaganda) มีโซเชียลมีเดียที่ไปไว ข่าวพระราชกรณียกิจสักวันหนึ่งก็จะไม่มีคนสนใจแล้ว แต่ประเด็นคือการใช้งบประมาณแผ่นดินที่เป็นภาษีเรา”

“ผมเชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน” สมพลตอบอย่างมั่นใจ “เราต้องชนะในสักวัน เพราะผู้มีอำนาจไม่สามารถควบคุมเวลาได้”

เมื่อถูกถามว่าหากไม่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 คิดว่าชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร สมพลก็เล่าให้ฟังว่าเขาคงจะเป็นพนักงานบริษัทธรรมดาที่ทำงานเก็บเงินไปเรื่อยๆ และความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของเขาคือการได้เป็นผู้โชคดีในโครงการ “ล็อตโต้กรีนการ์ด” โดยสมพลเล่าว่าก่อนหน้าที่จะถูกดำเนินคดี 112 เขาเคยสมัครโครงการนี้มาสองสามปีแล้ว แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นคนดวงดีกับเขาบ้างเสียที

คดีชุดแรกของสมพลที่จะมีคำพิพากษา คือคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานีทั้ง 2 คดี ซึ่งมีการสืบพยานไปในวันที่ 16-17 ก.พ. 2566 และ 21-23 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาทั้งสองคดีพร้อมกันในวันที่ 28 มี.ค. 2566 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ การที่สมพลถูกดำเนินคดีแยกไปตามท้องที่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบที่เกิดเหตุ ทำให้เขาถูกดำเนินคดีถึง 6 คดี ทั้งๆ ที่พฤติการณ์ในคดีนี้คล้ายคลึงกับคดีของ นิว สิริชัย ที่พ่นสีเป็นข้อความลงบนรูปของสมาชิกราชวงศ์รวม 6 จุด รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่เหตุในคดีของสิริชัยเกิดขึ้นในท้องที่ของ สภ.คลองหลวง เพียงแห่งเดียวจึงถูกฟ้องมาเป็นกรรมเดียว 

การถูกดำเนินคดีแยกกันถึง 6 คดีเช่นนี้ ทำให้สมพลมีโอกาสถูกลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี ในทุกๆ คดี ดังนั้นแม้ศาลจะลงโทษในอัตราโทษต่ำสุดและลดโทษให้ เขาก็ยังอาจถูกลงโทษจำคุกรวมกันมากกว่า 10 ปี 
X