7 ก.ย. 2565 วันนี้ พรชัย ยวนยี หรือ “แซม ทะลุฟ้า” ยังคงถูกฝากขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 เดือนแล้ว ในคดี มาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม ระหว่างการชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564
- แซม อายุ 31 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนการศึกษาในโครงการจุฬาฯ-ชนบท ตลอดทั้ง 4 ปี จนจบการศึกษา
- แซมเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่เป็นนิสิตจุฬาฯ ก่อนหันเหไปทำงานการเมืองกับพรรคการเมืองอยู่ช่วงหนึ่ง และกลับมาเคลื่อนไหวต่อกับกลุ่มทะลุฟ้า โดยมีบทบาททำหน้าที่คอยผลักดันและขับเคลื่อนกิจกรรม รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพให้กับนักกิจกรรมทะลุฟ้าทุกคน
- แซมมีภรรยาและมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน ครอบครัวและแซมวางแผนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ เขาจึงไปรายงานตัวเพื่อสะสางเรื่องคดีความว่ายังคงมีหมายจับคดีใดค้างอยู่หรือไม่ ก่อนจะได้รับแจ้งว่า มีหมายจับในคดีนี้ และทำให้ถูกฝากขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 2565 เป็นต้นมา
คดีที่แซมถูกคุมขังอยู่ เป็นคดีที่มีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สืบเนื่องมาจากการเข้าร่วมการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 โดยตำรวจกล่าวหาว่า แซมร่วมกันวางแผนเพื่อปาระเบิดเพลิงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่บนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิต แต่ไม่ลุกไหม้ เพราะก่อนเกิดเหตุมีฝนตกหนักทำให้ซุ้มเปียกชื้น
แซมถูกกล่าวหาใน 5 ข้อหาด้วยกัน ดังนี้
1. ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
2. ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น
3. ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
4. ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค
5. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 10
ทั้งนี้แซมได้ให้การปฏิเสธตลอดมา ตั้งแต่ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน
พฤติการณ์ที่แซมถูกกล่าวหาเกี่ยวกับ ‘การเผาซุ้มภาพเฉลิมพระเกียรติ’ แต่กลับถูกดำเนินคดีในฐานความผิด “หมิ่นประมาทและอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ฯ” พ่วงร่วมไปด้วย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ระวางโทษจำคุกสูงที่สุดในบรรดา 5 ข้อกล่าวหา โดยระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี
ต่างจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปที่เคยมีคำตัดสินไว้เมื่อ ปี 2561 ว่า การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในการประท้วงที่สเปน สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ไม่อาจตีความว่าเป็นการประทุษร้ายและแสดงความเกลียดชัง เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
คดีดังกล่าว เกิดขึ้นที่แคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน เมื่อปี 2550 อันริก สเติร์น และ เฆาเม่ โรอูร่า สองชายชาวสเปนนำพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์ลอสที่ 1 และพระราชินีโซเฟียแห่งสเปนมาแขวนกลับหัวพร้อมจุดไฟเผาในการประท้วง ขณะที่กษัตริย์และราชินีเดินทางไปเมืองหนึ่งในแคว้นกาตาลุญญา
จากการแสดงออกดังกล่าว ชายทั้งสองถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ และถูกตัดสินจำคุก 15 เดือน แต่ได้รับการลดโทษเหลือเพียงโทษปรับ คนละ 2,700 ยูโร (ประมาณ 98,000 บาท) ต่อมาทั้งสเติร์นและโรอูร่าประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา แต่ศาลรัฐธรรมนูญสเปนไม่ยอมรับคำร้องของชายทั้งสอง ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจเปลี่ยนไปยื่นคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปแทน
และเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2561 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีคำวินิจฉัยออกมาว่า การเผารูปกษัตริย์ไม่อาจตีความได้ว่าเป็นการกระทำที่มีจุดประสงค์เพื่อประทุษร้ายและแสดงความเกลียดชังต่อตัวของกษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศ ไม่ถือเป็นการโจมตีโดยตรงต่อเนื้อตัวและร่างกายของกษัตริย์ และไม่ถือว่าเป็นการทุษร้ายด้วยวาจา (Hate Speech) เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และวิจารณ์กษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ซึ่งเป็นเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย
คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นไปอย่างเอกฉันท์ โดยผู้พิพากษาทุกคนลงมติเห็นชอบ พร้อมสั่งให้ศาลสเปนคืนเงินค่าปรับทั้งหมด รวมถึงสั่งให้จ่ายเงินชดเชย เป็นเงิน 9,000 ยูโร (ประมาณ 327,000 บาท) ให้แก่อันริกและเฆาเม่อีกด้วย
จากคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปในครั้งนั้น ทำให้การประท้วงด้วยการเผารูปกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์สามารถทำได้ตามหลักเสรีภาพในการแสดงออก และถือว่าไม่มีความผิดฐานกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวมถึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ต่อต้านกบฏล้มล้างการปกครอง อีกด้วย
ขณะเดียวกันเมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนหลากหลายกลุ่ม พบว่ามีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์ ซุ้มภาพเฉลิมพระเกียรติ อย่างน้อย 19 คดี (เป็นคดีในยุค คสช. กรณีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่น 7 คดี) โดยชุดคดีการเผาซุ้มในจังหวัดขอนแก่น ในช่วงปี 2560 ศาลอุทธรณ์ได้มีแนวคำวินิจฉัยว่าการเผาซุ้มดังกล่าว ไม่เข้าข่ายข้อหาตามมาตรา 112 แม้จะเข้าข่ายเรื่องวางเพลิงเผาทรัพย์ก็ตาม
ขณะเดียวกันยังมีคดีในจังหวัดขอนแก่น 3 คดี ที่มีพฤติการณ์เกี่ยวกับการเผาพระบรมฉายาลักษณ์เช่นกัน แต่ตำรวจและอัยการเองไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 แต่อย่างใด แต่ดำเนินคดีเฉพาะข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นฯ ได้แก่ คดีของอิศเรษฐ์, คดีของ “เจมส์” และ “บอส” (นามสมมติ) และคดีของ “เทพ” ซึ่งศาลได้มีแนวคำวินิจฉัยที่ให้รอการกำหนดโทษด้วย
นอกจากนี้แม้แต่คดีที่มีพฤติการณ์เกี่ยวกับการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในลักษณะอื่นๆ ก็ยังคงถูกเหมารวมว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เช่นกัน ตัวอย่างเช่น คดีติดสติกเกอร์ กูkult บนรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10, คดีติดป้ายกระดาษที่เขียนว่า ‘ที่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูล’ บนรูปกษัตริย์ รัชกาลที่ 10, คดีพ่นสีข้อความใต้ฐานรูปกษัตริย์ รัชกาลที่ 10 เป็นต้น
ที่มาของข้อมูลประกอบรายงาน
ย้อนดูศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเคยชี้เผารูปกษัตริย์เป็นเสรีภาพในการแสดงออก จากสำนักข่าวประชาไท