“เขาคงไม่อยากให้ผมไป อยากให้สู้กับเผด็จการต่อ”: บันทึกเยี่ยม “แซม ทะลุฟ้า” ผู้ถูกคุมขังคดีการเมืองครั้งที่ 2

วันนี้ (12 ก.ค. 2565) ก่อนเข้าไปเยี่ยมพรชัย ยวนยี เราเจอภรรยาของเขา  “เราเคยเจอกันหรือเปล่าคะ” ภรรยาเขาถาม เรายิ้มให้ และตอบว่าคงคุ้นกันเมื่อแปดปีก่อน ราวแปดปีแล้วที่ “แซม” พรชัย ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมคัดค้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ในนามคดี 14 ขบวนประชาธิปไตยใหม่ แซมเป็น 1 ใน 14 คนที่ถูกฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ก่อนศาลทหารไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ 

ล่าสุด แซม พรชัย ถูกควบคุมตัวจากคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (มาตรา 112) จากการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ มาตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 2565 โดยที่แซมไม่ทราบว่ามีหมายจับในคดีดังกล่าวมาก่อน และได้เดินทางมายัง สน.สำราญราษฎร์ด้วยตัวเองเพื่อขอให้ถอนหมายจับในคดีเดิมที่สิ้นผลไปแล้ว นับเป็นหนที่สองที่แซมต้องถูกคุมขังในคดีการเมืองที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

.

เทียบกับแปดปีก่อน เรือนจำเข้าใกล้สิทธิมนุษยชนมากขึ้น

“ข้างในสบายดี” เป็นคำตอบแรกของแซมที่ตอบมา แซมเล่าว่า เขาเคยคิดและเตรียมใจไว้นานแล้วว่าวันหนึ่งอาจถูกคุมขังได้ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้อาจมีวันที่ต้องเข้ามา แต่ไม่คิดว่าจะเร็วและจากเหตุการณ์เช่นนี้

เขาเล่าว่าตอนนี้กักตัวในแดนสอง (แดนแรกรับ) มาห้าวัน กำลังจะย้ายไปยังแดน 4 ภายในห้องที่กักตัวมีคนที่ถูกคุมขังร่วมกับเขา 9 คน  “อยู่ด้วยกันมาห้าวันก็ดูแลกันดี ไม่มีปัญหา”

แซมเล่าว่าเทียบกับแปดปีก่อนเรือนจำเข้าใกล้คำว่า “สิทธิมนุษยชน” มากขึ้น แต่เขายังขีดเส้นใต้ไว้ว่านี่เป็นประสบการณ์ของเขาเฉพาะในห้าวันที่ผ่านมา ซึ่งยังอยู่เพียงในแดนแรกรับ ยังไม่รู้ว่าแดนอื่นๆ จะเป็นอย่างไร 

เราให้เขาอธิบายว่าดีขึ้นในแง่ไหนบ้าง แซมบอกว่า “สะอาดขึ้น มีพี่เลี้ยงที่คอยดูผู้ต้องขังมากขึ้น คนน้อยกว่าเดิมเยอะมาก เมื่อก่อนจะมีคนมาก มีคนต้องนอนแม้กระทั่งตามทางเดิน แต่คราวนี้คนไม่มาก ทางเรือนจำคง concern เรื่องโควิด” 

อย่างไรก็ตามแซมบอกว่า อาหารเรือนจำนั้นคงยังเหมือนเดิมคือไม่อร่อย เขาไม่แน่ใจว่าเป็นความจงใจหรือเปล่าที่อาหารเรือนจำต้องไม่อร่อย บางมื้อเขาต้องเอาเนื้อมาล้างใส่กินกับมาม่า ในถุงอาหารหนึ่งจะมีเนื้อสัตว์สักชิ้นก็เอามากิน “มองมันเป็นโปรตีน ไม่ได้กินเพราะอยากกิน”

เริ่มทำกิจกรรมในรั้วมหาลัย เป้าหมายคือคัดค้านเผด็จการ

เราถามถึงภูมิหลังการทำกิจกรรมทางการเมืองของแซม แซมเล่าว่า เขาเรียนคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตชั้นปีที่สอง เคลื่อนไหวในนามกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน [Chulalongkorn Community for the People (CCP)] เป็นช่วงการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553  ผ่านงานเสวนาและกิจกรรมต่างๆ และต่อมาปี 2555 เขาได้มาเป็นเลขาธิการเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในปี 2558 ได้ออกมาชุมนุมคัดค้าน คสช. “พอหลังปี 2558 ก็ไปทำงานพรรคการเมือง และกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในปี 2563”

แซมเล่าว่าเขาเคยทำงานกับ Land Watch Thai และไปช่วยทำงานพรรคการเมืองสองพรรค แต่ที่ลาออกเพราะไม่สนุก แซมมองว่าการทำงานในสภายังไม่ตอบโจทย์ตัวเขาในขณะนี้

“ความจริงปี 63 ยังไม่มีอะไรมาก แต่ปี 2564 ไผ่ (จตุภัทร์) โดนจับ มีการเดินทะลุฟ้า ตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าข้างทำเนียบ ก็ยาวมานับตั้งแต่นั้น” เราถามกลับว่า ทำไมไผ่ถูกจับแล้วต้องกลับมา “ก็สนิทกัน ตอนปี 2558 ถูกดำเนินคดีด้วยกัน และเซ็งกับการทำงานสภา สถานการณ์ปี 2564 มันแรง มันบีบคั้น ถ้าย้อนกลับไปสิงหาคม-กันยายนปีที่แล้ว”

การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันมีความหวังมากกว่า

การกลับมาทำกิจกรรมทางการเมืองในครั้งนี้ แซมบอกว่าเขาทำงานกับกลุ่มทะลุฟ้าโดยเน้นเอาประสบการณ์ตัวเองมาแชร์กับกลุ่ม ถ้าสังเกตดูการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุฟ้า “น้องๆ จะเฉิดฉาย” เขาไม่อยากให้ทะลุฟ้ารวมศูนย์อำนาจ เลยต้องกระจายอำนาจให้ทุกๆ คนได้เติบโตไปด้วยกัน

เราให้แซมเทียบการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในยุคของเขาเมื่อสิบกว่าปีก่อน และยุคปัจจุบัน “ตอนนี้เปรี้ยวกว่า โหดกว่า และมีความหวังมากกว่า” แม้ตัวเขาจะติดคุกอยู่ในปัจจุบัน เขาก็ไม่เสียใจ

“ผมยืนยันว่าผมสู้ด้วยสันติวิธีมาตลอด สันติวิธีของผมคือ การต่อสู้ที่ไม่ได้กระทบต่อร่างกายชีวิต ความจริงไม่ว่าทะลุฟ้า ทะลุแก๊ซ ล้วนต่อสู้ด้วยสันติวิธี ศาลต้องมองเห็นว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีการเมือง”

แซมประเมินว่า จากประสบการณ์ทางการเมือง ประสบการณ์จากการเรียนรัฐศาสตร์จุฬา จากการใช้ชีวิตของเขา สังคมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง  “ผมอยากทวงถาม (ศาล) คู่กรณีผมคือประยุทธ์ ทำไมไม่เคยเอาผิดประยุทธ์ แต่ไล่เอาผิดเด็ก ผมยังยืนยันคำเดิม ไม่งั้นประเทศนี้หาความสงบไม่ได้ อยากให้ศาลไปดูในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศว่าสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว”

“ชื่อและนามสกุลคุณจะถูกจดจำในฐานะผู้รับใช้ทรราช ถ้าคุณคิดว่าการเอาคนมาขังในเรือนจำจะแก้ไขปัญหาได้ คุณคิดผิด”

แซมมองว่าตนเองอายุ 30 ปี และเริ่มกลับมาทำกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เขาเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ได้ และพอจะเชื่อมกับคนมีอายุได้ด้วย และมองว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาในเรื่องกระบวนการยุติธรรมให้ปล่อยตัวนั้นเป็นข้อเรียกร้องที่ต่ำมาก และไม่อยากให้ผู้พิพากษาหลับหูหลับตาในการทำคำสั่ง

เราคุยเรื่องการยื่นประกันในครั้งต่อไป ความจริงก่อนถูกจับกุม แซมตั้งใจเดินทางไปต่างประเทศเพื่อให้ลูกได้เข้าเรียนหนังสือที่นั่น และไปดูแลญาติด้วย แต่การเดินไปสถานีตำรวจกลับทำให้เขาถูกจับกุม และศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพราะเกรงว่าเขาจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น 

“เขาคงไม่อยากให้ผมไป อยากให้สู้กับเผด็จการต่อ” เป็นข้อสังเกตสั้นๆ ของเขาก่อนจากกัน

.

X