บันทึกเยี่ยมเก็ท โสภณ: โมกหลวงในเรือนจำ  อดอาหารวันแรกขอใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน เรียกร้องสิทธิประกันตัว 

5 พ.ค. 2565 เป็นวันแรกที่ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ได้พบทนายความ หลังจากไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 ในคดีมาตรา 112 จากเหตุปราศรัย #ทัวร์มูล่าผัว  เก็ทเริ่มจากการถามไถ่ ถึงตะวันด้วยความสงสัยว่าตะวันอดข้าวยังไง ก่อนที่จะเฉลยต่อมาว่า “ผมเริ่มอดข้าววันนี้วันแรก”

.

นอนไม่หลับ รู้สึกไม่ปลอดภัย เริ่มต้นอดอาหาร

ก่อนเข้ามาเยี่ยมเก็ท แม่ของเขาก็มารอพบทนายความที่เรือนจำ แม้จะรู้ว่าไม่สามารถเข้าเยี่ยมลูกชายได้ แม่ย้ำกับทนายหลายรอบว่าอย่าให้เก็ทอดอาหาร เดิมทีเราคิดว่าเป็นความกังวลของแม่ เนื่องจากตะวันเองก็อดอาหาร แต่เมื่อเก็ทบอกความตั้งใจอดอาหารมา เราจึงบอกเล่าความห่วงกังวลของพ่อแม่ให้เก็ทฟัง 

เก็ทบอกว่า “ขอให้เชื่อมั่นในตัวเก็ท” พร้อมอธิบายว่าเขาคิดเรื่องอดอาหารมาสักพักแล้ว วันนี้เป็นวันที่เขาอดอาหารวันแรก เหตุที่ตัดสินใจอดอาหาร เพราะ “ผมอยากจะสู้ว่าตัวเองไม่ผิด แต่ไม่รู้ว่าจะสู้ยังไง อยู่ในนี้ชูป้ายก็ไม่มีใครเห็น ปราศรัยก็ไม่มีใครได้ยิน ผมเลยเลือกวิธีการอดอาหาร อาหารเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนกับสิทธิประกันตัว สิทธิในการแสดงออก ผมจึงเลือกการอดอาหารเพื่อสื่อว่าผมก็ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัวเหมือนกัน”

เก็ทเล่าให้ฟังว่า “ตอนแรกก่อนเข้ามาก็เหมือนจะมีกำลังใจ แต่เข้ามาแล้วก็ใจแป้วเหมือนกัน ยิ่งวันแรกมีเจ้าหน้าที่มาถามว่าโดนคดีมาตรา 112 ได้ยังไง ผมก็ชี้แจงว่าผมอยากให้คนเท่ากัน แต่เหมือนเจ้าหน้าที่ไม่ได้ฟังผมพูด เขาพูดแต่ว่า “น้องรู้ประวัติศาสตร์แค่ไหน รู้ไหมว่าสถาบันกษัตริย์สำคัญยังไง” แล้วเขายังมาถ่ายรูปผม ทำให้ผมรู้สึกไม่ปลอดภัย นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ แต่โชคดีที่เพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันเป็นมิตร 

“ผมได้เจอพี่สมบัติ (สมบัติ ทองย้อย) ห้องที่พักตอนนี้วันแรกมีกันสามคน ตอนนี้เพิ่มเป็นสิบคน คดีของหลายคนก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเหมือนกัน อยู่ในนี้หลายวันก็บั่นทอนจิตใจ สึกกร่อน จากวันแรกเหมือนปรับตัวได้ วันที่สองปรับตัวไม่ค่อยได้ วันที่สามก็เริ่มปรับตัว สึกกร่อนไปเรื่อยๆ

“ความจริงเรื่องนอนก็ขัดแย้งอยู่เหมือนกัน เพราะถ้านอนบางที ก็ฝันว่าได้ออกไปสู้ข้างนอก แต่นอนมากๆ ก็ฝันร้าย ส่วนความคิดเรื่องได้ประกัน ผมก็คิดว่าจะได้ออกหรือเปล่า แต่ก็คิดว่าเป็นไปได้เหมือนกันที่จะไม่ได้ออก”

.

อยากเป็นหมอ เพราะอยากดูแลคน

เก็ทเป็นนักศึกษาปี 4 จากภาควิชารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล  “ตอนนี้ได้เรียนใกล้จบแล้ว เหลือเพียงการทำเล่มวิจัย และใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขารังสีเทคนิค ซึ่งต้องสมัครสอบในช่วงเดือนมิถุนายน และสอบในช่วงเดือนกรกฎาคม หากไม่ได้ออกไปแก้เล่มงานวิจัยก็จะยังไม่จบการศึกษา และการสอบใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ก็จัดสอบเพียงละหนึ่งครั้ง หากไม่ได้สอบปีนี้ก็ต้องไปสอบปีหน้า ซึ่งระหว่างนั้นก็จะไม่สามารถทำงานได้” 

เราถามถึงภาครังสีเทคนิคที่เก็ทเรียนว่า มีส่วนสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขอย่างไรบ้าง “ภาควิชารังสีเทคนิค สามารถทำรังสีวินิจฉัย และรังสีในการรักษา พวก X-Ray  การทำ Mammogram MRI หรือกระทั่งใช้รังสีในการรักษา อย่างพวกเนื้องอกไปจนถึงมะเร็ง ซึ่งจะเป็นการอาศัยทักษะเฉพาะของนักเทคนิครังสี ที่หมอเองก็ไม่สามารถทำได้ และภาควิชารังสีก็ยังขาดแคลนบุคลากรอยู่ด้วย

“ความจริงตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมเรียนคณะสัตวแพทย์ แต่ก็ย้ายมาเรียนรังสีเทคนิค เพราะอยากดูแลคน และความจริงหลังเรียนจบ  ผมแพลนว่าจะเรียนต่อแพทย์ หลักสูตร MCAT ซึ่งจะใช้เวลาเรียนอีก 4 ปี ผมมองว่าคนเป็นพลวัตสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม จึงอยากจะดูและคนให้มีสุขภาพดี”

.

เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อ 3 ปีก่อน ก่อนจะมาเป็น “โมกหลวงริมน้ำ”

เก็ทเล่าว่า เขาสนใจการเมือง แต่ก่อนหน้านั้นคิดว่าจะต้องโตก่อนมีอำนาจก่อน มีความรู้ มีความสามารถทางเศรษฐกิจก่อนจึงจะมาเคลื่อนไหวได้  แต่เมื่อสามปีก่อน เขาได้เข้าร่วมการประชุมกับสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และเห็นเพื่อนๆ รุ่นเดียวกับเขาออกมาเคลื่อนไหว เก็ทเลยเห็นว่า “เขาจะอายุเท่าเรา เขาก็ยังออกมาสู้กัน ผมก็เลยออกมาสู้บ้าง”

“ผมเริ่มสู้กับวีโว่ (We Volunteer) มาก่อน แล้วต่อมาก็ออกมาตั้ง ‘กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ’ เหตุที่ตั้งชื่อโมกหลวงริมน้ำ เพราะว่า โมกหลวง คือต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ริมน้ำ ตอนตั้งกลุ่มสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเพื่อนในมหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้ในกลุ่มมีสมาชิกประมาณ 20 คน มีเพื่อนในมหาวิทยาลัยอื่นมาร่วมด้วย ทั้งธรรมศาสตร์ มหิดล หรือแม้กระทั่งคนทำงาน”

กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เลือกที่จะเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยให้ลึกมากขึ้น ก็คือต่อสู้เรื่องคนเท่ากัน รูปแบบการเคลื่อนไหว จะมีหลากหลาย ทั้งการเสวนา จัดคลับเฮ้าส์ ไปคุยกับชาวบ้าน หรือจัดการชุมนุมเดินขบวน

“ผมเคยประเมินเหมือนกันว่ากับเพื่อนๆ ว่า วันหนึ่งอาจมีโอกาสในการเข้าเรือนจำ ถึงแม้คุยกันว่า  ในทางทฤษฎี รูปแบบการเคลื่อนไหวแบบเราในการจัดเสวนา คลับเฮ้าส์ หรือชุมนุมนั้น ไม่เป็นปัญหาหรอก แต่เราก็รู้ดีว่าบ้านเมืองมีปัญหา ในทางปฏิบัติเราอาจจะเข้าเรือนจำก็ได้ แต่พอได้เข้ามาอยู่จริงๆ มันก็รู้สึกแย่”

.

เชื่อมั่นในมวลชน กำลังใจมาจากคนข้างนอก

เก็ทยังเล่าต่อว่า “อยู่ในนี้ค่อนข้างบั่นทอนจิตใจ แต่ได้ยินเรื่องแซม (แซม สาแมท) เรื่องไมค์ (ภาณุพงศ์ จาดนอก) ในนี้ก็ดีขึ้น วันที่ 3 พ.ค. มีผู้ต้องขังเข้ามาใหม่เจ็ดคน เขาเล่าให้ฟังว่าหน้าเรือนจำมีคนมาจัดกิจกรรมชูสามนิ้ว ดีใจมากๆ ที่มีการจัดกิจกรรม ดีใจที่อย่างน้อยรู้ว่าคนข้างนอกยังสู้อยู่”

เราอ่านข้อความที่เพื่อนๆ ฝากมาให้กำลังใจ และโชว์ภาพบางส่วนจากเฟซบุ๊คของเก็ท เก็ทดีใจที่ทุกคนยังไม่ลืมเขา “ฝากถึงเพื่อนๆ ขอให้เข้มแข็ง บอกตามตรงว่าบางครั้งก็อยู่ในช่วงหมดจิตหมดใจ ถ้ารู้ว่าทุกคนยังสู้อย่างเข้มแข็งก็ยังมีกำลังใจ ผมติดคุกผมก็ยังอยากจะต่อสู้ แต่การต่อสู้ในนี้ก็มีข้อจำกัด ผมก็เลยอดอาหารและยังต่อสู้เรื่องคนเท่ากัน ยังคุยให้เพื่อนผู้ต้องขังฟัง อยากให้ทุกคนสู้ต่อ ผมจะอดอาหารจนกว่าจะได้ประกันสิทธิประกันตัว”

“ผมเชื่อใจมวลชน เชื่อใจพี่ทนาย  เชื่อใจครอบครัว ทุนคนเก่งมาก ทุกคนจะสู้ต่อแม้จะมีผมหรือไม่มีผม ผมฝากใจ ฝากความหวังให้ทุกคน”

ก่อนจากกัน เก็ทฝากย้ำ “ผมอยู่ในนี้ก็จะอดอาหาร ผมไม่ได้อดอาหารเพราะใจฝ่อ ที่อดพออยากจะสื่อสารประเด็นเรื่องสิทธิประกันตัว เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ขอแค่รู้ว่าคนข้างนอกยังสู้อยู่ ผมจะกินแค่น้ำกับน้ำหวาน อยากให้พ่อแม่ดูแลตัวเองให้ดี”

เราออกมาจากเรือนจำตอนเที่ยงแล้ว นั่งทานข้าวกลางวันอย่างสะท้อนใจว่ามีลูกความต้องอดข้าวเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวอยู่ถึงสองคน แม้ว่าตัวเก็ทจะเลือกอดอาหาร แต่เขาก็ห่วงใยคนรอบข้าง หมา แมว และทนายความ   

โมกหลวงต้นที่โตจากริมน้ำไม่ควรต้องย้ายที่มาเติบโตในเรือนจำ ถ้าเขาได้ออกมาจนเรียนจบ ไม่ว่าจบรังสีเทคนิค หรือจบแพทย์ เขาคงเป็นกำลังสำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศอีกคนหนึ่ง  แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ หากเขายังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

.

—————————–

อ่านเพิ่มเติม

“เก็ท” #โมกหลวงริมน้ำ : จากนักศึกษาแพทย์รังสี สู่ผู้ถูกคุมขังในคดีความมั่นคงของรัฐ

จากไผ่ถึงตะวัน: ทบทวนปฏิบัติการ 18 ราษฎร “อดอาหาร” เพื่อประท้วง-เรียกร้อง-ต่อต้าน ให้รัฐและตุลาการมอบความยุติธรรมกลับคืน

กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์: เมื่อถูกรัฐกักขัง การทรมานร่างกายด้วยการ “อดอาหาร” จึงเป็นอาวุธอย่างสุดท้ายของประชาชน

.

X