ตร.ล้อมจับ “เก็ท โสภณ” คดี 112 เหตุปราศรัย #ทัวร์มูล่าผัว ก่อนศาลไม่ให้ประกัน เข้าเรือนจำเป็นรายที่ 9

1 พ.ค. 2565 เวลา 21.20 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่าชุดตำรวจนอกเครื่องแบบได้เข้าอ่านหมายจับในคดีตามมาตรา 112 ต่อ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักศึกษาวัย 23 ปี จากภาควิชารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และเป็นสมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ขณะเขากำลังเรียกแท็กซี่เพื่อเดินทางออกจากกิจกรรมวันแรงงาน #ม็อบ1พฤษภา65 #รวมพลคนทำงาน ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

ในขณะที่ตำรวจหลายสิบนายทั้งในและนอกเครื่องแบบได้ล้อมรถแท็กซี่ไว้ โดยโสภณยังไม่ยอมลงจากรถ ขณะที่มีมวลชนในบริเวณดังกล่าวเข้ามาเจรจากับเจ้าหน้าที่ และพยายามล้อมรถแท็กซี่ไว้ เพื่อไม่ให้ตำรวจนำตัวโสภณไป เนื่องจากยังไม่แน่ชัดว่าจะนำตัวไปที่ใดและอยากให้รอจนกว่าทนายความจะเดินทางมาถึง  

22.05 น. หลังการล้อมรถและเจรจากับมวลชน โสภณจึงยอมลงจากรถแท็กซี่ไปขึ้นรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีผู้ไว้วางใจและมวลชนจำนวนหนึ่งขอติดตามขึ้นรถไปด้วย ก่อนจะพาตัวไปถึง สน.สำราญราษฎร์ ในเวลาประมาณ 22.20 น. และมีทนายความติดตามไป โดยที่ด้านหน้าสถานี ตำรวจได้ตั้งแผงรั้วเหล็กกั้นไว้ และมีมวลชนหลายสิบคนรอให้กำลังใจ 

ตำรวจชุดจับกุมได้ทำบันทึกจับกุมโสภณ โดยในการจับกุมครั้งนี้อยู่ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.นริศ ปรารถนาพร ผกก.สส. บก.น.6  และ พ.ต.ต.พลเชษฐ์ มาดี สารวัตรสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ โดยระบุว่ามีชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กก.สส.บก.น.6 และ สน.สำราญราษฎร์ รวม 9 ราย  และเป็นการจับกุมตามหมายจับที่ออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 29 เม.ย. 2565 ลงนามโดย ปกฉัตร เผือกสุวรรณ โดยมีพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เป็นผู้ร้องขอออกหมาย ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ 

ในชั้นจับกุม โสภณได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รวมถึงไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมข้างต้น

.

.

นำตัวไป บช.ปส. ก่อนแจ้ง ม.112 กล่าวหาปราศรัยลดคุณค่าของพระราชินี 

ต่อมา เวลาประมาณ 23.30 น. ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ยืนยันที่จะนำตัวโสภณไปสอบสวนต่อที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี-รังสิต ซึ่งไม่ใช่พื้นที่เกิดเหตุ 

เวลาประมาณ 23.56 น. โสภณจึงได้ขอลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์ ให้ทำการสอบสวนตนต่อทันทีที่ สน. นี้ และไม่ยินยอมให้ย้ายไปสอบสวนที่ บช.ปส. เพราะไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุและประกาศเรื่องกำหนดสถานที่ควบคุมตัวที่ 1/2563 ที่กำหนดให้ บช.ปส. เป็นสถานที่ควบคุมตัวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 2 พ.ค. 2565 เวลา 00.20 น. ตำรวจนำตัวโสภณย้ายไปที่ บช.ปส. โดยไม่มีทนายความขึ้นรถไปด้วย ทำให้ทนายความต้องเดินทางแยกไปต่างหาก และต้องรออยู่หน้าตึก บช.ปส. ก่อนจะตามเข้าไปให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับโสภณด้านในอาคารได้ในเวลาต่อมา  

03.30 น. ศูนย์ทนายความฯ จึงได้รับรายงานความคืบหน้าว่า ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ รองสารวัตรสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยังคงทำการสอบข้อเท็จจริงโสภณอยู่ 

ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้ระบุรายละเอียดพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 เวลาประมาณ 08.00 น. ขณะที่อานนท์ กลิ่นแก้ว ผู้กล่าวหาพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักและได้เข้าไปดูเพจของ Friends Talk ในโทรศัพท์มือถือ พบว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 เวลาประมาณ 17.50 น. เพจมีคลิปการไลฟ์สด พบกลุ่มบุคคลกําลังเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตํารวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตํารวจได้ยืนกั้นแถวไม่ให้เดินเข้าไปยังบริเวณวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ซึ่งในวันดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา จะเสด็จพระราชดําเนิน เพื่อบําเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชและทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต เนื่องในโอกาสที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” 

ในคลิปมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 10 กว่าคน โดยมีโสภณ สุรฤทธิ์ธํารง ทราบชื่อและนามสกุลจริงภายหลัง ได้ปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงทางโทรโข่ง ซึ่งมีข้อความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยมีเนื้อหาพาดพิงถึงการทำบุญของพระราชินีสุทิดา และกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ผู้กล่าวหาอ้างว่า ข้อความดังกล่าวกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า (โทรโข่ง) ต่อหน้าประชาชนผู้ชุมนุมจํานวนมาก และมีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การกล่าวถ้อยคําเช่นนั้น เป็นทั้งถ้อยคําที่ไม่สุภาพและไม่สมควร แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ต้องหาที่ต้องการลดคุณค่าของสมเด็จพระราชินีสุทิดา อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม เป็นการใส่ร้ายทําให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเกลียดชัง ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อานนท์ กลิ่นแก้ว จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาโสภณ 2 ข้อหา คือ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน โสภณได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา

.

ตำรวจขอฝากขังอ้างโทษสูง-เดือน พ.ค. มีงานพระราชพิธีเยอะ ศาลอาญาไม่ให้ประกัน อ้างอาจหลบหนี-ไปกระทำการทำนองเดียวกันนี้อีก 

หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว โสภณได้ถูกคุมขังที่ บช.ปส. 1 คืน และทราบว่าพนักงานสอบสวนจะทำการขอฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จึงได้ทำการคัดค้านการฝากขังออนไลน์นี้ โดยการลงบันทึกประจำวันไว้   

ต่อมาช่วงเช้า วันที่ 2 พ.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลอาญาฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นระยะเวลา 12 วัน พร้อมคัดค้านการประกันตัวโดยระบุว่าเป็นความผิดที่มีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหาเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งมีพฤติการณ์เป็นบุคคลเฝ้าระวังพิเศษต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และในเดือนพฤษภาคม มีงานพระราชพิธีฉัตรมงคล พิธีสมโภชเครื่องราชกุธภัณฑ์ พระราชพิธีพืชมงคล และงานพระราชพิธีต่างๆ หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง 

หลังทนายความทราบคำสั่งศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังโสภณ จึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน  

เวลา 15.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโสภณ โดยศาลอาญามีคำสั่งว่า กรณีนี้ปรากฏว่า โสภณผู้ต้องหาเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลนี้ ในข้อหาร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณา อันเนื่องมาจากผู้ต้องหากับพวกรวมตัวกันชุมนุมมั่วสุมที่ศาลอาญา ปราศรัยเรียกร้อง รวมถึงแสดงความไม่พอใจในการทำหน้าที่ของศาล ในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง พริษฐ์ หรือ ‘เพนกวิน’ ชีวารักษ์ ต่อศาลนี้ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ซึ่งคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล 

ผู้ต้องหายังกระทำการอันเป็นเหตุให้ถูกจับกุมเป็นคดีนี้อีก จึงน่าเชื่อว่าหากให้ปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนี หรือไปกระทำการในทำนองเดียวกันนี้ หรือก่อภัยอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ศาลได้ปิดชื่อผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไว้ 

.

สำหรับคดีที่ศาลกล่าวถึงว่าโสภณถูกกล่าวหามาก่อนหน้านี้ เป็นกรณีที่โสภณเข้ามอบตัวหลังถูกออกหมายจับร่วมกับนักกิจกรรมและประชาชนรวม 15 คน ในการชุมนุม #ม็อบ2พฤษภา2564 หน้าศาลอาญา โดยกลุ่ม REDEM คดีนี้ เขาถูกแจ้งข้อหาดูหมิ่นศาล, ข้อหามาตรา 215, มาตรา 216, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียง และกีดขวางทางเท้า โดยคดีอยู่ระหว่างการรอสืบพยานในชั้นศาล

หลังคำสั่งศาล โสภณถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทำให้ ณ วันที่ 2 พ.ค. 2565 มีจำนวนผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัว เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยจำนวน 9 คน 

ทั้งนี้ อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นสมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวแจ้งความนักกิจกรรมในคดีมาตรา 112 หลายคดี น่าสังเกตว่าการขอออกหมายจับโสภณของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดขึ้นหลังการแจ้งความเพียง 6 วันเท่านั้น โดยไม่มีการออกหมายเรียก และคดีนี้ยังเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่โสภณถูกกล่าวหา

จนถึงวันที่ 2 พ.ค. 2565 สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลังชุมนุมเยาวชนปลดแอก ปี 2563 เป็นต้นมา พุ่งขึ้นเป็นอย่างน้อย 191 คน คิดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 205 คดี ในจำนวนนี้มีคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 96 คดี หรือเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

.

X