“เก็ท” #โมกหลวงริมน้ำ : จากนักศึกษาแพทย์รังสี สู่ผู้ถูกคุมขังในคดีความมั่นคงของรัฐ

‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง วัย 23 ปี เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ไม่อาจอดกลั้นต่อความอยุติธรรมที่ได้เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ เขากำลังเตรียมจบการศึกษาจากภาควิชารังสีเทคนิค คณะแพทย์ศาสตร์วชิระพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราทิราช และเพิ่งเข้ารับการปัจฉิมนิเทศ เตรียมเปลี่ยนผ่านจากนักศึกษาเป็นบัณฑิต เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา

จากนักศึกษาธรรมดาๆ ที่มีความหวังและเชื่อมั่นว่าสักวันสังคมไทยจะดีกว่าในวันนี้ได้ เขาตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ‘การ์ดวีโว่’ หรือ We Volunteer ในปีแรกของการประท้วงใหญ่ เมื่อปี 2563 และเข้าร่วมกับกลุ่มแพทย์พยาบาลอาสา DNA เพื่อสนับสนุนด้านการแพทย์ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปีเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ภาพของการละเมิดสิทธิที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เก็ทและเพื่อนจำนวนหนึ่งตัดสินใจก่อตั้งกลุ่ม ‘โมกหลวงริมน้ำ’ ขึ้น ในวันที่ 12 สิงหาคม 2563 เพื่อเรียกร้องสิทธิของนิสิตและนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยนวมินทราทิราช 

จุดประสงค์เริ่มแรกของการก่อตั้ง ‘โมกหลวงริมน้ำ’ เก็ทเคยระบุว่าเขาและเพื่อนเพียงต้องการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของนักศึกษา อาทิเช่น การแต่งกาย การแสดงออกตามเพศสภาพของบุคคล และค่าเทอม เป็นต้น อีกทั้งยังระบุด้วยว่า การที่เขาใช้ ‘ต้นโมก’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมาเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม เพื่อหวังว่าการเบ่งบานของสิทธิมนุษยชน จะเป็นเหมือนดั่งการแผ่กิ่งก้านของต้นโมก ส่วนคำว่า ‘ริมน้ำ’ มาจากพื้นที่ตั้งใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาของมหาวิทยาลัยนวมินทราทิราชนั่นเอง

ต่อมาเมื่อสมาชิกได้แผ่ขยายดั่งกิ่งก้านของต้นโมกอย่างที่เก็ทและเพื่อนได้หวังเอาไว้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำก็ได้แผ่รากของการเจริญเติบโตด้านสิทธิมนุษยชนไปเป็นในระดับการตระหนักรู้ทางสังคม

.

ภาพการประกาศตั้งกลุ่มและสัญลักษณ์ของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ

.

8 คดีทางการเมือง โทษปรับสิ้นสุดแล้ว 2 คดี ก่อนถูกกล่าวหาคดี 112 คดีแรก

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 5 พ.ค. 2565 เก็ทถูกกล่าวหาดำเนินคดีไปแล้วรวม 8 คดี  โดยมีจำนวน 2 คดีที่สิ้นสุดไปแล้ว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษปรับ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาด และเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้คดีสิ้นสุดตั้งแต่ในชั้นตำรวจ

สำหรับคดีแรกในชีวิตที่เขาถูกกล่าวหา และยังถูกออกหมายจับ ได้แก่ คดีจากการชุมนุม #ม็อบ2พฤษภา2564 หน้าศาลอาญา โดยกลุ่ม REDEM เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองในขณะนั้น เขาพร้อมกับผู้ชุมนุมรวม 15 คน ถูกแจ้งข้อหาดูหมิ่นศาล, ข้อหามาตรา 215, มาตรา 216, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียง และกีดขวางทางเท้า โดยคดีอยู่ระหว่างการรอสืบพยานในชั้นศาล  คดีนี้ถูกนำมาใช้เป็นเหตุหนึ่งในการอ้างไม่ให้ประกันตัว หลังเขาถูกจับกุมในคดีมาตรา 112 ล่าสุดนี้

นอกจากนั้น เก็ทยังถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมชุมนุมอีก 3 คดี โดยเขาไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมต่างๆ นี้ ได้แก่ คดีม็อบ18สิงหา2564 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จัดโดยกลุ่มทะลุฟ้า, คดี #ม็อบสมรสเท่าเทียม ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2564  และคดีชุมนุม #ราษฎรพิพากษามาตรา112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2564 

.

ภาพเก็ท โสภณ ขณะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้เร่งติดตามการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 (ภาพจากเพจโมกหลวงริมน้ำ)

.

จัดม็อบครั้งแรกของโมกหลวงริมน้ำ : คืน – ยุติธรรม แด่ผู้ถูกบังคับสูญหา

.

ภาพเก็ท โสภณ ในกิจกรรมคืน-ยุติธรรม เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

.

เก็ทและกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ยังมีบทบาทในการจัดกิจกรรมในวาระครบรอบ 1 ปี การสูญหายของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 กลุ่มโมกหลวงริมน้ำได้เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งติดตามการหายตัวไปของวันเฉลิมอย่างจริงจัง

ก่อนที่ในช่วงเดือนนั้น ทางกลุ่มจะรณรงค์ในประเด็นการถูกบังคับสูญหายอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดกิจกรรม “คืน-ยุติธรรม” บริเวณตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 

เก็ทระบุว่ากิจกรรมนี้ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงนักกิจกรรมทุกคนที่ถูกบังคับสูญหาย โดยมีเนื้อหาการปราศรัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์รัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการตามหานักกิจกรรมทางการเมืองที่ลี้ภัยแล้วต้องสูญหายระหว่างทาง รวมถึงการคุกคามครอบครัวของนักกิจกรรม ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจและความยากลำบากของประชาชนในยุคสมัยนี้อีกด้วย

ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดมากขึ้น เก็ทและทางกลุ่มโมกหลวงริมน้ำยังมีบทบาทในการพยายามรณรงค์ทำข้อเสนอให้มหาวิทยาลัยลดค่าเล่าเรียน เพื่อลดภาระของนักศึกษาและครอบครัวที่ต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งมีนักศึกษาร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่า 952 คน

.

ถูกจับกุมเพราะพกป้าย “เราพร้อมจะอยู่ร่วมกับสถาบันกษัตริย์ที่พูดถึงได้ฯ”

ก่อนจะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เก็ทยังเคยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 หลังจากถูกตำรวจตรวจค้นบริเวณที่มีขบวนเสด็จจะผ่านบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และพบแผ่นกระดาษมีข้อความว่า “เราพร้อมจะอยู่ร่วมกับสถาบันกษัตริย์ ที่พูดถึงได้ ถามถึงได้ วิจารณ์ได้ ทรงพระเจริญ” ก่อนจะถูกแจ้งข้อหา “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน” ภายใน บช.ปส. 

ในคดีนี้ เขาก็ยืนยันให้การปฏิเสธ ถึงแม้ว่าตำรวจจะแจ้งว่าหากรับสารภาพจะเสียค่าปรับเพียง 500 บาท เนื่องจากต้องการต่อสู้เพื่อยืนยันว่าตนไม่ได้กระทำความผิดแต่อย่างใด ทั้งตนพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการตรวจค้นและจับกุมไม่ได้ตรงกับที่ตำรวจระบุไว้ในเอกสารคดี

.

ภาพเก็ตปราศรัยในกิจกรรม ทัวร์มูล่าผัว ที่จัดโดยกลุ่มมังกรปฏิวัติ ภาพจากไข่แมวชีส

.

คดีทางการเมืองในลำดับที่ 8 ของเก็ท คือคดีข้อหามาตรา 112 ที่เขาถูกจับกุมและไม่ได้ประกันตัว มาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยนับเป็นคดีข้อหานี้คดีแรกที่เขาถูกกล่าวหา

เหตุที่ถูกกล่าวหา เกิดขึ้นในกิจกรรมเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 คณะทัวร์มูล่าผัวได้เริ่มต้นขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีจุดมุ่งหมายในการศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ รวมถึงเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคณะทัวร์ได้มุ่งหน้าไป 3 ศาสนาสถานสำคัญ ประกอบไปด้วย วัดพระแก้ว วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดพระศรีมหาธาตุ โดยในกิจกรรมครั้งนี้ เก็ทได้เข้าร่วมปราศรัยซึ่งมีข้อความเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพระราชินีสุทิดา จนเป็นเหตุให้เขาถูกออกหมายจับในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ตลอดการเป็นนักกิจกรรมของเก็ท โสภณ เขาระบุว่าตนเองเคยถูกคุกคามจาก เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายครั้ง โดยส่วนมากเป็นการติดตามสอดส่อง ถ่ายรูป และวิดีโอขณะที่มีการขึ้นปราศรัย ตลอดจนการถูกข่มขู่จากกลุ่ม ศปปส. และยังมีความพยายามดักทำร้ายร่างกายจากกลุ่มอาชีวะไม่ทราบฝ่ายอีกด้วยในกิจกรรมครั้งหลังนี้

ปัจจุบัน ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 65 มาเป็นระยะเวลา 5 วันแล้ว โดยวันที่ 5 พ.ค. 65 เป็นวันแรกที่เขาประกาศเจตจำนงค์ในการอดอาหาร

.

X