จากไผ่ถึงตะวัน: ทบทวนปฏิบัติการ 22 ราษฎร “อดอาหาร” เพื่อประท้วง-เรียกร้อง-ต่อต้าน ให้รัฐและตุลาการมอบความยุติธรรมกลับคืน

อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2565

หลังการรัฐประหาร ปี 2557 มีนักกิจกรรมและประชาชน อย่างน้อย 18 ราย หยิบเครื่องมือ “การอดอาหาร” มาใช้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อรัฐและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะวัตถุประสงค์หลักในการเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

ในระลอกการเคลื่อนไหวนี้ กลวิธี “อดอาหาร” ถูกประกาศใช้ครั้งแรก เมื่อปี 2559 โดย “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินในขณะนั้น หลังถูกจับกุมในคดีแจกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย อยู่ที่เรือนจำอำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ จตุภัทร์ได้อดอาหารจนครบกำหนดฝากขังผัดแรก เป็นเวลา 12 วัน เพื่อประท้วงต่อกระบวนการทำประชามติที่ไม่เสรีและการจับกุมที่ไม่ยุติธรรม 

ภาพขณะไผ่ถูกคุมขังและอดอาหารประท้วง

ต่อมา ยังมีกรณีของทนายประเวศ ประภานุกูล ที่อดอาหารประท้วงเมื่อปี 2560 ขณะถูกคุมตัวอยู่ใน มทบ.11 เพื่อประท้วงการจำกัดสิทธิของเจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่อนุญาตให้ติดต่อบุคคลภายนอกระหว่างถูกจับกุม

ในช่วงปี 2564 ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ขาขึ้น” ของขบวนการเคลื่อนไหว เพราะมีการชุมนุมต่อเนื่องบ่อยครั้งและมีมวลชนเข้าร่วมอย่างล้นหลาม ขณะเดียวกันรัฐก็มุ่งดำเนินคดีและคุมขังนักกิจกรรมอย่างต่อเนื่องหลายราย กลางเดือนมีนาคม “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ประกาศอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ในคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นผู้ที่อดอาหารได้นานที่สุดถึง 58 วัน 

ภาพจาก ข่าวสดออนไลน์

การตัดสินใจดังกล่าวของพริษฐ์ ทำให้นักกิจกรรมอีกหลายรายที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้นทยอยเริ่มต้นอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวเช่นเดียวกับเขาด้วย ได้แก่ “ฟ้า” พรหมศร, พรชัย, “รุ้ง” ปนัสยา, “แฟรงค์” ณัฐนนท์, แซม ซาแมท, “นิว” สิริชัย และ “ตี้” วรรณวลี โดยบางรายได้เสนอข้อเรียกร้องเพิ่มเข้าไปด้วย เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง สิทธิของผู้ต้องขังที่จะได้อาหารและน้ำดื่มที่สะอาดและมีมาตรฐาน และพื้นที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวในการพูดคุยหรือปรึกษารายละเอียดคดีกับทนายความ เป็นต้น 

การเคลื่อนไหวดังกล่าว ยังทำให้ประชาชนภายนอกที่ไม่ได้ถูกคุมขัง อย่างน้อย 6 คน เริ่มต้นการอดอาหารเพื่อร้องเรียกสิทธิในการประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมือง ในแคมเปญ “อดพร้อมเพื่อน” ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรม “ยืน-หยุด-ขัง” อยู่ที่บริเวณหน้าศาลอาญา นำโดยกลุ่ม People Go network 

แคมเปญอดอาหารไปพร้อมกับผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นการทำกิจกรรมในลักษณะของการรับช่วงการอดอาหารต่อๆ กันไปตามลำดับ โดยเมื่อคนหนึ่งยุติการอดอาหารอีกคนก็จะต้องอดอาหารต่อ ทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรืออีกคนไม่จำเป็นต้องยุติการอดอาหาร อีกคนก็สามารถอดอาหารต่อไปพร้อมกันได้เช่นกัน 

ภาพกิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ และ ‘อดพร้อมเพื่อน’ ที่บริเวณหน้าศาลอาญา

“บาส” มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมจากจังหวัดเชียงราย ถือเป็นประชาชนคนแรกที่ทำการอดอาหารในแคมเปญนี้ที่หน้าศาลอาญา แต่หลังอดอาหารได้เพียง 3 วันก็ต้องล้มเลิกไป เนื่องจากถูกจับกุมในคดีตามมาตรา 112  หลังจากนั้น “อดีตสมณะดาวดิน” ได้มารับช่วงต่อ ตามมาด้วย “ป้าเป้า” วรวรรณ, เลิศศักดิ์, พัชณีย์ และผู้รับไม้ต่อคนสุดท้าย คือ “ซัน ทะลุฟ้า” ซึ่งสุดท้ายต้องยุติการอดอาหารไปเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ในวันที่ 12 พ.ค. 2564  รวมทั้งยังมีพี่สาวของรุ้ง ปนัสยา ที่อดอาหารเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของน้องสาวด้วย

ในปี 2565 นี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ประกาศอดอาหารอีกครั้งเป็นคนล่าสุดและคนแรกของปีนี้ หลังถูกศาลสั่งเพิกถอนประกันในคดีตามมาตรา 112 และส่งตัวเธอไปคุมยังยังทัณฑสถานหญิงกลาง โดยประทังชีวิตด้วยน้ำเปล่าและนมเท่านั้น ขณะอาการวิกฤตลงเรื่อยๆ ศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตะวัน เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 เธอจึงยุติการอดอาหารพร้อมถูกคุมขังเป็นเวลา 37 วัน

หลังตะวันเริ่มต้นอดอาหารเป็นรายแรกในปี 2565 จากนั้นมีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองดำเนินการอดอาหารประท้วงตามมาอีกอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, “คิม” ธีรวิทย์ รวมถึง “บุ้ง” เนติพร และใบปอ โดยปัจจุบันบุ้งและใบปอยังคงอดอาหารเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวอยู่

เปิดไทม์ไลน์ผู้ต้องขังการเมืองอย่างน้อย 15 ราย “อดอาหาร” ร้องสิทธิประกันตัว – จับมิชอบ – สิทธิพื้นฐานของผู้ถูกจับ-ผู้ต้องขัง 

1. “ไผ่” จตุภัทร์ : อดอาหารนาน 12 วัน (8-19 ส.ค. 2559)

“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ขณะยังเป็นนักศึกษาและสมาชิกดาวดิน เริ่มต้นอดอาหารเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ซึ่งเป็นวันแรกของการถูกฝากขังในชั้นสอบสวน หลังถูกจับกุมในคดีแจกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย อยู่ที่เรือนจำอำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ โดยจตุภัทร์ตั้งใจอดอาหารไปจนกว่าจะครบกำหนดฝากขังผัดแรก เป็นระยะเวลา 12 วัน เพื่อประท้วงกระบวนการประชามติที่ไม่เสรีและการจับกุมที่ไม่ยุติธรรม

จตุภัทร์อดอาหารโดยดื่มแค่น้ำเปล่า กาแฟ นม และเพื่อนสมาชิกกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จ.กระบี่ แนะนำให้ดื่มน้ำมะพร้าวด้วย เนื่องจากมีแร่ธาตุและวิตามินอยู่ในปริมาณมากเพื่อยังคงให้ร่างกายสามารถคงอยู่และทำงานได้อย่างเป็นปกติ 

“เรารู้ว่าคานธีอดอาหาร เรารู้ว่าจำลองอด รู้ว่าคนค้านถ่านหินอดอาหารประท้วง แต่เราก็ไม่ได้เข้าใจเขาดี พอทำเอง แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่น่ะ คือมันเป็นอีกฟิลล์หนึ่งไปเลย คือโอเค เรารู้ว่าคุณอดอาหาร เรานับถือใจ เราเห็นด้วย แต่พอเราไปทำ เฮ้ย ยอมรับเลย คุณต่อสู้ได้ว่ะ ถ้าผมไม่ทำ ถ้าผมฟังคนว่าอย่าไปทำเลย มันทรมานน่ะ ผมก็คงไม่รู้” ไผ่เคยเล่าถึงการอดอาหารในครั้งนั้น 

หลังจากอดอาหาร 12 วันจนครบกำหนดฝากขังผัดแรกในวันที่ 19 ส.ค. 2564 จตุภัทร์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เขาจึงยุติการอดอาหารในวันนั้น 

รูปแบบการอดอาหาร – ดื่มน้ำ กาแฟ นม และน้ำมะพร้าว

ผลข้างเคียง – ปวดท้องในช่วงแรก อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงประมาณ 10 กิโลกรัม

2. ทนายประเวศ ประภานุกูล: อดอาหาร 2 วัน (29-30 เม.ย. 2560)

ประเวศ ประภานุกูล เป็นทนายความที่เคยว่าความในคดีมาตรา 112 มาก่อน แต่เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2560 เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวจากบ้านพัก ไปยัง มทบ.11 โดยไม่มีหมายจับและไม่มีใครทราบ ในช่วงดังกล่าว คสช. ยังให้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลในค่ายทหารในคดีความมั่นคงได้ 7 วัน

ระหว่างถูกควบคุมตัว ประเวศได้ขอโทรศัพท์ติดต่อบุคคลที่ไว้วางใจ แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ทหาร เขาจึงเริ่มอดอาหารเพื่อประท้วงการจำกัดสิทธิดังกล่าว  

วันถัดมา เขายังยืนยันกับเจ้าหน้าที่ขอติดต่อบุคคลผู้ไว้วางใจ เนื่องจากมีนัดหมายคดีที่ต้องรับผิดชอบ และยังไม่ยอมรับประทานอาหารที่เจ้าหน้าที่นำมาให้ จนทหารได้อนุญาตให้ประเวศใช้โทรศัพท์ติดต่อเพื่อนทนาย โดยให้เปิดลำโพงให้ทหารได้ยินด้วย ทำให้คนอื่นจึงทราบว่าเขาถูกทหารควบคุมตัว และประเวศจึงได้ยุติการอดอาหาร

รูปแบบการอดอาหาร – ปฏิเสธไม่รับประทานอาหารที่เจ้าหน้าที่ทหารจัดหามาให้

3. “เพนกวิน” พริษฐ์ : อดอาหารนาน 58 วัน (15 มี.ค.-11 พ.ค. 2564)

ภาพจาก Banrasdr Photo

“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ เริ่มต้นอดอาหารเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 ขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีตามมาตรา 112 จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว โดยเขาได้อ่านแถลงการณ์ว่าจะประท้วงด้วยการอดอาหาร ในระหว่างที่ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานของคดีนี้ ที่ห้องพิจารณาคดี 701 ของศาลอาญารัชดา เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 

ระหว่างการอดอาหาร พริษฐ์เล่าว่าเขามีความรู้สึกหิวอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรก และตามมาด้วยภาวะขาดน้ำ ขาดน้ำตาล มีอยู่ครั้งหนึ่งค่าระดับน้ำตาลในเลือดตกลงมาจนเกือบถึงขีดอันตราย ระหว่างนั้นผู้คุมและเจ้าหน้าที่ของราชทัณฑ์ได้กดดันให้เขายุติการอดอาหารอย่างต่อเนื่อง เช่น เสนอว่าจะหาอาหารดีๆ ให้กิน หรือนำถาดอาหารมาตั้งไว้ในห้องขัง รวมถึงการห้ามไม่ให้นำหนังสือเข้าไปอ่านในห้องขัง แม้ว่าจะเป็นหนังสือเรียนก็ตาม คาดว่าทำเพื่อกดดันให้วุ่นวายใจจะได้เลิกอดอาหาร เพราะเขาเป็นคนที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือมากๆ  

ท้ายที่สุดพริษฐ์มีอาการอ่อนเพลียมาก รวมทั้งถ่ายมีเลือดและชิ้นเนื้อปนอยู่ด้วย คาดว่ามาจากเหตุเยื่อหุ้มลำไส้และกระเพาะย่อยตัวเองออกมา และยังมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ทางเรือนจำจึงส่งตัวไปรักษาที่ รพ.รามาธิบดี

แม้พริษฐ์จะได้รับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดแดงแทน แต่เขาก็ยังดำเนินการอดอาหารต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พริษฐ์จึงยุติการอดอาหารในวันดังกล่าว นับว่าได้เขาเป็นผู้ที่อดอาหารที่นานที่สุดในระลอกการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 โดยอดอาหารถึง 58 วัน

รูปแบบการอดอาหาร – สัปดาห์แรกของการอดอาหารดื่มเฉพาะนม หลังจากนั้นดื่มเฉพาะน้ำเปล่าอย่างเดียว

ผลข้างเคียง – ระหว่างอดอาหาร มีอาการอ่อนเพลีย ภาวะน้ำตาลต่ำ ภาวะขาดน้ำ ปวดท้อง หลังยุติการอดอาหารพบว่า น้ำหนักตัวลดลงประมาณ 12.5 กิโลกรัม จากเดิม 107 กิโลกรัม เหลือเพียง 94.5 กิโลกรัม และยังส่งผลมาถึงปัจจุบันหลายประการ เช่น อยากอาหารและรับประทานอาหารได้น้อยลง ปวดท้องบ่อยครั้ง  

“ข้าพเจ้าไม่ได้มีเจตนาจะปลิดชีวิตของตน แต่จะขอทรมานตนเอง เพื่อให้ความทรมานที่เกิดกับข้าพเจ้าเป็นประจักษ์พยานแห่งความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เป็นประกายไฟสะกิดมโนสำนึกของพวกท่าน และเป็นข้อพิสูจน์ว่าความจริงไม่เกรงกลัวต่อความทุกข์ทรมานใด ๆ หากข้าพเจ้าต้องสละชีวิตลง ข้าพเจ้าก็ยินดีสละ …”

พริษฐ์ ชิวารักษ์

15 มี.ค. 2564

4. “ฟ้า” พรหมศร : อดอาหารนาน 3 ครั้ง รวม 43 วัน (18 มี.ค. -5 เม.ย., 26 เม.ย.-10 พ.ค. และ 15-23 ส.ค. 2564)

“ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี แกนนำราษฎรมูเตลู อดอาหารขณะถูกคุมขังในคดีเดียวกัน 2 ครั้ง โดยเริ่มต้นอดอาหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีปราศรัยหน้าศาลธัญบุรี เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 เรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง แล้วไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง  พรหมศรตั้งใจอดอาหารเพราะมองว่าเป็นสันติวิธี ไม่ได้เป็นพิษภัยต่อใคร เป็นการอารยะขัดขืน ซึ่งเคยอ่านจากหนังสือที่พูดถึง “มหาตมะ คานธี” โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวพร้อมกับ “เพนกวิน” พริษฐ์ ที่กำลังเริ่มอดอาหารในขณะนั้น

ตลอดการอดอาหารครั้งแรกเขาถูกกดดันจากคนรอบข้าง ทั้งผู้คุมและเพื่อนผู้ต้องขัง ร้องขอให้พรหมศรยุติการอดอาหาร จนเขาเห็นว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับคนรอบข้าง จึงได้ยุติการอดอาหารครั้งนั้นในวันที่ 5 เม.ย. 2564 รวมระยะเวลาอดอาหาร 19 วัน 

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 พรหมศรตัดสินใจอดอาหารอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 ขณะถูกขังอยู่ในคดีเดิมและยังไม่ได้การปล่อยตัวชั่วคราว โดยตั้งใจอดอาหารร่วมกับ “เพนกวิน” พริษฐ์ และผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่ทำการอดอาหารอยู่ในขณะนั้น จนกระทั่งวันที่ 8 พ.ค. 2564 ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พรหมศรจึงยุติการอดอาหารในวันที่ 10 พ.ค. 2564 รวมอดอาหารครั้งที่ 2 ทั้งสิ้น 15 วัน

พรหมศรไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างสอบสวนอีกครั้งพร้อมกับนักกิจกรรมรวม 9 คน ในคดี #ม็อบ2สิงหา64 เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด. ภาค 1 พรหมศรเริ่มอดอาหารรอบที่ 3 พร้อมสิริชัย นาถึง และแซม สาแมท ในวันที่ 15 ส.ค. 2564 วันแรกที่พวกเขาถูกย้ายจากเรือนจำชั่วคราวรังสิตไปที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หลังจากตรวจพบเชื้อโควิด ก่อนยุติการอดอาหารในวันที่ 23 ส.ค. 2564 เนื่องจากเพื่อนๆ อยากให้รักษาสุขภาพในขณะที่ติดโควิดก่อน รวมเวลาอดอาหาร 9 วัน 

รูปแบบการอดอาหาร – การอดอาหารครั้งที่ 1 ดื่มนมวันละ 1 กล่องทุกวัน มื้ออื่นจะดื่มเฉพาะน้ำเปล่าเท่านั้น

การอดอาหารครั้งที่ 2 ใน 5 วันแรกจะดื่มกินนมทุกวัน วันละกล่อง หลังจากนั้นจะดื่มเฉพาะ “น้ำเปล่า” เท่านั้น 

ส่วนครั้งที่ 3 เขาดื่มน้ำเปล่า นม และกินลูกอมรสเปรี้ยว

ผลข้างเคียง – หลังได้รับการปล่อยชั่วคราวจนถึงปัจจุบัน มีภาวะอาหารย่อยยาก เมื่อกินอาหารหนักอย่างเนื้อสัตว์ในปริมาณเยอะเกิน 1-2 มื้อ และตามมาด้วยอาการปวดท้อง เสียดท้อง เป็นพักๆ นอกจากนี้พรหมศรยังมีสภาวะขาดสารอาหารจนถึงปัจจุบัน โดยหลายครั้งมีอาการหน้ามืด น้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ และเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ซึ่งแพทย์แนะนำให้รับประทานวิตามินรวมและทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พรหมศรกล่าวว่า เนื่องจากตนเองมีรูปร่างที่ค่อนข้างผอมและน้ำหนักตัวน้อย จึงได้รับผลกระทบที่มากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวค่อนข้างเยอะ

 “แม้นว่าตัวข้าพเจ้าจะถูกจองจำแต่ตัวข้าพเจ้าก็จะดำรงตนไว้ซึ่งธรรม คือความถูกต้องและความจริงอันสูงสุด

เพราะฝ่ายอำนาจเผด็จการกล่าวว่าตัวข้าพเจ้าและบรรดาสหายร่วมอุดมการเป็นนักโทษ 

ข้าพเจ้าก็จะสวมเสื้อผ้านักโทษ ตามที่นักโทษควรจะสวมใส่ และจะอดอาหาร … 

และจะดื่มนมเพียงวันละ 1 กล่อง ก็น่าจะเพียงพอต่อการเป็นนักโทษของข้าพเจ้าแล้ว …”

พรหมศร วีระธรรมจารี
26 เม.ย. 2564

5. พรชัย : อดอาหารนาน 4 วัน (26-29 มี.ค. 2564)

“พรชัย” หนุ่มปกาเกอะญอ วัย 38 ปี เริ่มต้นอดอาหารตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2564 ขณะถูกคุมขังระหว่างถูกฝากขังในชั้นสอบสวนในคดีมาตรา 112 อยู่ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ โดยเห็นว่าเป็นเพียงวิธีต่อสู้เดียวที่สามารถทำได้ขณะถูกคุมขังอยู่ 

ระหว่างการอดอาหาร พรชัยมีอาการหายใจไม่ออกและปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในคืนที่ 2 ของการอดอาหาร ขณะเดียวกันเพื่อนผู้ต้องขังทักท้วงว่า การอดข้าวและน้ำของเขานั้นรุนแรงเกินไป ตามที่เพื่อนผู้ต้องขังรับรู้มานั้นการจะอดอาหารเพื่อประท้วงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น มักจะมีกระบวนการค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งเป็นการอดอาหารที่เป็นลักษณะของแข็งที่ต้องขบเคี้ยว แต่ยังคงมีการดื่มน้ำเปล่า นม และน้ำเกลือแร่เพื่อให้มีเรี่ยวแรงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การอดอาหารให้เกิดความตายอย่างที่พรชัยพยายามจะทำ 

    หลังพรชัยอดอาหารได้ 4 วัน ในวันที่ 29 มี.ค. 2564 เขาได้ตัดสินใจยุติการกระทำดังกล่าว เนื่องจากประสบอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และเพื่อรักษาชีวิตไว้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นต่อไป ต่อมาวันที่ 21 เม.ย. 64 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรชัย 

รูปแบบการอดอาหาร – ไม่กินอะไรเลย ทั้งอาหารและน้ำ 

ผลข้างเคียง – มีอาการปวดท้องและมีอาการหายใจไม่ออก โดยคืนวันที่ 2 ของการอดอาหาร 

 “ขอประกาศอดข้าว อดน้ำ หากเกิดเหตุล้มป่วย ผมขอให้คุณหมอตัดสินใจทันที 

ไม่ต้องยื้อชีวิตผมเอาไว้ และผมขอบริจาค (ร่างกาย) ให้โรงพยาบาลในเครือพระคริสต์”

พรชัย 

25 มี.ค. 2564

6. “รุ้ง” ปนัสยา : อดอาหารนาน 37 วัน (31 มี.ค. – 6 พ.ค. 2564)

ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์

“รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาและแกนนำราษฎร วัย 23 ปี เริ่มต้นอดอาหารเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 ขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ในคดีตามมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ปนัสยาอดอาหารเป็นเพื่อน “เพนกวิน” พริษฐ์ หลังจากเห็นภาพเขาต้องนั่งรถเข็นและต้องให้น้ำเกลือ และเป็นการเรียกร้องสิทธิประกันตัว รวมทั้งร้องขอพื้นที่พูดคุยอย่างเป็นส่วนตัวกับทนายความ และระหว่างจำเลยคนอื่นๆ ทั้งที่ถูกขังและได้ประกันตัวในศาล 

เธอเริ่มต้นอดอาหารแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ร่างกายปรับตัว ใน 3 วันแรกเธอดื่มเพียงนมในช่วงเช้าและทานข้าวมื้อเดียวในช่วงกลางวัน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ขยับมาดื่มเพียงน้ำเปล่า นม และน้ำผลไม้เท่านั้น

หลังเริ่มอดอาหาร เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และพยาบาลได้ทำการตรวจสุขภาพของปนัสยาเป็นประจำทุกวัน และให้เธอรับประทานวิตามินรวม วันละ 2 เวลา ในช่วงเช้าและเย็น ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวปนัสยา เธอจึงยุติการอดอาหารในวันดังกล่าว หลังถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเธอขึ้นรถกลับบ้านพร้อมครอบครัวทันที เนื่องจากมีอาการอ่อนเพลียจากการอดอาหาร 

รูปแบบการอดอาหาร – 3 วันแรกกินข้าววันละมื้อเดียว มื้ออื่นๆ และหลังจากนั้นจะดื่มเฉพาะน้ำเปล่า นม และน้ำผลไม้ 

ผลข้างเคียง – อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หน้ามืด วิตามินบีในร่างกายมีปริมาณต่ำมาก หลังยุติการอดอาหารและกลับมากินอาหารแบบปกติ พบว่าภายหลังมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักอย่างรวดเร็วผิดปกติ (YOYO Effect)

“สิ่งที่หนูทำแค่ความหวังดีกับประเทศ แต่ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมเหมือนกำลังฆ่าเรา หนูพยายามทุกทางเพื่อให้เขาเห็นว่าสิ่งที่หนูทำมีแต่ความดีและความรัก แต่เมื่อศาลไม่เห็นค่าความดีของหนู หนูเลยต้องทำให้เขาเห็นว่าหนูพยายามแค่ไหน ในการต่อสู้ครั้งนี้ อยู่ในนี้ทำอะไรไม่ได้ อยู่ในนี้แสดงออกอะไรไม่ได้ นอกจากการอดข้าว อยู่ในนี้พูดไปใครก็ไม่ได้ยิน แสดงสัญลักษณ์อะไรก็ไม่เห็น แต่ถ้าหนูอดข้าวอย่างน้อยเวลาออกไปศาล คนก็จะเห็นร่างกายหนู หนูอยากใช้ร่างกายตัวเองเป็นประกันว่าความยุติธรรมต้องเกิดขึ้น ชีวิตทุกชีวิตมีค่า …”

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

30 มี.ค. 2564

7. “แฟรงค์” ณัฐนนท์ : อดอาหารนาน 22 วัน (24 เม.ย.-15 พ.ค. 2564)  

“แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร การ์ดมวลชนอาสา WeVO วัย 22 ปี เริ่มต้นอดอาหารตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 2564 ขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าทุบรถควบคุมผู้ต้องหาหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 30 ต.ค. 2563 

ณัฐนนท์เริ่มต้นอดอาหารในวันแรกของการถูกแยกไปคุมขังในห้องขังเดี่ยว หลังได้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยณัฐนนท์กล่าวว่า ตนอดอาหารขณะนั้นร่วมกับ “เพนกวิน” พริษฐ์  ตามที่เคยได้ตกลงกันไว้เมื่อครั้งได้เจอกันในเรือนจำก่อนหน้านั้น และเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

ตลอดการอดอาหารมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ แพทย์ และพยาบาลร้องขอให้ณัฐนนท์ยุติการอดอาหารและรับประทานอาหารอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ ในคดีเดียวกันได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว เขาจึงมีความหวังว่าตนเองน่าจะได้ประกันในเร็ววัน ณัฐชนนท์จึงยุติการอดอาหาร ซึ่งคาดว่าเขาน่าจะอดอาหารรวมทั้งสิ้นประมาณ 22 วัน ในวันที่ 15 พ.ค. 2564 (วันยุติโดยคาดคะเน) จากนั้นไม่นานณัฐนนท์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 18 พ.ค. 2564

รูปแบบการอดอาหาร – ดื่มเฉพาะน้ำเปล่า

ผลข้างเคียง – มีอาการปวดท้อง อ่อนเพลีย 

8. แซม ซาแมท : อดอาหารนาน 2 ครั้ง รวม 15 วัน (17-22 มิ.ย. และ 15-23 ส.ค. 2564 )

ภาพจาก ประชาไท

“แซม สาแมท” นักกิจกรรมไร้สัญชาติ สายเลือดไทย-กัมพูชา วัย 21 ปี อดอาหารระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้ว 2 ครั้งด้วยกัน โดยเขาเริ่มต้นอดอาหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2564 ระหว่างถูกคุมขังครั้งแรกในชีวิต ซึ่งเป็นการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำท่ายืนปัสสาวะอยู่บนตู้คอนเทนเนอร์ ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา 

แซมอดอาหารเพื่อต้องการประท้วงต่อเรือนจำเกี่ยวกับอาหารของผู้ต้องขังที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถรับประทานได้ และเพื่อทวงสิทธิการรักษาพยาบาลให้กับตนเองและผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำขณะนั้น 

ต่อมาแซมได้ยุติการอดอาหารในวันที่ 22 มิ.ย. 2564 เพราะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งว่าจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในเร็วๆ นี้ ทำให้เขาอดอาหารครั้งแรกเป็นเวลารวม 6 วัน จากนั้น เขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 

แซมเริ่มต้นอดอาหารอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ระหว่างถูกคุมขังครั้งที่ 2 ในชีวิตในคดี #ม็อบ2สิงหา64 หน้า บก.ตชด. ภาค 1 อยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิตและถูกย้ายไปรักษาโควิดที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ แซมอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว จนถึงวันที่ 23 พ.ค. 2564 ก่อนวันที่ 26 ส.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว รวมระยะเวลาในครั้งที่ 2 คือ 9 วัน

รูปแบบการอดอาหาร – การอดอาหารครั้งแรกได้ดื่มเฉพาะน้ำเปล่าจากก็อก เพราะไม่สามารถซื้อน้ำเปล่า นม และเครื่องดื่มอื่นๆ จากร้านค้าของเรือนจำได้ และญาติก็ไม่สามารถฝากของให้หรือเข้าเยี่ยมได้ ด้านการอดอาหารครั้งที่ 2 เขาดื่มน้ำเปล่า นม และกินลูกอมเท่านั้น 

ผลข้างเคียง – มีอาการอ่อนเพลีย ไอเป็นเลือด อ้วกเกือบตลอด มีไข้ขึ้นสูง คาดว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการติดเชื้อโควิด-19 ในขณะนั้น การอดอาหารทั้ง 2 ครั้งยังส่งผลต่อเนื่องระยะยาวมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กินอาหารได้น้อยลงเหลือเพียงวันละ 1 มื้อ มีภาวะอาหารย่อยยาก มักมีปวดท้องและจุกเสียดเมื่อรับประทานอาหารมากเกินไป

9. “ฮิวโก้” สิริชัย : อดอาหารนาน 9 วัน (15-23 ส.ค. 2564)

“ฮิวโก้” สิริชัย นาถึง นักศึกษาและอดีตสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เริ่มต้นอดอาหารเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ขณะถูกคุมขังระหว่างถูกฝากขังในชั้นสอบสวน ในคดีชุมนุมหน้า บก.ตชด. ภาค 1 อยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิตและย้ายไปรักษาโควิดที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จากการที่ศาลจังหวัดธัญบุรีไม่ให้ประกันตัว เขาให้เหตุผลในการอดอาหารครั้งนั้นว่า “ตนเองไม่ใช่นักโทษ จึงจะไม่กินข้าวของคุก” และเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

สิริชัยยุติการอดอาหาร เนื่องจากได้รับจดหมายจากเพื่อนและคนใกล้ชิดนอกเรือนจำเกี่ยวกับการขอร้องให้ยุติการอาหารและให้ดูแลสุขภาพเพื่อให้มีชีวิตอยู่สู้ต่อไป สิริชัยจึงยุติการอดอาหารในวันที่ 23 ส.ค. 2564

รูปแบบการอดอาหาร – ดื่มน้ำและเครื่องดื่มเกลือแร่

ผลข้างเคียง – มีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย 

10. “ตี้” วรรณวลี : อดอาหารนาน 5 วัน (3-7 พ.ค. 2564)

ภาพจาก แนวหน้า

“ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา นักกิจกรรม วัย 22 ปี เริ่มต้นอดอาหารวันแรกเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564 ขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีตามมาตรา 112 จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา63 อยู่ที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรี วรรณวลีตั้งใจอดอาหารเพื่อเป็นการอารยะขัดขืนและเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวร่วมกับ “เพนกวิน” พริษฐ์ และ “รุ้ง” ปนัสยา รวมถึงผู้ต้องขังทางการเมืองคนอื่นๆ ที่ศาลไม่ให้ประกันและกำลังอดอาหารอยู่ในขณะนั้น 

ระหว่างการอดอาหาร เธอได้รับการตรวจร่างกายเบื้องต้นจากพยาบาลของเรือนจำทุกวัน โดยผลตรวจพบว่า ค่าน้ำตาลในเลือดของเธออยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มอดอาหาร วรรณวลีเล่าว่ามีครั้งหนึ่งพยาบาลผู้ตรวจร่างกายของเธอประจำถึงกับ “ร้องไห้” เพื่อร้องขอให้ยุติการอดอาหารและกินข้าว เพราะค่าน้ำตาลในเลือดของเธออยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าปกติมากจน “เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต” ได้ 

    ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 ศาลอาญาธนบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว วรรณวลีจึงยุติการอดอาหารในช่วงเช้าของวันดังกล่าว ทำให้เธออดอาหารเป็นระยะเวลาทั้งหมด 5 วัน  

รูปแบบการอดอาหาร – 3 วันแรกดื่มเฉพาะน้ำเปล่าเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นดื่มนม นมเปรี้ยว และเครื่องดื่มเกลือแร่ร่วมด้วย 

ผลข้างเคียง – ใน 1-2 วันแรกของการอดอาหารมีอาการปวดท้องในลักษณะปวดบิด ปวดแสบ หลังจากนั้นมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง หน้ามืด หลังเธอยุติการอดอาหารและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาแล้วในช่วงแรกเธอมีอาการไม่อยากอาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง และมีภาวะอาหารย่อยยาก เมื่อผ่านไป 1-2 สัปดาห์จึงกลับมาเป็นปกติ

“หนูต้องการอดข้าวเป็นเพื่อนเพนกวิน และเพื่อเป็นการอารยะขัดขืน ถ้าเราสละชีวิตแล้วสามารถเปลี่ยนตุลาการ เปลี่ยนประเทศ ไม่ให้มีคดีชนคนแบบกระทิงแดง หรือคดีเสือดำ หนูว่าคุ้ม เพราะเรามีคนตั้ง 70 ล้านคน ได้ประโยชน์ แต่ถ้าสู้แล้วไม่เปลี่ยน ก็จะมีเด็กรุ่นต่อๆ ไปที่ได้เห็น ได้เป็นตัวอย่างน้องๆ ให้ลุกขึ้นสู้…”

“ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา

3 พ.ค. 2564

11. “ตะวัน” ทานตะวัน : อดอาหารตั้งแต่ 20 เม.ย. 2565 ถึงปัจจุบัน (อย่างน้อย 10 วัน)

ภาพจาก ประชาไท

“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมอิสระ วัย 20 ปี เริ่มต้นอดอาหารตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 20 เม.ย. 2565 ซึ่งเป็นวันแรกของการถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนประกันเธอในคดีตามมาตรา 112 กรณีไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ

ตะวันอดอาหารโดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวและประท้วงต่อกระบวนการยุติธรรม ประทังชีวิตด้วยการดื่มน้ำเปล่าและนมเท่านั้น ทุกวันเธอเผชิญกับอาการหน้ามืดวันละหลายครั้ง ต้องพกยาดมติดตัวเสมอ และพยายามอยู่นิ่งๆ ไม่ใช้พลังงานในการเคลื่อนไหวร่างกาย

ตะวันยุติการอดอาหารนาน 37 วัน ในช่วงเย็นของวันที่ 26 พ.ค. 2565 เนื่องจากศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยให้อยู่ในเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง และในเย็นวันเดียวกันเธอถูกปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิงกลางและมุ่งหน้าสู่โรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวจากการอดอาหารยาวนานกว่า 1 เดือนเศษ


รูปแบบการอดอาหาร – ดื่มน้ำเปล่า น้ำหวาน และนม


ผลข้างเคียง – ปวดท้อง หน้ามืด อ่อนเพลีย ความดันโลหิตต่ำ มีเลือดออกตามไรฟัน แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากสาเหตุขาดวิตามินซีและสารอาหารเป็นเวลานาน น้ำหนักตัวลดลงไปมากกว่า 4 กิโลกรัม หลังยุติการอดอาหารและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกจากเรือนจำแล้ว เธอยังคงเผชิญอาการท้องอืด อาหารย่อยยาก ปวดท้อง ทานอาหารได้น้อยลง เป็นต้น

12. “เก็ท” โสภณ : อดอาหาร 20 วัน (5-24 พ.ค. 2565) 

“เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง บัณฑิตคณะรังสีเทคนิคและนักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ วัย 23 ปี เริ่มต้นอดอาหารเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันที่ 4 ของการถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังถูกจับกุมตามหมายจับคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังระหว่างชั้นสอบสวน เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565

โสภณอดอาหารโดยมีจุดประสงค์เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองว่าการปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 112 และเป็นการแสดงออกเพื่อประท้วงศาลที่ไม่ให้สิทธิในการประกันตัว 

โสภณตัดสินใจยุติการอดอาหารเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 และเริ่มทานอาหารวันละ 1 มื้อ เพื่อตัดปัญหาความลำบากใจและอึดอัดที่ถูกทั้งผู้คุมและเพื่อนผู้ต้องขังคอยโน้มน้าวและเกลี้ยกล่อมให้ทานอาหารตลอด 20 วันที่ผ่านมา

รูปแบบการอดอาหาร – ดื่มนมกล่องและน้ำหวาน 

ผลข้างเคียง – น้ำหนักลดลงไปประมาณ 5 กิโลกรัม มึนงงอยู่ตลอดเวลา ตาลาย ปวดท้อง บางครั้งมีอาการหน้ามืดขณะอ่านหนังสือและเปลี่ยนอิริยาบถ

13. คิม ธีรวิทย์ ทะลุแก๊ส : อดอาหาร 39 วัน (18 มิ.ย.-26 ก.ค. 2565)

“คิม” ธีรวิทย์ ผู้ชุมนุมทะลุแก๊ส อายุ 41 ปี เริ่มต้นอดอาหารเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 ระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีอันเนื่องจากการชุมนุมบริเวณดินแดง ในวันที่ 11 และ 14 มิ.ย. 2565 โดยธีรวิทย์ถูกศาลอาญาฝากขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 จนถึงปัจจุบัน

ธีรวิทย์เริ่มต้นอดอาหารหลังถูกคุมขังเพียง 1 วัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อทวงความยุติธรรมและเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว รวมถึงเรียกร้องเรื่อง ‘อาหารที่กินได้’ ของเรือนจำเพื่อนักโทษ เดิมทีธีรวิทย์มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง จะต้องกินยาหลังอาหารเพื่อรักษาอาการนี้ แต่เมื่ออดอาหารทำให้ไม่ได้กินยาลดความดันเลย นั่นทำให้เพื่อนผู้ต้องขังกังวลว่าอาการป่วยของเขาจะกำเริบเป็นอย่างมาก 

ตลอดการอดอาหาร ธีรวิทย์ประทังชีวิตเพียงน้ำเปล่าและเครื่องดื่มเกลือแร่เท่านั้น ทำให้ระหว่างนั้นเขาอ่อนเพลียถึงขนาดกับต้องใช้วิธีเคลื่อนตัวด้วยการคลานแทนการเดิน กระทั่งในวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ธีรวิทย์ตรวจพบว่าติดโควิด-19 ในเรือนจำ จึงถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ 

ระหว่างการรักษาโรคโควิด-19 อยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทั้งๆ ที่ยังคงอดอาหารประท้วงอยู่ เขาจำใจจะต้องกินข้าวเพื่อให้ยาฟาวิพิราเวียร์ทำงาน โดยมื้อเช้าและมื้อเย็นเขาจะทานเพียงแค่มื้อละ 3 คำเท่านั้น 

แต่หลังได้รับการรักษาจนหายดีและถูกส่งตัวกลับมาเรือนจำ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. เขากลับมาอดอาหารต่อทันที จนเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 ธีรวิทย์ตัดสินใจยุติการอดอาหารและกลับมาทานอาหารกลางวัน 1 มื้อ เป็นอาหารจำพวกไข่ต้มหรือไข่ดาว แล้วแต่วัน 

เนื่องจากช่วงวันหยุดที่เรือนจำจะอนุญาตให้ผู้ต้องขังเล่นกีฬาฟุตบอลได้ ซึ่งเป็นกีฬาที่ธีรวิทย์ชื่นชอบอย่างมาก ช่วงวันหยุดยาวเขาได้เตะฟุตบอลด้วย แต่รู้สึกว่าร่างกายไม่ไหว ไม่มีแรง หน้าซีด จึงตัดสินใจเริ่มกินอาหารทีละน้อย เพื่อจะได้มีเรี่ยวแรงในการเตะฟุตบอลคลายเครียดและสร้างความสุขขณะที่ถูกคุมขังได้บ้าง หลังผ่านเรื่องเลวร้ายมาพอสมควร

รูปแบบการอดอาหาร – ดื่มน้ำเปล่าและเกลือแร่ ระหว่างรักษาการติดเชื้อโควิด กินข้าว 2 มื้อ เช้า-เย็น มื้อละ 3 คำเท่านั้นเพื่อให้ยาฟาวิพิราเวียร์ทำงาน

ผลข้างเคียง – มีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก หน้าซีด ซูบผอม ตั้งแต่ถูกคุมขังจนถึงระหว่างอดอาหารประท้วงน้ำหนักตัวลดลงไปมากกว่า 11 กิโลกรัม 

14-15 บุ้ง-ใบปอ อดอาหารมาตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 2565 จนถึงปัจจุบัน

“บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี และ “ใบปอ” (สงวนชื่อสกุล) อายุ 20 ปี 2 นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง เริ่มต้นอดอาหารเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 หลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 3 ขณะถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง จากการถูกเพิกถอนประกันในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือนร้อนที่ได้รับจากขบวนเสด็จ และถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน

ระหว่างทำการอดอาหารอาการของทั้งสองคนแย่ลงเรื่อยๆ บุ้งมีภาวะโพแทสเซียมต่ำ เคยถูกส่งตัวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลมาแล้วถึง 2 ครั้ง ปัจจุบันมีอาการกระพุ้งแก้มลอก ปวดเมื่อยตามข้อ กล้ามเนื้อ อ่อนเพลียเพลีย หอบ หายใจแรงถี่ เนื้อตัวซูบผอมลงชัดเจน ไม่มีสติรับรู้ตอบสนอง และไม่สามารถสื่อสารได้แล้ว 

ด้านใบปอ อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ฟุบหลับเป็นระยะ มีอาการท้องอืด ปวดท้อง คล้ายมีลมในช่องท้อง ตัวซีด สื่อสารโต้ตอบได้น้อยลง ไม่ตอบโต้เลยในบางครั้ง 

รูปแบบการอดอาหาร ปัจจุบันทั้งสองทานเพียงน้ำเปล่าและเกลือแร่เท่านั้น

มวลชนนอกเรือนจำ อย่างน้อย 7 ราย ร่วมแคมเปญ #อดพร้อมเพื่อน ควบคู่ “ยืน หยุด ขัง” หน้าศาอาญา ร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมือง 

(ส่วนนี้เฉพาะเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูล อาจมีผู้ร่วมกิจกรรมการอดอาหารเรียกร้องอยู่ภายนอกเรือนจำคนอื่นๆ อีก)

1. “บาส” มงคล : อดอาหารนาน 3 วัน (12-14 เม.ย. 2564)

ภาพจาก ประชาไท

“บาส” มงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมจากจังหวัดเชียงราย วัย 28 ปี เริ่มต้นการอดอาหารตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2564 ที่ด้านหน้าศาลอาญา ควบคู่กับการทำกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองในขณะนั้น

วันที่ 14 เม.ย. 2564 หลังมงคลทำการอดอาหารเข้าสู่วันที่ 3 ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าจับกุมตัวมงคล โดยมีการแสดงหมายจับคดีมาตรา 112 ทำให้เขาถูกควบคุมตัวไปยังจังหวัดเชียงราย เขาจึงต้องยุติการอดอาหารในวันดังกล่าว

รูปแบบการอดอาหาร – ดื่มน้ำเปล่า นม เครื่องดื่มเกลือแร่ 

ผลข้างเคียง – มีอาการสับสนและมึนงงเล็กน้อย ไม่มีอาการปวดท้องหรืออ่อนเพลีย เนื่องจากก่อนจะเดินทางมาทำกิจกรรมอดอาหาร ได้เตรียมตัวทดลองอดอาหารนาน 7 วัน เพื่อปรับสภาพร่างกายไว้ก่อนแล้ว โดยการดื่มเฉพาะน้ำเปล่าอย่างเดียว

2. “สมณะดาวดิน” : อดอาหารนาน 8 วัน (14-21 เม.ย. 2564) 

ภาพจาก ประชาไท

“สมณะดาวดิน” อดีตสมณะชาวสันติอโศก หรือดาวดิน ชาวหินฟ้า อายุ 58 ปี เริ่มต้นอดอาหารที่บริเวณหน้าศาลอาญา ต่อจาก “บาส” มงคล ที่ถูกจับกุมไปดำเนินคดีมาตรา 112

สมณะดาวดินเริ่มต้นการอดอาหารตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. 2564 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองในขณะนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 เขาถูกตำรวจ สน.พหลโยธิน และเจ้าหน้าที่สำนักงานพุทธศาสนา จับกุมในข้อหา “แต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์” และถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ก่อนได้รับการอนุญาตประกันตัวด้วยเงินสด 9,000 บาท และศาลแขวงพระนครเหนือได้ให้ประกันตัวพร้อมวางเงื่อนไข “ห้ามอดอาหารประท้วงหน้าศาลอาญา” หรือกระทำผิดซ้ำอีก ทำให้สมณะดาวดินยุติการอดอาหารในวันดังกล่าว

รูปแบบการอดอาหาร – ดื่มน้ำเปล่าและเครื่องดื่มเกลือแร่

ผลข้างเคียง – อ่อนเพลียอย่างรุนแรง มึนงง ไม่สดชื่น ปวดแสบท้อง โดยเฉพาะช่วง 3-4 วันแรกของการอดอาหาร

3. “ป้าเป้า” วรวรรณ : อดอาหารนาน 8 วัน (22-29 เม.ย. 2564)

ภาพจาก มติชนออนไลน์

“ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อึ้ง นักกิจกรรม วัย 68 ปี ประกาศอดอาหารต่อจากสมณะดาวดิน ในแคมเปญ อดพร้อมเพื่อน ตั้งแต่คืนวันที่ 22 เม.ย. 2564 โดยนั่งอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองขณะนั้น อยู่ที่บริเวณทางออกประตู 9 กับประตู 10 หน้าสถานีบริการน้ำมันข้างศาลอาญา รัชดาฯ ควบคู่กับการทำกิจกรรมยืนหยุดขัง

สุดท้ายป้าเป้าต้องยุติการอดอาหารในวันที่ 30 เม.ย. 2564 เนื่องจากมีไข้ขึ้นสูง มีอาการไอ และเจ็บคออย่างรุนแรง จึงต้องจำใจรับประทานอาหารเพื่อกินยาหลังอาหารในการรักษาอาการเจ็บป่วยดังกล่าว 

รูปแบบการอดอาหาร – ดื่มน้ำเปล่าและนมวัว

ผลข้างเคียง – มีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อยในช่วงแรก และอยู่ตัวหลังจากนั้น คาดว่าน่าจะเป็นเพราะปกติเธอรับประทานอาหารน้อยอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านั้นเธอมักจะทานอาหารเฉลี่ยเพียงวันละมื้อเท่านั้น

4. “เลิศศักดิ์” : อดอาหารนาน 11 วัน (26 เม.ย. – 6 พ.ค. 2564)

 เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ประกาศอาหารเพื่อรับไม้ต่อจากสมณะดาวดินเช่นเดียวกับป้าเป้า โดยเริ่มต้นอดอาหารตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 26 เม.ย. 2564 โดยนั่งอยู่ที่ประตูทางเข้าศาลอาญา เพื่อต้องการให้ช่วงเวลาที่เขาอดอาหารเป็นเสมือนภาพฉายถึงความทุกข์ทรมานจากการไม่ได้รับสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังในเรือนจำที่กำลังอดอาหารอยู่ ให้คนข้างนอกได้รับรู้ข้อเท็จจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเพื่อไม่ให้การอดอาหารของคนข้างในคุกถูกโดดเดี่ยวและทอดทิ้ง

เลิศศักดิ์ได้ยุติการอดอาหารลงในวันที่ 6 พ.ค. 2564 เนื่องจากคิดว่าน่าจะถึงจุดที่ร่างกายแบกรับความทรมานจากการอดอาหารอีกต่อไปไม่ไหวแล้ว โดยก่อนหน้าจะยุติการกระทำดังกล่าว เขาได้เจรจาให้ “ซัน ทะลุฟ้า” มารับไม้ต่อเพื่ออดอาหารในแคมเปญ “อดพร้อมเพื่อน” ต่อไป

รูปแบบการอดอาหาร – ดื่มน้ำเปล่า เครื่องดื่มเกลือแร่ โปรตีน และเวย์โปรตีนเชค 

ผลข้างเคียง – อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และมีอาการแสบท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวันที่ 6 ของการอดอาหาร เลิศศักดิ์บรรเทาอาการดังกล่าวด้วยการกินยาประเภทเคลือบกระเพาะ  

5. พัชณีย์ คำหนัก : อดอาหารนาน 5 วัน (2-6 พ.ค. 2564) 

ภาพจาก ประชาไท

พัชณีย์ คำหนัก นักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน วัย 45 ปี เริ่มต้นอาหารตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 2 พ.ค. 2564 ไปจนถึงวันที่ 6 พ.ค. 2564 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิการให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น ในแคมเปญ “อดพร้อมเพื่อน” เช่นเดียวกับคนอื่นๆ โดยไม่ได้รับไม้ต่อจากใคร 

รูปแบบการอดอาหาร – ดื่มน้ำเปล่า โปรตีนเช็ค เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำหวานต่างๆ เช่น ชาเย็น ชาเขียว

ผลข้างเคียง – อ่อนเพลียเล็กน้อย เธอคาดว่าน่าจะเป็นเพราะอ่อนล้าจากแดดมากกว่า เพราะตลอดการทำกิจกรรมต้องปักหลักอยู่ที่บริเวณหน้าศาลอาญา โดยเฉพาะในเวลากลางวันมีแดดแรงและอากาศค่อนข้างร้อน อบอ้าว

6. “ซัน” ทะลุฟ้า : อดอาหารนาน 6 วัน (6-12 พ.ค. 2564) 

ณัฐพล โชคสวัสดิ์ หรือ “ซัน ทะลุฟ้า” วัย 23 ปี รับไม้ต่ออดอาหารจากเลิศศักดิ์และพัชณีย์ ในแคมเปญ “อดพร้อมเพื่อน” ที่บริเวณหน้าศาลอาญา ณัฐพลเริ่มต้นอดอาหารตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค. 2564 ด้วยความตั้งใจต้องการเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองในขณะนั้น และเพื่อฉายภาพความทรมานจากการอดอาหารแทนนักกิจกรรมที่กำลังอดอาหารอยู่ในเรือนจำให้ประชาชนข้างนอกได้รับรู้เช่นเดียวกับเลิศศักดิ์

ต่อมาในเช้าวันที่ 12 พ.ค. 2564 ณัฐพลพบว่าตนเองมีเสมหะ “ปนเลือด” ขณะกำลังล้างหน้าแปรงฟัน จึงได้เข้ารับการตรวจเบื้องต้นกับหน่วยพยาบาลอาสาบริเวณหน้าศาลอาญา พบว่าเขามีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ เขาจึงถูกส่งตัวไปตรวจดูอาการอย่างละเอียดที่โรงพยาบาล ณัฐพลจึงต้องยุติการอดอาหารในวันดังกล่าว โดยแพทย์วินิจฉัยว่า มีแผลในลำคอขนาดเล็ก 1 จุด คาดว่าน่าจะเกิดจากการสูดฝุ่นและควันเข้าไปในปริมาณมาก เพราะตลอดการทำกิจกรรมอดอาหารและเรียกร้องสิทธิในการประกันนานร่วมสัปดาห์ เขาต้องนั่งอยู่บริเวณป้ายจุดจอดรถเมล์ด้านหน้าศาลอาญา ซึ่งเต็มไปด้วยควันจากท่อไอเสียและฝุ่นละออง 

รูปแบบการอดอาหาร – ดื่มน้ำเปล่า เครื่องดื่มเกลือแร่ หยุดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดขณะอดอาหารร่วมด้วย 

ผลข้างเคียง – ระหว่างอดอาหารมีอาการอ่อนเพลีย ความสามารถในการควบคุมร่างกายลดน้อยลง มึนงง ตอบสนองช้าลง หลังยุติการอดอาหารพบว่าน้ำหนักตัวลดลงประมาณ 8 กิโลกรัม ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นณัฐพลมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง ซึ่งแพทย์ไม่แนะนำให้ทำการอดอาหาร ทำให้ระหว่างและหลังการอดอาหารเขาได้รับผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าคนอื่นๆ    

7“เม” เมธาวี สิทธิจิรวัฒนกุล

ภาพจาก BBC ไทย

เมธาวี สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นพี่สาวของรุ้ง ปนัสยา หลังรุ้งถูกคุมขัง และเริ่มอดอาหารเป็นเพื่อนเพนกวิน จากนั้นเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 เมธาวี ได้ประกาศอดอาหารเป็นเพื่อนน้องสาว เพื่อร่วมรับรู้ความรู้สึกและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับรุ้ง โดย 4 วันแรก เธอได้เริ่มทานอาหารวันละมื้อเพื่อปรับตัว จนเข้าวันที่สี่ จึงเริ่มกินแต่น้ำเปล่า น้ำหวาน และนมถั่วเหลือง ไม่รับประทานอาหารอีก

“พอน้องรุ้งตัดสินใจอดอาหาร เราไม่รู้ว่าวันไหนน้องเขาจะไหว หรือไม่ไหว จะมีอาการยังไง ไปถึงขีดจำกัดแค่ไหน เราเลยตัดสินใจว่า ถ้าน้องอด พี่เมย์ก็จะอดด้วย เพื่อจะดูว่าสภาพร่างกายเป็นอย่างไร ปวดท้องไหม อ่อนเพลียหรือเปล่า เราจะได้รับรู้ว่าน้องยังไหวนะ มีแรงอยู่ หรือวันนี้เริ่มเวียนหัว” เมธาวีให้สัมภาษณ์กับ The Matter

X