“อดอาหาร-อดนอน-อารยะขัดขืน” การประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมลุกลามในเรือนจำชาย

วันนี้ (7 ก.พ. 2566) ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ “เก็ท” โสภณ, “ต้อม” จตุพล, “แบงค์” ณัฐพล และพรพจน์ แจ้งกระจ่าง ถูกเบิกตัวให้มาเข้าพบกับทนายความพร้อมกัน วันนี้เราคุยกันผ่านอินเตอร์คอมเพื่อให้สามารถพูดคุยพร้อมกันหลายคนได้ โดยไม่ต้องยกหูโทรศัพท์คุยทีละคน วันนี้เลยดูครึกครื้นกว่าปกติ และทุกคนแย่งกันพูดเสียงดังเจี๊ยวจ๊าวมาก

เก็ทบอกว่า วันนี้เป็นวันที่ 30 ของการถูกคุมขังแล้ว นอกจากเก็ทที่เริ่มต้นประท้วงด้วยการอดนอนแล้ว ยังมีต้อมและแบงค์ร่วมประท้วงด้วยอีกสองคน 

ต้อมเล่าว่า ตอนนี้เขาเริ่มมีอาการหูแว่ว และเริ่มเห็นภาพหลอนแล้ว วันนี้ต้อมพยายามปลุกตัวเองให้ตื่นตัวด้วยการดื่มกาแฟไปถึง 4 แก้ว และยังคิดว่าจะกินเพิ่มอีก 

ส่วนแบงค์เล่าว่าเขาต้องกินยารักษาเกี่ยวกับจิตเวชที่แพทย์จ่ายให้ เพื่อช่วยควบคุมอารมณ์ให้คงที่ ซึ่งเป็นยาที่กินแล้วจะรู้สึกง่วง เขาก็จะฝืนตัวเองไม่หลับตานอนเพื่อประท้วงอย่างที่ตั้งใจต่อไป ส่วน “เก่ง” พลพล และ“อาร์ม” วัชรพล เตรียมพร้อมที่จะอยู่ดูแลเพื่อนๆ ตลอดการยืนหยัดเพื่อประท้วงครั้งนี้

การประท้วงขยายวงในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งอดอาหาร-ไม่กินยาประจำตัว-ไม่ร่วมกิจกรรม  

เก็ทยังเล่าอีกว่า ตอนนี้มีการแสดงออกในลักษณะประท้วงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ต้องขังทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นผู้ต้องขังทุกคนในทุกคดีที่ตระหนักได้ว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัฐ จากกระบวนการยุติธรรม 

เก็ทจำแนกการประท้วงที่เกิดขึ้นในเรือนจำเป็น 3 รูปแบบ 

1. ประท้วงด้วย “การอดอาหาร” 

ทุกคนเล่าว่า ต้องยอมรับว่าการอดอาหารของ “สิทธิโชค” และข้อเรียกร้องของเขามีอิทธิพลต่อผู้ต้องขังคนอื่นๆ ในเรือนจำเป็นอย่างมาก 

พรพจน์เสริมขึ้นว่า “ต๊ะ” คทาธร เองก็เริ่มอดอาหารตั้งแต่วันนี้ด้วยเช่นกัน เก็ทพูดต่อว่าผู้ต้องขังคดีทั่วไปก็เริ่มอดอาหารประท้วงด้วยหลายคนแล้ว แต่ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดว่ามีใครบ้าง เพราะมีหลายคน และกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งเรือนจำ 

เท่าที่เก็ททราบส่วนใหญ่ทุกคนอดอาหารประท้วงแบบไม่ทั้งหมด (Non Total Hunger Strike) กล่าวคือ ปฏิเสธการรับประทานอาหาร แต่ยังดื่มน้ำและนมประทังชีวิต

“มีผู้ต้องขังคนหนึ่งที่อายุมากแล้ว เขานับถือศาสนาคริสต์ ก่อนจะเริ่มอดอาหารเขาก็อธิษฐานกับพระเจ้าว่า ‘ขอให้สิ่งที่เขาทำ ช่วยให้ทุกคนได้ประกันตัว หรืออย่างน้อยๆ ขอแค่น้องที่เขารู้จักอย่างผู้ต้องขังทางการเมืองได้ประกันก็ได้’ ตอนนี้พี่คนนั้นอดอาหารได้ 3 วันแล้ว …”

2. ประท้วงด้วย “การไม่ทานยาประจำตัว” 

ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่อยากกิน แต่มีทั้งคนที่ยาไม่ถึงหรือได้รับการจ่ายยาไม่ถูกกับโรคที่เป็น พวกเขาก็เลยจะแสดงออกด้วยการไม่กินยาไปเลย เพื่อประท้วงการรักษาพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐานด้วย

3. ประท้วงด้วย “การไม่เข้าร่วมกิจกรรม” 

วิธีนี้ทุกคนจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวันในเรือนจำ เช่น ไม่ท่องค่านิยม 12 ประการ ไม่ท่องคำปฏิญาณตนในเวลาก่อนกินข้าว เนื่องจากมีท่อนเนื้อหาที่ต้องพูดในทำนองว่า “เพราะทำผิดมาจึงต้องถูกขังอยู่ในนี้” แต่ตอนนี้พวกเขาไม่ยินยอมที่จะท่องอีกต่อไปแล้ว เพราะพวกเขาหลายคนรู้แล้วว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด สิ่งที่ทำให้เขามาอยู่ในนี้ คือ “ความอยุติธรรมจากศาล”

เก็ทประกาศจุดยืนประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจากทั้ง “ศาล-ราชทัณฑ์” 

ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน โดยมีเก็ทเป็นคนพูดหลักว่า “การประท้วงที่เกิดขึ้นทั้งหมด คู่กรณีของเรา คือ ‘ศาล’ และเราไม่ได้ประท้วงเพื่อสิทธิของตัวเองอย่างเดียว แต่พวกเราจะร่วมกันประท้วงเพื่อสิทธิของผู้ต้องขังทุกคน

“คู่กรณีทางตรงของเรา คือ ‘ศาล’ แต่ทางอ้อม คือ ‘ราชทัณฑ์’ ผมอยากให้ราชทัณฑ์มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่านี้ เคยมีกรณีคนป่วยล้มไป แต่ผู้คุมมาไม่ทันจนเขาเกือบแย่ 

“บางคนก็เสียชีวิตไปเลย ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ แบงค์เห็นคนตายต่อหน้าต่อตาถึง 2 คนแล้ว จริงๆ ผู้คุมมาเร็ว เขาเห็นเขาก็มาเลย แต่ที่นานเพราะต้องรอขอกุญแจเพื่อมาเปิดห้องขัง ส่งเรื่องไปนู่นนี่นั่นอีก เลยมาช้า 

“เรือนจำต้องปรับเรื่องนี้ เพราะตอนนี้เราไม่รู้แล้วว่าใครประท้วงหรือไม่ประท้วงบ้าง ถ้าประท้วง ประท้วงยังไง ทุกคนดูเหมือนกันหมด เรือนจำต้องคอยสอดส่องดีๆ”

“พวกเขาสู้กันมาก แม้ว่าจะไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ไม่มีทนายมาเยี่ยม แต่เขายังเหลือ ‘ร่างกาย’ ที่จะใช้ดิ้นรนเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับตัวเอง 

“พวกผมแค่ทำหน้าที่ช่วยแชร์ไอเดีย ไม่ได้บังคับให้ผู้ต้องขังคนอื่นทำตาม พวกเขาเลือกที่จะแสดงออกด้วยตัวเอง ซึ่งผมก็ไม่รู้นะว่าพวกเขาเริ่มกันตั้งแต่เมื่อไหร่แล้ว อาจจะทำกันมาสักพักแล้วก็ได้ แต่พวกเราเพิ่งจะรู้”

“ผมขอย้ำว่า พวกเราไม่ได้มองว่าราชทัณฑ์เป็นศัตรู คู่กรณีโดยตรงของเราคือ ‘ศาล’ ดังนั้น หากพวกเราเป็นอะไรไป ราชทัณฑ์ก็แค่ส่งไปโรงพยาบาลและรายงานตามความจริงว่าพวกเราทำเพราะเหตุใด ไม่ต้องออกมารับหน้าแทนศาล” เก็ทพูดด้วยแววตาและน้ำเสียงหนักแน่น

“ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้”

พรพจน์พูดเสริมว่า “พวกเราไม่ใช่ผู้ร้าย ผู้ร้ายตัวจริงคือผู้ที่ไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน” 

“Freedom is Not Free ไม่มีอิสรภาพใดได้มาโดยไม่ต่อสู้”

“ถ้าพรุ่งนี้ พี่เบิกพวกผมมาคุย ก็เบิก ‘เก่ง’ ไม่ก็ ‘อาร์ม’ มาช่วยดูด้วยนะ ผมคิดว่าผลข้างเคียงจากการอดนอนน่าจะเริ่มออกพรุ่งนี้ คือพวกผมน่าจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวหรือพูดไม่ค่อยรู้เรื่องเป็นอาการแรกๆ” เก็ทพูด

เก็ทบอกว่าแบงค์ตั้งใจเดิมพันครั้งนี้สุดตัว เพราะได้ข่าวว่าลูกจะคลอดเดือนหน้า “ผมต้องได้ออกไปเจอหน้าลูก” แบงค์พูดอย่างมุ่งมั่น

“ผมจะหยุดอดนอนก็ต่อเมื่อศาลออกมาแถลงว่าจะรับข้อเรียกร้องของพวกเราไปพิจารณา” เก็ทกล่าว

จากเพื่อนถึงเพื่อน: คำสัญญา ศรัทธา ความหวัง

เก็ทบอกว่าพวกเขาพนันกันไว้ว่า ถ้าเพื่อนๆ ทะลุแก๊สได้ประกันภายในสัปดาห์นี้ วันที่เก็ทได้ออกไปทีหลัง แบงค์กับเพื่อนๆ จะเอาพลุ 112 ดอกมาจุดข้างเรือนจำ และเอาหมูกระทะพร้อมเตามานั่งกินหน้าเรือนจำเพื่อต้อนรับเก็ทด้วย 

แบงค์เสริมว่า “จะซื้อพลุชุดแพงๆ สัก 3,000-4,000 เลย” แต่ถ้าอาทิตย์นี้ไม่ได้ออก เก็ทจะต้องเลี้ยงสลัดแก๊งทะลุแก๊สทุกคน คนละกล่อง”

“ตอนแรกแบงค์จะเอาคนละ 2 กล่อง แต่ผมบอกว่าเงินที่เราใช้จ่ายในเรือนจำเป็นเงินพ่อแม่กับเงินกองทุนที่ประชาชนส่งมาให้นะ ต้องใช้จ่ายประหยัดหน่อย เกรงใจพวกเขา ก็เลยตกลงกันที่กล่องเดียว” เก็ทบอก

เก็ทบอกอีกว่า “ถ้าผมน็อคไปแล้วฟื้นขึ้นมายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมก็จะอดนอนต่อไปเรื่อยๆ และจะมีการยกระดับการประท้วงในเรือนจำขึ้นอีกแน่นอน”

เก็ทฝากบอกตะวันกับแบมว่า “เวลาผมบอกว่า ‘เราเป็นนักเคลื่อนไหว’ ตะวันกับแบมก็จะขยับตัวดุ๊กดิ๊ก บอกว่า ‘เนี่ย, เราเป็นนักเคลื่อนไหวจริงๆ’” 

“ตอนนี้พอเราอดนอนแล้วรู้สึกว่าหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ผมก็อยากบอกตะวันกับแบมว่า ‘นี่เราก็กำลังเคลื่อนไหวอยู่เหมือนกัน’…” 

สุดท้ายเก็ทขอฝากบอกพ่อแม่ว่า “อย่าอดนอนตามผม ถ้าผมป่วย ผมอยากให้พ่อแม่มาเยี่ยมหรือส่งกำลังใจมา ถ้าพ่อแม่ป่วยไปอีกคน ใครจะส่งกำลังใจให้ผม 

“คิดซะว่าเหมือนผมกำลังแข่งกีฬาอยู่ ถ้าทุกคนลงมาแข่งเหมือนกัน ใครจะคอยเชียร์ผม พ่อแม่รักษาสุขภาพด้วยนะครับ…”

X