เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 ทนายความได้เดินทางเข้าเยี่ยม “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผ่านไป 29 วันแล้วที่เขาถูกคุมขังหลังจากถูกเพิกถอนประกันในคดี มาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัว จากการเข้าร่วมกิจกรรมประท้วงระหว่างการประชุม APEC2022 เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565
ล่าสุดเก็ทประกาศจะเริ่มต้นประท้วงด้วย “การอดนอน” ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของเช้ามืดวันที่ 7 ก.พ. 2566 เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของตะวัน แบม และสิทธิโชค ซึ่งกำลังอดอาหารและน้ำประท้วงเพื่อยืนหยัดตามข้อเรียกร้องของตัวเองอยู่ในขณะนี้ โดยเก็ทยังต้องการเรียกร้องให้ศาลสร้างหลักประกันเพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่มีผู้ต้องขังในคดีการเมืองคนใดถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมอีกในอนาคต
_______________________
เหยื่อความอยุติธรรม แนวร่วมของเก็ทและผองเพื่อน
เก็ทเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ถูกคุมขังครั้งนี้ เขาและเพื่อนๆ ผู้ต้องขังทะลุแก๊ส เช่น “ต้อม” จตุพล, “แบงค์” ณัฐพล, และ “เก่ง” พลพล เป็นต้น จะช่วยกันจัดวงพูดคุยเพื่อให้ผู้ต้องขังในเรือนจำได้มาบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ถูกกดขี่จากกระบวนการยุติธรรม เพื่อถอดบทเรียนและนำไปต่อยอดกับการต่อสู้และเคลื่อนไหวในเรือนจำ
จนตอนนี้เขาเอ่ยปากว่า มีแนวร่วมคนใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากพอสมควร โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาการประท้วงเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมลุกยืนขึ้นและนั่งลงตอนเรือนจำเปิดเพลง, การวิ่งในห้องขังหรือรอบสนามหญ้า จำนวน 112 ครั้ง หรือการชวนพูดคุย ถกเถียง เกี่ยวกับเรื่องสิทธิของผู้ต้องขังในกระบวนการยุติธรรม และปรัชญาทางการเมือง เป็นต้น
ล่าสุดเก็ทและเพื่อนๆ ได้ร่วมกันคิดทำแคมเปญเขียนจดหมายสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของ “ตะวัน-แบม” และข้อเรียกร้องของ “สิทธิโชค” โดยเชิญชวนให้ผู้ต้องขังในเรือนจำทุกคนเขียนจดหมายจ่าหน้าซองถึง Amnesty Thailand ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางนำเสนอและถ่ายทอดเสียงของผู้ต้องขังทุกคนต่อสังคมต่อไป เบื้องต้นเก็ทและเพื่อนๆ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากจะให้จดหมายสนับสนุนข้อเรียกร้องเหล่านี้ถูกส่งออกไปจนครบ 100 ฉบับให้จนได้
เก็ทเล่าถึงแคมเปญล่าสุดนี้ว่า “ตอนแรกก็ไม่ค่อยมีคนกล้าเขียนเท่าไหร่ เพราะพวกเขากลัวจะไม่ปลอดภัย อีกอย่างคือหลายคนไม่เข้าใจว่าทำไปแล้วมันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ผมกับเพื่อนๆ เลยช่วยกันอธิบายว่า แต่ก่อนเรือนจำแย่กว่านี้มาก ไฟดับบ่อย อาหารก็แย่ กล้องวงจรปิดก็ไม่มี แต่พอพวกเราช่วยกันเรียกร้องกันมากๆ เข้า เรือนจำก็ค่อยๆ ตอบรับและปรับปรุงให้ผู้ต้องขังได้มีความเป็นที่อยู่ดีขึ้นเรื่อยๆ
“การเขียนจดหมายไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าคุณจะได้ออกจากที่นี่โดยทันที แต่อย่างน้อยมันจะเป็นสิ่งยืนยันว่าคุณมีตัวตนอยู่ในคุกแห่งนี้จริงๆ มีคนแบบคุณอยู่จริงๆ
“คนที่อยู่ในเรือนจำมีหลากหลายมาก ทั้งชาวต่างชาติ LGBTQ+ หรือคนที่อายุน้อยกว่าผม ผมถามพวกเขาว่าตอนที่เข้ามาตำรวจได้แจ้งสิทธิ แจ้งข้อหา หรือแจ้งว่าสามารถพบทนายได้มั้ย, ซึ่งไม่มี …
“ทั้งที่มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน พอเขาเข้าไม่ถึงสิทธิเหล่านี้ มันก็ทำให้พวกเขาสู้คดีไม่ได้ ตำรวจอาจจะเอาเอกสารมาให้เซ็น แล้วบอกว่าเซ็นแล้วจะถูกปล่อยตัว แต่จริงๆ อาจจะเป็นเอกสารให้การยินยอมรับสารภาพ เขาคนนั้นก็เลยต้องถูกขัง ไม่ได้สู้คดี คนคุกมันเลยเยอะขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้”
“เมื่อผู้ต้องขังรู้แล้วว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง เขาสามารถสู้อะไรเพื่อตัวเขาเองได้บ้าง เขาก็อยากมาร่วมประท้วงกับเราเยอะขึ้น” เก็ทพูดด้วยแววตาเป็นประกาย
เก็ทพร้อมประท้วงด้วยการ “ไม่นอน”
เก็ทคิดว่าการที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัว “เอก” กับ “ก้อง-อุกฤษฏ์” ในคดีมาตรา 112 เป็นความตั้งใจที่จะลดแรงกดดันของผู้คนที่กำลังโกรธเกรี้ยว อย่างไรก็ตาม เก็ทคิดว่าถึงพวกเขาจะได้ประกันตัวออกไป แต่ศาลก็ไม่ได้มีหลักประกันอะไรเลยว่าพวกเขาจะไม่ต้องกลับเข้ามาอยู่ในคุกอีกเป็นครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3
“ผมยังไม่เห็นท่าทีการตอบรับเลยหลัง ตะวัน แบม และสิทธิโชค อดอาหาร อดน้ำประท้วง พวกเราก็จะยกระดับด้วย ‘การไม่นอน’ ด้วยเช่นกัน อยากย้ำว่าผมไม่ได้ขอความสงสารจากศาล และไม่ได้คิดว่าจะสร้างดราม่าอะไร
“ผมทดลองโดยการลดเวลานอนมาเป็นสัปดาห์แล้ว จาก 8 ชั่วโมง เหลือ 5 ชั่วโมง จนสุดท้ายเหลือ 3 ชั่วโมง ตอนนี้มีอาการเบลอ สมองประมวลผลช้าบ้าง เริ่มรู้สึกกินข้าวไม่ลง ตั้งใจว่าจะอดนอนเต็มรูปแบบตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (7 ก.พ. 2566) ตอน 05.00 น.
“สำหรับผลกระทบระยะสั้น คือ รู้สึกว่าหัวใจจะเต้นแรงขึ้นเรื่อยๆ และเท่าที่ผมทราบ ผลกระทบระยะยาวอาจจะต้องพบจิตแพทย์ เพราะอาจเกิดภาพหลอนได้ ผมพอจะรู้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนเราจะอดนอนได้ไม่เกิน 3 วัน คือประมาณ 72 ชั่วโมง ชั่วโมงที่ 73 ถ้าไม่น็อคหลับไปก็อาจจะช็อกไปได้เลย
“ผมตั้งใจจะอดนอนเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของแบม ตะวัน และสิทธิโชค รวมถึงเพื่อเรียกร้องให้ศาลมีหลักประกันว่าจะไม่เอาเพื่อนเรากลับเข้ามาในเรือนจำอีก
“ต้อม (จตุพล) เริ่มนอนวันละ 4 ชั่วโมงตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ก.พ. 2566) เมื่อคืนก่อนต้อมเพิ่งอ้วกไป เขาบอกว่า ‘จะสู้ก็สู้ด้วยกัน’ แบงค์เองก็บอกว่า ‘ถ้าพี่ทำผมทำด้วย’ แต่พวกเราสัญญากันไว้ว่าจะต้องไม่ตาย เพราะแบงค์จะต้องกลับไปเจอหน้าลูกให้ได้
“ผมจะหยุดอดนอนก็ต่อเมื่อศาลออกมาแถลงว่ารับข้อเรียกร้อง และจะนำไปประชุมต่อ
“ห้ามฉีดยานอนหลับให้ผม โดยเฉพาะยาจิตเวช เพราะผมไม่ไว้ใจเรือนจำ
“ฝากบอกพ่อแม่ด้วยว่า เก็ทสัญญาแล้วว่าจะไม่อดอาหาร แต่เก็ทไม่ได้บอกว่าจะไม่ทำอย่างอื่นนะ พ่อแม่อย่าทำตาม โดยเฉพาะพ่อ ตอนนั้นเก็ทอดข้าว พ่อก็อดตาม เก็ทอยู่ในคุกต้องนอนบนผ้าบางๆ แค่ 3 ผืน พ่อก็นอนตาม ครั้งนี้พ่ออย่าอดนอนตามเก็ทนะครับ
“เราจะต้องชนะเท่านั้น ผมจะไม่ตายหรอก…”