ชวนอ่านคำเบิกความตำรวจจากบันทึกไต่สวนถอนประกัน “เก็ท – ใบปอ” หลังศาลสั่งถอนประกัน – ไม่ให้ประกันต่อ พบผู้ร้องขอเป็นจนท.ศาลยุติธรรมเอง

วันที่ 9 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำสั่งไต่สวนถอนประกันตัวคดีมาตรา 112 ของสองนักกิจกรรม ได้แก่  “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กรณี ปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565  และ “ใบปอ” (สงวนนามชื่อนามสกุล) นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง 2 กรณีจากการ แชร์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ “งบสถาบันกษัตริย์” และ การโพสต์ข้อความเชิญชวนให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านโพลเรื่องการใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ จากเพจ “ทะลุวัง” เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 15 ธ.ค. 2565 ศาลได้เลื่อนการไต่สวนออกไป เนื่องจากฝ่ายจำเลยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ร้องขอถอนประกันตัว และกล่าวหาจากเหตุใด รวมถึงโจทก์มีเอกสารที่อ้างส่งประกอบการไต่สวนเป็นจำนวนมาก ทนายจำเลยจึงขอเลื่อนไปอีกหนึ่งนัด เพื่อเตรียมตัวและยื่นบัญชีระบุพยานเพื่อโต้แย้ง ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนนัดมาเป็นวันที่ 19 ธ.ค. 2565 จึงได้ไต่สวนพยานของฝ่ายโจทก์ และในวันที่ 26 ธ.ค. 2565 จึงนัดไต่สวนจำเลย 2 ปาก ก่อนนัดฟังคำสั่งในวันนี้ ตามลำดับ

อ่านบันทึกไต่สวนจำเลย >>> ศาลนัดฟังคำสั่งถอนประกัน คดี ม.112 “เก็ท-ใบปอ” 9 ม.ค. 66 พร้อมไต่สวน “ตะวัน” ที่ยังไม่ได้รับหมายเรียก 

เวลา 09.20 น. เก็ทและใบปอ พร้อมครอบครัวได้เดินทางมาถึงที่ห้องพิจารณาคดีที่ 912 โดยในวันนี้มีการตั้งจุดตรวจสัมภาระที่บริเวณหน้าห้องพิจารณาคดี เนื่องจากมีประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีและให้กำลังใจจำเลยทั้งสองคนเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งในวันนี้มีนัดไต่สวนถอนประกันตัวในเหตุเดียวกันอีกด้วย

ต่อมาในเวลา 10.00 น. ศาลนั่งพิจารณาคดี โดยในวันนี้มี พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นผู้นั่งบัลลังก์และอ่านคำสั่งด้วยตนเอง ระบุว่า “พิเคราะห์ พยานหลักฐานของโจทก์และรายงานเจ้าหน้าที่แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลเคยอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งสองคน โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา รวมถึงห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจสร้างความวุ่นวายต่อบ้านเมือง

“ศาลเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองคน เข้าร่วมชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 65 จนมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมามีการนำมวลชนมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจำเลยทั้งสองคนไม่ได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงหรือเหตุผลใดในการกระทำของจำเลย การกระทำของจำเลยทั้งสองคนจึงเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขประกันตัวที่ศาลกำหนดไว้”

หลังจากศาลมีคำสั่ง ทั้งสองคนได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว และนำตัวไปยังเรือนจำ โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทั้งสามคนอีกครั้ง โดยขอวางหลักทรัพย์คดีละ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ต่อมาเวลา 16.20 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเก็ทและใบปอ ทั้ง 3 คดี ระบุ “จำเลยมีพฤติการณ์ผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวจนศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว เชื่อว่าหากศาลปล่อยชั่วคราวจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นและกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก รวมทั้งผิดเงื่อนไขที่ศาลจะกำหนดแก่จำเลย กรณีจึงยังไม่มีเหตุให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย ยกคำร้อง”

ลงนามคำสั่งโดย พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งเป็นผู้สั่งถอนประกันตัวเช่นเดียวกัน

ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้เก็ทถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกครั้ง หลังจากถูกคุมขังในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 มาแล้ว 30 วัน ขณะที่ใบปอถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังจากเคยถูกคุมขังในช่วงปี 2565 เป็นระยะเวลา 94 วัน

.

.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนอ่านบันทึกเรื่องราวการไต่สวนถอนประกันของเก็ทและใบปอตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2565 ก่อนศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในวันนี้ 

อัยการออกหนังสือให้ตำรวจสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของใบปอ พบมีเจ้าหน้าที่ศาลอาญา ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมชำนาญงาน เป็นผู้ร้อง – เสนอรายงานต่อผู้พิพากษา

ในบันทึกคำเบิกความมีข้อเท็จจริงปรากฏจากปากของพยานโจทก์ชื่อ พ.ต.ท.สุภัทร เหมจินดา ว่าพยานได้รับหนังสือจากอัยการว่าใบปอกระทำผิดเงื่อนไข ซึ่งมีคำสั่งให้ฝ่ายสืบสวนออกสืบสวนและทำหนังสือรายงานตามเอกสารจากเจ้าหน้าที่ศาล ที่อัยการแนบส่งมาให้พยานด้วย มีใจความสำคัญระบุว่าพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่แผนกปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญาว่า นางสาววรินทร ขอบโคกกรวด ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมชำนาญงาน ได้เสนอรายงานต่อผู้พิพากษาว่าใบปออาจกระทำผิดเงื่อนไขประกันตัวที่ศาลกำหนดไว้

ทั้งนี้ ในการไต่สวนถอนประกันเก็ทและใบปอเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2565  อัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่าในการร้องขอถอนประกัน เหตุเนื่องจากทั้งสองได้เคลื่อนไหวและเข้าร่วมการชุมนุมในระหว่างการประชุม APEC 2022 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 และกระทำผิดเงื่อนไขในคดีมาตรา 112 โดยเก็ท 1 คดี และ ใบปอ 2 คดี ซึ่งทั้งสองคนได้ทำผิดเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ 

  1. เงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้อง
  2. เงื่อนไขห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายต่อบ้านเมือง
  3. เงื่อนไขห้ามกระทำการที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

อัยการได้ขอเบิกตัวพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนและสอบสวนหาข้อเท็จจริงในการกระทำผิดเงื่อนไขประกันตัว 3 คน ขึ้นเบิกความต่อศาล และทนายประสงค์ให้จำเลยทั้งสองขึ้นเบิกความต่อ

อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มการไต่สวนถอนประกันตัวเก็ทกับใบปอ ศาลได้แจ้งว่าตนมีหน้าที่เพียงมาจดบันทึกการไต่สวนและรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะต้องนำเข้าปรึกษากับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาต่อไป

พยานปากที่ 1 — ร.ต.อ.หัตถพล เทพภักดี ในฐานะพนักงานสืบสวนผู้สังเกตการณ์ในวันเกิดเหตุ เบิกความชี้การกระทำผิดของเก็ท แต่ไม่ทราบว่าพื้นที่ทำกิจกรรมไม่ใช่พื้นที่หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่

พยานปากที่ 1 ร.ต.อ.หัตถพล เทพภักดี รองสารวัตรสืบสวน สน.ลุมพินี ขึ้นเบิกความในฐานะพนักงานสืบสวนผู้สังเกตการณ์ในวันเกิดเหตุเกี่ยวกับการกระทำของเก็ท โสภณ

พยานเบิกความว่า ในวันที่ 15 พ.ย. 2565 มีกลุ่มมวลชนนัดจัดกิจกรรมยื่นหนังสือต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา แต่พยานไม่ทราบว่าหนังสือฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาว่าอย่างไรหรือเป็นเรื่องอะไร โดยภายหลังการยื่นหนังสือเสร็จ พยานเบิกความว่าใบปอได้มีการประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนว่า จะจัดกิจกรรมเดินขบวนไปยื่นหนังสือต่อผู้นำโลกที่เข้าร่วมการประชุม APEC 2022 ในวันที่ 17 พ.ย. 2565

ในวันดังกล่าว บริเวณศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จัดเป็นพื้นที่หวงห้ามชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 11 – 19 พ.ย. 2565 พยานพบมวลชนราว 30 คน บริเวณแยกอโศกซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้าม โดยห้ามประชาชนสัญจรตั้งแต่แยกอโศกจนถึงแยกพระราม 4  และมีการชูป้ายข้อความว่า ‘ยกเลิก 112’ และ ‘หยุดฟอกเขียวทุนเจ้า’ แต่ป้ายหยุดฟอกเขียวดังกล่าว พยานไม่เข้าใจว่ามีความหมายว่าอย่างไร ตลอดจนการพูดแถลงการณ์ของเก็ทที่เป็นภาษาอังกฤษ แต่พยานไม่เข้าใจเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่สันทัดภาษาอังกฤษ แต่เข้าใจแถลงการณ์ภาษาไทยที่ใบปอพูด

หลังจากการอ่านแถลงการณ์เสร็จสิ้นแล้ว มีเจ้าหน้าที่เขาไปเจรจาแจ้งว่าชุมนุมของเก็ทและใบปอผิดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการโปรยกระดาษเอสี่ ลงบนพื้นถนนและราดน้ำสีเขียวลงบนป้ายผ้าที่เตรียมมา พยานเบิกความว่ามีผู้ชุมนุมนำน้ำเปล่าและสีสเปรย์พ่นใส่ตำรวจในบริเวณแยกอโศก 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันที่ 17 พ.ย. พยานไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำ  แต่เข้าใจว่าการที่กลุ่มจำเลยพยายามเข้าไปในพื้นที่หวงห้าม เพราะต้องการยื่นหนังสือเรื่องความไม่เป็นธรรมของรัฐบาลไทย แต่พยานทราบมาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งผู้ชุมนุมแล้วว่าให้ยื่นหนังสือผ่านตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ แต่ไม่เป็นผล โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้มาตั้งขบวนกันที่ถนนสุขุมวิท โดยการชุมนุมยุติลงในเวลาประมาณ 15.00 น.

ทนายถามค้าน

ทนายถามต่อพยานว่า ตามประกาศของนายกรัฐมนตรีที่มีคำสั่งเกี่ยวกับการชุมนุม ก็มีเพียงแค่ในบริเวณหน้าหอประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และโรงแรมที่พักของผู้นำประเทศต่างๆ เท่านั้น ตลอดจนในวันที่ 15 พ.ย. ที่ใบปอได้ไปยื่นหนังสือหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ได้เป็นพื้นที่หวงห้ามแต่อย่างใด 

พยานตอบทนายว่าหลังจากการยื่นหนังสือหน้าสถานทูตดังกล่าว ไม่ได้มีกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวาย และกลุ่มผู้ชุมนุมใช้เวลาเพียง 20 นาที ก่อนแยกย้ายกันกลับ และในวันที่ 17 พ.ย. 2565 พยานได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าในช่วงที่มีการอ่านแถลงการณ์ใช้เวลาเพียงคนละ 10 นาทีเท่านั้น  แต่ไม่ทราบว่าบริเวณที่มีการจัดกิจกรรมของกลุ่มจำเลยในบริเวณแยกอโศกนั้น เป็นพื้นที่หวงห้ามตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และพยานไม่ทราบว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปห้ามกลุ่มผู้ชุมนุมทำกิจกรรมนั้นเป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ ร.ต.อ.หัตถพล ยืนยันว่าพยานเป็นผู้ทำรายงานการสืบสวนด้วยตนเอง โดยเนื้อหาและข้อความในรายงานพยานเป็นคนจัดทำมาจากเหตุการณ์ที่เห็นด้วยตนเองทั้งหมด

ทนายถามพยานต่อว่าในการประชุม APEC มีหัวข้อหลักในการประชุมคือประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย แต่พยานเบิกความว่าไม่ทราบ และเมื่อทนายถามว่าการเรียกร้องของกลุ่มจำเลย เป็นการเรียกร้องทางด้านสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นประเด็นที่มีอยู่ในการประชุมดังกล่าว พยานตอบว่า ไม่มีความเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะสามารถชุมนุมเรียกร้องสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มผู้นำเอเปคได้หรือไม่ต้องไปถามผู้กล่าวหา ซึ่งพยานเองก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร

นอกจากนี้ ทนายยังได้ถามต่อพยานว่า ในช่วงเวลาของการจัดประชุม APEC มีกลุ่มนักกิจกรรมกรีนพีซมาจัดกิจกรรมว่ายน้ำที่บริเวณสระน้ำหน้าศูนย์ประชุมในวันที่ 13 – 14 พ.ย. 2565 ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวน ของ สน.ในท้องที่ พยานทราบเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ พยานบอกว่าจำไม่ได้ว่าเคยได้รับรายงานหรือยัง

อัยการถามติง

ในเอกสารหลักฐาน มีภาพผู้ชุมนุมชูป้ายยกเลิก มาตรา 112 และ หยุดฟอกเขียวทุนเจ้า พยานตอบอัยการว่าทราบว่ามีการจัดการชุมนุม แต่ไม่ได้ขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่

พยานปากที่ 2 — พ.ต.ท.สุภัทร เหมจินดา ในฐานะพนักงานสอบสวน ผู้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ศาลและรวบรวมพยานเอกสารข้อเท็จจริงของใบปอ แจ้งว่าขอไม่ยืนยันหลักฐานที่ได้จาก สน.ท้องที่อื่นว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่

พยานปากที่ 2 พ.ต.ท.สุภัทร เหมจินดา สารวัตรสอบสวน สน.บางซื่อ ขึ้นเบิกความในฐานะพนักงานสอบสวนเบิกความว่าได้รับหนังสือของพนักงานอัยการว่าใบปอ ทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ โดยให้ตรวจสอบตามรายละเอียดในเอกสารแนบของเจ้าหน้าที่ศาลผู้ทำรายงาน ซึ่งอัยการได้ให้พยานไปตรวจสอบและแจ้งผลให้อัยการทราบ

ทั้งนี้ พยานขยายความว่า ได้รับการแจ้งเรื่องการผิดเงื่อนไขประกันตัวของจำเลยทั้งสองคน จากเจ้าหน้าที่ศาลอาญา แผนกงานประกัน แต่ตนเองยังไม่ได้ทำอะไร เพียงแค่ประสานแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ก่อนที่ในหนึ่งสัปดาห์ต่อมา อัยการถึงส่งหนังสือให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการทำผิดเงื่อนไขประกันของจำเลยในช่วงการประชุม APEC ในวันที่ 17 พ.ย. และ 19 พ.ย. 2565 ที่ใบปอและเก็ทได้ไปเคลื่อนไหวเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้พายุ ทะลุฟ้า ที่ถูก คฝ. ยิงจนตาบอดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานจึงได้ทำหนังสือรายงานต่อผู้บังคับบัญชา และจัดส่งหนังสือถึง สน.ลุมพินี และ สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อขอความร่วมมือให้ทำการสืบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว

หลังจากได้รายงานการสืบสวนแล้ว พยานจึงรวบรวมข้อเท็จจริงส่งต่อพนักงานอัยการ ในการตรวจสอบต่อไปว่าจำเลยทำผิดเงื่อนไขประกันตัวหรือไม่ ในช่วงประมาณ 30 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา

ทนายถามค้าน

ทนายถามต่อพยานว่าในคดีนี้ พยานได้รับแจ้งเรื่องการผิดเงื่อนไขประกันจากเจ้าหน้าที่ศาล แต่ได้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง พยานตอบว่า ในเหตุนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในท้องที่ของตน แต่คดีที่สั่งฟ้องของจำเลยเป็นคดีจากในพื้นที่รับผิดชอบของพยาน จึงได้ประสานท้องที่ที่มีการเคลื่อนไหวของจำเลยทั้งสองคนให้สืบเสาะว่ามีการกระทำผิดตามเงื่อนไขที่ศาลได้กำหนดหรือไม่

แม้พยานจะมีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานเอกสารต่างๆ พยานก็ไม่ได้มีการสืบสวนเจ้าหน้าที่จาก สน.ลุมพินี และ สน.ปทุมวัน โดยพยานตอบว่า รายงานการสืบสวนของ สน.ปทุมวัน และ สน.ลุมพินี และเจ้าหน้าที่ตำรวจของแต่ละ สน. ซึ่งทำรายงานและรวบรวมส่งมาที่พยาน เหตุการณ์จะเป็นจริงหรือไม่ ขอไม่ยืนยัน 

อีกทั้ง พยานไม่เห็นว่าเป็นเรื่องแปลกที่จะไม่ลงความเห็นว่าการกระทำตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจะผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่สืบสวนมีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงมาไว้ในสำนวนเท่านั้น และการตัดสินใจว่าจำเลยทั้งสองผิดเงื่อนไขประกันหรือไม่ เป็นดุลยพินิจของศาลที่จะต้องเป็นคนออกคำสั่ง

นอกจากนี้ ทนายได้ถามต่อพยานว่าช่วงการประชุม APEC 2022  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้มีการประกาศยกเลิกใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไปแล้ว พยานไม่ทราบ แต่ยืนยันว่าการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธป็นการชุมนุมที่ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

อัยการถามติง

พยานตอบอัยการว่าได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลอาญา แผนกปล่อยตัวชั่วคราวทางโทรศัพท์ นอกจากนี้อัยการยังได้แนบรายงานของเจ้าหน้าที่ศาลคนดังกล่าวที่ระบุว่าจำเลยผิดเงื่อนไขมากับหนังสือของอัยการที่ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย

พยานยืนยันกับอัยการว่าตนเองไม่มีหน้าที่ให้ความเห็นว่าการกระทำของใบปอและเก็ทผิดเงื่อนไขประกันตัวหรือไม่ มีหน้าที่เพียงรวบรวมข้อเท็จจริงจาก สน.ต่างๆ เท่านั้น

พยานปากที่ 3 — พ.ต.ท.สุระ ตั้งวัฒนกิตติกุล ในฐานะพนักงานสืบสวน ผู้รวบรวมข้อเท็จจริงของใบปอจากโซเชียลมีเดีย แจ้งว่าการชุมนุมทำให้การจราจรติดขัด แม้พยานเพียงแค่เห็นภาพจากไลฟ์สดเท่านั้น

พยานปากที่ 3 พ.ต.ท.สุระ ตั้งวัฒนกิตติกุล สารวัตรสืบสวน สน.บางซื่อ ขึ้นเบิกความในฐานะพนักงานสืบสวน เรื่องการกระทำผิดเงื่อนไขประกัน พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบว่าใบปอได้กระทำผิดเงื่อนไขประกันตัวในระหว่างวันที่ 17 พ.ย. และ 19 พ.ย. จริงหรือไม่

เกี่ยวกับคดีนี้ ในวันที่ 15 พ.ย. 2565 พยานได้ทำการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า ‘ทะลุวัง’ พบว่ามีการประกาศเชิญชวนให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมยื่นหนังสือต่อผู้นำต่างประเทศในการประชุม APEC ในวันที่ 17 พ.ย. 2565 และพบว่าเฟซบุ๊กส่วนตัวของใบปอ ได้มีการแชร์โพสต์และมีการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจริง

นอกจากนี้ พยานได้ติดตามความเคลื่อนไหวของจำเลยผ่านโซเชียลมีเดีย อาทิเช่น ทวิตเตอร์ ยูทูป และไลฟ์สดของสำนักข่าวต่างๆ พบว่าใบปอได้เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย. จริงจากการไลฟ์สด และทราบได้ทันทีจากการแต่งกายด้วยชุดดำกระโปรงสีเดียวกัน และผมสีแดง

พยานเบิกความต่อไปว่า เฟซบุ๊กส่วนตัวของใบปอ มีการแชร์โพสต์จากข่าวเพจ Ther Matter, iLaw และประชาไท ซึ่งทำประมวลรูปกิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ 

ทนายถามค้าน

ทนายได้ถามต่อพยานว่า พยานทราบได้อย่างไรว่าบุคคลที่อยู่ในไลฟ์สดเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ โดยพยานได้ตอบว่า ตนเคยทำคดีของใบปอมาก่อนจึงทราบได้ทันที แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจทะลุวัง เนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของ

นอกจากนี้ พยานไม่ได้ตรวจสอบ URL และไอพีแอดเดรสของเพจดังกล่าว แต่ตรวจสอบไอดีของเพจนี้ โดยการกดปุ่มสามจุดที่มุมขวาของภาพถ่ายหน้าเฟซบุ๊กในเพจ

และที่เบิกความว่าดูไลฟ์เฟซบุ๊คของสำนักข่าวราษฎร พยานดูย้อนหลัง ไม่ได้ดูในขณะที่มีการถ่ายทอดสด แต่ยืนยันกับทนายว่าในไลฟ์สด การชุมนุมไม่ได้ปรากฏความรุนแรงแต่อย่างใด ในขณะที่จำเลยทั้งสองได้จัดกิจกรรมและแถลงการณ์ แต่สร้างการจราจรติดขัดสำหรับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา  และไม่ทราบว่าวันที่ 19 พ.ย. ที่จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นการชุมนุมเพื่อทำอะไร แต่ไม่พบความวุ่นวายในวันดังกล่าวเช่นกัน

อัยการถามติง

อัยการถามต่อพยานว่าที่ไม่ได้ตรวจสอบ URL ในเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มทะลุวัง เนื่องจากพยานได้รับมอบหมายให้ติดตามสืบสวนความเคลื่อนไหวแค่เพียงวันที่ 17 พ.ย. และ 19 พ.ย. เท่านั้นใช่หรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่าใช่ 

ในส่วนวันที่มีการจัดชุมนุมบริเวณแยกอโศก อัยการถามต่อพยานว่ามีการจราจรที่หนาแน่นใช่หรือไม่ ซึ่งพยานก็ได้ตอบยืนยันตามที่ตนเองเห็นจากไลฟ์สด

ทนายแถลง ขอถามค้านเพิ่มเติมประเด็นเรื่องจราจรติดขัดในวันที่ 17 พ.ย. ว่าพยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์วันดังกล่าว พยานจะรู้ได้อย่างไรว่าการจราจรติดขัดจริงหรือไม่ พยานตอบว่าเชื่อจากภาพที่เห็นในไลฟ์สด ซึ่งทนายขอให้ศาลได้จดบันทึกไว้ว่า ที่พยานเบิกความว่าเห็นการจราจรติดขัด พยานดูจากคลิปไลฟ์สด ไม่ได้ลงพื้นที่จริง

.

X