อย่าลืม 4 พล (เมือง) ดินแดง: “จตุพล” ดิ้นรนทำงานตั้งแต่อายุ 12 โผล่ม็อบประท้วงรัฐบาล หลังเพื่อนตายจากวัคซีนโควิด ซ้ำไร้การเยียวยาจากรัฐ 

#อย่าลืมฉัน

ต้อม – จตุพล นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ส วัย 18 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2565 โดยถูกกล่าวหาจากเหตุที่มีรถยนต์กระบะตำรวจเกิดเพลิงไหม้ ในการชุมนุม “ราษฎรเดินไล่ตู่” หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 ที่บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 และศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา

ข่าวขณะถูกจับกุม: ตร.ดำเนินคดีผู้ชุมนุมทะลุแก๊ส รวม 13 ราย ใน 4 คดี ก่อนไม่ให้ประกันตัว 11 ราย 

ต้อมเริ่มต้นเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเมื่อกลางปี 2564 โดยมีเหตุผลหลักมาจากความไม่พอใจในการทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังเพื่อนของต้อมต้องเสียชีวิตกะทันหันจากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19  แต่เขารู้สึกว่ารัฐบาลกลับไม่ยื่นมือมาแสดงรับผิดชอบอะไรเลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำสภาพเศรษฐกิจยังมีแต่ย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ จนทำให้ตัวเขาเองตกงานด้วย ในที่สุดต้อมจึงตัดสินใจออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้มีอำนาจจนกระทั่งถูกกล่าวหาและถูกคุมขังในคดีนี้

ภาพ ม็อบ11มิถุนา65 จาก ไข่แมวชีส

สุรินทร์-กรุงเทพฯ หอบฝันเข้าเมืองใหญ่ หลังจบ ม.1 ดิ้นรนตั้งแต่อายุ 12 ปี  

จริงๆ แล้วต้อมเกิดที่ จ.สุรินทร์ แต่หลังจากนั้นก็ต้องไปๆ มาๆ ระหว่าง สุรินทร์-กรุงเทพฯ หลายหน โดยครั้งแรกหลังต้อมเกิดมาไม่นานแม่ก็พาเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งเรียนอยู่เพียงชั้น ป.3 แม่ก็มาด่วนจากไปก่อน เขาจึงกลับไปอยู่กับยายที่สุรินทร์และเรียนต่อที่นั่น  

เมื่อเรียนจบชั้น ม.1 ต้อมวัย 12 ปีในขณะนั้นก็ต้องจำใจออกจากโรงเรียนกลางคัน นั่นทำให้วุฒิชั้น ป.6 เป็นวุฒิการศึกษาสูงสุดของเขา ต้อมตัดสินใจกลับเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง ครั้งนี้กลับมาเพื่อมาทำงานหาเลี้ยงตัวเองเป็น “ช่างซ่อมรถกระบะ” ได้รับค่าจ้างเดือนละประมาณ 12,000-13,000 บาท เงินส่วนใหญ่ที่หามาได้ต้อมจะส่งกลับส่งให้ยายที่สุรินทร์เกือบทั้งหมด เพราะค่าที่พักและอาหาร 3 มื้อ ญาติของต้อมที่ทำงานด้วยเป็นคนดูแลให้ทั้งหมด

“ผมไม่ได้กลับไปเรียนต่อ เพราะไม่อยากเป็นภาระให้ยาย ยายต้องส่งเสียลูกพี่ลูกน้องคนอื่นอยู่ ส่วนพ่อผมก็เสียตอนปี 2563 เท่ากับผมเป็น ‘เด็กกำพร้า’ เลยตัดสินใจออกมาหางานทำดีกว่า อยากหาเงินใช้เอง จะได้ไม่เป็นภาระให้ยาย”

หลังเป็นช่างซ่อมรถกระบะอยู่ได้ประมาณ 3 ปี ต้อมตัดสินใจกลับไปอยู่กับยายที่สุรินทร์ ช่วยยายทำนา หาปูหาปลาตามประสา ก่อนตัดสินใจกลับเข้าไปหางานทำที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง ครั้งนี้ต้อมในวัย 15 ปี ได้ไปทำงานเป็นเด็กขายของและพนักงานส่งน้ำแข็งควบคู่กัน ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท หลังจากนั้นได้เปลี่ยนงานอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นงานรับจ้างติดแผงโซล่าเซลล์, ดูแลบ่อนพนัน, รับจ้างขับรถส่งพัสดุ ฯลฯ

ภาพ ม็อบ11มิถุนา65 จาก ไข่แมวชีส

รักการทำจิตอาสา ช่วยพี่กู้ภัยตั้งแต่วัยรุ่น เพราะมีแรงบันดาลใจจาก ‘พ่อ’

“รับจ้างขับรถส่งพัสดุ” คือ งานล่าสุดของต้อมก่อนจะถูกคุมขังในคดีนี้ เพราะอาชีพนี้ทำให้ต้อมมีเวลาว่างในช่วงเย็นถึงช่วงค่ำ เพื่อจะได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ต้อมเล่าว่า ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2564 เป็นต้นมา เขาไม่เคยพลาดที่จะไปเข้าร่วมม็อบเลยสักครั้ง หากวันไหนไม่มีม็อบ ต้อมและเพื่อนๆ ก็จะลงขันกันซื้อข้าวไปแจกจ่ายให้คนไร้บ้าน ที่ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

นอกจากนี้ ตั้งแต่ช่วงที่มีโรคโควิด-19 แพร่ระบาด หากระหว่างทำงานขับรถวิ่งส่งพัสดุอยู่บนท้องถนนแล้วเผอิญเจอกับ “รถกู้ภัย” หรือ “รถพยาบาล” ต้อมก็มักจะอาสาไปขับนำเปิดทางให้เสมอ 

“ผมอยากให้พวกเขาไปถึงมือหมอเร็วๆ” ต้อมบอก

ต้อมยังบอกอีกว่า เมื่อครั้งอายุได้ 16 ปี เขาเคยไปสมัครเป็นอาสาสมัครกู้ภัยแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ผ่านเกณฑ์การรับสมัคร เนื่องจากอายุยังไม่ถึง 18 ปี และยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่ แม้ตอนนั้นต้อมจะไม่ได้เป็นอาสากู้ภัยอย่างเป็นทางการ แต่ก็มักจะไปช่วยงานหน่วยกู้ภัยอยู่เป็นประจำเท่าที่วัยรุ่นคนหนึ่งจะทำได้

แรงบันดาลใจสำคัญจริงๆ นั้นมาจาก “พ่อ” เมื่อครั้งที่พ่อของต้อมยังมีชีวิตอยู่พ่อเคยทำงานเป็นอาสากู้ภัย ต้อมเห็นพ่อช่วยเหลือคนอื่นมาตั้งแต่เด็ก นั่นทำให้เขาภูมิใจในตัวพ่อมากๆ และได้ซึมซับภาพของการยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่นมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อโตขึ้นเวลาเห็นอุบัติเหตุไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือฉุกเฉินเพียงใด หากเขาสามารถให้ความช่วยเหลือได้ก็จะเข้าไปช่วยในทันที 

ภาพ ม็อบ11มิถุนา65 จาก ไข่แมวชีส

ฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ‘นำเข้ารถสปอร์ตหรู’ หวังหาเงินเลี้ยงยาย-น้อง ให้สบายสักที

ต้อมมีความฝันว่า อยากเปิด ‘อู่รถ’ เพราะเขาเป็นคนชื่นชอบและหลงใหลในรถ ทั้งรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ จึงคิดว่าหากได้เปิดอู่ซ่อมรถขึ้นมาเป็นของตัวเอง ให้เป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างจริงจังก็คงจะดี 

“เอาจริงๆ ผมอยากเป็นเจ้าของร้านนำเข้ารถสปอร์ตสวยๆ ผมชอบรถ อยากอยู่กับรถสวยๆ ทุกวันเลย ผมหวังว่าถ้าบ้านเมืองมันดีกว่านี้ ผมคงมีโอกาสได้ทำอย่างที่ผมฝัน

“ถ้าได้ออกไปคราวนี้ ผมตั้งใจจะทำงานเก็บเงินเอาไว้มาเปิดอู่รถให้ได้ จะได้มีเงินเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงน้อง เลี้ยงยาย ยายจะได้ไม่ต้องเหนื่อยไปหาผักมาขายอีกแล้ว”

ชีวิตหลังกรงขัง: ถูกผู้คุมลงโทษอย่างไม่สมเหตุผล-น้ำเหม็นคลอรีนจนกลั้นใจดื่มไม่ได้ 

ช่วงแรกของการถูกคุมขังในเรือนจำ ต้อมถูกแยกไปขังรวมกับผู้ต้องขังคดีทั่วไปที่ไม่ใช่เพื่อนร่วมคดีชุมนุมที่ดินแดง ทำให้เขาค่อนข้างมีความเครียดพอสมควร เพราะนอกจากไม่มีเพื่อนที่รู้จักแล้ว ในห้องขังที่ต้อมอยู่ยังไม่มีโทรทัศน์หรือหนังสือให้คลายเครียดเหมือนห้องขังอื่นเลย

ต้อมเคยเล่าว่า ช่วงแรกรู้สึกว่าถูกผู้คุมเป็นพิเศษจับตาเป็นพิเศษ สังเกตได้จากการถูกตักเตือนและลงโทษอย่างไม่สมเหตุผลหลายครั้งตลอดการถูกคุมขังในช่วงแรก มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาถูกลงโทษโดยต้องใช้กล้ามเนื้อบริเวณแขน แต่การเคยผ่าตัดแขนและดามเหล็กมาจนถึงตอนนี้ ทำให้ต้อมไม่สามารถทำตามคำสั่งของผู้คุมได้จนเกือบถูกผู้คุมเอาไม้ตี แต่ยังดีที่เพื่อนผู้ต้องคนอื่นไว้ห้ามไว้ได้ทัน

อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้น ต้อมได้ถูกผู้คุมลงโทษโดยใช้ความรุนแรงเกินสมควร โดยต้อมถูกไม้กระบองพันผ้าตีที่หลังถึง 3 ครั้ง เหตุการณ์นี้เกิดจากเหตุผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะต้อมต้องย้ายแดนคุมขัง ผู้คุมจึงต้องมีการตรวจค้นร่างกาย แต่เมื่อถึงตาของต้อม เจ้าหน้าที่กลับไม่ตรวจร่างกายของเขาอย่างเช่นทุกคน เขาจึงถามผู้คุมด้วยความสงสัยว่า ‘พี่ไม่ตรวจร่างกายผมเหรอ’ แต่ผู้คุมกลับตอกกลับว่า ‘มึงกวนตีนเหรอ’ พร้อมกับสั่งลงโทษ โดยให้ทำท่านอนกลางแดด นอนกางมุ้ง จากนั้นผู้คุมได้เรียกต้อมเข้าไปในห้องขังเพียงลำพังแล้วใช้กระบองฟาด 3 ครั้ง 

นอกจากนี้ ในช่วงแรกที่ถูกคุมขังต้อมพบว่า น้ำดื่มในถังที่เรือนจำจัดให้ไว้ไม่สามารถใช้ดื่มได้เลย เพราะน้ำมีกลิ่นเหม็นคลอรีนฉุนจมูกมาก อาหารในเรือนจำก็เช่นกัน เขาเล่าว่า ‘กินได้บ้าง ไม่ได้บ้าง’ เพราะรสชาติจืดมาก ไม่มีเนื้อสัตว์เลย แต่ยังดีที่เขาและเพื่อนๆ มีน้ำปลาและน้ำตาล โดยพวกเขาจะใช้ปรุงอาหารให้มีรสชาติพอจะกินได้มากขึ้น

X