ตร.ดำเนินคดีผู้ชุมนุมทะลุแก๊ส รวม 13 ราย ใน 4 คดี ก่อนไม่ให้ประกันตัว 11 ราย 

ในช่วงเย็นวันที่ 16 มิ.ย. 2565 มีรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมผู้ชุมนุม #ทะลุแก๊ส จำนวน 2 ราย โดยนำตัวไปที่ บช.ปส. ขณะเดียวกันทางตำรวจยังแจ้งว่ามีหมายจับผู้ชุมนุมอีก ทำให้ผู้ที่ทราบว่าตนเองถูกออกหมายจับได้ทยอยเดินทางเข้ามอบตัว ทำให้มีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีรวม 13 ราย แยกดำเนินคดีเป็น 4 คดี เหตุจากการชุมนุมที่ดินแดงในช่วงวันที่ 11, 14 และ 15 มิ.ย. 2565 โดยหนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุ 15 ปี

ทั้งนี้ผู้ต้องหาแต่ละรายยังได้ให้การคัดค้านการแจ้งข้อกล่าวหาและควบคุมตัวไว้ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุด้วย

.

กรณีทุบและเผารถตำรวจ หลัง #ม็อบ11มิถุนา65 แจ้งข้อหาอีก 2 ราย

สำหรับคดีนี้ ก่อนหน้านี้มีการจับกุมผู้ชุมนุมที่ถูกกล่าวหาจากการเผารถยนต์ตำรวจ สน.ดินแดง หลังเหตุการณ์ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 ไปแล้วทั้งหมด 4 ราย แยกเป็นเยาวชน 2 ราย โดยมีวัชรพล และจตุพล ที่ถูกขอฝากขังและไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนเยาวชนอีก 2 ราย ได้รับการประกันตัว

ในครั้งนี้ ได้มีณัฐพล อายุ 19 ปี ที่ถูกออกหมายจับในคดีนี้เข้ามอบตัวอีก 1 ราย โดยเป็นหมายจับออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ขณะที่มีพลพล อายุ 20 ปี ที่ต่อมาทราบว่ายังไม่ได้มีหมายจับ แต่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาในคดีเดียวกันนี้ด้วย ทำให้รวมมีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว 6 ราย

ทั้งณัฐพลและพลพล ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 5 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับผู้ต้องหา 4 รายแรก ทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา กรณีของพลพลเนื่องจากไม่ได้มีหมายจับ ตำรวจจึงไม่มีอำนาจควบคุมตัว แต่ได้นัดหมายไปยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น

.

คดีร่วมชุมนุมดินแดง #ม็อบ11มิถุนา65 ดำเนินคดี 3 ราย

สำหรับคดีนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ยังไม่ได้มีการขอออกหมายจับหรือออกหมายเรียกผู้ต้องหา แต่เมื่อมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาแสดงตัว ทำให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุม 3 ราย ใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, มาตรา 216 และ ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พฤติการณ์กล่าวหาเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมที่บริเวณดินแดง ภายหลังจากการชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 โดยกล่าวหาว่าทั้ง 3 ราย ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวและร่วมก่อเหตุวุ่นวาย แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าแต่ละรายมีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาอย่างไร

ทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา คดีนี้ตำรวจไม่ได้มีการควบคุมตัวและขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดต่อ

.

คดีร่วมชุมนุมดินแดง #ม็อบ14มิถุนา65 ดำเนินคดี 9 ราย เป็นเยาวชน 1 ราย

ในส่วนคดีจากการชุมนุมบริเวณดินแดง ในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 9 ราย โดยมีจำนวน 8 รายที่ถูกศาลอาญาออกหมายจับ ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ขณะที่มี “ไอซ์” เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ไม่ได้ถูกออกหมายจับ แต่อยู่ในรายชื่อที่ตำรวจจะดำเนินคดี ทำให้เข้าแสดงตัวเองและถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปด้วย ทั้งนี้มีผู้ชุมนุมจำนวน 2 ราย ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #ม็อบ11มิถุนา ข้างต้นด้วย

ผู้ต้องหาทั้งหมด 9 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาใน 4 ข้อกล่าวหา

1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 140 ประกอบมาตรา 138 ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป

2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน

4. ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาในกรณีนี้โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 เวลาประมาณ 18.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้มารวมตัวกันทำกิจกรรมที่บริเวณแยกดินแดง อาทิการเขียนป้ายไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, การเดินถือป้ายจากแยกดินแดงไปยัง พล.ร.1 และได้ทำกิจกรรมเรื่อยมา  จนเวลา 22.48 น. ได้มีการยิงพลุไฟจำนวนหลายครั้งใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณแยกดินแดง เจ้าหน้าที่ได้ประกาศแจ้งเตือนว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยุติ เจ้าหน้าที่ “จำเป็น” ต้องยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้แยกย้ายยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 23.00 น.

ตำรวจอ้างว่าการกระทำดังกล่าวทำให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ และมีทรัพย์สิน อาทิ กล้องวงจรปิดหรือกระจกป้ายโฆษณาเสียหาย ทั้งนี้ บันทึกข้อกล่าวหากรณีนี้ ตำรวจยังมีการเรียก “กลุ่มผู้ชุมนุม” ว่าเป็น “กลุ่มผู้ก่อความวุ่นวาย” โดยตลอดด้วย

.

คดีเผายางรถ #ม็อบ15มิถุนา65 ดำเนินคดี 1 ราย

คดีสุดท้าย เกี่ยวเนื่องกับการเผายางรถยนต์ในการชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 โดยมีผู้ถูกกล่าวหา 1 รายที่ถูกออกหมายจับ และเดินทางเข้ามอบตัว ได้แก่ พุฒิพงศ์ อายุ 25 ปี สำหรับหมายจับออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2565

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 4 ข้อกล่าวหาในคดีนี้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, มาตรา 216, มาตรา 220 (ทำให้เกิดเพลิงไหม้จนน่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่น) และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

.

ศาลไม่ให้ประกัน 11 ผู้ชุมนุม ระบุ ข้อหาร้ายแรง โทษสูง ใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ หากได้ประกันอาจหลบหนี

เวลา 17.00 น. ของวันนี้ (17 มิ.ย. 2565) ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 11 คน แบ่งออกเป็น 3 คดี ประกอบด้วย

คดีสืบเนื่องจากเหตุวันที่ 11 มิ.ย. 2565 จำนวน 2 คน กรณีของ ณัฐพล เลขฝากขัง อ.666/2565 ศาลมีคำสั่งว่า “การกระทำของผู้ต้องหา ตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรงมีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำต่อทรัพย์สินของราชการ นอกจากนี้ ศาลเคยกำหนดเงื่อนไขในคดีก่อน ห้ามผู้ต้องหาเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองมาแล้ว แต่ผู้ต้องหาก็ไม่นำพามากระทำการในคดีนี้อีก จึงเชื่อว่าหากให้ปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหา อาจหลบหนีหรือก่อภยันตรายประการอื่นอีก ประกอบกับ พนักงานสอบสวนคัดค้านในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหา ยกคำร้อง”

ส่วนกรณีของ ​พลพล เลขฝากขัง อ.668/2565 ศาลมีคำสั่งว่า การกระทำของผู้ต้องหา ตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำการโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เสียหายแก่ทรัพย์สินราชการอันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากให้ปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนี และก่อภยันตรายประการอื่น ประกอบกับ พนักงานสอบสวนคัดค้านในชั้นนี้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา ยกคำร้อง

คดีสืบเนื่องจากเหตุวันที่ 14 มิ.ย. 2565 เลขฝากขัง ฝ.665/65 จำนวน 8 คน ได้แก่ ศศลักษณ์, พิชัย ,ใบบุญ สมชาย, อัครพล, ธีรวิชญ์, หนึ่ง และ วรวุฒิ โดยมีคำสั่งว่า “กรณีความผิดที่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ตามที่ถูกกล่าวหา เป็นการใช้ความรุนแรงกระทำต่อเจ้าพนักงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อันถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง มีอัตราโทษสูงโดยเฉพาะผู้ต้องหาที่ 1 และ 3 เคยกระทำการจนกระทั่งถูกฟ้องร้องเป็นคดีในศาลนี้มาก่อนแล้ว แสดงว่าไม่ยำเกรงต่อคำสั่งและการถูกดำเนินคดี ดังนั้น หากให้ปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาทั้ง 8 อาจหลบหนี โดยเฉพาะอย่างนิ่งน่าจะไปก่อเหตุประการอื่นอีก ทั้งพนักงานสอบสวนคัดค้านการฝากขัง จึงไม่ให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง”

คดีสืบเนื่องจากเหตุวันที่ 15 มิ.ย. 2565 เลขฝากขัง ฝ.667/2565 จำนวน 1 คน ได้แก่ พุฒิพงศ์ โดยมีคำสั่งว่า การกระทำของผู้ต้องหา ตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำการโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ น่าเชื่อว่าหากให้ปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนี ประกอบกับ พนักงานสอบสวนคัดค้านในชั้นนี้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา ยกคำร้อง

ทั้งนี้ในคำสั่งไม่มีการลงชื่อผู้พิพากษาผู้สั่งเอาไว้ ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้ทั้ง 11 คน ต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที

.

X