วันที่ 4 ก.พ. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า ‘ภาคิน’ (สงวนนามสกุล) ผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซ วัย 14 ปี เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 โดยครอบครัวได้จัดงานฌาปนกิจแล้วเสร็จไปแล้วเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564
ภาคินเป็นหนึ่งในเยาวชนที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีจากเหตุชุมนุมของกลุ่มมวลชนอิสระ “ทะลุแก๊ซ” ที่ดินแดง เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 แม่ของภาคินเล่าว่า ก่อนหน้านี้ภาคินเป็นเด็กที่ร่าเริง แข็งแรง เล่นกีฬาเป็นประจำ โดยเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2564 ภาคินได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 2 ยี่ห้อ “ไฟเซอร์” จากนั้นเพียง 1 วัน ก็มีอาการทรุดลงผิดปกติ โดยมีอาการตัวเหลือง อ่อนแรง และอาเจียน หลังเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลพบว่า ภาคินป่วยเป็น “ลูคีเมีย” หรือ “มะเร็งเม็ดเลือดขาว” จึงเข้ารับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด (คีโม) ตลอด 2 สัปดาห์ ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
แม่ของภาคินยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาลูกชายมีร่างกายแข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วยเลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า “ความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวที่เกิดขึ้นจนลุกลามเป็นมะเร็งนั้นมาจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์” ทั้งนี้ ภาคินได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 1 ยี่ห้อไฟเซอร์เช่นเดียวกับเข็มที่่ 2 เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2564 แต่หลังได้รับวัคซีนไม่ปรากฏอาการผิดปกติใดๆ
สำหรับการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 กลุ่ม “เยาวชนทะลุแก๊ส” นัดหมายกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เผาสาปแช่งนายกฯ และคณะรัฐมนตรี โดยนัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเปลี่ยนจุดหมายไปรวมตัวกันที่บริเวณดินแดง
ต่อมาเจ้าหน้าที่ดำเนินการสลายการชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงเหมือนเช่นทุกครั้ง และมีการจับกุมผู้ชุมนุม รวมทั้งประชาชนที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุม เกือบ 40 ราย ท้ายที่สุดกลับดำเนินคดี 29 ราย โดยเป็นเยาวชนเกือบครึ่ง อายุน้อยสุดคือ 14 ปี ก่อนทั้งหมดได้รับการประกันตัว แต่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันกว่า 400,000 แสนบาท โดยเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ 310,000 บาท
ด้านพฤติการณ์ในคดีของภาคินนั้น บันทึกจับกุมระบุว่า ในวันดังกล่าว เวลา 19.45 น. ขณะมีการชุมนุมของมวลชนอยู่ใต้ทางด่วนดินแดง เจ้าหน้าที่ได้ตั้งจุดตรวจบริเวณ ถนนอโศกดินแดง และเห็นภาคินพร้อมพวก รวม 3 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้ามา จึงได้เรียกเพื่อทำการตรวจค้น
หลังเรียกตรวจค้นรถจักรยานยนต์ที่ทั้งสามขับขี่ซ้อนกันมา โดยมีหน้ากากอนามัยปิดบังป้ายทะเบียน พบระเบิดแสวงเครื่องแบบไทยประดิษฐ์ พันด้วยเทปพันสายไฟสีดํา อยู่ในกระเป๋าที่เยาวชนคนหนึ่งสะพายอยู่ จึงตรวจยึดเป็นของกลาง และยึดรถจักรยานยนต์ พร้อมทั้งโทรศัพท์ของทั้งสามเป็นวัตถุพยาน ก่อนตั้งข้อหา “ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และร่วมกันนำวัสดุปิดบังป้ายทะเบียน”
หลังพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องตรวจสอบการจับกุม พร้อมขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางออกหมายควบคุมตัว ต่อมาศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งว่าจับกุมโดยชอบ และให้ออกหมายควบคุมตัว ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว และศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
ด้านคดีความของภาคิน ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นสอบสวน ทนายความจะดำเนินการแจ้งกับพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน เพื่อให้แถลงเรื่องการเสียชีวิตต่อศาลต่อไป โดยคดีความจะถือเป็นอันระงับไป ในส่วนของเงินประกันได้รับคืนหลังพนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลเสร็จสิ้น เพื่อคืนให้กองทุนราษฎรประสงค์ต่อไป
ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันที่ 4 ก.พ. 2565 มีเยาวชนถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 274 คน ในจำนวน 195 คดี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง