ม็อบ29สิงหา วันที่ คฝ. สลายชุมนุม “เยาวชนทะลุแก๊ส” โดยไม่มีอำนาจ แต่จับ 37 ราย ดำเนินคดี 29 ราย เป็นเยาวชน 13 ราย

29 ส.ค. 2564 วันนัดใหญ่กับกิจกรรม CAR MOB CALL (ประยุทธ์) OUT ของหลายกลุ่ม ได้แก่ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) นัดพบที่อุโมงค์เกษตร เวลา 14.00 น. มุ่งหน้าปลายทางสวนเทพปทุม กลุ่มที่สองนำโดย “ม่อน อาชีวะ” กับกิจกรรม “รวมพลคนพันธุ์ R” นัดพบที่ใกล้แยกลาดพร้าวมุ่งหน้าไปรัฐสภา และกลุ่มที่สามโดยกลุ่ม “เยาวชนทะลุแก๊ส” นัดหมายกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เผาสาปแช่งนายกฯ และคณะรัฐมนตรี โดยนัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บ่าย 14.00 น. ก่อนเวลา 16.00 น. เปลี่ยนจุดหมายไปรวมตัวกันที่บริเวณดินแดง โดยกิจกรรมทั้งสามกลุ่มประสานเสียงขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  

ไม่เกินคาดหมายว่า เจ้าหน้าที่จะดำเนินการสลายการชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงเหมือนเช่นทุกครั้ง มีการจับกุมผู้ชุมนุม รวมทั้งประชาชนที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม เกือบ 40 ราย แม้จะดำเนินคดี 29 ราย ก็ยังเป็นจำนวนที่มาก และเป็นเยาวชนเกือบครึ่ง อายุน้อยสุดคือ 14 ปี ทั้งหมดได้รับการประกันตัว แต่ต้องใช้เงินประกันกว่า 400,000 แสนบาท เป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ 310,000 บาท บางรายถูกศาลกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก 

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากผู้ถูกจับกุมจาก #ม็อบ29สิงหา ว่า ถูกเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทำร้ายในระหว่างการจับกุมรวม 6 ราย เป็นเยาวชน 2 ราย โดยทั้งหมดถูกจับที่ถนนราชปรารภและดินแดง ขณะที่มีเยาวชน 1 ราย ถูกตั้งข้อหา ทำร้ายร่างกายผู้อื่น จากเหตุการณ์ที่ชายหัวเกรียนถูกทำร้ายขณะแอบถ่ายรูปผู้ชุมนุมบริเวณอาคารไทยวิวัฒน์

นอกจากนี้ มีรายงานข่าวว่า มีผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงรวม 3 ราย แต่ไม่มีรายละเอียดว่า มีสาเหตุมาจากอะไร 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิสนุษยชนมีข้อสังเกตต่อปฏิบัติการสลายการชุมนุม และจับกุมประชาชน ในวันที่ 29 ส.ค. 2564 ดังนี้

ข้อสังเกตต่อปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ตำรวจใน #ม็อบ29สิงหา CAR MOB CALL (ประยุทธ์) OUT

เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมเยาวชนทะลุแก๊สโดยไม่มีอำนาจ

ตามรายงานลำดับเหตุการณ์โดยละเอียดของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เวลา 16.39 น. เกิดเสียงประทัด 1 ครั้งที่หน้าแนวคอนเทนเนอร์ เสมอแนวร้านชื่อ Heap ผู้ชุมนุมเริ่มมีจำนวนมากขึ้นหน้าแนวคอนเทนเนอร์นั้น ต่อมาในเวลา 16.42 น. ตำรวจยิงแก๊สน้ำตามาที่หน้าแนวคอนเทนเนอร์ ตามด้วยการใช้การฉีดน้ำสีม่วงและใช้กระสุนยางในนาทีต่อมาที่ 16.58 น. และอีก 2 นาทีเวลา 17.00 น. ตำรวจรุกมาเสมอแนวทางลงทางด่วนดินแดง มีกลุ่มโล่ดำเดินแนว โดยไม่มีเสียงประกาศหรือเจรจาอื่นๆ ทำให้ผู้ชุมนุมทะลุแก๊สส่วนใหญ่ถอยไปกลางแยกดินแดง

เหตุการณ์ที่เริ่มต้นนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนยังไม่มีเหตุในการเข้าสลายการชุมนุมแต่อย่างใด การจุดประทัดเพียงหนึ่งนัดของผู้ชุมนุมยังไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง กล่าวคือยังไม่เป็นการใช้กำลังทางกายภาพต่อผู้อื่นในทางที่อาจนำไปสู่การบาดเจ็บหรือเสียชีวิต  และสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพย์สิน การชุมนุมของเยาวชนทะลุแก๊สในช่วงระหว่างเวลา 16.30 – 17.00 น. ถือเป็นการชุมนุมที่สงบ แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกลับใช้เวลาเพียง 3 นาทีหลังได้ยินเสียงประทัดหนึ่งนัด ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำสีม่วง และยิงกระสุนยางตามลำดับโดยไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งเตือนก่อนใช้กำลังและอาวุธ หรือใช้วิธีการที่เหมาะสมอื่นเพื่อลดความตึงเครียดไม่ได้เกิดการชุมนุมที่รุนแรงในช่วงอื่น ๆ          

>> ลำดับเหตุการณ์ ม็อบ 29 สิงหา กลุ่มทะลุแก๊ส 

ภาพจาก iLaw

การจุดระเบิดเพลิงและพลุ การมีอาวุธปืนในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และการก่อเหตุวิวาท ถือเป็นเหตุส่วนบุคคลที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการเป็นรายบุคคล โดยปล่อยให้การชุมนุมส่วนอื่นดำเนินต่อไปได้

iLaw รายงานว่าในหลายช่วงเวลาที่ผู้ชุมนุมบางคนและบุคคลอื่นบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงใช้ระเบิดเพลิงและพลุเพื่อตอบโต้ปฏิบัติการของตำรวจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่แรกของการชุมนุม ทั้งในเวลา 17.03 น., เวลา 18.21 น., เวลา 18.28 น. และเวลา 19.44 น. และช่วงที่เจ้าหน้าที่ประกาศว่ามีผู้ก่อเหตุที่ใช้อาวุธปืนไทยประดิษฐ์ ช่วง 17.28 น. โดยไม่มีรายงานว่าบุคคลใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และมีการยืนยันจากตำรวจปฏิบัติการในพื้นที่ว่า ไม่มีตำรวจได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืนไทยประดิษฐ์ เนื่องจากลำปืนมีขนาดสั้นและระยะของผู้ชุมนุมห่างจากแนวตำรวจมาก รวมถึงในช่วงชุลมุนระหว่าง 18.40 – 19.00 น. ซึ่งเกิดเหตุการทำร้ายร่างกายชายคนหนึ่งที่ทราบต่อมาว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบโดยกลุ่มบุคคลจนได้รับบาดเจ็บก่อนนำส่งปฐมพยาบาล

การจุดระเบิดเพลิง การจุดพลุ การมีอาวุธปืนในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และการก่อเหตุวิวาทจนผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ถือเป็นการกระทำรุนแรงเฉพาะตัวของผู้ชุมนุมบางคน เป็นเหตุส่วนบุคคลที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลดังกล่าว โดยไม่สมควรถูกนำไปเหมารวมว่าเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมทั้งหมด ซึ่งในภาพรวมยังเป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนต้องใช้ความพยายามระบุตัวผู้ใช้ความรุนแรงและแยกบุคคลคนนั้นออกมาจากผู้ชุมนุมอื่น เพื่อให้การชุมนุมในส่วนอื่นดำเนินต่อไป 

ในลักษณะเดียวกัน ตามที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่แถลงข่าวเมื่อช่วงเวลา 19.00 น. ว่ากลุ่มเยาวชนทะลุแก๊สมีการรวมตัวกันเวลา 16.40 น. และโยนระเบิดปิงปอง ระเบิดแสวงเครื่อง ระเบิดไปป์บอม ระเบิดเพลิง เข้าไปแนวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่ และต่อมามีเหตุการณ์รุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการต่อบุคคลที่ก่อเหตุเป็นรายบุคคลไป ไม่อาจใช้เหตุนี้กล่าวหาว่ากลุ่มทะลุแก๊สรวมตัวกันโดยมีเจตนาก่อเหตุความวุ่นวายจนนำมาสู่สลายการชุมนุมโดยไม่ชอบได้ 

 

การใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน เพื่อสลายการชุมนุมกลุ่มเยาวชนทะลุแก๊สไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน

ตามรายงานลำดับเหตุการณ์ของ iLaw เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเริ่มใช้กำลังและอาวุธตั้งแต่เวลา 16.42 น. หลังผู้สังเกตการณ์การชุมนุมได้ยินเสียงประทัดเพียงหนึ่งนัดและต่อเนื่องไปจนถึงเวลา 20.10 น. ก่อนเวลาเคอร์ฟิว รวมปฏิบัติการกว่า 3 ชั่วโมงครึ่งของคืนวันที่ 29 ส.ค. 2564 โดยปฏิบัติการนี้มีสลับกันไปมาระหว่างการยิงแก๊สน้ำตา, การใช้การฉีดน้ำสีม่วง, การฉีดน้ำสีขาวที่แสบระคายผิว, การใช้กระสุนยาง, การใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว และการให้เครื่องส่งคลื่นความถี่สูง (LRAD) ในพื้นที่สาธารณะและใกล้ชุมชน 

การใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่นี้เป็นไปเพื่อจำกัดการชุมนุมที่ยังสงบและปราศจากอาวุธในภาพรวม โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความพยายามหามาตรการอื่น นอกจากการใช้กำลังและอาวุธ ไม่ได้จัดการและแยกดำเนินการต่อบุคคลที่ใช้ความรุนแรง และไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการจากเบาไปหาหนัก ทั้งการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ทั่วถึงและมีเวลามากพอในการปรับรูปขบวนของผู้ชุมนุม และการเรียงลำดับการใช้กำลัง แต่กลับจู่โจมเข้าใช้กำลังโดยฉับพลันทั้งยิงแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำแรงดันสูงสลับสีม่วงและไม่มีสี ยิงกระสุนยาง และโอบตีจับกุมด้วยหน่วยเคลื่อนที่เร็ว โดยไม่เลือกกลุ่มเป้าหมายเพียงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้ความรุนแรงระหว่างการชุมนุมเท่านั้น การใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใน #ม็อบ29สิงหานี้ จึงไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน เป็นการใช้กำลังโดยมิชอบ

.

จับกุมหลายจุดทั้งพื้นที่ชุมนุมดินแดง ด่านตรวจนอกพื้นที่ และขอหมายเข้าตรวจค้นก่อนจับกุม หลายกรณีเป็นไปโดยไม่ชอบ 

นอกจากสลายการชุมนุมโดยไม่มีอำนาจแล้ว การจับกุมผู้ชุมนุมในวันที่ 29 ส.ค. 2564 ยังพบว่าเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบในหลายกรณีเช่นเดียวกับที่ผ่านมา เช่น การจับกุมที่ด่านตรวจนอกพื้นที่ โดยอ้างว่าติดตามมาจากพื้นที่ชุมนุม, การจับกุมโดยใช้กำลังเกินกว่าเหตุ คฝ.กระทำการมากกว่าเป้าหมายเพื่อควบคุมตัว จนผู้ถูกจับได้รับบาดเจ็บ, การยึดโทรศัพท์ผู้ถูกจับไปเป็นวัตถุพยาน โดยอ้างว่า ผู้ถูกจับใช้ถ่ายรูปการชุมนุมและติดต่อนัดหมายเพื่อเข้าร่วมชุมนุม ทั้งที่การถ่ายรูปและการเข้าร่วมชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน, การจับกุมโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิของผู้ถูกจับในขณะที่จับกุม รวมทั้งไม่แจ้งว่าจะนำตัวไปที่ใด แต่บันทึกการจับกุมจะระบุว่าได้ดำเนินการในสิ่งเหล่านี้ ทำให้ผู้ถูกจับปฏิเสธที่จะลงชื่อในบันทึกจับกุม, การนำตัวผู้ถูกจับไปควบคุมตัวที่ บช.ปส. ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจในท้องที่ถูกจับหรือสถานีตำรวจที่รับผิดชอบคดี  

หลังกำหนดนัดหมายรวมตัวของประชาชนทั้ง 3 กลุ่ม ไม่นาน ศูนย์ทนายความฯ ได้รับแจ้งว่ามีเยาวชนถูกจับกุมบริเวณด่านสกัดก่อนถึงทำเนียบ ก่อนนำตัวไป สน.นางเลิ้ง เมื่อทนายความติดตามไปที่ สน.นางเลิ้ง พบว่า มีผู้ถูกจับกุมทยอยถูกนำตัวมารวม 9 ราย เป็นเยาวชน 4 ราย โดยถูกจับกุมบริเวณด่านดังกล่าวทั้งหมด มี 3 ราย หลังสอบปากคำและลงบันทึกประจำวันแล้วได้ปล่อยตัวโดยไม่ได้ดำเนินคดี อีก 6 ราย ส่งตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ราว 18.00 น. 

นอกจากนี้ยังมีการจับเจ้าของร้านขายพระเครื่อง และคนขับรถ หลังเข้าตรวจค้นร้านที่รัชดาซอย 4 นำตัวไปที่ สน.ห้วยขวาง พร้อมยึดโล่ เสื้อคล้ายเสื้อเกราะ และประทัดปิงปองที่พบในร้าน 

ด้านสถานการณ์ที่บริเวณแยกดินแดง กลุ่มทะลุแก๊สได้เผชิญหน้ากับ คฝ.ที่ตรึงกำลังพร้อมตั้งแนวคอนเทนเนอร์ จากการสังเกตการณ์ของ iLaw คฝ.เริ่มใช้มาตรการสลายการชุมนุม ทั้งยิงแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำ และใช้กระสุนยาง ตั้งแต่ราว 16.40 น. หลังมีเสียงประทัดหน้าแนวตู้คอนเทนเนอร์ 1 ครั้ง และเริ่มมีรายงานการจับกุมบริเวณแยกดินแดงในเวลาประมาณ 18.30 น. มีอย่างน้อย 3 รายได้รับการปล่อยตัว ผู้ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวทยอยถูกส่งไปที่ บช.ปส. จนถึง 22.30 น. มีผู้ถูกจับกุมตัวจากบริเวณดินแดงมาที่ บช.ปส.รวม 23 ราย เป็นเยาวชน 11 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 14 ปี 2 คน 

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวโดยไม่ได้ดำเนินคดี 2 ราย โดยรายหนึ่งระบุว่า ถูกจับขณะซ้อนท้ายเพื่อนไปเยี่ยมพ่อแม่ที่ติดโควิดอยู่ที่ประตูน้ำ ไม่ได้มาร่วมชุมนุม รวมทั้งมีการปล่อยตัวหลังเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.จราจรฯ อีก 5 ราย 

ทั้งนี้ พบว่า ที่ สน.นางเลิ้ง และ บช.ปส. มีทหารขอเข้าร่วมสอบปากคำผู้ต้องหาที่ถูกตรวจค้นพบระเบิด แต่ถูกทนายความปฏิเสธ เนื่องจากทหารไม่ใช่เจ้าพนักงานที่มีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

รวมมีผู้ถูกจับกุมจาก #ม็อบ29สิงหา อย่างน้อย 37 ราย ปล่อยตัวไม่ดำเนินคดี 8 ราย หนึ่งในนั้นเป็นช่างภาพอิสระที่ถูกควบคุมตัวไว้ราว 2 ชั่วโมง ถูกดำเนินคดีรวม 29 ราย เป็นกรณีเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.จราจรฯ แล้วปล่อย 5 ราย โดยเป็นเยาวชน 3 ราย และเป็นกรณีถูกดำเนินคดีที่มีโทษทางอาญารวม 24 ราย เป็นเยาวชน 10 ราย  

ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีอาญา ถูกตั้งข้อหามีวัตถุระเบิดในครอบครองรวม 10 ราย, มีวิทยุสื่อสาร 2 ราย, มีเสื้อเกราะ 2 ราย, ทำร้ายร่างกายผู้อื่น 1 ราย, ฝ่าเคอร์ฟิว 2 ราย ที่เหลืออีก 7 ราย ถูกตั้งข้อหา ชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 

ศาลให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 24 ราย โดยศาลอาญากำหนดเงื่อนไขผู้ต้องหา 12 ราย ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา และให้ 4 ราย คดีมีระเบิดติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ด้วย ใช้เงินกองทุนราษฎรประสงค์ในการประกันตัวรวมทั้งสิ้น 310,000 บาท 

.

จับที่ด่านก่อนแยกนางเลิ้ง 9 ราย ปล่อย 3 ราย แจ้งครอบครองระเบิด 5 ราย 

2 วัยรุ่น ถูกด่านเรียกตรวจพบระเบิดปิงปองในกระเป๋าสะพายของผู้ซ้อน 

ถิรนัย (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี และชัยพร (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี ถูกเรียกตรวจค้นรถบริเวณด่านใกล้แยกนางเลิ้ง เวลาประมาณ 14.30 น. ก่อนนำตัวไป สน.นางเลิ้ง และทำบันทึกจับกุมระบุว่า ชุดจับกุมประกอบด้วย คฝ.ร้อย 2 บก.น. 1 จำนวน 6 นาย และชุดสืบสวน สน.นางเลิ้ง 4 นาย โดยเวลาประมาณ 12.30 น. เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมได้ตั้งจุดตรวจด่านความมั่นคงที่บริเวณหน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ถ.นครสวรรค์ ต่อมาเวลาประมาณ 14.30 น. ได้ตรวจค้นรถจักรยานยนต์ซึ่งมีชัยพรขับขี่ และถิรนัยซ้อนท้าย พบระเบิดปิงปองบรรจุขวด 2 ลูก, ระเบิดปิงปองลูกบอลกลม 8 ลูก อยู่ในกระเป๋าที่ถิรนัยสะพายอยู่ และพบขวดบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง 4 ขวด ใต้เบาะรถจักรยานยนต์

พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองว่า “มีวัตถุระเบิดที่เจ้าพนักงานไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง” ถิรนัยและชัยพรไม่ได้ลงชื่อในบันทึกจับกุม หลังทำบันทึกจับกุมที่ สน.นางเลิ้ง พนักงานสอบสวนนำตัวไปสอบปากคำที่ บช.ปส. ก่อนนำตัวกลับมาคุมขังที่ สน.นางเลิ้ง ตลอดคืน

พบระเบิดทําเองในกระเป๋าสะพายเยาวชน 16 ปี ขณะขี่จักรยานยนต์มากับเพื่อน    

เวลาประมาณ 15.00 น. คฝ.และชุดสืบ สน.นางเลิ้ง ที่ด่านดังกล่าว ยังได้ตรวจค้นและจับกุม เยาวชนอายุ 16 ปี อีก 2 รายได้แก่ นัทและมีน (นามสมมติ) ก่อนนำตัวไปที่ สน.นางเลิ้ง จากนั้นส่งตัวไป บช.ปส.พร้อมคนอื่น บันทึกจับกุมซึ่งทำที่ บช.ปส.ระบุว่า ขณะตั้งด่าน นัทได้ขับขี่จักรยานยนต์ โดยมีมีนเป็นคนซ้อนท้ายมาจากแยกเทวกรรม เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกให้หยุดและตรวจค้นรถ พบวัตถุระเบิดแบบทําเองจากระเบิดปิงปอง 5 ลูก และลูกแก้ว 40 ลูก ในกระเป๋าสะพายของนัท แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายในตัวของมีน 

ก่อนแจ้งข้อกล่าวหานัทและมีนว่า “ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่เจ้าพนักงานไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครองโดย ผิดกฎหมาย” ทั้งสองปฏิเสธไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุม

เยาวชนอีกรายถูกค้นพบระเบิดปิงปอง

เวฟ (นามสมมติ) เยาวชน อายุ 17 ปี ขณะขี่จักรยานยนต์ผ่านด่านดังกล่าวเมื่อ 16.30 น. คฝ.ที่ด่านเรียกให้หยุดและตรวจค้น จากนั้นนำตัวไปที่ สน.นางเลิ้ง ก่อนทำบันทึกจับกุมระบุว่า จากการตรวจค้น พบระเบิดปิงปองพันด้วยผ้าเทปสีดํา 9 ลูก อยู่ในกระเป๋าสะพายหลังของตำรวจตั้งข้อหา “มีวัตถุระเบิดที่เจ้าพนักงานไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง” โดยเวฟไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุม

ดักจับวัยรุ่นถือท่อแป๊บมาจากดินแดง

ประมาณ 18.00 น. คฝ.และตำรวจที่ด่านดังกล่าวจับกุมวัยรุ่นอีกราย นำตัวไป สน.นางเลิ้ง ก่อนไปทำบันทึกจับกุมที่ บช.ปส. ระบุว่า ขณะชุดจับกุมตั้งด่านอยู่ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุ คฝ.บช.น. ให้สกัดจับบุคคลลักษณะ ผมฟู สวมหมวกกันน็อคสีฟ้าฯ ถือท่อเหล็กยาวประมาณ 4 ฟุต ซึ่งได้หลบหนีมาจากการชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดง ต่อมา ชุดจับกุมได้พบบุคคลลักษณะดังกล่าวขับรถจักรยานยนต์ จึงเรียกให้หยุดและตรวจค้น พบท่อแป๊ปแสตนเลสยาวประมาณ 1 เมตร ในมือซ้าย และหัวพ่นแก๊ส, แก๊สกระป๋อง, กล้องส่องทางไกล, น้ำมันเชื้อเพลิงบรรจุอยู่ในขวดเครื่องดื่มชูกําลัง 2 ขวด อยู่ในกระเป๋าสะพายหลัง จึงได้จับกุมส่งพนักงานสอบสวนดําเนินคดี โดยชิติพัทธ์ปฏิเสธไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุม

คดีนี้พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง เป็นเจ้าของคดี โดยแจ้งข้อกล่าวหาชิติพัทธ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปีว่า  “ร่วมกับพวกที่หลบหนี ชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

นอกจากนี้ ยังมีวัยรุ่นและเด็กถูกจับกุมที่ด่านนี้อีก 3 ราย นำตัวไป สน.นางเลิ้ง แต่หลังจากสอบปากคำเบื้องต้น พนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันแล้วปล่อยไป 

.

พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ควบคุม 2 วัยรุ่น ที่ สน. พร้อมเยาวชนอีกรายที่ผู้ปกครองไม่ได้มารับ ด้าน สน.ดินแดง คุมตัวอยู่ บช.ปส. ก่อนศาลให้ประกัน 

หลังสอบปากคำที่ บช.ปส. โดยมีทหารพยายามขอเข้าร่วม แต่ถูกทนายความปฏิเสธ พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีของตน ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร กลับไปคุมขังที่ สน.นางเลิ้ง รวมทั้งนัทซึ่งยังไม่มีผู้ปกครองเดินทางมารับ ส่วนมีนและเวฟ มีผู้ปกครองมารับกลับบ้าน โดยพนักงานสอบสวนนัดให้มาสอบคำให้การในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น (30 ส.ค. 2564) ขณะที่ชิติพัทธ์ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ควบคุมตัวอยู่ที่ บช.ปส.  

30 ส.ค. 2564 พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นฝากขังถิรนัยและชัยพรต่อศาลอาญาผ่านคอนเฟอเรนซ์ เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ที่ยื่นฝากขังชิติพัทธ์ หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวชัยพรและชิติพัทธ์ ส่วนถิรนัย ญาตินำเอกสารในการยื่นขอประกันตัวมาไม่ครบ ศาลอนุญาตให้ประกันชิติพัทธ์โดยตีราคาประกันในวงเงิน 15,000 บาท ส่วนชัยพรตีราคาประกันในวงเงิน 10,000 บาท และให้ติดกำไลติดตามตัว (EM) พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหากระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา นัดรายงานตัววันที่ 18 ต.ค. 2564 ทนายความใช้เงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน

ส่วนเยาวชนทั้งสามราย หลังพนักงานสอบสวนสอบปากคำในช่วงเช้า ได้นำตัวไปศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับ พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอควบคุมตัวเยาวชน โดยศาลมีคำสั่งให้ออกหมายควบคุมตัวทั้งสามไว้ระหว่างสอบสวน ก่อนอนุญาตให้ประกันตามที่ทนายความยื่นคำร้อง กำหนดวงเงินประกัน 20,000 บาท นัดรายงานตัวที่สถานพินิจฯ ในวันที่ 7 ก.ย. 2564 และรายงานตัวต่อศาลวันที่ 16 ก.ย. 2564

ทั้งนี้ ผู้ปกครองของเยาวชนทั้งสามได้วางเงินคนละ 2,000 บาท ก่อน ที่เหลือจะนำมาวางต่อศาลในวันที่ 14 ก.ย. 2564

ต่อมา วันที่ 31 ส.ค. 2564 ทนายความและญาติได้ยื่นคำร้องขอประกันถิรนัยโดยวางเงินสด 10,000 บาท และติด EM เช่นเดียวชัยพร ศาลอนุญาตพร้อมกำหนดเงื่อนไขและนัดรายงานตัวเช่นเดียวกับกรณีชัยพร

.

ตำรวจห้วยขวางพร้อมสันติบาลเข้าตรวจค้นร้านพระเครื่อง ก่อนจับกุมเจ้าของร้านและคนขับรถ พร้อมยึดวิทยุสื่อสาร ประทัดปิงปอง ธง “เยาวรุ่นทะลุแก๊ส”

เวลาประมาณ 16.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกำกับการตำรวจสันติบาล 1, กองกำกับการสายตรวจ และชุดสืบ สน.ห้วยขวาง ได้แสดงหมายค้นศาลอาญา เข้าตรวจค้นร้านขายพระเครื่องแห่งหนึ่ง แขวงดินแดง ก่อนตรวจยึดโล่ เสื้อคล้ายเสื้อเกราะ วิทยุสื่อสาร ประทัดปิงปอง และสิ่งของอื่นๆ และนำตัวภัทรพล (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี เจ้าของร้าน และรัชพล (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี คนขับรถ ไปที่ สน.ห้วยขวาง

บันทึกการตรวจจค้นจับกุม ซึ่งทำเสร็จหลังเที่ยงคืนระบุว่า เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นตามหมายค้นศาลอาญา ที่ ค.298/2564 เพื่อพบและยึดสิ่งของที่จะนำไปใช้ก่อเหตุรุนแรงในการชุมนุมทางการเมือง หลังตรวจค้น พบวิทยุสื่อสาร, ประทัดปิงปอง, โล่, เสื้อคล้ายเสื้อเกราะ, ธง “เยาวรุ่นทะลุแก๊ส” และอื่นๆ จึงตรวจยึดเป็นของกลาง พร้อมโทรศัพท์มือถือของภัทรพล รวม 10 รายการ เบื้องต้นภัทรพลระบุว่า วิทยุสื่อสารมีไว้ใช้ในงานอาสามูลนิธิฯ แต่ไม่มีใบอนุญาตมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่  

จากนั้นตํารวจยังได้เข้าตรวจค้นรถยนต์กระบะ ซึ่งภัทรพลนั่งเข้ามาจอดบริเวณร้านก่อนเจ้าหน้าที่เข้าแสดงตัว พบรัชพลเป็นผู้ขับขี่ และพบ วิทยุสื่อสาร, ประทัดปิงปอง, ป้ายไวนิล, ธง และอื่นๆ จึงตรวจยึดเป็นของกลาง พร้อมรถกระบะและโทรศัพท์มือถือของรัชพล 2 เครื่อง รวม 22 รายการ นำไปตรวจสอบหาพยานหลักฐานทางคดีและขยายผลในคดีต่างๆ 

ทั้งสองให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน หลังควบคุมตัวที่ สน.ห้วยขวาง ตลอดคืน พนักงานสอบสวนได้ขอฝากขังต่อศาลอาญาผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนอนุญาตให้ประกันตัว โดยตีราคาประกันสำหรับภัทรพล 25,000 บาท และรัชพล 50,000 บาท กำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหากระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา นัดรายงานตัววันที่ 18 ต.ค. 2564 ทนายความใช้เงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน

.

จับที่ดินแดง 26 ราย เป็นเยาวชน 11 ราย ถูก คฝ.ทำร้ายขณะจับกุม 6 ราย ไม่ดำเนินคดี 5 ราย

จับเยาวชน 1 ผู้ใหญ่ 1 ที่อาคารไทยวิวัฒน์ ตั้งข้อหาเยาวชน ทำร้ายร่างกายผู้อื่น

หลังเกิดเหตุการณ์ชายผมเกรียนถูกทำร้ายบริเวณอาคารไทยวิวัฒน์ ขณะถูกผู้ชุมนุมบริเวณนั้นพบว่าแอบถ่ายรูป ในเวลาประมาณ 18.40 น. โดยคมชัดลึกรายงานในภายหลังว่าเป็นทหารฝ่ายข่าว ต่อมา เวลาประมาณ 20.00 น. มีผู้ถูกจับกุมมาที่ บช.ปส. 2 ราย เป็นเยาวชนอายุ 15 ปี และชายวัย 29 ปี โดยเยาวชนถูกตั้งข้อหาว่าทำร้ายเจ้าหน้าที่

กรณี วุฒิ (นามสมมติ) เยาวชน บันทึกจับกุมระบุว่า ถูกจับกุมโดย คฝ. 2 นาย เมื่อเวลา 19.40 น. หน้าอาคารบริษัท ไทยวิวัฒน์ประกันภัย ถนนดินแดง มีพฤติการณ์กล่าวคือ ระหว่างการชุมนุมบริเวณดินแดง ได้มีชายไม่ทราบชื่อสกุล ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันทําร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ ที่บริเวณหน้าอาคารบริษัทไทยวิวัฒน์ประกันภัย ต่อมา เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม และเข้าควบคุมรักษาความสงบในพื้นที่ กระทั่งสามารถจับกุมผู้ต้องหานี้ ซึ่งเป็นผู้ร่วมชุมนุมได้ โดยชุดจับกุมจําได้ทันทีว่า ผู้ต้องหานี้ คือหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันทําร้ายชายคนดังกล่าว

พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง แจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย โดยผู้ร่วมกระทําความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแต่ผู้นั้นไม่เลิก และร่วมกันทําร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” 

วุฒิให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ประสงค์ลงรายมือชื่อในบันทึกจับกุม หลังเสร็จกระบวนการได้ปล่อยตัวกลับ 

อีกราย คือ ยูซุฟ (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมโดย คฝ. 2 นาย เมื่อเวลา 19.40 น. หน้าอาคารไทยวิวัฒน์เช่นเดียวกับวุฒิ บันทึกจับกุมระบุว่า หลังเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมบริเวณดินแดงเลิกการชุมนุม และเข้าควบคุมรักษาความสงบในพื้นที่ สามารถจับกุมผู้ต้องหานี้ซึ่งเป็นผู้ร่วมชุมนุมได้ หลังค้นตัวพบ มีดโกนและคัตเตอร์อย่างละ 1 อัน จึงยึดเป็นของกลาง พร้อมยึดหนังสะติ๊ก ลูกแก้ว และโทรศัพท์ เป็นวัตถุพยาน 

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวยูซุฟว่า “ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย โดยผู้ร่วมกระทําความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแต่ผู้นั้นไม่เลิก และพกพาอาวุธมีดไปที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุจําเป็น”  

ด่านความมั่นคงถนนอโศกดินแดงจับเยาวชน 3 วัยรุ่น 2 หลังค้นตัวพบระเบิด

เวลาประมาณ 21.30 น. มีเยาวชน 3 รายและวัยรุ่นอีก 2 ราย ถูกควบคุมตัวมาที่ บช.ปส. โดยถูกจับกุมที่ด่านตรวจถนนอโศกดินแดงเวลาประมาณ 19.40 น. ซึ่งมีตำรวจฝ่ายปราบปรามจากหลาย สน. สนธิกำลังกัน เจ้าหน้าที่ทำบันทึกจับกุมแยกเป็นกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น

กรณีก๊อตและเต๋า (นามสมมติ) อายุ 19 ปี บันทึกจับกุมระบุว่า ขณะชุดจับกุมร่วมกันตั้งจุดตรวจความมั่นคงที่บริเวณถนนอโศกดินแดง พบก็อตและเต๋าขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน จึงเรียกตรวจ และพบระเบิดแสวงเครื่องแบบไทยประดิษฐ์ พันด้วยเทปพันสายไฟสีดํา 9 ลูก อยู่ในกระเป๋าที่เต๋าสะพายอยู่ จึงตรวจยึดเป็นของกลาง และยึดรถจักรยานยนต์ ระเบิดปิงปอง 4 ลูก พร้อมทั้งโทรศัพท์ของทั้งสองเป็นวัตถุพยาน 

พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาก็อตและเต๋าว่า “ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง” และตั้งข้อหาก็อต “ใช้รถที่จดทะเบียนแล้วไม่แสดงแผ่นป้ายให้ถูกต้อง” อีก 1 ข้อหา 

ทั้งสองให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน ทั้งไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม

ส่วนเยาวชน 3 ราย ได้แก่ ภาค (นามสมมติ), ชัย (นามสมมติ) อายุ 14 ปี และนิด (นามสมมติ) อายุ 15 ปี บันทึกจับกุมระบุว่า หลังเรียกตรวจค้นรถจักรยานยนต์ที่ทั้งสามขับขี่ซ้อนกันมา โดยมีหน้ากากอนามัยปิดบังป้ายทะเบียน พบระเบิดแสวงเครื่องแบบไทยประดิษฐ์ พันด้วยเทปพันสายไฟสีดํา อยู่ในกระเป๋าที่เยาวชนคนหนึ่งสะพายอยู่ จึงตรวจยึดเป็นของกลาง และยึดรถจักรยานยนต์ พร้อมทั้งโทรศัพท์ของทั้งสามเป็นวัตถุพยาน ก่อนตั้งข้อหา “ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และร่วมกันนำวัสดุปิดบังป้ายทะเบียน” 

คฝ.เข้าจับกุมผู้ชุมนุมแถวราชปรารภ อ้างขว้างปาประทัดใส่ตำรวจที่ตั้งด่านปากซอยรางน้ำ ก่อนจับกุมวัยรุ่น 2 ราย เยาวชน 3 ราย 

คฝ.หลายนาย จับกุมศุภณัฐ (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี และกฤษณพล (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี และเยาวชนอีก 3 ราย ได้แก่ วัชรพล (สงวนนามสกุล) อายุ 16 ปี, ชัยวัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 17 ปี และเบญจศิริ (สงวนนามสกุล) อายุ 16 ปี ที่บริเวณถนนราชปรารภ เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. 

บันทึกจับกุมระบุว่า ขณะเจ้าหน้าที่ตํารวจตั้งจุดตรวจความมั่นคงบริเวณปากซอยรางน้ำ ถนนราชปรารภ ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายคนขว้างปาประทัด ระเบิด และใช้ลูกแก้วหรือของแข็งอย่างอื่น ยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่บริเวณจุดตรวจดังกล่าว ต่อมา ชุดควบคุมฝูงชนได้เดินทางมาถึงบริเวณดังกล่าว และสามารถจับกุมศุภณัฐและกฤษณพลได้ หลังค้นตัวทั้งสองไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่ได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง  รถจักรยานยนต์ 2 คัน และหนังสะติ๊กพร้อมลูกแก้วที่พบในตัวกฤษณพล ไว้เป็นวัตถุพยาน 

นอกจากนี้ ยังจับกุมเยาวชนทั้งสามรายได้ในบริเวณเดียวกัน ค้นตัวไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่พบมีดปลายแหลมยาวประมาณ 10 นิ้ว ในตัวชัยวัฒน์ ตรวจยึดเป็นของกลาง พร้อมยึดโทรศัพท์มือถือของทั้งสามไว้เป็นวัตถุพยาน 

พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง แจ้งข้อกล่าวหา ศุภณัฐและกฤษณพล “ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย โดยผู้ร่วมกระทําความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแต่ผู้นั้นไม่เลิก” 

และตั้งข้อหาเยาวชนทั้งสามรวม 3 ข้อหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งตั้งข้อหาเยาวชนที่พกมีดฐานพกพาอาวุธมีดไปที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุจําเป็น”  

ทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุม    

ทั้งนี้ การจับกุมโดย คฝ.ในบริเวณนี้ พบว่า มีผู้ถูกจับกุมได้รับบาดเจ็บถึง 4 ราย เป็นเยาวชน 2 ราย โดยให้ข้อมูลว่า จักรยานยนต์ที่ขับมาเกือบถูกรถกระบะของ คฝ.ขับเข้าชน เมื่อพวกตนกระโดดลงจากรถจักรยานยนต์ ก็ถูก คฝ.วิ่งเข้าจับกุมจนล้มหน้าคว่ำลงกับพื้น ก่อนถูกฟาดด้วยของแข็งที่หลัง และถูกเตะที่ขา ทั้งสองคนมีอาการปวดบริเวณที่ถูกทำร้าย 

ด้านศุภณัฐระบุว่า ถูก คฝ.ถีบรถจักรยานยนต์ล้มลง ก่อนเข้าทำร้ายและจับกุม โดยปรากฏบาดแผลถลอกบริเวณข้อศอกและหลังมือ อีกรายคือกฤษณพล มีรอยแดงช้ำบริเวณกกหูด้านขวา ระบุว่าเขาถูก คฝ.ชนจนรถล้ม ก่อนเตะที่ขา และใช้สนับเข่ากระแทกที่กกหู

ล้อมรถ 2 สามีภรรยา ที่สะพานข้ามแยกดินแดง ก่อนค้นรถพบเสื้อเกราะ

คฝ. 10 นาย จับกุม รังสรรค์และปราณี (สงวนนามสกุล) อายุ 50 และ 46 ปี ที่สะพานข้ามสามเหลี่ยมดินแดง เวลา 19.30 น. บรรยายพฤติการณ์การจับกุมว่า หลังชุดควบคุมฝูงชนสั่งให้ผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงเลิกการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เลิก เจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมรักษาความสงบในพื้นที่ และติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้งสองซึ่งเป็นผู้ร่วมชุมนุมได้ขณะขับรถออกจากที่ชุมนุม หลังตรวจค้นรถพบถังน้ำมัน มีน้ำมัน ¼ ของถัง, ขวดน้ำดื่มบรรจุน้ำมัน 10 ขวด, หน้ากากกันแก๊ส 1 อัน, เสื้อเกราะกันกระสุน 1 ตัว และอื่นๆ รวมทั้งพบหน้ากากอนามัยปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถด้านหน้าและหลัง จึงยึดไว้เป็นของกลางพร้อมรถยนต์รวม 9 รายการ พร้อมทั้งตรวจยึดโทรศัพท์ไอโฟนและซัมซุง รวม 2 เครื่อง ไว้เป็นวัตถุพยาน อ้างว่า ใช้ในการถ่ายรูปและนัดหมายเข้าร่วมการชุมนุม

เจ้าหน้าที่ตํารวจแจ้งข้อหา 5 ข้อหา ประกอบด้วย “ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย โดยผู้ร่วมกระทําความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแต่ผู้นั้นไม่เลิก, ร่วมกันมีซึ่งยุทธภัณฑ์ (เสื้อเกราะ) ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันนำวัสดุปิดบังป้ายทะเบียน”

จับประชาชน 2 ราย ริมถนนดินแดงขณะออกจากที่ทำงานหารถกลับบ้านไม่ได้จนหลังสามทุ่ม  

ศุภกร ฉางทรัพย์ และพงศธร เครือสมบัติ อายุ 24 ปี ถูก คฝ. สน.ดินแดง และ สน.อุดมสุข จับกุมบริเวณริมถนนดินแดง เมื่อเวลา 21.20 น. ก่อนนำตัวมา บช.ปส. กล่าวหาว่า  ออกนอกเคหะสถานระหว่างเวลา 21.00 – 04.00 น. โดยไม่ได้รับการยกเว้นหรือมีเหตุจําเป็นอื่นๆ ฝ่าฝืนข้อกําหนดออกความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ศุภกรและพงศธรให้การปฏิเสธชั้นจับกุมและสอบสวน เบื้องต้นเขาให้ข้อมูลว่า ถูกจับกุมขณะออกจากที่ทำงานลงบีทีเอสที่อนุสาวรีย์ชัยฯ และหารถแท็กซี่กลับบ้าน 

ด่านถนนประชาสงเคราะห์จับเยาวชนและวัยรุ่น 7 ราย ก่อนปรับ 5 ราย ฐานไม่สวมหมวกกันน็อค-ไม่มีใบขับขี่

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งด่านบริเวณถนนประชาสงเคราะห์ ยังได้จับกุมเยาวชนและวัยรุ่นอีก 7 ราย ในช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. และส่งตัวมาถึง บช.ปส. ราว 22.30 น. ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้เปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ผู้ถูกจับกลุ่มนี้รวม 5 ราย ส่วนอีก 2 ราย ปล่อยตัวโดยไม่ดำเนินคดี โดยรายหนึ่งระบุว่า ถูกจับขณะซ้อนท้ายเพื่อนไปเยี่ยมพ่อแม่ที่ติดโควิดอยู่ที่ประตูน้ำ ไม่ได้มาร่วมชุมนุม 

5 ราย ที่ถูกเปรียบเทียบปรับ มี 4 รายถูกปรับคนละ 400 บาท ฐานไม่สวมหมวกกันน็อคและขับรถจักรยานยนต์ซ้อนสาม รวม 3 ราย และฐานไม่สวมหมวกกันน็อคอีก 1 ราย ส่วนอีกรายถูกปรับ 500 บาท ฐานไม่มีใบขับขี่และใช้วัสดุปิดบังป้ายทะเบียน หลังลงบันทึกประจำวัน พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวไป

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายฯ ยังได้รับแจ้งว่า มีประชาชนถูกจับกุมอีก 2 ราย บริเวณด่านก่อนถึงดินแดง ในเวลาประมาณ 18.30 น. ก่อนได้รับการปล่อยตัวหลังจากนั้นไม่นาน อีกทั้งยังมีช่างภาพอิสระโพสต์เล่าว่าถูก คฝ.จับกุมขณะถ่ายภาพอยู่บริเวณข้างทางลงทางด่วนดินแดง แม้จะบอกว่าเป็นสื่อมวลชน และถูกคุมตัวอยู่หลังแนวตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 2 ชั่วโมงจึงได้รับการปล่อยตัว  

.

ศาลอาญาให้ประกันตัวทั้งหมด กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำตามที่ถูกกล่าวหาอีก พร้อมให้ติด EM ในคดีระเบิด ด้านศาลเยาวชนให้ 3 เยาวชนวางเงินประกันคนละ 2 หมื่น 

กรณีการจับกุมบริเวณดินแดง ซึ่ง สน.ดินแดง เป็นเจ้าของคดี วันที่ 30 ส.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลแขวงพระนครเหนือ 2 ราย ศาลอาญา 7 ราย และตรวจสอบการจับพร้อมขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางออกหมายควบคุมตัว 7 ราย 

ในส่วนของเยาวชน ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งว่าจับกุมโดยชอบ และให้ออกหมายควบคุมตัวทั้ง 7 ราย ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว ศาลอนุญาตให้ประกันทั้งหมด กรณีวัชรพล, ชัยวัฒน์ และเบญจศิริ ไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ในกรณีของเยาวชน 3 ราย ซึ่งถูกตั้งข้อหา มีวัตถุระเบิด ศาลให้วางเงินประกันรายละ 20,000 บาท ส่วนกรณีวุฒิ ซึ่งถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น เนื่องจากถูกดำเนินคดีเป็นครั้งที่ 2 ศาลให้วางเงินประกัน 5,000 บาท นัดรายงานตัวที่สถานพินิจวันที่ 7 ก.ย. 2564 และนัดรายงานตัวที่ศาลวันที่ 16 ก.ย. 2564 ทั้งนี้ ที่ปรึกษากฎหมายได้ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์รวม 25,000 บาท วางประกันในกรณีของวุฒิและนิด ส่วนคนอื่นๆ ผู้ปกครองวางเงินประกันเอง กรณีของนิดที่ปรึกษาได้วางต่อศาลก่อนเป็นเงิน 2,000 บาท และจะได้วางส่วนที่เหลือในวันที่ 14 ก.ย. 2564 

กรณีศุภกรและพงศธร ซึ่งพนักงานสอบสวนขออำนาจศาลแขวงพระนครเหนือฝากขังหลังถูกควบคุมตัวที่ บช.ปส.ทั้งคืน ทั้งสองได้แถลงข้อเท็จจริงต่อศาลว่า ไม่ได้มีเจตนาจะไปชุมนุม ในวันเกิดเหตุตนเดินทางจากที่ทำงานบริเวณแยกห้วยขวาง มาลงที่บีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยฯ ประมาณ 20.30 น. และเรียกแท็กซี่เพื่อจะกลับบ้าน แต่เนื่องจากบริเวณนั้นมีด่านทั้งสองข้าง ประกอบกับไม่มีแท็กซี่จอดรับ ประมาณ 20.40 น. มีพลเมืองดีผ่านมาพวกตนจึงขอขึ้นรถไปโดยขอให้ไปส่งที่ที่มีรถให้กลับบ้าน แต่พลเมืองดีคนดังกล่าวพาเข้าพื้นที่ชุมนุม เมื่อลงจากรถก็ถูก คฝ.เข้าจับกุมและทำร้ายร่างกาย 

หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกันตามที่ทนายความยื่นคำร้อง และนัดรายงานตัวต่อศาลวันที่ 29 ก.ย. 2564

อีก 7 ราย ที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวรวม 6 ราย ยกเว้นเต๋า เนื่องจาก ญาตินำเอกสารที่จะใช้ในการประกันตัวมาไม่ครบ ต่อมาในช่วงเย็น ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันทั้ง 6 ราย โดยกรณียูซุฟ, ศุภณัฐ และกฤษณพล ให้วางเงินประกันรายละ 35,000 บาท, กรณีรังสรรค์และภรรยา ซึ่งมีข้อหามียุทธภัณฑ์ (เสื้อเกราะ) ในครอบครอง ให้วางเงินประกันรายละ 25,000 บาท และกรณีก็อตซึ่งถูกตั้งข้อหามีวัตถุระเบิด ให้วางเงินประกัน 10,000 บาท และให้ติด EM โดยกำหนดเงื่อนไขในการให้ประกันทุกคนด้วยว่า ห้ามผู้ต้องหากระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา เช่นเดียวกับคดีของ สน.นางเลิ้ง และ สน.ห้วยขวาง นัดรายงานตัวต่อศาลในวันที่ 18 ต.ค. 2564  

จากนั้น ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวเต๋าในวันนี้ (31 ส.ค. 2564) ศาลอนุญาตให้ประกันโดยใช้หลักประกันและกำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกับก็อตซึ่งถูกจับกุมพร้อมกัน 

ทั้งหมดใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์รวม 7 ราย เป็นเงิน 175,000 บาท

.

เครดิตภาพประจำเรื่องจากเพจ ภาคีนิรนาม – Anonymous Party

X