เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 เวลา 18.17 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่ามีผู้ชุมนุม คือ จตุพล (สงวนนามสกุล) อายุ 18 ปี ถูกจับกุมในคดีที่ถูกกล่าวหาจากการเผารถยนต์ตำรวจ สน.ดินแดง หลังเหตุการณ์ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 ทั้งนี้ ได้มีผู้ชุมนุมที่ถูกแจ้งดำเนินคดีก่อนหน้าไปแล้ว จำนวน 3 ราย โดยเป็นเยาวชนจำนวน 2 ราย
หลังการจับกุมชุดจับกุมได้ควบคุมตัวจตุพลบริเวณแยกสุคนธสวัสดิ์ ไปทำบันทึกจับกุมที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ ระบุรายละเอียดว่า ในการจับกุมครั้งนี้อยู่ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ท.จักรพงษ์ กิ่งแก้ว , พ.ต.ท.ศุภากร แก้วเขียว และ พ.ต.ท.วิบูลย์ นนทะแสง ซึ่งเป็นรองผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 4
ชุดจับกุมเป็นตำรวจสืบสวนจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 จำนวน 5 นาย ได้ร่วมกันทำการจับกุมจตุพล ตามหมายจับของศาอาญา เลขที่ 1172/2565 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2565
ในเวลา 20.19 น. หลังทนายความเดินทางไปถึง บช.ปส. เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอมให้ทนายเข้าพบจตุพลในชั้นการทำบันทึกจับกุม และได้ทำการยึดโทรศัพท์ของจตุพลไปตั้งแต่ที่เขาได้ถูกควบคุมตัว โดยตำรวจบอกให้รอเข้าพบผู้ถูกจับในชั้นสอบปากคำแทน
เวลา 21.05 น. เป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงที่ทนายความไม่สามารถเข้าถึงตัวจตุพลได้ เนื่องจากตำรวจอ้างว่ายังทำบันทึกจับกุมไม่แล้วเสร็จ และไม่ยอมให้ใครเข้าถึงตัวผู้ถูกจับกุม จนกว่าจะทำบันทึกจับกุมเสร็จสิ้น
ก่อนในเวลา 22.40 น. ทนายความได้เข้าถึงตัวผู้ถูกจับ จตุพลได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ใน 5 ข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับผู้ถูกดำเนินคดี 3 ราย ก่อนหน้านี้ ได้แก่
1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น
2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์
3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
4. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน
5. ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
จตุพลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังการสอบสวน เขายังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บช.ปส. 1 คืน โดยตำรวจจะทำการขอฝากขังที่ศาลอาญาในวันถัดไป
ต่อมาในวันที่ 16 มิ.ย. 2565 เวลา 13.00 น. หลังศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังตามคำขอของพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ทนายความได้เข้ายื่นประกันตัวจตุพล
ก่อนศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุ “เป็นกรณีการกระทำของผู้ต้องหาตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรงมีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำการโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะและกระทำต่อทรัพย์สินของทางราชการ เชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนี หรือไปก่อภยันตรายอื่นได้ ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านในชั้นนี้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา ยกคำร้อง”
ทำให้จตุพลจะถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที โดยนอกจากจตุพล ยังมีกรณีวัชรพลที่ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวเช่นกัน โดยเขาถูกฝากขังมาตั้งแต่วันที่ 14มิ.ย. 2565 แล้ว
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
อ่านสรุปเหตุการณ์ >>> #ม็อบ11มิถุนา : ราษฎรเดินไล่ตู่ : Mob Data Thailand