ทบทวน#ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ การชุมนุมที่เป็นทั้งจุดสิ้นสุดเพดานเก่า-เริ่มต้นเพดานใหม่

การชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 16 สิงหาคม 2563 นับเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดหลังรัฐประหารปี 2557 โดยผู้จัดชุมนุมกล่าวว่ามีผู้เข้าร่วมราว 20,000-30,000 คน เนืองแน่นถนนราชดำเนิน

การชุมนุมใหญ่ครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นผลจากการสะสมการต่อต้านและชุมนุมหลายครั้งย่อยที่เริ่มต้นมาตั้งแต่การเกิดแฟลชม็อบนักศึกษาครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พักไปในช่วงโควิด ก่อนไต่ระดับความแหลมคมของประเด็นสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ที่สื่อต่างชาติใช้สำนวนว่า ผู้ชุมนุมกำลัง “ข้ามแม่น้ำรูบิคอน” เปรียบเทียบกับการได้ข้ามจุดที่ไม่อาจหวนกลับ โดยเฉพาะหลังนักศึกษาและประชาชนเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาในเวทีการชุมนุมเมื่อ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งนับเป็นหมุดหมายว่าประเด็นสาธารณะเกี่ยวกับสังคม-การเมืองไทยได้ถูกขยับแล้ว

ก่อนที่การต่อสู้และประเด็นสาธารณะจะเคลื่อนตัวต่อไป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอบันทึกการชุมนุมครั้งนี้ไว้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และเสียงประชาชนทุกกลุ่มมาถึงจุดควบแน่นในการชุมนุมครั้งนี้ได้อย่างไร

#ให้มันจบที่เรือนจำ และการกลับมาของ #คนเสื้อแดง

ก่อนหน้าการชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ เริ่มต้นขึ้น เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมมากมาย ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีข้อเรียกร้องของนักศึกษาที่ให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แกนนำจากการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อ 18 กรกฎาคม 2563 ถูกติดตามและจับกุม ภาคประชาสังคมแสดงออกถึงจุดยืนต่อต้านการคุกคามประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง  คณาจารย์ไม่ต่ำกว่า 60 คน ประกาศเตรียมพร้อมเป็นนายประกันหากมีผู้ถูกจับจากการชุมนุมใหญ่ #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ

ช่วงเช้าของวันที่ 16 สิงหาคม  เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน จัดเสวนา “ทำไมขบวนการแรงงานต้องร่วมปลดแอก” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว หนุนข้อเรียกร้องของ #ประชาชนปลดแอก หนึ่งเสียงสะท้อนในวงเสวนากล่าวว่า “การบริหารงานของรัฐบาล ทำให้ช่วงโควิด ชาวบ้าน-แรงงานไม่กลัวเคอร์ฟิว ไปรอการแจกอาหารตั้งแต่ตี 1 เพราะกลัวอดตาย กรณีปลายฝน (หญิงสาวผู้ทำอาชีพ รปภ. ซึ่งฆ่าตัวตายเพราะความยากจน โดยก่อนตายโพสต์เพลงของมาโนช พุฒตาล) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก ปลายฝนทำงานมากกว่า 8 ชม. ก็ยังไม่พอกิน”

คำกล่าวของ ‘ศรีไพร นนทรีย์’ หนึ่งใน “เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน”

ที่มาภาพ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

10.00 น. ผู้ชุมนุม #ประชาชนปลดแอก เริ่มเดินทางมาถึงถนนราชดำเนิน แต่ผู้จับจองพื้นที่ชุมนุมก่อนใคร คือผู้ชุมนุมย่อยสองกลุ่มที่มีอุดมการณ์ต่างกันสุดขั้ว นั่นคือ “ศูนย์กลางประสานงาน นักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” (ศอ.ปส.) ซึ่งรวมตัวกันปราศรัย ถือธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ อยู่หน้าหอศิลป์ร่วมสมัย ราชดำเนิน  และแถลงว่าจะเข้าสังเกตการณ์การชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ หากมีการพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ จะรวบรวมหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ และชูป้ายที่มีข้อความอย่าง #ให้มันจบที่เรือนจำ หนึ่งในผู้ปราศรัยกล่าวว่า  “ทุกวันนี้มีการก้าวล่วงสถาบัน เราจึงมาปกป้องเสาหลักของเรานั่นคือสถาบันพระมหากษัตริย์”

ขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่งของถนนราชดำเนิน บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา “กลุ่มเลือกข้างประชาธิปไตย” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงปราศรัยและตะโกน “ที่นี่มีคนตาย” ซึ่งอ้างอิงจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 ที่มุมถนนดินสอมีการจับกลุ่มชุมนุมย่อยของคนเสื้อแดงเช่นกัน และในเวลาต่อมาปรากฏหุ่น “ควายแดง” ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีผู้ไปถ่ายรูปด้วยอย่างสนุกสนาน  “เมืองไทยจะเจริญได้ต้องดูรากหญ้าให้แข็งแกร่งเสียก่อน แล้วต่อไปค่อยก้าวพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ” หนึ่งในผู้ปราศรัยกล่าว

การเข้าตรึงกำลังของเจ้าหน้าที่และการรุกคืบปักหลักของประชาชน

ช่วง 11.00-14.00 น. นับเป็นช่วงรอยต่อของการขยับพื้นที่จากบริเวณรายรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเข้าใกล้อนุสาวรีย์มากขึ้น โดยมีความเคลื่อนไหวสำคัญเกิดขึ้นดังนี้

11.48 น. ตำรวจเริ่มเข้าจัดระเบียบพื้นที่ พ.ต.ท.ทัตเทพ เลิศลักษณ์มีพันธ์ รองผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ ประกาศว่าให้ผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวที่ยืนบนพื้นผิวจราจรถอยขึ้นไปบนฟุตปาธ ก่อนที่ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่เทศกิจจะมาแจ้งพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยบริเวณดังกล่าวว่า ผู้อำนวยการเขต สังกัดกรุงเทพมหานคร สั่งไม่ให้ขายของบนฟุตปาธ จะเว้นพื้นที่ให้ทำกิจกรรมเท่านั้น

12.10 น. ปิยรัฐ จงเทพ (โตโต้) นำกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งเต็นท์ “มวลชนอาสา” ที่หน้าอาคารธนาคารไทยพาณิชย์ (เก่า) โดยเต็นท์นี้เป็นศูนย์กลางประสานงานของอาสาสมัคร ที่มาช่วยกันอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมหลายด้าน เช่น ดูแลรักษาความปลอดภัย คัดกรองวัตถุอันตราย จัดการการจราจร รับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน รักษาพยาบาล ยกของ เตรียมสถานที่ เดินระบบไฟฟ้า แจกจ่ายอาหารน้ำดื่ม ฯลฯ  โดยในการชุมนุมครั้งนี้มีมวลชนอาสา ราว 60- 70 คน มวลชนอาสาที่สวมเสื้อกั๊กสีส้มดูแลเรื่องการจราจร ส่วนมวลชนอาสาที่สวมเสื้อกั๊กสีเขียวดูแลความปลอดภัย และบริเวณใกล้เคียงกัน ที่หน้าร้านศึกษาภัณฑ์ ถ.ราชดำเนิน นิสิตจากสโมสรคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้มาตั้งบูธรับสมัครอาสาสังเกตการณ์ชุมนุม

13.00-13.30 น. เจ้าหน้าที่ตั้งแผงเหล็กกั้นตลอดแนวฟุตปาธตั้งแต่ป้อมจราจรบริเวณสี่แยกคอกวัวจนถึงอาคารธนาคารไทยพาณิชย์ (เก่า) และขยายแผงกั้นไปตลอดแนวฟุธปาธถนนดินสอ  โดยวางแผงเหล็กบีบทางเข้าให้กว้างประมาณ 2 เมตร จากป้อมจราจรบริเวณหัวถนนตะนาว ตรงข้ามหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครไปจนถึงหน้าร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ถนนราชดำเนิน

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าประจำหลังแผงกั้น และบอกประชาชนไม่ให้ลงถนนล้ำช่องทางเดินรถ 13.31 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มประจำการล้อมรอบฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยรั้วเหล็กไว้ก่อนชั้นหนึ่ง และฐานอนุสาวรีย์ปูลาดด้วยไม้ประดับแน่นขนัด

13.42 น. ที่บริเวณข้างร้านแม็คโดนัลด์หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ผู้ชุมนุมเริ่มนำเวทีเล็กและเครื่องขยายเสียงเข้าพื้นที่การชุมนุม ในเวลาใกล้เคียงกันนี้ที่ซอยหลังร้านแม็คโดนัลด์  มีผู้พบเจ้าหน้าที่หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด  (Explosive Ordnance Disposal : EOD) ประจำอยู่

14.03 น. ตำรวจหลายสิบนายได้เดินเข้าโรงเรียนสตรีวิทยา ลักษณะคล้ายเตรียมผลัดเวรเข้าประจำการ โดยหนึ่งในผู้เดินเข้าไปในโรงเรียนมีผู้กำกับกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ด้วย โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ได้ใช้ ร.ร.สตรีวิทยา เป็นศูนย์บัญชาการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาจาก 88 สน.

14.08 น. เจ้าหน้าที่ สน.ชนะสงคราม เริ่มนำแผงเหล็กกั้นบริเวณริมฟุตปาธตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางขาออก จากนั้นบรถกองสื่อสารของตำรวจซึ่งมีเสาสัญญาณขนาดใหญ่ได้เข้าสู่พื้นที่

13.50 น. ทางเฟซบุ๊กคณะประชาชนปลดแอกโพสต์ว่า “เวลาประมาณ 12.00 น. นักศึกษาคนหนึ่งลงรถเมล์ที่ป้ายใกล้กับม็อบศอปส. เมื่อเดินฝ่าการชุมนุมศอปส. อยู่ๆ มีบุคคลใดไม่ทราบฝ่ายยัดวัตถุทรงกลม ห่อหุ้มด้วยพลาสติกสีดำเข้ามาที่กระเป๋าของนักศึกษาคนดังกล่าว และบอกว่า ฝากหน่อย นักศึกษาตกใจ ไม่ทราบว่า จะทำอย่างไร จึงเดินข้ามถนนมาที่กองสลากฯ ฝั่งตรงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ นักศึกษาตัดสินใจแจ้งต่อผู้ไว้ใจ” ภายหลังหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดตรวจสอบวัตถุดังกล่าวแล้วพบว่าไม่ใช่วัตถุอันตราย

14.00 น. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้กั้นบริเวณเพื่อเชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยมีประชาชนสนใจร่วมลงชื่อเป็นจำนวนมาก

ผู้ชุมนุมขออ่าน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ตำรวจฟัง

แทบเป็นธรรมเนียมไปแล้วที่ก่อนการชุมนุมทุกครั้ง จะมีเจ้าหน้าที่รัฐมาอ่าน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กฎหมายที่เป็นผลพวงจากยุค คสช. ที่คงอยู่ถึงยุคปัจจุบันให้ประชาชนฟัง โดยข้อความที่เจ้าหน้าที่อ่านมักเป็นข้อกฎหมายเน้นย้ำไม่ให้ผู้ชุมนุมรุกล้ำพื้นที่สาธารณะและรบกวนผู้อื่น  แต่สำหรับการชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ผู้ชุมนุมได้ขอสลับบทบาทนี้

14.15 น. “ชลธิชา แจ้งเร็ว” ผู้แจ้งการชุมนุม ขึ้นเวทีอ่าน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฟัง  โดยกล่าวว่าวันนี้อยากอ่านกฎหมาย 2 มาตราจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้เจ้าหน้าที่ฟัง นั่นคือ ม.19 และ ม.20 ซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและดูแลเรื่องการจราจรให้ประชาชนซึ่งใช้สิทธิชุมนุม ชลธิชายังกล่าวว่าวันนี้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนมากแฝงมากับผู้ชุมนุม รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่แสดงตัวตนว่ามาจากหน่วยงานใด 14.18 น. กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษได้เข้าพื้นที่มาเสริมกำลัง

เข้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสำเร็จ

14.20 น. ประชาชนยืนเต็มพื้นที่ฟุธปาธตั้งแต่หน้าแมคโดนัลด์จรดกองสลากฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าประจำตลอดแนวแผงกั้นฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยา เพื่อกันไม่ให้ประชาชนลงจากฟุธปาธสู่ถนน และเพิ่มแผงกั้นถึงมาสี่แยกคอกวัว iLaw ตั้งข้อสังเกตว่าแม้ผู้จัดฯ จะแจ้งการชุมนุมขอปิดถนนตั้งแต่แยกคอกวัวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่ 10.00-23.59 น. แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวกลับยังมีรถสัญจร

14.30 น. กิจกรรมเวทีเล็กเริ่มต้นขึ้น นำโดยพิธีกรผู้เป็นที่คุ้นหน้าจาก #มอบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล ซึ่งชวนประชาชนชู 3 นิ้ว ตะโกน “ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ” จากนั้นพิธีกรและทีมสันทนาการครบชุดได้ชวนทุกคนในบริเวณนั้น รวมทั้งตำรวจมาแจวขับไล่รัฐบาล เรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหยุดการคุกคามประชาชน และเรียกร้องให้ ส.ว. 250 คน ที่มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ออกจากการเมือง

14.33  น. ประชาชนเดินไปปิดการจราจรบริเวณสี่แยกคอกวัว และมวลชนอาสาเข้าไปพูดคุยขอความร่วมมือให้ผู้ที่ยังใช้รถสัญจรให้พื้นที่แก่ประชาชนชุมนุม 14.40 น. ประชาชนเริ่มรื้อแผงกั้นฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยาและลงจากฟุธปาธสู่ถนนราชดำเนิน โดยมีเสียงตะโกนว่า “ถนนของประชาชน” ประชาชนส่วนหนึ่งขนอุปกรณ์จากเวทีเล็กมาตั้งบริเวณเกาะกลางถนนของถนนราชดำเนินใน ระหว่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับสี่แยกคอกวัว ประชาชนส่วนหนึ่งเดินไปปิดการจราจรถึงศาลเจ้าพ่อเสือ ไม่นานหลังจากนั้นรถซึ่งบรรทุกอุปกรณ์ติดตั้งเวทีใหญ่และเครื่องเสียงได้เข้าสู่พื้นที่ จากนั้นประชาชนได้ช่วยกันตั้งเวที

สำหรับบทบาทของเจ้าหน้าที่ในช่วงเวลานี้ ราว 14.45 น. บริเวณถนนราชดำเนินฝั่งสภาทนายความฯ และบริเวณทางเข้าฝั่งถนนตะนาว พบตำรวจในเครื่องแบบตั้งจุดตรวจกระเป๋าและอาวุธด้วยอุปกรณ์ตรวจจับโลหะ โดยไม่มีรายงานว่ามีการขอดูหรือขอถ่ายรูปบัตรประชาชน และในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ขยายจุดตรวจสแกนอาวุธมาถึงบริเวณจุดเข้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตรงสี่แยกคอกวัวด้วย

14.33 น. ประชาชนเริ่มจับจองพื้นที่ตั้งแต่หน้าร้านแม็คโดนัลด์ยาวไปทางฝั่งกองสลากจนเต็มพื้นที่ 14.54 น. รถสุขา 5 คัน ซึ่งผู้ชุมนุมจัดหาเข้าสู่พื้นที่และจอดที่สี่แยกคอกวัว  15.00 น. เป็นต้นมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมพลอยู่หน้าศูนย์เบนซ์ธนบุรี  สาขาราชดำเนิน ราว 50 คน ตำรวจสับเปลี่ยนกำลังเข้าออกโรงเรียนสตรีวิทยาราว 40 นาย และตำรวจหญิงในเครื่องแบบเข้าประจำการรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพิ่มเติมราว 20 คน

15.16 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.สำราญราษฎร์ ประกาศจากรถขยายเสียงว่าวันนี้ตำรวจมาอำนวยความสะดวก ดูแลการจราจรและความปลอดภัย และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโควิดและช่วยกันสอดส่องห้ามนำอาวุธเข้ามา

15.24 น. รถขยายเสียงของเจ้าหน้าที่ตำรวจเคลื่อนย้ายไปประจำที่จุดอื่น 16.00 น. มีผู้พบรถฉีดน้ำแรงดันสูงที่ใช้สำหรับสลายการชุมนุมและรถสำหรับควบคุมตัวนักโทษไปเรือนจำจอดอยู่รวม 6 คัน บริเวณหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ศอ.ปส. ยุติการชุมนุม การชุมนุมเวทีใหญ่เริ่มต้น

15.30 น. แกนนำ ศอ.ปส. ประกาศยุติการชุมนุม โดยกล่าวว่าเตรียมเก็บหลักฐานไปแจ้งความกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติพรุ่งนี้ หากพบการกระทำความผิด 15.58 น. ประชาชนสังเกตเห็นชายที่คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ 2 ราย (ไม่ทราบสังกัด) บนอาคารสูงตรงหัวมุมตัดระหว่างถนนดินสอกับถนนราชดำเนินขาออก และมีรถตำรวจจาก สน.บางเสาธง​ และ สน.พระยาไกร

16.00 น. กลุ่ม #นักเรียนเลว ขึ้นปราศรัยถึงปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียน ที่สะท้อนผ่านการตี การตัดผม และการใช้กฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และแสดงละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนักเรียนที่เจ็บปวดจากการถูกครูบังคับให้ตัดผม ก่อนปิดท้ายด้วยการร้องเพลง “ลามะลิลา” ที่ดัดแปลงให้มีเนื้อหาล้อเลียนการเมือง เช่น “ลามะลิลา ประเทศนี้เป็นของเรา ไม่ใช่ของเขา อยากที่เขาหลอกมา”

16.10 น. ผู้ปราศรัยคนแรกขึ้นปราศรัย ณ เวทีใหญ่ ย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน ของคณะประชาชนปลดแอก

3 ข้อเรียกร้อง
(1) รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย
(2) รัฐบาลต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง
(3) รัฐบาลต้อง “ยุบสภา” เพื่อเป็นการเปิดทางให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง

2 จุดยืน
(1) ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร
(2) ต้องไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

1 ความฝัน คือ การมี “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างแท้จริง
ผ่าน 3 ขั้นตอนที่ต้องเคลื่อนไหวและผลักดัน ได้แก่
(1) ปลด 250 สมาชิกวุฒิสภา ผ่านการแก้มาตรา 269-272
(2) ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
(3) ยุบสภา ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

นอกจากกลุ่มนักเรียนเลวผู้ขึ้นเวทีปราศรัยในช่วงเย็น ยังประกอบไปด้วย กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กลุ่มรณรงค์รื้อสร้างร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คณะผู้หญิงปลดแอกประชาชนกลุ่มเพศหลากหลาย

ประชาชนร่วมหมื่น เจ้าหน้าที่เจ็ดกองร้อย

16.30 น.  ประชาชนปิดถนนราชดำเนินกลางได้ทั้งสองฝั่ง ตั้งแต่บริเวณโรงเรียนสตรีวิทยาจรดเส้นทางมุ่งหน้าไปสะพานพระปิ่นเกล้า เป็นการปิดโดยสภาพเนื่องจากผู้ชุมนุมเต็มพื้นที่ ณ เวลานี้ ตำรวจตั้งจุดคัดกรองให้ผู้ชุมนุมเข้าทางเดียวเท่านั้นคือ บริเวณสี่แยกคอกวัว

16.38 น.  ที่ถนนดินสอ​ กลุ่ม สภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ” ซึ่งแต่งตัวเป็นพระสงฆ์และแม่ชี  นำโดย “สมาน ศรีงาม” ผู้เคยเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติได้มายืนแจกหนังสือ “คำถวายฎีกาคืนพระราชอำนาจ” โดยทางกลุ่มสภาประชาชนฯ กล่าวว่าสิ่งที่นักศึกษาทำอยู่คือการเปิดทางไปสู่การยึดอำนาจ​​ ไม่นานหลังจากนั้นตำรวจได้เชิญทางกลุ่มฯ ออกไปเนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตชุมนุม

16.45 น. ประชาชนสังเกตเห็นตำรวจจากกองตำรวจสื่อสาร ยืนบนรถตำรวจเพื่อถ่ายรูปประชาชนบริเวณใกล้แผงกั้นบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ในเวลาเดียวกันนี้  พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) ได้พานักศึกษาในนาม #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ราวสิบคน เดินขบวนชูป้าย 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตรย์เข้ามาในพื้นที่ชุมนุม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินตามจำนวนมาก

17.00 น. ผู้คนเริ่มหนาแน่นเต็มบริเวณถนนดินสอ BBC Thai รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลาย สน. จำนวน 7 กองร้อย กระจายกำลังโดยรอบที่ชุมนุม โดยประเมินว่ามีประชาชนร่วมชุมนุม ณ เวลา 16.30 น. ราว 3,000 คน เวลา 17.07 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงในเครื่องแบบบางส่วน เดินออกจาก ร.ร. สตรีวิทยา 17.25 น. ที่ตึกใกล้ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ประชาชนพบเห็นบุคคลคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยืนถ่ายรูปอยู่ภายในตึก

นาทีก่อนสัญญาณเน็ตล่ม

17.00 น. สำนักข่าวต่างๆ ไม่สามารถไลฟ์สดอย่างต่อเนื่องได้ หรือทำได้เพียงช่วงสั้นๆ ประชาชนมีปัญหาในการรับส่งข้อมูลให้กันและกัน ท่ามกลางข่าวลือว่าผู้ให้บริการเครือข่ายฯ ตัดสัญญาณโทรศัพท์  17.25 น. มีบุคคลคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยืนถ่ายรูปภายในตึกใกล้ร้านหนังสือริมขอบฟ้า  17.28 น. ตำรวจผลัดเปลี่ยนกำลังอีกครั้งที่สี่แยกคอกวัว 17.34 น. บริเวณถนนด้านหลังร้านเมธาวลัย-ศรแดง พบรถตู้ตำรวจ 4 คันจอดอยู่

17.40 น. ผู้ปราศรัยตั้งข้อสังเกตเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตอ่อน โดยมีผู้ชุมนุมบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าเกิดจากค่ายโทรศัพท์เลือกปฏิบัติ และเรียกร้องให้เจ้าของค่ายโทรศัพท์ยืนข้างประชาชน

18.00 น. ด้วยจำนวนประชาชนที่หลั่งไหลมาเป็นจำนวนกมาทำให้ มวลชนอาสา ทำการปิดถนนราชดำเนินกลางตั้งแต่บริเวณป้อมมหากาฬมุ่งหน้าไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  “มวลชนอาสา” ระบุเหตุที่ต้องปิดว่า ไม่ต้องการให้รถเข้าไปเพิ่มเติมใกล้ผู้ชุมนุมอีก ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้มีประชาชนสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่บางส่วนเริ่มประจำการบนตึกสูง

การชุมนุมภาคกลางคืน

18.09 น. ผู้ปราศรัยบนเวที #ประชาชนปลดแอก กล่าวถึงคดีของ “ศศิพิมล” แม่ลูกสอง ซึ่งถูกศาลทหารตัดสินจำคุกในคดี #มาตรา112 ถึง 56 ปี (รับสารภาพลดเหลือ 28 ปี) ปัจจุบันถูกคุมขังมาแล้ว 5 ปีครึ่ง

18.15 น. กรกนก คำตา ตัวแทนจากคณะ #ผู้หญิงปลดแอก ขึ้นปราศรัยรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายอาญาที่ระบุให้การทำแท้งมีความผิด “เราจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรถ้าแม้แต่เรื่องร่างกายของเรา สุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของเรายังถูกควบคุมโดยรัฐ รัฐมีบริการ แต่ไม่มีใครรู้ ไม่กล้าประชาสัมพันธ์” กรกนกกล่าว

18.31 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงกั้นมาปิดถนนหน้าหอศิลป์ร่วมสมัย ราชดำเนิน ไทยพีบีเอสรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมขอขยายเวลาชุมนุมไปจนถึงเวลา 24.00 น. แต่ตำรวจขอให้ชุมนุมถึงเวลา 22.00 น. พร้อมขอให้คัดเลือกบุคคลที่จะขึ้นปราศรัยบนเวทีและกำหนดประเด็นที่จะพูด แต่ขออย่าพูดเนื้อหาที่มีความล่อแหลม และผู้ชุมนุมกดดันให้ตำรวจเอาแผงเหล็กกั้นออกทั้งสองฝั่งได้สำเร็จ 18.51 น. ผู้ชุมนุมล้นมาถึงสี่แยกคอกวัว

18.35 น. เนื่องจากผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนพื้นที่คับแคบ ผู้ชุมนุมบางส่วนจึงเริ่มมีปากเสียงกับตำรวจ โดยตั้งคำถามว่าเอาแผงเหล็กมากั้นฟุตปาธเพื่อกันพื้นที่ว่างไว้ทำไม กระทั่งตำรวจยอมเอาแผงเหล็กกั้นบางบริเวณออก รวมทั้งหน้ากองสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมถึงฝั่งตรงข้าม

18.55 น. บริเวณสี่แยกคอกวัว มวลชนอาสาขอให้รถจักรยานยนต์ที่จอดบริเวณดังกล่าวขยับไปจอดแยกที่มุ่งหน้าไปสะพานพระปิ่นเกล้า เพื่อเว้นพื้นที่กับการชุมนุม 18.59 น. ตรงทางเข้าถนนดินสอ​ ตำรวจมาตั้งรั้วกั้นทางเข้าออก​ บีบทางเข้า-ออกให้แคบลง

19.05 น. บริเวณถนนข้าวสารพบรถตู้ รถกระบะ รวมถึงรถขนย้ายผู้ต้องหาของตำรวจหลายสิบคันจอดติดเครื่องยนต์ และมีตำรวจในเครื่องแบบนับร้อยนายนั่งอยู่เต็มทุกคัน จากการสอบถามพบว่าตำรวจเหล่านี้มาจากหลาย สน. เช่น ทุ่งสองห้อง ประชาชื่น ดอนเมือง สุทธิสาร เตาปูน พหลโยธิน คันนายาว ฯลฯ

ศิลปะกับการเมือง

การชุมนุมวันนี้นอกจากมุ่งนำเสนอประเด็นทางการเมืองอันแหลมคม การชุมนุมยังมีบรรยากาศแบบเทศกาลศิลปะและการเมือง (Arts & Politics Festival)  โดยมีผู้นำเสนอประเด็นทางสังคมผ่านงานศิลปะหลายรูปแบบเช่นการแสดงละครของ  B-Floor กิจกรรมสกรีนเสื้อของ Iconoclastor การทำกิจกรรมของ ดารา-นักร้อง/เครือข่ายศิลปินร่วมสมัยเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มคนทำภาพยนตร์อิสระ Ten Years Thailand นำโปสเตอร์ภาพยนตร์จากโปรเจกต์ Ten Years Thailand มาให้ประชาชนเขียนความหวังต่อประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า หนึ่งในตัวแทนจาก Ten Years Thailand กล่าวว่า “ศิลปะเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างอิสระ และความหมายของศิลปะเองเป็นสิ่งเดียวกับคุณค่าของประชาธิปไตย ยิ่งเราอยู่ในสังคมที่มีประชาธิปไตยมาก เราจะสามารถพูด วิจารณ์ หรือสร้างงานโดยไม่มีขอบเขตและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้ไม่สิ้นสุด”

ภาพจาก B-Floor

ช่วงเย็น บนผิวถนนราชดำเนิน  มีการติดตั้งนิทรรศการ “เหยื่อกระบวนการยุติธรรม” เพลง Do you hear the people sing เป็นเพลงหลักที่อยู่ในทุกช่วงกิจกรรมของวันนี้  รายการศิลปะการแสดงในช่วงค่ำมีหลายรายการ เช่น การแสดงละครของ B-Floor เรื่อง “ปีศาจ” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากบทประพันธ์ของเสนีย์ เสาวพงศ์  การแสดงดนตรีของ Rap Against Dictatorship การแสดงศิลปะและดนตรีของพิสิฎฐ์กุล ควรแถลง และการยิงเลเซอร์ข้อความ เช่น #ลบยังไงก็ไม่ลืม #Saveอานนท์ #Saveวันเฉลิม #ตามหาความจริง #ให้มันจบที่รุ่นเราไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฯลฯ

เวทีเสวนาหลากหลายประเด็น

ในการปราศรัยบนเวทีใหญ่ของการชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมหลายกลุ่มขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่กว้างขวาง เช่น 19.30 น. อรรถพล บัวพัฒน์ ตัวแทนจากกลุ่ม #ขอนแก่นพอกันที ขึ้นปราศรัย  20.00 น. ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนขึ้นอภิปราศรัย  21.10 น. สมบูรณ์ คำแหง นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจาก จ.สตูล ขึ้นปราศรัยถึงการข่มขู่คุกคามผู้เคลื่อนไหวเรื่องทรัพยาการและสิ่งแวดล้อม 21.20 น. ซูกริฟฟี ลาเตะ ประธานสหพันธ์นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนปาตานี (PerMAS) ขึ้นปราศรัยถึงการคุกคามที่เกิดขึ้นที่อยู่ในทุกอณูของชีวิตประจำวัน เช่น การถูกตรวจบัตรประชาชน การดักโทรศัพท์ การค้นบ้านโดยไม่มีหมายค้น การอุ้มคนเข้าค่ายทหาร ฯลฯ 22.06 น. อานนท์ นำภา ปราศรัย ย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน และยืนยันว่าแม้ถูกยับยั้งไม่ให้ฝันแต่เขายังยืนยันความฝันที่ “ต้องการเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง”

การแสดงตัวของผู้ที่คาดว่าจะถูกดำเนินคดี 31 คน จากเวที #เยาวชนปลดแอก

สืบเนื่องจากสถานการณ์ก่อนถึงวันชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ได้มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบปรากฎตัวใกล้เคียงบริเวณที่พักของนักศึกษา-ประชาชน จากเวที #เยาวชนปลดแอก อยู่หลายครั้ง ทำให้นักศึกษา-ประชาชน ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเพราะต้องคอยเฝ้าระวังสถานการณ์

22.30 น. นักศึกษา-ประชาชนจำนวน 31 คนจึงออกมายืนหน้าเวที และประกาศขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาชี้แจงบนเวทีปราศรัยว่าผู้ใดมีหมายเรียกหรือหมายจับบ้าง โดยให้เวลาเจ้าหน้าที่ 5 นาที แต่ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ออกมาชี้แจงแต่อย่างใด

22.37 น. แกนนำอ่านแถลงการณ์ย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน และประกาศยุติการชุมนุม 23.00 น. นักศึกษา-ประชาชน ผู้ที่คาดว่าจะถูกดำเนินคดีจากเวที #เยาวชนปลดแอก​ เดินทางไปถามความชัดเจนที่​ สน.สำรา​ญ​ราษฎร์​ ว่าตำรวจได้ออกหมายจับคดีนี้กับพวกตนนี้หรือไม่​ กี่คน​ และใครบ้าง​ แต่​เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้ความชัดเจน  23.50 น. นักศึกษา-ประชาชนทั้งหมดจึงเดินทางมารอความชัดเจนและประชุมคดีบริเวณเสาชิงช้า

23.30 น. ประชาไท รายงานว่า ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบ จากตำรวจศูนย์สืบนครบาล 4 ตามฝ่ายฉายเลเซอร์งาน #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ถึงที่พัก

00.30 น. ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี (ฟอร์ด) หนึ่งในนักศึกษา-ประชาชน ที่เดินไป สน.สำราญราษฎร์ ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า​ ที่ไป​ สน.สำรา​ญ​ราษฎร์​ ไม่ได้จะไปมอบตัว​ แต่ไปสอบถาม​เกี่ยวกับหมายจับ​ หากมีหมายจับจะให้ตำรวจ​เข้าจับกุมตามหมาย​ แต่จนถึงปัจจุบัน​ยังไม่มีความชัดเจน​จากทางตำรวจ​ คืนนี้ทุกคนจึงจะแยกย้ายกลับบ้านไปพักผ่อนก่อน

00.42 น. ผู้ที่คาดว่าจะถูกกล่าวหาในคดียุยงปลุกปั่นจากการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ทยอยออกจากพื้นที่เสาชิงช้า แกนนำเยาวชนบอกกับตำรวจว่า “เราจะกลับไปเรียนหนังสือแล้ว อย่ามาตามจับเราอีก” ก่อนประกาศว่าพบกันใหม่ในการชุมนุมครั้งหน้า

X