3 ผู้ชุมนุมอิสระเข้ามอบตัวคดีถูกกล่าวหาทุบ-เผารถตำรวจ #ม็อบ11มิถุนา65 ก่อนศาลให้ประกันตัวเฉพาะเยาวชน 2 ราย

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565 ที่ สน.ดินแดง ผู้ชุมนุมอิสระจำนวน 3 คน โดยเป็นเยาวชนจำนวน 2 คน ได้เดินทางเข้ามอบตัวในคดีที่ถูกกล่าวหาเรื่องการทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 ซึ่งเป็นกิจกรรมเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

หลังการชุมนุมในวันดังกล่าว มวลชนอิสระบางส่วนกระจายตัวไปยังทางแยกดินแดง และพยายามเดินไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ1) ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  โดยได้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ รวมถึงเกิดเหตุเผารถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จอดอยู่บริเวณตรงข้ามตลาดศรีวานิชก่อนลงอุโมงค์สามเหลี่ยมดินแดง 

ต่อมาในวันที่ 12 มิ.ย. 2565 พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เรียกประชุมชุดพนักงานสอบสวน โดยให้สัมภาษณ์ว่า อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ร่วมชุมนุมและก่อเหตุในลักษณะที่ทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหาย จากเหตุที่รถตำรวจถูกเผา อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลออกหมายจับ

เวลา 9.00 น. ที่สน.ดินแดง “มั่นคง” (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี และ “สว่าง” (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี พร้อมที่ปรึกษาทางกฎหมาย เดินทางเข้ามอบตัวกับ พ.ต.ท.จิรภา จันนะรา สารวัตร (สอบสวน) สน.ดินแดง

ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุว่าเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565  ก่อนเกิดเหตุ มีการชุมนุมของกลุ่มมวลชน คนเสื้อแดง โดยมีการโพสต์ลงในสื่อเฟซบุ๊กเพจ “ราษฎรไล่ตู่ คนแดงปฏิวัติ” เชิญชวนให้ออกมาร่วมจัดกิจกรรม “เดินไล่ตู่” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาเวลาประมาณ 17.51 น. ผู้ชุมนุมได้ยุติกิจกรรม 

ผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้ามาจัดกิจกรรมในพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ดินแดง ตั้งแต่ เวลาประมาณ 18.12 – 22.50 น. มีการรวมตัวและก่อเหตุในลักษณะก่อความวุ่นวายสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่และผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจรไป-มา นั้น มีกลุ่มจักรยานยนต์ของกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 30 คัน ขับขี่ผ่านเพื่อไปรวมกลุ่มกันบริเวณใต้ด่วนดินแดง และช่วงขณะนั้นกําลังจะมีเส้นทางเสด็จ 943 4431 เสด็จผ่านบริเวณทางด่วนดินแดง 

ในขณะนั้น พ.ต.ท.กิตติพันธ์ แท่นตั้งเจริญชัย รอง ผกก.ปราบปราม สน.เตาปูน ได้ประสานให้ชุดเคลื่อนที่เร็วของ สน.ดินแดง นํารถยนต์มาปิดการจราจรบริเวณดังกล่าวและได้สั่งการให้รถทุกคันลงอุโมงค์ให้หมด เพื่อจะทําการปิดกั้นแผงเหล็กก่อนถึงแยกใต้ด่วนดินแดง เพื่อจะทําการปิดล้อมและผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมออกนอกพื้นที่ 

ต่อมา เจ้าหน้าที่ คฝ. ได้เข้ามาผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณแยกใต้ด่วนดินแดง ทําให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่รวมตัวอยู่บริเวณแยกใต้ด่วนดินแดงร่นถอยมารวมตัวกันอยู่บริเวณซอยวัดตะพานหรือซอยตลาดศรีวณิช ซึ่งเป็นจุดตรงข้ามกับที่รถของชุดเคลื่อนที่เร็วจอดเพื่อปิดกั้นการจราจรอยู่ จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยิงลูกแก้ว ประทัด และปาหิน เข้าใส่รถยนต์ของทางราชการที่จอดอยู่ เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วจึงได้ยิงตอบโต้ด้วยปืนลูกซองกระสุนยาง แต่ไม่สามารถหยุดยั้งกลุ่มผู้ชุมนุมได้ 

เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วจึงได้ถอยหลบเข้าที่กําบังบริเวณโรงแรมมิตรภาพเทียร่า กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้เข้าทําการทุบทําลายพร้อมด้วยปาระเบิดเพลิงและราดน้ํามันจุดไฟเพื่อทําลายรถยนต์ของทางราชการ สน.ดินแดง เมื่อเหตุการณ์เริ่มสงบลง ตรวจสอบเบื้องต้นรถยนต์ทั้ง 2 คัน โดนทุบกระจกได้รับความเสียหาย แต่ยังสามารถขับเคลื่อนได้ จึงได้นํารถยนต์ทั้ง 2 คัน กลับมายังที่ตั้ง สน.ดินแดง เพื่อทําการสํารวจความเสียหายอีกครั้ง ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า กระจกด้านหน้าแตกทะลุได้รับความเสียหาย และมีร่องรอยจากการเผาทําลาย

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุถึงผู้ต้องหาจำนวน 8 คน ซึ่งขณะนี้ทราบชื่อแล้ว 3 คน โดยมีพฤติการณ์แตกต่างกันไป 

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 5 ข้อกล่าวหา แก่เยาวชนทั้ง 2 คน ประกอบด้วย

1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น
2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358  ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์

3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
4. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน

5. ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ทั้งคู่ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน พนักงานสอบสวนยังได้นำตัวทั้งสองคนไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง 

ก่อนศาลได้เรียกหลักประกันทั้งสองคน คนละ 10,000 บาท โดยเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ และมีบิดา-มารดาเป็นนายประกัน ศาลได้นัดทั้งคู่ไปยังศูนย์ให้คำแนะนำและคำปรึกษาอีกครั้งในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 เวลา 8.30 น.

วันเดียวกัน วัชพล (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี ได้เข้ามอบตัวที่ สน.ดินแดง เช่นกัน ก่อนตำรวจจะขอเปลี่ยนสถานที่รับมอบตัวเป็นกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ในเวลา 15.00 น. ทั้งนี้วัชรพลทราบจากพี่ชายว่ามีตำรวจเดินทางไปหาที่บ้านพักพร้อมหมายจับ แต่ไม่พบตัว จึงประสานงานเดินทางเข้ามอบตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ  

บันทึกรับมอบตัวระบุว่า วัชรพลเข้ามอบตัวตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1129/2565 ลงวันที่ 12 มิ.ย. 2565 โดยเป็นข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับ “มั่นคง” และ “สว่าง” ก่อนหน้านี้ โดยเขาให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา

วัชรพลถูกควบคุมตัวอยู่ บช.ปส. เป็นเวลา 1 คืน ก่อนถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ต่อมาศาลอนุญาตให้ฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุเหตุผลเห็นว่าข้อกล่าวหาตามที่ถูกกล่าวหามีลักษณะร้ายแรง อัตราโทษสูง เป็นการร่วมกันกระทำการใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำต่อทรัทย์สินราชการ เชื่อว่าหากปล่อยตัวไปจะหลบหนี หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก

การไม่ได้ประกันตัวดังกล่าว ทำให้วัชรพลถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 


ดูสรุปเหตุการณ์ #ม็อบ11มิถุนา65 โดย Mob Data Thailand

X