“ขอแสตมป์ กับซองจดหมาย”: บันทึกเยี่ยม ‘นัท’ เยาวชนผู้ถูกกล่าวหาเผาตู้สัญญาณไฟจราจร

การไปเยี่ยม “นัท” ครั้งที่ 2 แอบเกร็งๆ นิดหน่อย เพราะคราวที่แล้วบอกนัทไว้ว่าจะมาเยี่ยมอีก แต่ก็ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะได้เจอกัน หลังจากที่ได้เยี่ยมนัทวันนั้น มีเรื่องของนัทให้ต้องจัดการ ทั้งตามหาญาติ ทั้งพูดคุยคนทำงานด้านสิทธิเด็ก อย่าง ‘ป้ามล’ ทิชา ณ นคร และช่วยประสานงานกับองค์กรด้านสิทธิเด็ก อย่างมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัวที่จะมาเป็นผู้ดูแลเด็กในระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย ประกอบกับคดีเก่าๆ ที่เริ่มกลับมานัดหลังจากเลื่อนเนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้รู้สึกผิดกับนัทเหมือนกัน

วันนี้รีบไปหานัทที่บ้านเมตตา โดยขอเข้าเยี่ยมในฐานะที่ปรึกษากฎหมายที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว ตอนแรกเกือบจะไม่ได้เข้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ แจ้งว่าเป็นช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถเยี่ยมได้ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่อีกคนบอกว่าเยี่ยมได้ เพราะแต่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายแล้ว แต่ได้เยี่ยมผ่านทางวิดีโอไลน์เท่านั้น โดยให้ทำบันทึกข้อความขอเยี่ยมถึงผู้อำนวยการสถานพินิจฯ และแอดไลน์ของบ้านเมตตา

รอสักประมาณครึ่งชั่วโมง บ้านเมตตาวิดีโอไลน์เข้ามาที่มือถือส่วนตัว เมื่อกดรับเห็นภาพนัทนั่งอยู่ในห้องสำนักงาน ไม่ได้อยู่ในห้องควบคุม วันนี้เขาใส่เสื้อฟอร์มของบ้านเมตตาสีเหลืองม่วง และมีแมสก์ปิดหน้า ผมของนัทสั้นลงกว่าครั้งก่อน ช่วงแรกเราสื่อสารกันไม่ได้ยินเท่าไร แต่ไม่นานเสียงก็ได้ยินดีขึ้น

ทักทายนัทด้วยประโยคแรกว่า “จำพี่ได้หรือเปล่า ขอโทษที่พี่หายไปหลายวัน” และรีบบอกการไปทำงานเกี่ยวกับการติดตามหาผู้ปกครองมาประกันตัว ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ปกครองที่จำเป็นต้องบอกนัทนี้ แม้ไม่ได้เรียนทางด้านจิตวิทยา แต่ใช้วิจารณญาณก็คิดได้ว่า มันเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและอาจสร้างความสะเทือนใจได้ จึงขอพักการคุยกับนัท และปรึกษานักสังคมสงเคราะห์ว่าสามารถบอกกับนัทได้โดยตรงตามสำนวนภาษาของทนายความได้หรือไม่ หรือต้องพูดผ่านนักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่ประเมินว่า นัทพร้อม และข้อมูลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคดีที่นัทจำเป็นต้องรู้ จึงได้บอกนัทถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว

ในที่นี้คงสามารถเล่าในบันทึกนี้ได้เพียงแค่ว่า ผู้ปกครองซึ่งเป็นครอบครัวบุญธรรมและผู้ให้กำเนิดมีเหตุผลส่วนตัวที่ยังไม่อาจมาประกันตัวและรับนัทไปดูแลระหว่างการดำเนินคดีได้ในตอนนี้

เราจึงถามว่า “ถึงตรงนี้รู้สึกยังไง บอกพี่ได้นะ” นัทนิ่งเงียบไปและบอกว่า “ไม่เป็นไร แต่อยากให้อาม่ามาเยี่ยม” และฝากให้ตามหาคนอีกคนที่นัทรักและเรียกว่า “แม่” ที่อยู่พระประแดง นัทว่า “หาให้หน่อย” จึงรับว่าจะตามหาให้ แต่ก็จำเป็นต้องพูดกับนัทตรงๆ ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา

เราใช้เวลาพูดคุยเรื่องผู้ปกครองพอสมควร แต่ใจความสำคัญของการเยี่ยมวันนี้ เพื่อแจ้งข่าวดีกับนัทว่า มีพี่และองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิเด็กที่เค้ารู้เรื่องนัทว่าไม่ได้ประกันตัว เพราะไม่มีผู้ปกครองรับไปดูแล พวกเขาอยากเจอนัทเพื่อพูดคุยทำความรู้จักกันก่อนที่จะมาแถลงเป็นผู้ดูแลในคดี “วันนี้พี่จะยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสถานพินิจฯ ขอให้พี่และองค์กรด้านสิทธิเด็กได้เข้าเยี่ยมพร้อมกับพี่ เพื่อเตรียมตัวก่อนไปแถลงต่อศาล ส่วนผลจะเป็นยังไงจะมาบอกให้นัทรู้ในครั้งหน้า”  

ตอนแรกนัทยังไม่ค่อยเข้าใจว่าพูดถึงเรื่องอะไร แล้วเกี่ยวกับเขายังไง อาจจะเพราะใช้คำทางกฎหมายมากไป เลยต้องพูดกันหลายรอบสรุปได้ว่า บอกกับนัทว่า คนที่ถูกดำเนินคดีอาญาไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก ถ้าศาลยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินว่าเราทำผิด เขายังถือว่าเราเป็นผู้บริสุทธิ์ เราจึงมีสิทธิได้ประกันตัว คดีของนัทถ้ามีผู้ปกครองมาประกันตัวและรับไปดูแล นัทก็ได้ออกมาสู้คดีข้างนอกเหมือนเพื่อนนัทที่ถูกคดีเดียวกัน แต่มีพ่อแม่มาประกัน เขาก็สู้คดีข้างนอก จึงต้องหาทางช่วยเหลือนัทด้วยการตามหาผู้ปกครอง และการประสานคนหรือองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิเด็กที่เข้าใจเรื่องนี้ มาเป็นผู้ดูแลนัทกรณีที่นัทหาผู้ปกครองไม่ได้จริงๆ อันเป็นขั้นตอนทางกฎหมาย 

ได้พูดคุยเรื่องที่จำเป็นต้องพูดแล้ว จึงได้ถามไถ่ถึงชีวิตความเป็นอยู่ในบ้านเมตตา นัทบอกว่าอยู่นี่ ครูให้ทำแบบฝึกหัด และเรียนตัดผม จึงได้ถามว่าชอบอะไร นัทบอกว่าชอบเล่นกีฬา

ช่วงสุดท้ายของการพูดคุยเพราะใกล้เวลาที่นัทต้องพักเที่ยง ได้ถามว่านัทจะฝากอะไรไหม นัทฝากบอกให้อาม่ามาเยี่ยมเขาบ้าง และถามถึงที่อยู่ของอาม่าและแม่ผู้ให้กำเนิด เพราะอยากเขียนจดหมายไปหาทั้งสองคนนี้ เขาบอกว่าเมื่อก่อนจำได้ แต่มันลืมๆ แล้ว นัทเอียงคอแล้วเกาหัว แกร๊กๆๆ

และเราถามอีกว่าถ้าเขาให้ฝากของเข้าไปได้ หรือซื้อของที่นี่ฝากได้ อยากให้พี่ฝากอะไรเข้าไปให้ นัทคิดสักพักแล้วบอกว่า “แสตมป์กับซองจดหมาย”

ก่อนจะวางสายถามว่ามีอะไรอีกไหม นัทพูดว่า “ที่อยู่ของพี่ล่ะ” เราจึงถามไปว่า “ที่อยู่พี่ จะเขียนจดหมายถึงพี่เหรอ ได้ๆ” นัทพยักหน้าแบบกวนๆ เราอดขำไม่ได้ และปิดท้ายการสนทนาว่า “เดี๋ยวพี่มาเยี่ยมใหม่”

แล้วได้ยื่นหนังสือขอให้พี่และองค์กรด้านสิทธิเด็กเข้าเยี่ยม เพื่อให้พวกเราได้มีโอกาสพูดคุยและช่วยเหลือนัทอย่างที่ตั้งใจไว้ ก่อนออกมาจากบ้านเมตตา มีความหวังอยู่ลึกๆ ว่า มันจะผ่านไปได้ด้วยดีเพราะสิ่งที่เราและคนอื่นๆ กำลังทำอยู่นั้นไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตัวเอง แต่ทั้งหมดเพื่อประโยชน์สูงสุดของนัท ที่ยังเป็นเพียงเยาวชนและยังเป็นผู้ต้องหาที่ควรมีสิทธิได้ประกันตัวออกมาต่อสู้คดีข้างนอกที่ไม่ต้องถูกจำกัดอิสรภาพ

3 พฤศจิกายน 2564

ศูนย์แรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา

——————————————-

นัท (นามสมมติ) คือ เด็กหนุ่มวัย 16 ปี ผู้ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่า ‘เผาตู้สัญญาณไฟจราจร-ป้อมตำรวจ’ จำนวน 8 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 23 กันยายน 2564 และถูกกล่าวหาเป็น 8 คดีด้วยกัน ซึ่งต่อมาศาลเยาวชนฯ ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากไม่มีผู้ปกครองเดินทางมารับรอง เขาจึงถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตา ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 64 มาจนถึงปัจจุบัน  

.

อ่านเพิ่มเติม

วุฒิ ป.6-ดิ้นรนหาเลี้ยงชีพเองตั้งแต่ 14: บันทึกเยี่ยม ‘นัท’ เยาวชนผู้ถูกกล่าวหา ‘เผาตู้สัญญาณไฟจราจร’

.

X