บุกค้นแคมป์ก่อสร้างดินแดงก่อน #ม็อบ24กันยา จับ 14 ราย เป็นเยาวชน 12 ราย เด็กสุด 12 ปี สุดท้ายดำเนินคดี 3 ราย ฐานมีระเบิด-วางเพลิงตู้ไฟจราจร

วันที่ 24 กันยายน 2564 จากกรณีการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส ของมวลชนอิสระ บริเวณแยกดินแดงและถนนมิตรไมตรี เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจออกจับกุมประชาชนที่แคมป์ที่พักคนงานก่อสร้าง บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.30 น. ซึ่งการชุมนุมยังไม่ได้ก่อตัวขึ้นด้วยซ้ำไป โดยตำรวจคาดว่าแคมป์ที่พักดังกล่าวมีการกระทำผิดกฎหมาย และเกี่ยวโยงกับม็อบทะลุแก๊ส จึงได้ขอศาลออกหมายค้นและเข้าตรวจค้นในวันดังกล่าว

โดย เวลา 15.45 น. เพจเฟซบุ๊ก กะเทยแม่ลูกอ่อน ได้รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน สน.ดินแดง บุกจับประชาชนจำนวน 14 ราย บริเวณด้านหน้าเกล้าสยามคอนโดและควบคุมตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.)

ภายหลังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่าในผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 14 คน ที่ถูกนำตัวไปที่ บช.ปส.นั้น แบ่งเป็นเด็กและเยาวชน 12 คน กับประชาชนทั่วไป 2 คน 

ต่อมา ทราบจากบันทึกจับกุมว่า การบุกของเจ้าหน้าที่ในวันดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่เล็งเห็นว่าการชุมนุมในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ที่บริเวณแยกใต้ด่วนดินแดงมีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวก่อเหตุชุมนุมอันมิชอบด้วยกฎหมาย และมีการกระทําความผิดกฎหมายต่างๆ เกิดขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไป 

และเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนพบว่ามีกลุ่มมั่วสุมเพื่อกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันอาจผิดกฎหมายในบริเวณแคมป์ที่พักคนงานไม่มีเลขที่ใกล้กับทางด่วนดินแดงดังกล่าว  

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้นําหมายค้นของศาลอาญาที่ ค.339/2554 ลงวันที่ 24 ก.ย. 64 เข้าตรวจตรวจค้นแคมป์ที่พักคนงานดังกล่าว และได้จับกุมประชาชน-เยาวชน รวมทั้งสิ้น 14 ราย จากนั้นได้นำส่งตัวไปยัง บช.ปส. 

.

เยาวชน 9 ราย ประชาชน 2 ราย ถูกตำรวจปล่อยตัว โดยไม่ดำเนินคดีใดๆ 

ในส่วนของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ถูกจับกุมทั้งหมด 12 ราย นั้น พบว่าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 4 ราย อายุน้อยสุดคือ 12 ปี มีจำนวน 1 คน ส่วนประชาชน 2 ราย เป็นชายวัย 18 ปี และหญิงวัย 44 ปี ซึ่งเป็นผู้ดูแลแคมป์ที่พักดังกล่าว ซึ่งหลังควบคุมตัวทั้งหมดมาที่ บช.ปส. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำบันทึกประวัติ จัดเก็บ DNA และสารระเบิด จากนั้นเวลาประมาณ 22.30 น. ได้ปล่อยตัวเยาวชน 9 ราย และผู้ที่ไม่ใช่เยาวชนทั้ง 2 ราย  โดยไม่ได้ดำเนินคดีใดๆ 

ทั้งนี้ เยาวชน 1 รายที่ได้รับการปล่อยตัว ก่อนหน้านี้เคยถูกจับกุมและดำเนินคดีจากการชุมนุมที่ดินแดง  แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ไปรายงานตัวต่อศาลเยาวชนฯ ตามนัด พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง จึงได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ให้ไปรายงานตัวต่อศาลในวันที่ 28 ก.ย. 64 และได้กำชับให้ไปตามวันเวลาที่ได้นัดหมาย จากนั้นจึงได้ปล่อยตัวกลับไป โดยไม่ได้ดำเนินคดีใดๆ เพิ่มเติมอีก

ส่วนเยาวชนที่ไม่ได้รับการปล่อยตัว 3 ราย เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้สอบปากคำ โดย 1 ราย ถูกตรวจค้นพบวัตถุระเบิดอยู่กับตัว ขณะตำรวจบุกค้นแคมป์ที่พักคนงานดังกล่าว ส่วนอีก 2 ราย พนักงานสอบสวน สน.พญาไท, สน.มักกะสัน และ สน.บางซื่อ เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมก่อนหน้านี้ โดยทั้งสองถูกกล่าวหาว่า เผาตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรและป้อมตำรวจ รวม 8 แห่ง ซึ่งตำรวจได้แยกดำเนินคดีเป็น 8 คดี ตามสถานที่และเวลาเกิดเหตุ 

++เยาวชนวัย 16 ถูกกล่าวหา ‘มีระเบิดในครอบครอง’ 

กรณีวุฒิ (นามสมมุติ) เยาวชน อายุ 16 ปี เจ้าหน้าที่ระบุว่า ทำการจับกุมเมื่อเวลา 15.00 น. ที่บริเวณที่พักคนงานไม่มีเลขที่ใกล้ทางด่วนดินแดง และขณะตรวจค้นได้ตรวจพบของกลางเป็นระเบิดแสวงเครื่องแบบไทยประดิษฐ์ จํานวน 1 ลูก และหนังสติ๊กด้ามไม้ จํานวน 1 ด้าม เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดของกลางดังกล่าวและควบคุมตัวมาดำเนินคดีที่ บช.ปส. 

เจ้าหน้าที่ตํารวจผู้จับได้แจ้งข้อกล่าวหากับวุฒิ ในฐานความผิด “ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย” 

วุฒิให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ 

.

2 เด็ก-เยาวชน วัย 14 และ 16 ปี ถูกกล่าวหา ‘เผาตู้สัญญาณไฟจราจร-ป้อมตำรวจ’ ทั่วกรุงกลางดึก รวม 8 แห่ง ใน 8 คดี

ด้านนัท (นามสมมติ) วัย 16 ปี และ พจน์ (นามสมมติ) อายุ 14 ปี ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกับพวกที่หนีไปก่อเหตุทุบทำลายและวางเพลิงเผาตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร และป้อมตำรวจจราจร รวม 8 แห่ง ในกลางดึกคืนวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยตำรวจแยกดำเนินคดีถึง 8 คดี เป็นคดีของ สน.พญาไท 4 คดี, สน.มักกะสัน 1 คดี และสน.บางซื่อ 3 คดี

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 64 เจ้าหน้าที่ตํารวจได้รับแจ้งว่า ในเวลาตั้งแต่ 01.20-02.55 น. มีเหตุเพลิงไหม้หลายจุดทั่วกรุงเทพฯ จากการก่อเหตุของกลุ่มคนประมาณ 10-15 คัน ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะจำนวน ประมาณ 30-35 คัน ได้ร่วมกันทุบทำลายและวางเพลิงทรัพย์สินหลายจุด เป็นเหตุให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ดังนี้

  1. เวลา 01.20 น. การก่อเหตุทุบทำลาย วางเพลิงเผา ‘ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรแยกประตูน้ำ’ มูลค่าเสียหายประมาณ 47,000 บาท
  2. เวลา 02.04 น. การก่อเหตุทุบทำลาย วางเพลิงเผาบริเวณ ‘ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรแยกสะพานควาย’ มูลค่าเสียหายประมาณ 50,000 บาท 
  3. เวลา 02.09 น. การก่อเหตุทุบทำลาย วางเพลิงเผาบริเวณ ‘ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรแยกประดิพัทธ์’ มูลค่าเสียหายประมาณ 50,000 บาท
  4. เวลา 02.14 การก่อเหตุทุบทำลาย ‘ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรแยกด่วนระนอง’ มูลค่าเสียหายประมาณ 15,000 บาท 
  5. เวลา 02.26 น. การก่อเหตุทุบทำลาย วางเพลิงเผา ‘ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรแยกศรีอยุธยา’ มูลค่าเสียหายประมาณ 37,000 บาท
  6. เวลา 02.30 น. การก่อเหตุทุบทำลาย วางเพลิงเผา ‘ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรแยกอุรุพงษ์’ มูลค่าเสียหายประมาณ 37,000 บาท
  7. เวลา 02.33 น. การก่อเหตุทุบทำลาย วางเพลิงเผา ‘ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรแยกเพชรพระราม’ มูลค่าเสียหายประมาณ 25,000 บาท
  8. เวลา 02.50 น. การก่อเหตุเพลิงไหม้ทุบทำลาย วางเพลิงเผา ‘ป้อมจราจรแยกมิตรสัมพันธ์’ มูลค่าเสียหายประมาณ 226,000 บาท

นัทและพจน์ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในแต่ละคดีคล้ายคลึงกัน คดีละ 3-4 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ทำให้เสียทรัพย์ และออกนอกเคหสถานในเวลาเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. 

เยาวชนทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 13 ต.ค. 64

นัทระบุว่า ตนมีรายได้วันละ 100 บาท จากการรับจ้างเฝ้าแคมป์คนงานก่อสร้างที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง โดยขณะตำรวจเข้าตรวจค้นแคมป์คนงานดังกล่าวในวันเกิดเหตุ ในเวลาประมาณ 14.00 น. ค้นเจอโล่ 1 อัน จึงควบคุมตัวนัทมายัง บช.ปส. 

ด้านพจน์ให้ข้อมูลว่า ในวันเกิดเหตุ ตนเดินทางมาจากบ้านของตัวเองเพื่อมาพบเพื่อนบริเวณแฟลตดินแดง ก่อนจะถูกจับกุมในเวลาต่อมา 

.

ศาลเยาวชนฯ ให้ประกันตัวเพียง 2 ราย อีก 1 รายต้องถูกส่งไปสถานพินิจฯ เหตุไม่มี ผปค.มารับรองการประกันตัว

วันที่ 25 ก.ย. 64 หลังควบคุมตัวเยาวชนทั้งสามที่ บช.ปส.มาตลอดทั้งคืน พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตรวจสอบการจับกุมเยาวชนทั้ง 3 ราย โดยศาลเห็นว่าเป็นการจับกุมโดยชอบด้วยกฎหมาย และให้ออกหมายควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน

ทนายความจึงได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเด็กและเยาวชนทั้งหมด ต่อมาศาลเยาวชนฯ ได้อนุญาตให้ประกันตัวพจน์และวุฒิ กรณีวุฒิ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีระเบิดไว้ในครอบครอง ศาลให้วางหลักทรัพย์ประกันมูลค่า 20,000 บาท โดยเบื้องต้นผู้ปกครองได้วางเงินไว้ก่อน 2,000 บาท ส่วนที่เหลือจะได้นำมาชำระในภายในวันที่ 11 ต.ค. 64 

ส่วนกรณีของพจน์ ศาลให้วางหลักทรัพย์คดีละ 10,000 บาท รวม 7 คดี เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 70,000 บาท โดยผู้ปกครองได้วางเงินประกันในวันนี้คดีละ 2,000 บาท และจะนำที่เงินประกันที่เหลือมาชำระภายในวันที่ 11 ต.ค. 64 เช่นกัน ส่วนอีก 1 คดีนั้นศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพจน์ โดยไม่ต้องวางหลักประกัน หากผิดสัญญาประกันปรับ 5,000 บาท 

ทั้งนี้ ศาลได้กำหนดให้ทั้งพจน์และวุฒิไปพบเจ้าพนักงานคุมประพฤติที่สถานพินิจฯ  ในวันที่ 30 ก.ย. 64 และมารายงานตัวที่ศาลเยาวชนฯ อีกครั้งในวันที่ 16 พ.ย. 64

ด้านนัท ผู้ถูกกล่าวหารวม 8 คดีด้วยกันกับพจน์นั้น ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากไม่มีญาติเดินทางมารับรองการประกันตัว ทำให้นัทถูกส่งไปควบคุมตัวที่สถานพินิจภายหลังจากนี้

ทั้งนี้ #ม็อบ24กันยา ที่บริเวณดินแดง ซึ่งเป็นการชุมนุมของมวลชนอิสระที่ใช้ชื่อว่า ‘ทะลุแก๊ส’ ยังคงปรากฎภาพการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเจ้าหน้าที่ตำรวจของกลุ่มประชาชนเช่นทุกวัน ตั้งแต่เย็นไปจนถึงเวลาประมาณ 00.30 น. แต่ไม่พบว่ามีประชาชนและเยาวชนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเพิ่มเติมอีก อีกทั้งไม่มีรายงานการถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกยิงด้วยกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ  

.

X