พลวัตการรับมือเยาวชน “ทะลุแก๊ซ” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ภาพการปะทะของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและเยาวชนที่รวมตัวกันหลวมๆ ในนาม “กลุ่มทะลุแก๊ซ” ที่ดินแดงปรากฎต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสองเดือน แม้ว่าบางครั้งจะดูผ่อนคลายลงบ้างแต่สถานการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อเนื่องไม่ขาดตอน ทั้งนี้ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมามีภาพการใช้มาตรการรับมือของเจ้าหน้ารัฐที่เพิ่มรูปแบบอย่างหลากหลายและเป็นมาตรการที่กล่าวได้ว่าสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการบาดเจ็บไม่ว่าในกลุ่มผู้ชุมนุมเองหรือกับประชาชนทั่วไปในบริเวณใกล้เคียง ดังมีตัวอย่างปรากฎชัดเจนจากหลายครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่อีกด้านก็มีแนวโน้มที่เจ้าหน้าที่จะจำกัดขอบเขตการทำงานของสื่อมวลชนที่รายงานข่าวเหตุการณ์มากขึ้น 

ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประกาศนโยบายชัดเจนในการรับมือกับการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซ  การเข้าควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีการรวมตัวกันทำกิจกรรมใด ๆ ในพื้นที่ควบคุม เรื่องนี้มีนโยบายที่ส่งมาตรงจากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีเรื่องการดำเนินคดีกลุ่มอาชีวะที่ออกมาเคลื่อนไหว โดยอ้างว่ากลุ่มเหล่านี้ชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง การรับมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นอาจกล่าวได้ว่าเริ่มมาจากมุมมองหรือทัศนะที่มีต่อผู้ชุมนุมในลักษณะเช่นนี้ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างเช่นการเรียกขานผู้ชุมนุมในช่วงเวลาของการแถลงข่าวที่พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมักจะเรียก “ผู้ชุมนุม” เป็น “ผู้ที่ก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง” เจ้าหน้าที่กล่าวถึงกลุ่มผู้ชุมนุมหลายครั้งว่าพวกเขาไม่ได้มีข้อเรียกร้องอันใด มีแต่พฤติการณ์การละเมิดกฎหมายหลายบทบัญญัติเท่านั้น

ในช่วงปลายเดือนกันยายน สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้วางโยบายจำกัดพื้นที่ก่อเหตุให้น้อยลงและคัดแยกกลุ่มผู้ก่อเหตุออกจากชาวบ้าน โดยแถลงว่าได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ในการให้ข้อมูลข่าวสารอีกด้วย  ในทางปฏิบัติ ตั้งแต่สิงหาคมถึงกันยายน สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ปรับวิธีการรับมือกับการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซที่ดินแดงในหลายรูปแบบ และพล.ต.ต. ปิยะได้ขีดเส้นตายในการจัดการเหตุการณ์ที่ดินแดงให้เร็วที่สุด ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอสรุปมาตรการของเจ้าหน้าที่พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อผลการปฏิบัติงานดังต่อไปนี้   

ช่วงวันที่ 1 – 20 ส.ค. เจ้าหน้าที่วางตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนามบนถนนวิภาวดีกั้นขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงรั้วค่ายทหาร กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านพักพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 7 ส.ค. เป็นวันที่มีการปะทะกันและตำรวจยกระดับปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้ชุมนุมเดินมาถึงแนวตู้คอนเทนเนอร์และสองฝ่ายยืนประจันหน้ากันประมาณ 20 นาที กล่าวคือตั้งแต่ 15.00-15.20 น. ตำรวจเริ่มยิงแก๊สน้ำตา รวมถึงใช้ถนนทางด่วนซึ่งเป็นที่สูงกว่ายิงทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม จากนั้นได้ขยับแนวและดันพื้นที่เข้าหาผู้ชุมนุมจากทางด้านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผลักดันให้คนที่ยังหลงเหลือในพื้นที่รีบกลับบ้านจนกลายเป็นการสลายการชุมนุมทั้งหมด 

ตู้คอนเทนเนอร์ที่ขวางกั้น ถ.วิภาวดี ในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ขอขอบคุณภาพจาก iLawFX

หลังจากนั้นจนมาถึงวันที่ 20 ส.ค. การปะทะในพื้นที่ดินแดงก็เริ่มขึ้นในลักษณะคล้ายกัน กล่าวคือ ตำรวจตั้งแนวตู้คอนเทนเนอร์ขวางทางเดินไปยัง ‘ราบ1’ เมื่อผู้ชุมนุมเข้ากระทำกับตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งการขว้างปา การเตะ การพ่นสีหรือปาสี ตำรวจก็เริ่มใช้อาวุธควบคุมฝูงชนทั้งแก๊สน้ำตา กระสุนยาง การฉีดน้ำ และการใช้กำลังเข้าจับกุม   

การชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนหรือคฝ.เข้าจับกุมผู้ชุมนุมได้เพียง 18 คน แต่ก็ขยายผลจับกุมบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเผารถผู้ต้องขังและทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหาย และบุคคลที่ตำรวจอ้างว่าขว้างก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ในภายหลังเพิ่มเติมอีก ในจำนวนเหล่านี้มี 3 คน ที่อัยการเร่งฟ้องหลังแจ้งข้อกล่าวหาเพียง 1 เดือน  โดยเป็นผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 7 ส.ค. ในช่วงเวลาที่การชุมนุมยังไม่เริ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีคนขับรถเครื่องเสียงที่ถูกติดตามไปจับกุมนอกพื้นที่การชุมนุม และโดยที่ชุดจับกุมไม่ได้แสดงหมายจับ 

ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.นี้เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุม จากคำบอกเล่าของ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ “แฟรงค์” หนึ่งในผู้ถูกจับกุมในกลุ่มที่รถจักรยานยนต์ล้มเล่าว่า เขาถูก คฝ. วิ่งไล่ตามและประชิดตัวจนเขาล้ม ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะร่วมกันทำร้ายด้วยการเตะและกระทืบที่ร่างของเขาและเพื่อน ณัฐนนท์ใส่หมวกกันน็อค แต่เขาบอกว่าถูกเตะเข้าที่ศีรษะหลายครั้งจนรู้สึกปวดอย่างมาก ทั้งเจ้าหน้าที่ยังด่าทอเขาและเพื่อนด้วยถ้อยคำหยาบคาย และเข้าควบคุมตัวโดยใช้สายเคเบิลมัดมือไพล่หลังไว้      

วันที่ 20 ส.ค. เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนปรากฎตัวบนรถกระบะไล่ยิงผู้ชุมนุมเป็นครั้งแรก และ ยิงกระสุนยางเข้าไปในแฟลตดินแดงที่พักอาศัยของประชาชนด้วย ในวันดังกล่าวนี้ตำรวจเริ่มสลายการชุมนุมด้วยการเดินแนวแสดงกำลังตามแนวปฏิบัติเดิม ส่วนผู้ชุมนุมยังรวมตัวกันในพื้นที่ จากนั้นตำรวจขึ้นรถกระบะพร้อมปืนยาวไม่ต่ำกว่า 10 คันรถและขับเข้าหาผู้ชุมนุมด้วยความเร็วพร้อมทั้งกราดยิงด้วยกระสุนยางไปด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ปรับวิธีการจู่โจม เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงเข้าจับกุมบุคคลได้มากขึ้น โดยคฝ. เข้าจับได้ถึง 27 รายจาก 6 จุดด้วยกัน ทั้งบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซอยราชปรารภ 2 ด่านมั่นคงหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ไปจนถึงแยกเกียกกาย 

ปากคำของผู้อยู่อาศัยที่ชุมชนเคหะดินแดง ผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมในวันที่ 20 สิงหาคม 2564

เมื่อวันที่ 20 สค.นี้มียอดการจับเด็กและเยาวชนรวม 19 คน เด็กที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกจับมีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น นับเป็นการจับกุมเยาวชนในจำนวนที่สูงกว่าสิบคนเป็นวันที่สองรองจาก #ม็อบ10 สค   ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งในวันรุ่งขึ้นว่ามีเด็กอายุ 13 และ 14 ปี ถูกจับโดยคาดว่าจากบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ และได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ หนึ่งในสองรายนั้นบาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่แก้ม ส่วนอีกรายถูกยิงที่ขาซึ่งแพทย์ต้องผ่าเอากระสุนยางออกทันที นอกจากนั้นทนายความยังพบว่า มีผู้ถูกจับกุมได้รับบาดเจ็บขณะถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมรวมแล้วอย่างน้อย 10 ราย โดยเป็นผลจากการใช้กระสุนยางและการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่  ยังมีรายงานจากสื่อมวลชนด้วยว่า มีผู้ที่เป็น ประชาชนทั่วไป เป็นหญิงในชุดทำงานถูกยิงที่กลางหลังขณะกำลังขี่รถมอเตอร์ไซด์ผ่านพื้นที่ในช่วงที่ตำรวจกราดยิงผู้ชุมนุมด้วยกระสุนยาง มีเยาวชนอายุ 17 ปีอีกสองคนถูกยิงบริเวณเอวและสะบักหลัง   

วันที่ 21 ส.ค. สำนักงานตำรวจแห่งชาติย้ายตู้คอนเทนเนอร์จากแยกบริเวณดินแดงเข้าถนนวิภาวดีรังสิตและนำไปตั้งไว้บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ตามข้อเรียกร้องของประชาชนในดินแดง  

วันที่ 22 ส.ค. สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มการล้อมจับผู้ชุมนุมในแบบ “ปิดกล่อง” คือใช้กำลังล้อมพื้นที่ผู้ชุมนุมจาก 3 ทาง กล่าวคือจากแนวกรมดุริยางค์ทหารบก, ถนนมิตรไมตรี ขาเข้าแยกดินแดง และทางลงจากทางด่วนดินแดงส่งผลให้ผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ซถูกปิดกั้นจากหลายทิศทาง บางส่วนต้องหลบไปด้านด่านเก็บเงิน บางส่วนที่ถอยร่นไม่ทันถูกคฝ. ดำเนินการทำให้รถจักรยานยนต์ล้มแล้วใช้กำลังเข้าจับกุม  ซึ่งมาตรการนี้เจ้าหน้าที่นำมาใช้อย่างต่อเนื่องตลอดจนถึงวันที่ 29 ส.ค. ปฏิบัติการล้อมจับแบบปิดกล่องทำให้จำนวนผู้ถูกจับกระโดดสูงขึ้นอีกไปถึงอย่างน้อย 42 คน มีเด็กและเยาวชนรวมอยู่ด้วยถึง 19 ราย เจ้าหน้าที่ยังได้เข้ายึดรถจักรยานยนต์ที่จอดล้มอยู่จำนวนเบื้องต้นทั้งสิ้น 27 คัน  

การสลายการชุมนุมในวันที่ 22 ส.ค. มีผู้ถูกจับกุมที่ได้รับบาดเจ็บมากถึง 15 คน ทั้งจากกระสุนยาง, อุบัติเหตุรถล้ม และการใช้กำลังเข้าจับกุม รายที่บาดเจ็บหนักที่สุดที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นเด็กอายุ 13 ปี โดยในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจของสน. ดินแดงให้ข้อมูลว่าเด็กคนนี้ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีเลือดออกในช่องท้อง และยังติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ 

นอกจากนี้ผลการจับเด็กและเยาวชนของคืนวันที่ 22 ส.ค. ยังผลทำให้เด็ก/เยาวชน 14 รายถูกขังในห้องขังทั้งคืนใน สน. พหลโยธิน เนื่องจากทุกคนถูกตำรวจชุดจับกุมยึดโทรศัพท์ไปโดยไม่นำส่งให้พนักงานสอบสวน  กลุ่มเยาวชนจำเบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครองไม่ได้จึงไม่สามารถติดต่อผู้ปกครองให้ไปรับตัวกลับหลังเสร็จสิ้นกระบวนการในชั้นจับกุม  

เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนหลีกเลี่ยงการแสดงกำลังในช่วงก่อนเวลาเคอร์ฟิว และเริ่มสลายการชุมนุม หลังเคอร์ฟิวคือตั้งแต่เวลา 21.00 น. เป็นต้นไป โดยเจ้าหน้าที่จะกวาดจับบุคคลที่เหลือในพื้นที่ทั้งหมด หลังเวลาห้ามออกจากเคหะสถานตามมาตรการในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ คล้าย ‘ปฏิบัติการยึดคืนพื้นที่ดินแดง’ โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ย. เป็นอีกวันที่เจ้าหน้าที่จับผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปครั้งใหญ่รวม 77 คน หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ใช้กำลังสลายการชุมนุมจนล่วงเลยเข้าเวลาเคอร์ฟิว ในจำนวนผู้ถูกจับกุมทั้งหมดมีหลายรายที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม แต่เป็นคนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่ คนขายอาหาร และคนที่เดินทางมารับอาหารที่บริเวณเต๊นท์พยาบาลอาสา รวมทั้งอาสากู้ภัย คนเหล่านี้ถูกจับกุมและได้รับบาดเจ็บด้วย มีประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมที่ถูกจับในขณะที่ต่อคิวรับแจกข้าวพร้อมเด็กอายุ 3 และ 4 ขวบด้วย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยายามให้มีการมารับเด็กกลับเพราะเกรงต้องนำเด็กเข้าไปอยู่ในห้องขังพร้อมแม่ซึ่งต้องรอการฝากขังและประกันตัวต่อในอีกสองวันถัดมา

การจับกุมในวันที่ 11 ก.ย. นี้ยังมีกลุ่มแพทย์ พยาบาลอาสา และอาสากู้ภัย 25 รายรวมอยู่ด้วย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 2 ราย พวกเขาถูกควบคุมตัวจากเต๊นท์พยาบาลอาสาที่ช่วยรักษาผู้บาดเจ็บเบื้องต้นและถูกนำตัวไปยังกรมดุริยางค์ทหารบก หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปสน.ดินแดงเพื่อตรวจสอบและทำประวัติ แล้วจึงปล่อยตัวเมื่อเวลา 01.40 น. โดยไม่มีการดำเนินคดี

ปฏิบัติการเมื่อวันที่ 11 ก.ย. มีเค้ารางของการจำกัดการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนอิสระที่ถ่ายทอดสดการชุมนุมที่ดินแดงมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลังเวลาเคอร์ฟิว มีคฝ.นั่งท้ายรถกระบะเข้าจอดบริเวณหน้าสำนักงานเขตดินแดงและประกาศให้นักข่าวนั่งกับพื้นก่อนจะขอตรวจบัตรสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ขอให้พวกเขายุติการถ่ายทอดสดโดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้เป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ ระหว่างการปิดล้อมหน้าบริเวณแฟลตดินแดง คฝ.ได้กันพื้นที่ไม่ให้สื่อเข้าไปถ่ายทอดเหตุการณ์โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เข้าเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อยจึงยังไม่สามารถให้สื่อมวลชนเข้าพื้นที่ได้ นอกจากนั้นยังขอตรวจบัตรสื่อมวลชนรวมทั้งให้พยาบาลอาสาที่ทำงานในเต๊นท์ยืนยันตัวเอง

การจัดการต่อสื่อมวลชนอิสระและผู้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมปรากฎชัดเจนอีกครั้งเมื่อแอดมินเพจของสื่ออิสระจาก “สำนักข่าวราษฎร”, เพจ “ปล่อยเพื่อนเรา” และแพทย์อาสาเคลื่อนที่เร็วรวม 3 ราย ถูกจับกุมระหว่างการทำหน้าที่ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ณัฐพงศ์ มาลี ผู้สื่อข่าวสังกัดสำนักข่าวราษฎรระบุว่าในขณะถูกจับตนกำลังอยู่ระหว่างยื่นเรื่องขอใบอนุญาตออกนอกเคหสถานหลังเวลา 21.00 น.  เจ้าหน้าที่ได้สั่งให้ณัฐพงศ์ยุติการไลฟ์ทางเฟซบุ๊กและเข้าจับกุมเขา  คนทั้งหมดถูกตั้งข้อหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตามพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดเรื่องเวลาออกนอกเคหะสถานหรือเคอร์ฟิว ต่อมาศาลแขวงพระนครเหนืออนุญาตให้ฝากขังทั้งหมดด้วยข้อหาว่าฝ่าฝืนเคอร์ฟิว แต่หลังจากนั้นก็อนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์  

Ratsadon News
ภาพเหตุการณ์จับกุม “ณัฐพงศ์ มาลี” แอดมินเพจสำนักข่าวราษฎร ในวันที่ 14 กันยายน 2564 ขอขอบคุณภาพจาก The Standard

มาตรการของเจ้าหน้าที่ยังผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ประชาชนร่วม 20 รายได้ไปร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ที่ สน.ดินแดง ในจำนวนนี้มีผู้ปกครองที่อาศัยในแฟลตดินแดงพาบุตรสาวไปแจ้งความร้องทุกข์ว่าถูกยิงด้วยกระสุนยางในระหว่างที่กลุ่มคฝ.บุกตามผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ใต้ถุนแฟลตพร้อมยิงกราด

กล่าวโดยสรุปการใช้มาตรการในการรับมือกับกลุ่มชุมนุมบริเวณดินแดงของเจ้าหน้าที่มีหลายประการที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลและสุ่มเสี่ยง เช่นการใช้กระสุนยางยิงในระดับศรีษะหรือส่วนบนของร่างกาย การยิงในระยะประชิด มีข้อกล่าวอ้างจากผู้ชุมนุมที่ถูกทำร้ายร่างกายในขณะจับกุมทั้งที่ไม่มีการขัดขืน การขับรถชนผู้ชุมนุมด้วยข้ออ้างว่าไม่รู้ว่ายังมีผู้ชุมนุมหลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ยังมีการจับกุมในขณะที่ยังไม่มีการชุมนุมเกิดขึ้น กระทั่งการตามไปจับกุมนอกสถานที่ชุมนุมและโดยไม่แสดงตน ผลการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งที่เป็นและไม่เป็นเยาวชน รวมทั้งมีแพทย์พยาบาลอาสาและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บและได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่เห็นชัดว่าเป็นความพยายามจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนผ่านการจำกัดการทำงานของสื่อที่รายงานเหตุการณ์ด้วย 

อ่านเพิ่มเติม: 

โต้กลับอำนาจเถื่อนด้วยกฎหมาย: หนทางมอบความรับผิดแก่รัฐ กรณีสลายการชุมนุม

ยอดคนเจ็บม็อบเดือนสิงหา ไม่น้อยกว่า 115 ราย เป็นเด็กเยาวชน 32 ราย และไม่สามารถระบุผู้บาดเจ็บได้อีก 19 กรณี 

สิงหาคม 64: เดือนเดียวผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มไปกว่า 404 ราย ยอดรวมทะลุไปไม่น้อยกว่า 1,161 คนแล้ว

‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ ที่มีเด็กเยาวชนไม่น้อยกว่า 183 คน ถูกจับกุม-ดำเนินคดีทางการเมือง

“ผู้ต้องขังทางการเมือง” อย่างน้อย 9 คน เป็นเยาวชน 1 ราย ถูกขังระหว่างการดำเนินคดี

X