ภาสกร ญี่นาง
.
สถานการณ์ความขัดแย้งการเมืองไทยกำลังดำเนินไปในทิศทางที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง ภาพความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนกระทำต่อประชาชนผู้ชุมนุมปรากฏอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ และมีทีท่าว่าสถานการณ์อาจยืดเยื้อ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ทว่าคำถามสำคัญ คือ การกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่จะนำไปสู่ความรับผิดทางกฎหมายได้หรือไม่ และการอ้างว่า “ทำตามคำสั่ง” จะสามารถปกป้องให้เจ้าหน้าที่รอดพ้นจากความรับผิดได้หรือไม่ หากไม่ สถาบันทางกฎหมายควรมีบทบาทอย่างไร เพื่อจัดการกับการปฏิบัติหน้าที่ลักษณะดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ และเพื่อยับยั้งสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายลงไปมากกว่านี้
บทความนี้จะทดลองนำเสนอถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้ใช้อำนาจเกินขอบเขต ไม่สมควรแก่เหตุ หรือกระทั่งกระทำความรุนแรงต่อประชาชน
.
“การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย”
ความคิดพื้นฐานของการปกครองภายใต้ระบบนิติรัฐ กำหนดให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ไม่สามารถกระทำตามอำเภอใจได้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของบทบัญญัติลายลักษณ์อักษร หรือหลักการทางกฎหมายที่ดำรงอยู่เป็นตรรกะและความเป็นเหตุเป็นผลของกฎหมายก็ได้ เช่น หลักความได้สัดส่วน ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้รัฐต้องใช้อำนาจอย่างเหมาะสม และเท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาดุลยภาพระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากผลลัพธ์ของการกระทำเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะอ้างว่าเป็นการรักษาประโยชน์สาธารณะก็ตาม และผู้กระทำต้องรับผิดชอบในความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นด้วย
ความคิดพื้นฐานนี้ มีวัตถุประสงค์โดยทั่วไป คือ การทำให้เกิดสภาวะที่สังคมหนึ่งๆ ถูกปกครองด้วยกฎหมาย และบุคคลผู้ใช้อำนาจรัฐถูกจำกัดอำนาจลง ไม่ใช่การปกครองตามอำเภอใจของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคล พร้อมกำหนดกฎเกณฑ์ หรือหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่รัฐให้เคารพปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน หากจะอ้างประโยชน์สาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อย เพื่อใช้อำนาจในลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็ต้องเป็นไปโดยมีฐานรองรับจากกฎหมายเท่านั้น
ปัญหา คือ หากกฎหมายนั้น “อยุติธรรม” หรือ ตัวมันเองถูกผู้มีอำนาจตีความอาศัยเป็นแหล่งที่มาของอำนาจที่แปรเปลี่ยนการกระทำความรุนแรงให้กลายเป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง” การกระทำโดยอ้างฐานรองรับจากกฎหมายดังกล่าว จะถือว่าเป็น “การกระทำที่ถูกต้องชอบธรรม” หรือไม่
ในเรื่องนี้ กลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐ บทบาทของสถาบันตุลาการ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน ล้วนเป็นปัจจัยซึ่งจะส่งผลต่อรูปแบบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น หากระบบกฎหมายของรัฐมีกลไกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องร้อง หรือตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มักอ้างกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินมาสร้างความชอบธรรมแก่การใช้ความรุนแรง และสถาบันตุลาการใช้อำนาจตรวจสอบอย่างเคร่งครัด โดยเอาผลประโยชน์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การใช้ความรุนแรงต่อประชาชนอย่างไร้ขอบเขตก็ไม่มีทางกลายเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมได้โดยง่ายดายนัก
.
หน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง (obligation to disobey an order)
ข้อน่าพิจารณาอย่างหนึ่ง คือ ความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้ใต้บังคับบัญชากระทำต่อผู้ชุมนุม ส่วนใหญ่จะอยู่บนข้ออ้างรองรับทำนองว่า ตนและพวกมีหน้าที่ “ทำตามคำสั่ง” ของผู้บังคับบัญชา ดังที่เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนใช้พื้นที่โลกสื่อสังคมออนไลน์ บอกเล่าเรื่องราว ขอแสดงความเห็นใจจากประชาชน เพราะตนไม่มีทางเลือก แต่ทว่าหากพิจารณาด้วยหลักการและเหตุผลของกฎหมายทั่วไป จะพบว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนล้วนมี “หน้าที่” จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หากคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง (obligation to disobey an order) โดยหลักจะถูกหยิบยกขึ้นมา ในสถานการณ์ที่ผู้บังคับบัญชาได้ออกคำสั่งให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือขัดต่อมโนธรรมสำนึกด้านศีลธรรม เพื่อตอกย้ำว่าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่จะนำไปสู่ความสูญเสีย หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และการอ้างว่าทำตามคำสั่ง “นาย” ไม่ใช่เหตุผลที่ผู้กระทำมีสิทธินำมาหลีกเลี่ยงความรับผิดได้
การศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมต่างประเทศ อาจช่วยในการทำความเข้าใจต่อประเด็นข้างต้นได้กระจ่างขึ้น
ประเทศสหรัฐอเมริกาในอดีต มีหลายกรณีที่เรื่องการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐระดับใต้บังคับบัญชาได้กลายเป็นคดีความในชั้นศาล ตัวอย่างเช่น คดีความของ วิลเลียม คอลเลย์ (William Calley) ซึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ที่หมีหลาย (My Lai Massacre) ในปี 1968 ขณะที่สหรัฐอเมริกานำกำลังทหารเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศเวียดนามใต้ ช่วงเวลาระหว่างสงครามเย็น
.

คอลเลย์ สังกัดกองร้อย ชาร์ลี แห่งกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 20 กองพลน้อยที่ 11 แห่งกองพลทหารราบที่ 26 ได้สั่งให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนทำการไล่ต้อนชาวบ้าน จับกุมไว้ในกรงขัง และทำการสังหารด้วยอาวุธปืนทั้งหมด ซึ่งมีรายงานว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 350 ถึง 500 คน ส่วนใหญ่เป็นหญิง เด็ก และคนชรา โดยภายหลังพบว่าบางศพถูกตัดแขนขาออกด้วย
ในชั้นพิจารณาคดีของศาลทหารสหรัฐอเมริกา คอลเลย์ ตกเป็นจำเลยฐานฆาตกรรมถึง 22 กรรม เขาต่อสู้ว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดจากการออกคำสั่งของ เออเนส เมดินา (Ernest Medina) ที่สั่งให้ คอลเลย์ ฆ่า “ทุกอย่างที่มีชีวิต” (“every living thing”) ในหมู่บ้านหมีหลาย พร้อมแจ้งว่าพลเรือนได้เคลื่อนออกไปหมดแล้ว ที่เหลืออยู่มีเพียงพวกทหารเวียดกง (Viet Cong) เท่านั้น แต่เมื่อคอลเลย์รายงานกลับไปยังเมดินาว่า ในหมู่บ้านทุกคนเป็นพลเรือนปราศจากอาวุธ เมดินาในฐานะผู้บังคับบัญชา กลับยืนยันคำสั่ง ให้กำจัดทิ้งทั้งหมด ท้ายสุดในกระบวนพิจารณาคดี คอลเลย์ กล่าวว่า เขาได้กระทำลงไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น
คอลเลย์ ถูกศาลตัดสินว่า “ไม่ว่าคอลเลย์จะเป็นบุคคลที่โง่เขลาที่สุดหรืออัจฉริยะที่สุดในกองทัพสหรัฐฯ ก็ตาม เขาควรจะรู้อยู่แต่แรกว่า การสังหารพลเรือนที่ป้องกันตัวเองไม่ได้ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย และคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาก็ย่อมเป็นการกระทำความผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง (palpably illegal)”
เช่นเดียวกับ เหตุการณ์อื้อฉาวอย่างกรณีเรือนจำอาบู กราอิบ (Abu Ghraib prison) สถานที่ที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้ทรมานกลุ่มนักโทษทางการเมือง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการก่ออาชญากรรมสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ประกอบด้วย การล่วงละเมิดทางเพศ การสังวาสทางทวารหนัก การบังคับให้กลุ่มนักโทษมีเพศสัมพันธ์กัน ฯลฯ และการกระทำเหล่านี้ แน่นอนการอ้างว่าได้ทำตามคำสั่ง ล้วนไม่อาจรับฟังได้อย่างสิ้นเชิง เพราะถือเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และไม่มีกฎหมายฉบับใดจะรับรองให้เป็นการกระทำโดยชอบได้ เจ้าหน้าที่ระดับใต้บังคับบัญชาย่อมมีหน้าที่ที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
กรณีดังกล่าว ทหารสหรัฐจำนวน 11 ราย ถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานเกี่ยวข้องกับการทารุณกรรมนักโทษในคุกอาบู กราอิบ รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงสองคนที่ดูแลเรือนจำ สตีเวน จอร์แดน (Steven Jordan) และ โธมัส แพปปัส (Thomas Pappas) ก็ถูกลงโทษทางวินัยฐานละเลยในการกำกับดูแลสถานที่ดังกล่าว
.
.
การกระทำความผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง (palpably illegal) ของรัฐ
ในสถานการณ์การเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เมื่อรัฐเริ่มใช้มาตรการความรุนแรงสลายการชุมนุมครั้งแรกราวๆ เดือนตุลาคมปี 2563 เรื่อยมาจนถึงการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ (car mob) และรวมตัวกันบริเวณแยกดินแดง ที่เริ่มขึ้นช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุม ก็ปรากฏแก่สายตาของผู้คนในโลกสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลายต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากพิจารณาในแง่บทบัญญัติกฎหมายและหลักการทางกฎหมาย พบว่า ลักษณะการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนในการสลายการชุมนุม มีปัญหาเข้าข่ายผิดกฎหมายหลายประการ อาทิเช่น
การออกคำสั่งและปฏิบัติการต่อกลุ่มชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน (Principle of proportionality) อันถือว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไปอย่างหนึ่ง เป็นหลักการที่บ่งชี้ว่า แม้ฝ่ายรัฐจะอ้างว่า ปฏิบัติการทั้งหมดอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่ได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีอภิสิทธิ์ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนอย่างไร้ขอบเขต ทว่าต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกายของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด โดยดำเนินการไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นและสมควรแก่เหตุ
หลักความได้สัดส่วน มีองค์ประกอบหลายส่วน ตั้งแต่การกำหนดให้การกระทำของรัฐจะต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็น โดยใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุดก่อน ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี หากผลลัพธ์จากการกระทำนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เจ้าหน้าที่รัฐย่อมเป็นผู้ละเมิดต่อกฎหมาย ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายแต่อย่างใด
การใช้มาตรการสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล โดยหลักสากลสำหรับการสลายการชุมนุม กำหนดว่า หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้เท่าที่จำเป็น หรือหากเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่านี้ได้ พร้อมกับต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน
เมื่อมองข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ประกอบกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย พบว่า กรณีการใช้อาวุธปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นหลุดลอยไปจากหลักสากลอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำสลายการชุมนุม แนวปฏิบัติดังกล่าวกำหนดให้รัฐต้องใช้ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบอย่างร้ายแรงอาจนำไปสู่การเสียชีวิตบาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้างเท่านั้น และกรณีการใช้สารเคมี เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัว หลีกเลี่ยงความเสียหายและผลกระทบรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ไม่ยิงเข้าหาบุคคล และห้ามใช้ในพื้นที่ปิดโดยเด็ดขาด
ส่วนการใช้กระสุนยาง รัฐต้องใช้เฉพาะกรณีที่เห็นว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือสาธารณชน การเล็งที่หน้าหรือหัว อาจทำให้กะโหลกศีรษะแตก ตาบอด หรือเสียชีวิตได้ ซึ่งเข้าข่ายการลงมือกระทำความรุนแรงโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลที่วิญญูชนพึงคาดหมายได้ว่าจะเกิดผลเลวร้ายตามมา และในกรณีที่ผู้ชุมนุมเสียชีวิต เจ้าหน้าที่รัฐย่อมมีความรับผิดฐานเจตนาฆ่าได้ แต่หากเกิดกรณีที่ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าหน้าที่รัฐก็จะเข้าข่ายกรณีการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่า เพราะกฎหมายถือว่า ผู้กระทำมีเจตนาฆ่า เพียงแต่ไม่บรรลุผลเท่านั้น
ทั้งนี้ นอกจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดทางกฎหมายในกรณีที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทำความเสียหายต่อประชาชน เนื่องจากถือว่าตนเป็นผู้สั่งการ และเพิกเฉยต่อหน้าที่ในการควบคุม ยับยั้ง หรือป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการออกคำสั่ง
ดังนั้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.วชิรพงศ์ แก้วดวง รองผู้บังคับการหน่วยอารักขาและควบคุมฝูงชน จะยอมรับในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ว่าหากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนนายใดใช้ความรุนแรงกับประชาชนต้องรับผิดชอบเองไม่เกี่ยวกับต้นสังกัด ก็ไม่ได้ทำให้ผู้บังคับบัญชาไม่มีความรับผิดแต่อย่างใด
.






.
กลไกการตรวจสอบและเอาผิดรัฐ
แม้ว่าที่ผ่านมา สังคมจะไม่สามารถหยิบยื่นความรับผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความรุนแรงอย่างเป็นระบบต่อประชาชนผู้ชุมนุมได้เลยสักครั้ง แต่ถือเป็นโอกาสที่ดีในการทบทวนกลไกต่างๆ ของรัฐที่ประชาชนจะใช้สิทธิทางกฎหมาย ในการดำเนินกระบวนยุติธรรมต่อเจ้าหน้าที่รัฐว่าประกอบไปด้วยกลไกอะไรบ้าง
กลไกแรก คือ กลไกทางศาล ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ศาลถือเป็นหน่วยอำนาจสำคัญที่มีบทบาทหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ การฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐต่อศาล ผู้เสียหายอาจฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง เพื่อลงโทษและเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ
ทั้งนี้ อย่างที่รู้กันว่า เป็นไปได้ยากที่สถาบันศาลจะทำงานตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างตรงไปตรงมา ในวันที่การเมืองไทยบกพร่องในความเป็นประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมขาดความยึดโยงกับประชาชน แต่การใช้สิทธิทางศาล ย่อมถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ สำหรับการเผชิญหน้ากับรัฐที่มีอำนาจเหนือกว่า เพราะถึงอย่างไร รัฐกับประชาชนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน
อีกทั้ง ผลสำเร็จอาจไม่ได้อยู่ที่ผลแพ้ชนะคดี แต่อยู่ที่กระบวนการต่อสู้เป็นสำคัญ เพราะคดีลักษณะนี้สังคมมักให้ความสนใจ การให้คำให้การ ให้ข้อโต้แย้งของคู่ความในคดี คำพิพากษา ตลอดจนการให้เหตุผลของศาล ล้วนเป็นการสื่อสารกับสาธารณะ กระตุ้นให้เกิดกระแสสังคม จนสร้างความสั่นคลอนต่อความชอบธรรมและสถานะของรัฐได้อยู่บ้าง
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ในกรณีต้องการเรียกความเสียหายฐานละเมิด, ประมวลกฎหมายอาญา 157 เพื่อลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อประชาชนผู้ชุมนุม ในความผิดฐานเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ความผิดฐานพยายามฆ่าตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, ฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295, ฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสในกรณีสูญเสียอวัยวะตามมาตรา 297 ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดก็สามารถฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้บังคับบัญชาในฐานะเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามมาตรา 84 ได้อีกด้วย
กลไกต่อมา คือ กลไกขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ที่มีอำนาจรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และดำเนินการตรวจสอบ จัดทำรายงานการกระทำ หรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ
นอกจากนี้ เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบัน บทกฎหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มักถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือปกป้องตนเองให้รอดพ้นจากความรับผิดตามกฎหมายอยู่ตลอด ในกรณีที่ได้กระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประชาชนควรใช้สิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ภายใต้เงื่อนไขว่าประชาชนไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรศาลและองค์อิสระที่มีอำนาจตรวจสอบการกระทำของรัฐไทย เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฯลฯ ต่างก็ประสบปัญหาความเป็นกลางและความเป็นอิสระ จนแทบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเครือข่ายอำนาจรัฐที่ต้องการปกป้องโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ประชาชนตกเป็นผู้ถูกกดขี่เอาไว้ เพื่อรักษาสถานะที่เหนือกว่าของคนบางกลุ่มให้ดำเนินต่อไปให้นานตราบเท่าที่ทำได้
แต่ทว่า เช่นเดียวกับกรณีการฟ้องคดีต่อศาล สิ่งที่ควรให้ความสำคัญไม่ใช่เรื่องผลแพ้ชนะภายหลังดำเนินกลไกเหล่านั้นแต่อย่างใด แต่การที่ประชาชนได้อาศัยกลไกทางกฎหมายย่อมเป็นการดึงรัฐที่กระทำการบางอย่างที่อยู่นอกกรอบหลักกฎหมาย ให้กลับมาเผชิญหน้ากับกฎหมาย และอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่ประชาชนจะไม่ถูกอำนาจรัฐกดขี่ข่มเหงใช้ความรุนแรง ซึ่งหากกลไกกระบวนการยุติธรรมของรัฐใช้ไม่ได้ผลอย่างสิ้นเชิง ก็ถือเป็นการสื่อสารกับสังคมว่า รัฐไทยประสบความล้มเหลวในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกลุ่มผู้มีอำนาจทั้งหมดได้หมดความชอบธรรมในการปกครองประเทศอย่างสิ้นเชิงเช่นเดียวกัน
อีกทั้ง หากกลไกของรัฐที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผล ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนต้องยอมจำนน การใช้สิทธิในประเทศจนครบถ้วนได้ถือว่าเข้าเงื่อนไขสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและไร้ขอบเขตของรัฐ ให้สามารถอาศัยกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ ถ้าหากว่าในอนาคต ผู้มีอำนาจรัฐได้กระทำความผิดที่เข้าข่ายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบโดยมีเป้าหมายโดยตรงต่อประชาชนพลเรือน กรณีนี้ก็จะอยู่ในเขตอำนาจศาลของศาลอาญาระหว่างประเทศทันที
.
.
เผชิญหน้ากับความรุนแรงด้วยความจริงในกระบวนการยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม การอ้างถึงหลักการปกครองด้วยกฎหมาย และหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ อาจเกิดขึ้นได้ยาก ในสังคมไทยที่ถูกครอบงำโดยหลักนิติรัฐแบบไทยๆ ที่ถือเอากฎหมายเป็นเครื่องมือในการมอบอภิสิทธิ์ปลอดความผิดให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้กระทำละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยอ้างความชอบธรรมตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน สถาบันศาลและองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของผู้มีอำนาจ ก็ขาดความยึดโยงกับประชาชน และตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในปกป้องตัวเองจากความรับผิดอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น
แต่สภาวะดังกล่าวย่อมถูกสั่นคลอนได้ หากต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริง โดยการอาศัยกลไกกระบวนการยุติธรรมที่รัฐตกเป็นจำเลย การไต่สวน ซักฟอก และกระบวนการพิจารณาคดี อาจมีส่วนช่วยให้ห้องพิจารณาคดีของศาล กลายเป็นสถานที่ความเลวร้ายของรัฐและปัญหาภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบดั้งเดิมทั้งหมดถูกถ่ายทอดและเผยแพร่ต่อสาธารณะ แม้ว่าสุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์อาจไม่ใช่การที่ประชาชนเป็นฝ่ายชนะในกระบวนการยุติธรรมก็ได้
เพราะหากวันหนึ่ง ระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมไทยหรือ “วัฒนธรรม” ที่คอยให้ความชอบธรรมแก่ความรุนแรงของรัฐ ถูกลบล้างและทดแทนด้วยกระแสความจริงอีกชุดหนึ่งที่กำเนิดจากกระบวนการยุติธรรม การดำเนินกลไกของศาลและองค์กรอิสระที่หวังปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐจากความรับผิด ล้วนต้องกลายเป็นความวิปริตผิดเพี้ยนและความบิดเบี้ยวในสังคม ไม่อาจเป็นที่ยอมรับในได้อีกต่อไป ซึ่งถือเป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ และน่าปรารถนายิ่งกว่าผลแพ้ชนะในคดีใดคดีหนึ่งเสียอีก
ส่วนในประเด็นที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการมักอ้างว่า ทั้งหมดที่ตนได้กระทำต่อประชาชนั้นเป็นไปตามคำสั่ง แม้ระบบความสัมพันธ์กันเป็นลำดับชั้นในองค์กรฝ่ายความมั่นคงและการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ยังจำเป็นเพื่อให้กลไกขององค์กรโดยภาพรวมดำเนินต่อไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า คำสั่งทั้งหมดจะเป็นสิ่งที่ชอบธรรมตายตัว และผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทั้งหมดไม่จำต้องสละความเป็นมนุษย์ หรือความรู้ผิดชอบชั่วดีของตนจนหมดสิ้น เพราะโดยแท้จริงแล้ว หน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ไม่ใช่การต้องปฏิบัติตามคำสั่งของ “นาย” แต่ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มิฉะนั้น หากผู้ถือกฎหมาย เป็นผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมืองเสียเอง ก็ไม่อาจเรียกได้ว่า สังคมดังกล่าว “ปกครองด้วยกฎหมาย” แต่ปกครองด้วยอำนาจป่าเถื่อน ที่ประชาชนเป็นเพียงวัตถุแห่งอำนาจของรัฐ ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และรัฐสามารถใช้ความรุนแรงได้อยู่ตลอดเวลา
.
.
เอกสารอ้างอิง
Ford, J., “WHEN CAN A SOLDIER DISOBEY AN ORDER?”, July 24, 2017, War on the rock, https://warontherocks.com/2017/07/when-can-a-soldier-disobey-an-order/
Retrieved on September 24, 2017.
จิรัชญา ชัยชุมขุน, “จับกุมได้ตอนไหน ใช้อาวุธยังไงบ้าง? ว่าด้วยการสลายการชุมนุมตามหลักสากล และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ”, 3 มีนาคม 2564, เดอะแมทเทอร์, https://thematter.co/quick-bite/principle-for-disbandment/136979 สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2564
ธงชัย วินิจจะกูล: รัฐไทย…รัฐอสูรกายที่มองประชาชนเป็นศัตรู, 29 มีนาคม 2564, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2021/03/92325 สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2564
ภาสกร ญี่นาง, “ความสำเร็จในวันที่ (ยัง) ไม่ชนะ: กรณีศึกษาคดีว่าด้วยการปลดแอกทาสในอเมริกา”, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 29 ธันวาคม 2563, https://tlhr2014.com/archives/24585 สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2564
วรเจตน์ ภาคีรัตน์, “หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม”, จุลนิติ, มกราคม – กุมภาพันธ์ 2555, หน้า 49 – 67.
ไอลอว์, “”หลักสากล” สำหรับการชุมนุมและการสลายการชุมนุม”, 17 ตุลาคม 2563, เว็บไซต์โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), https://ilaw.or.th/node/5765 สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2564
ประชาไท, “รอง ผบก.อคฝ. ชี้แจงต่อ กมธ. ถ้า คฝ. ใช้ความรุนแรงกับ ปชช. ต้องรับผิดชอบเอง”, 15 กันยายน 2564, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2021/09/95007 สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2564
.