กระบวนการอยุติธรรมไทย: การลอยนวลพ้นผิดโดยกฎหมายของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” กรณีสลายการชุมนุมปี 53

ภาสกร ญี่นาง

นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

หลังการก่อรัฐประหารปี 2549 สังคมไทยได้เข้าสู่บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ในลักษณะ “สงครามระหว่างสี” แบบเต็มตัว จนปะทุเป็นความรุนแรงในเหตุการณ์ล้อมปราบผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงซึ่งออกมาเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นยุบสภาฯ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นเหตุให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน[1] ทั้งนี้ ตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์การเมืองของเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ไม่ต่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  มากนัก ในแง่ที่ว่า ฝ่ายผู้ถูกล้อมปราบ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใดๆ ตามที่ฝ่ายตนเรียกร้องได้ และถือเป็น “ผู้พ่ายแพ้” ต่ออำนาจรัฐอย่างสิ้นเชิง

บริบทของการเป็นผู้แพ้ดังกล่าว ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อลักษณะของปฏิบัติการทางกฎหมายที่เกิดขึ้นตามมา และเป็นอีกครั้งที่ระบบกฎหมายกลายเป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจในเวลานั้น เพื่อบิดเบือน กลบเกลื่อน ซ่อนเร้น และสร้างความชอบธรรมแก่การกระทำความรุนแรง จนนำไปสู่การลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และในโอกาสครบรอบ 11 ปี ที่ความยุติธรรมแก่เหยื่อความรุนแรงยังคงหยุดนิ่งอยู่กับที่ บทความชิ้นนี้จะพยายามสำรวจว่ารัฐไทยดำเนินปฏิบัติการทางกฎหมายมาปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐให้รอดพ้นจากความรับผิดได้อย่างไร

 

หน้าเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) >> http://www.pic2010.org/

 

การสร้างความชอบธรรมแก่ความรุนแรง: ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

ต้นตอของการลอยนวลพ้นผิด เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง[2]  โดยประกอบด้วยคำปรารภ ที่สะท้อนให้เห็นการใช้กลไกระบบกฎหมาย เพื่อสร้างระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่คอยกดทับกลุ่มผู้ชุมนุมให้ต้องตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง และมีสถานะด้อยกว่าในโครงสร้างอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน ผ่านกระบวนการสร้างความหมายที่เปลี่ยนบุคคลผู้มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญให้กลายเป็นบุคคลที่ “ก่อให้เกิดความวุ่นวาย” หรือ “ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ”

การประกาศสถานการณ์ รัฐบาลได้ฉวยโอกาสอธิบายถึงสถานการณ์การชุมนุมที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานั้น ให้มีลักษณะไม่ต่างจากสถานการณ์เลวร้ายอันส่งผลเสียต่อความมั่นคงของชาติ และความสงบสุขของประชาชนเพื่อทำลายความชอบธรรมของกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนจะนำกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม รัฐบาลบรรยายว่าการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง เกิดขึ้นโดย “มีการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาและการสื่อสารด้วยวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมั่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่และเพื่อให้การกระทำที่ล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน ด้วยการยุยงให้ประชาชนชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดขวางการใช้ชีวิตของประชาชนอื่นโดยทั่วไป ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนเสียหาย และเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน มีการใช้กำลังขัดขืนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย… ”

ขณะเดียวกัน เพื่อเปิดช่องให้รัฐสามารถใช้ความรุนแรงได้อย่างชอบธรรม รัฐบาลจึงใช้วิธีการจำกัดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทำลายความน่าเชื่อถือของข้อมูลอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อซ่อนเร้นแผนปฏิบัติการความรุนแรงของฝ่ายรัฐไว้ ด้วยการกล่าวหาฝ่ายผู้ชุมนุมไว้ในประกาศว่า “มีการใช้สถานที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อให้กระทำการให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆ” เช่น หากปรากฏข้อมูลบางอย่างจากสื่อมวลชนฝ่ายคนเสื้อแดงที่พยายามชี้ว่า ความรุนแรงมาจากมือที่สาม หรือ ฝ่ายรัฐ ก็จะถูกถือว่า เป็นข้อมูลที่ไม่มีความน่าเชื่อถือและผ่านการบิดเบือนมาก่อน ประกอบกับรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) ระบุอีกว่า[3] ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าว รัฐบาลได้ใช้ “ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร” เป็นเครื่องมือในการจัดการกับการชุมนุมและสร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการความรุนแรงอยู่เสมอ ผ่านการอภิปรายในรัฐสภา สื่อสารภายในหน่วยงานรัฐ และการสื่อสารกับสื่อมวลชน

นอกจากนี้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังพยายามตอกย้ำภาพความอันตรายแก่การชุมนุมของคนเสื้อแดง ให้ไม่ต่างจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายว่า “…มีบุคคลบางกลุ่มได้ก่อเหตุร้ายหลายครั้งโดยต่อเนื่อง เพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน จากสถานการณ์ที่มีเหตุยืดเยื้อและมีการละเมิดต่อกฎหมายเพิ่มมากขึ้น จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะมีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบค่อความมั่นคงของรัฐยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ และเกิดความเสียหายหรือไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์…”

ข้อสังเกต คือจะเห็นว่า คำว่า “ประชาชนผู้บริสุทธิ์” นี้เอง สะท้อนถึงการสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม กับ กลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็น “ผู้ไม่บริสุทธิ์” ซึ่ง “ชุมนุมโดยไม่สงบขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ…และกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ผู้บริสุทธิ์จึงมีจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว”

ต่อมา วันที่ 14 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ทางภาคอีสานและภาคเหนือ เพื่อขยายอำนาจพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามประกาศฉบับที่สอง ด้วยเหตุผลรองรับลักษณะเดียวกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับแรก

ผลลัพธ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสองฉบับนั้น ราวกับว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์เลือกจะใช้วิธีการสร้างบรรยากาศหรือสภาวะสงครามให้เกิดขึ้นภายในประเทศด้วยตนเอง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ย่อมส่งผลให้บทบัญญัติกฎหมายที่จำกัดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของรัฐมิให้การกระทำการใดๆ อันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องถูกระงับการบังคับใช้ไปช่วงเวลาหนึ่ง[4] แต่ในทางกลับกัน สภาวะดังกล่าว กฎหมายก็ให้อำนาจอย่างล้นเกินแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ให้มี “อภิสิทธิ์ปลอดความผิด” เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น การกระทำความรุนแรงของรัฐจึงได้ชื่อว่าเป็นการกระทำ “โดยชอบด้วยกฎหมาย” และถือเป็นสถานการณ์ที่ระบบกฎหมายทำงานควบคู่สอดคล้องกับการปฏิบัติการความรุนแรงของรัฐอย่างแยบยลที่สุด

สถานการณ์เช่นนี้ มีความคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับสถานการณ์ก่อนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนพฤษภาคมปี 2535 เมื่อประชาชนต้องถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนับว่าเป็นกลไกทางกฎหมายอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ความสัมพันธ์ในโครงสร้างทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนเกิดช่องว่างและไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น

ขณะเดียวกัน หากรัฐยืนยันที่จะไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในแง่ของกันผลักไสกลุ่มผู้ชุมนุมให้ออกไปจากขอบเขตพื้นที่ความรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและทางศีลธรรมของรัฐผ่านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ฝ่ายชุมนุมย่อมต้องอยู่ในสถานะที่เปราะบางและตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อของความรุนแรงได้ตลอดเวลา

 

 

ความรุนแรงภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

10 เมษายน 2553 โดยการสั่งการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) หน่วยงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษให้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบหลักตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2553 ซึ่งมี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้นำกำลังทหาร พร้อมอาวุธสงคราม เข้าสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมที่ปักหลักที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยปฏิบัติการครั้งนี้ รัฐบาลเรียกว่าเป็น “ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่”[5] จากกลุ่มที่รัฐบาลตราหน้าว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”

ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ นำพาให้การชุมนุมเรียกร้อง กลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรง และความสูญเสียแก่ทั้งสองฝ่ายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จุดที่มีการปะทะและเสียชีวิตมากคือ ถนนดินสอและสี่แยกคอกวัว ซึ่งสื่อมวลชนรายงานว่า ประชาชนถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงเสียชีวิตหลายราย จนในช่วงค่ำปรากฏ “ชายชุดดำ” ยิงตอบโต้ทหาร ทำให้นายทหารเสียชีวิต 5 ราย ในจำนวนนั้นมี พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รวมอยู่ด้วย ซึ่งยอดรวมผู้เสียชีวิตในวันนั้นคือ ประชาชน 20 คน และทหาร 5 นาย[6]

โดยภาพรวมของปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและคำสั่งของ ศอฉ. ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของปฏิบัติการความรุนแรงเพื่อเข้าจัดการกับผู้ชุมนุมที่ถูกระบุว่าเป็น “ผู้ก่อความวุ่นวาย” และไม่ต่างจาก “ผู้ก่อการร้าย” ซึ่งทั้งหมด ดำเนินไปโดยมีเป้าหมายเป็นการขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม ดังที่ พันเอก (ยศขณะนั้น) สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ออกแถลงว่า “ไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จะเสร็จภายในเมื่อไร ขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่อาจใช้เวลานานเพราะผู้ชุมนุมต่อต้าน แม้จะใช้เวลานานก็คุ้ม ถ้ายืดเยื้อถึงค่ำเราก็ต้องทำให้เสร็จ…” สะท้อนให้เห็นว่า ความรุนแรงครั้งนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของความเข้าใจผิด หรือผิดพลาดแต่อย่างใด

ช่วงเวลาหลังจากนั้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น ช่วงที่ความความรุนแรงมีความชอบธรรมถึงขีดสุด วันที่ 26 เมษายน 2553 ในการแถลงข่าวของ ศอฉ. เมื่อพันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. แถลงว่า แกนนำคนเสื้อแดงพยายามยกระดับการชุมนุม ไปสู่การก่อการร้าย อ้างการซ่องสุมอาวุธกันเป็นจำนวนมาก แล้วพยายามที่จะผูกโยงเรื่องราวโดยใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จมุ่งโจมตีสถาบันเบื้องสูง “อันเป็นที่รักเคารพของคนไทยทุกคน” พร้อมทั้งแจกจ่าย “ผังล้มเจ้า” แก่สื่อมวลชน เพื่อแสดงว่าแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ เป็นขบวนการ ร่วมกับนักการเมืองพรรคเพื่อไทย บุคคลที่ลี้ภัยทางการเมือง สื่อมวลชนเสื้อแดง สื่อสิ่งพิมพ์และนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความพยายามจะสร้างวาทกรรม มีชุดความคิดอำมาตย์-ไพร่ ผลิตเนื้อหาในเชิงของการบิดเบือน ปลุกปั่น กระทบต่อความมั่นคงของรัฐอยู่ตลอดเวลา “ผังล้มเจ้า” ดังกล่าว ทำให้ความขัดแย้งปกคลุมไปด้วยบรรยายกาศความตึงเครียดยิ่งขึ้น และมีผลทำลายความชอบธรรมให้แก่ผู้ชุมนุม จนถึงขนาดว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ นำผังนี้ไปดำเนินคดีเอาผิดกับผู้มีชื่อในผัง[7]

แม้หลังจากนั้นหนึ่งปี พันเอกสรรเสริญยอมรับว่า ผังล้มเจ้านั้นไม่เป็นความจริง[8] แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาช่วงเวลาเกิดเหตุ ก็เพียงพอแล้วที่รัฐบาล และ ศอฉ. ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะอ้างความชอบธรรมในการเข้าสลายการชุมนุมเป็นครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 13 – 19  พฤษภาคม 2553 ผ่านปฏิบัติการชื่อว่า “กระชับพื้นที่” เพื่อยึดคืนพื้นที่สวนลุมพินีและบริเวณต่อเนื่อง โดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. เห็นว่าเป็น “พื้นที่หลบซ่อนของกองกำลังติดอาวุธ นปช.” และถูกใช้เป็น “ฐานปฏิบัติการในการยิงอาวุธสงครามโดยเฉพาะเอ็ม 79 ใส่พื้นที่โดยรอบ”[9]

ปฏิบัติการความรุนแรงในช่วงเวลานั้น ก่อให้เกิดความเสียหายกระจายเป็นวงกว้าง จนการชุมนุมต้องยุติลงในที่สุด มีรายงานผู้เสียชีวิตรวมจากทั้งสองเหตุการณ์อย่างน้อย 94 คน และบาดเจ็บอีกนับพันคน ข้อมูลของ ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม ชี้ว่า[10] ในปฏิบัติการของรัฐบาลเพื่อจัดการกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีการเบิกใช้กระสุนปืนตั้งแต่ 11 มีนาคม – 19 พฤษภาคม 2553 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 597,500 นัด และภายหลังได้นำไปคืนกรมสรรพาวุธ 479,577 นัด หรือ เท่ากับมีการใช้กระสุนในการสลายการชุมนุม 117,923 นัด ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นกระสุนจริง 111,303 นัด และเป็นกระสุนซุ่มยิง 2,120 นัด[11] ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่บ่งถึงการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ

ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ การใช้คำว่า “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับพื้นที่” แทนคำว่า “การสลายการชุมนุม” ตามปกติ ย่อมเป็นเหมือนการเลี่ยงบาลีเพื่อลดทอนการรับรู้ของผู้คนในสังคมถึงนัยยะความรุนแรงที่แฝงอยู่

ปฏิบัติการความรุนแรง การใช้กองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม และการประกาศพื้นที่ใช้ “กระสุนจริง” ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย หากปราศจากปฏิบัติการทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐกำลังดำเนินอยู่ กล่าวอีกแง่หนึ่ง คือ ความรุนแรงที่ดำเนินโดยรัฐไทย มักติดมาพร้อมกับผ้าคลุมของหลักการปกครองโดยกฎหมาย หรือหลักนิติรัฐและนิติธรรมแบบไทยๆ ที่กฎหมายไม่ได้ดำรงอยู่เป็นกรอบจำกัดอำนาจของรัฐ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากแต่เป็นเครื่องมือในการสร้างชอบธรรมแก่การกระทำความรุนแรงของฝ่ายรัฐ มิให้ต้องรับผิดใดๆ ในทางกฎหมาย โดยปฏิบัติการทางกฎหมายเช่นนี้จะปรากฏให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งในความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างผู้มีอำนาจรัฐ และฝ่ายประชาชนผู้ออกมาต่อต้าน เรียกร้อง หรือท้าทายสถานภาพของผู้มีอำนาจ

 

ภาพโดย Banrasdr Photo

 

กระบวนการประกอบสร้างการลอยนวลพ้นผิด

เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของไทย อาจประกอบด้วย เหตุการณ์ “14 ตุลาฯ 16” “6 ตุลาฯ 19” “พฤษภา 35” รวมถึง “เมษา-พฤษภา 53” ซึ่งทั้งหมด มีลักษณะเหมือนกันประการหนึ่ง คือ การที่ไม่มีผู้สั่งการคนใดต้องมีความรับผิดทางกฎหมาย หรือถูกลงโทษแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การลอยนวลพ้นผิดในกรณีเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 อาจมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดประการหนึ่ง คือ รัฐไทยไม่ได้ตรากฎหมายนิรโทษกรรมมายกเว้นความผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เหมือนอย่างกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงก่อนหน้านี้ แม้จะมีการพยายามอยู่ ซึ่งก็ถูกกระแสต่อต้าน ประท้วงอย่างหนัก จนเป็นเหตุให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัยนั้น ต้องตัดสินใจยุบสภาฯ เป็นเหตุให้ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมต้องเป็นอันตกไป

การลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการล้อมปราบคนเสื้อแดง เป็นไปโดยอาศัยกลไกขององค์กรศาล และองค์กรอิสระที่ถือกำเนิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งข้อสังเกตคือ กลไกที่เกิดขึ้นนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการปกป้องความเป็นผู้บริสุทธิ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในแง่ของกฎหมาย (คำพิพากษาศาล, กระบวนการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.) และ ประวัติศาสตร์ทางการเมือง (การจัดทำรายงานข้อเท็จจริงของ กสม. และ คอป.)

 

ภาพจากมติชน

 

การสร้างความจริงของ “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง”

ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงยุติลง รัฐบาล ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ความรุนแรงโดยตรง ได้จัดการความรุนแรงพาสังคมก้าวข้ามความขัดแย้ง ด้วยการตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริง (Truth Commission) ขึ้น เพื่อจัดทำรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)[12] ในลักษณะที่เป็นบันทึกข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับเหตุการณ์ แต่ทว่า รูปแบบการดำเนินการและที่มาของคณะกรรมการดังกล่าว กลับเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ และถูกตั้งคำถามในประเด็นเรื่องความเป็นกลาง ความเป็นอิสระอย่างกว้างขวางในสังคมช่วงเวลานั้น

กรอบวิสัยทัศน์การทำงานของ คอป. นั้นไม่ได้มีการเอ่ยถึงการแสวงหาความยุติธรรม เพื่อนำตัวผู้กระทำความรุนแรงต่อประชาชนมาลงโทษ โดยระบุเพียงว่า การทำงานของ คอป. มุ่งเน้นไปที่การทำให้ “…เกิดความเข้าใจร่วมกันและการเยียวยา และป้องกันมิให้เกิดเหตุความรุนแรงและความเสียหายซ้ำอีกในอนาคต ทั้งนี้ ต้องมุ่งเน้นการใช้มาตรการเชิงสมานฉันท์ รวมถึงความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และความยุติธรรมทางสังคม การฟื้นฟูและเยียวยาเหยื่อและผู้เสียหาย เพื่อสมานบาดแผลทางสังคมและเสริมสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ถ้อยทีถ้อยอาศัย และยอมรับความแตกต่างทางความคิดเพื่อส่งเสริมให้เกิดความปรองดองในประเทศไทยระยะยาวได้ต่อไป…”[13]

นอกจากนี้ ปัญหาความบกพร่องเรื่องความเป็นกลางและความเป็นอิสระ เริ่มตั้งแต่ที่มาของประธานคณะกรรมการอย่าง คณิต ณ นคร ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ความรุนแรงโดยตรง ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า คณิต ยังเป็นผู้ที่เคยเสนอต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองไทยไว้ว่า “รากเหง้าของความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราในระยะหลังๆ หมายถึงช่วงหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว โดยส่วนใหญ่ก็เป็นคดีที่เกี่ยวกับคุณทักษิณนี่แหละ อย่างคดีเกี่ยวกับการซุกหุ้นนี่ผมถือว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ไม่ได้ยึดหลักกฎหมายในการตัดสินคดีนี้  ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนคดี และเป็นที่มาของการใช้อำนาจเกินขอบเขต…”[14]  คณิต เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการเองทั้งหมด[15] โดยที่การแต่งตั้งคณะกรรมการจะประกอบไปด้วย ข้าราชการระดับสูง สื่อมวลชน นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน จำนวน 8 คน

ประเด็นข้างต้น พวงทอง ภวัครพันธุ์ หลังจากศึกษากระบวนการจัดทำและเนื้อหาของรายงานอย่างละเอียด เพื่อสะท้อนปัญหาความไม่ชอบมาพากล และได้จัดวางให้รายงานดังกล่าวมีฐานะเท่ากับ “ใบอนุญาตฆ่า” (Kill License) ที่สร้างความชอบธรรมกับความรุนแรงของรัฐ เสนอว่า เมื่อพิจารณาประวัติส่วนตัวของคณะกรรมการ พบว่า คณะกรรมการแต่ละคนที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คณิต อีกทอดหนึ่ง จะพบว่า มีปัญหาเรื่องความเป็นกลางอย่างยิ่ง เนื่องจากบางคนนั้นเคยมีประวัติเป็นปฏิปักษ์กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ และพวกมาก่อน เช่น กิติพงษ์ กิตติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรมและเคยดำรงตำแหน่งใน ศอฉ., มานิจ สุขสมจิตร ผู้มีส่วนร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, สมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ทำงานโดยมีจุดยืนต่อต้านทักษิณจากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง เป็นต้น[16]

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการค้นหาความจริงไม่ได้เป็นอิสระจากทัศนคติทางการเมืองและอคติของตนเองเพียงพอ ที่จะส่งเสริมให้วิเคราะห์ตีความข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างเป็นกลางได้เท่าที่ควร[17]

จากข้อบกพร่องที่ยกมาข้างต้น ส่งผลให้เนื้อหาสรุปเหตุการณ์ความรุนแรง[18] ในรายงานมีปัญหาตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวกลายเป็นรายงานที่ให้น้ำหนักในการพิจารณาการกระทำความผิดไปที่เป็นพฤติการณ์ของฝ่ายผู้ชุมนุม และเน้นไปที่การสืบสวนสอบสวนการกระทำของ “ชายชุดดำ” มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้ใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อโยนความผิดไปให้กับ “ชายชุดดำ” ว่าเป็นสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม[19]

คำอธิบายข้อค้นพบเกี่ยวกับการชุมนุมระหว่างเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม 2553 วาดภาพให้การกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่บนหลักความจำเป็น และ “ไม่เป็นความผิด” มากที่สุด อาทิ การประมวลเนื้อหาคำปราศรัยของแกนนำคนเสื้อแดงที่มีเนื้อหาส่งเสริมความรุนแรง ยั่วยุให้ผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยความรุนแรง[20] การเน้นย้ำเรื่องการมีกลุ่มติดอาวุธแฝงอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม[21] พฤติการณ์การทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชน ห้างสรรพสินค้า โดยมีการบ่งชี้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการกระทำความผิดของกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงที่มีการสลายการชุมนุม[22] เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดหากพิจารณาประกอบกับถ้อยคำในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศของ ศอฉ. พบว่า เนื้อหาของรายงาน คอป. สอดคล้องกับปฏิบัติการทางกฎหมายที่มีเกิดขึ้นก่อนหน้าความรุนแรงจะปะทุขึ้นเป็นอย่างดี

ในแง่นี้ กระบวนการแสวงหาความจริงของรัฐครั้งนั้น จึงเข้าข่ายเป็นกระบวนการฟอกขาวเจ้าหน้าที่รัฐ และความต้องการที่จะสื่อสารกับสังคมว่า ในเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้น ไม่มีผู้บริสุทธิ์คนใดตกเป็นเหยื่อความรุนแรง กลับกันผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และแกนนำ ล้วนมีการกระทำที่มีลักษณะเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติและสถาบันกษัตริย์ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการรุนแรงเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศเอาไว้

 

 

สิทธิมนุษยชนที่ย่ำอยู่กับที่ของ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)”

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นมาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เพื่อดำเนินกลไกการถ่วงดุลอำนาจของหน่วยงานรัฐอื่นๆ โดยมีอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งในการตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเว้นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น กสม. จึงจัดให้มีการทำรายงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[23] บนหลักการและเหตุผลที่ว่า “เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. และการดำเนินการของรัฐในช่วงที่มีการชุมนุม อาจมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประกอบกับกรณีตามคำร้องทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง…”

รายงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของ กสม. เป็นรายงานอีกฉบับหนึ่งที่ พวงทอง ศึกษาควบคู่ไปกับรายงานของ คอป. และได้ชี้ว่า รายงานของ กสม. มีปัญหาด้านเนื้อหาไม่ต่างไปจากรายงานของ คอป. เท่าใดนัก[24] เริ่มตั้งแต่การให้ความชอบธรรมกับปฏิบัติการทางกฎหมายต่างๆ ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ และ ศอฉ. ได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้าที่จะนำกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และอยู่บนหลักความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือ “เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน”[25]

ปัญหาสำคัญในรายงานของ กสม. ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แทนที่จะมุ่งเน้นตรวจสอบค้นหาความจริงว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนของตนอย่างไรบ้าง แต่รายงานนี้กลับทำการตรวจสอบ วิเคราะห์ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร[26] อาทิ การสรุปในรายงานว่า “การชุมนุมของกลุ่ม นปช.เป็นการชุมนุมที่เกินขอบเขต และการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมอันไม่ใช่วิธีปฏิบัติปกติ เช่น การโต้ตอบต่อฝ่ายรัฐบาล การบุกยึดรัฐสภา การปิดกั้นถนน การตรวจค้นรถประชาชน การสกัดกั้นรถขนส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ การยึดรถไฟไม่ให้เดินทางเข้ามาสมทบในส่วนกลาง การขู่จะบุกยึดหรือเผาศาลากลางจังหวัด…”[27] หรือ กรณีการชี้ให้เห็นว่า ในช่วงการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหาร “ในบางโอกาส บางสถานที่ กลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้เด็กและสตรี กลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้เด็กและสตรีอยู่แถวหน้าในลักษณะโล่มนุษย์ เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและขาดความระมัดระวังภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก สตรี จึงเห็นว่า เป็นการกระทำที่นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้”[28]

รวมถึงกล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงขณะนั้น เป็น “การชุมนุมอันเกินส่วน” และกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ร่วมในการชุมนุม รัฐบาลโดยการสั่งการของผู้อำนวยการ ศอฉ. จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารขอคืนพื้นที่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ชุมนุมเกินส่วน เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไป ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้[29] ซึ่งทั้งหมดเป็นการแฝงนัยยะว่า กลุ่มผู้ชุมนุมต่างหากที่เป็นฝ่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนคนอื่นๆ

ส่วนกรณีการกระทำความรุนแรงและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ รายงานของ กสม. ระบุชัดเจนว่า เป็นการกระทำภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้ เจ้าหน้าที่ทหาร “มีความจำเป็นต้องป้องกันตนเอง และผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ที่รุนแรงอาจทำให้ถึงแก่ชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บได้โดยไม่สามารถใช้วิธีการป้องกันอย่างอื่น” โดยความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากการขาดการวางแผนที่ดี “…ส่งผลให้มีการใช้วิธีการรุกคืบเข้าปิดล้อมพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม”[30] ถึงแม้ รายงานของ กสม. จะไม่ได้ละทิ้งประเด็นเรื่องความรับผิดและการดำเนินกระบวนการยุติธรรมต่อเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด พร้อมทั้งยังระบุว่า “ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เป็นผลมาจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งรัฐต้องมีหน้าที่ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป”[31] แต่ข้อความส่วนนี้ ก็ไม่อาจส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจริงได้

การจัดทำรายงานทั้งสองฉบับ เป็นกลไกสำคัญ ที่ช่วยมอบสถานะแก่ผู้ก่อความรุนแรงให้กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ในเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์และความทรงจำของผู้คนในสังคม พร้อมทั้ง ย่อมส่งผลไปยังปฏิบัติการทางกฎหมายที่ตามมาหลังจากนั้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งระบบกฎหมายและสถาบันกฎหมายได้ร่วมกันดำเนินกลไกการทำงานในลักษณะบิดเบือน ซ่อนเร้น กลบเกลื่อน และรับรองความชอบธรรมให้กับการกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์ เพื่อปกป้องมิให้ผู้มีอำนาจและผู้กระทำความรุนแรงต้องตกเป็นผู้ร้ายทั้งในทางกฎหมายและในแง่มุมของประวัติศาสตร์การเมือง

 

ภาพจาก BenarNews

 

กระบวนการอยุติธรรมของศาลยุติธรรม

ลักษณะพิเศษของการจัดการความรุนแรงที่หลายฝ่ายมองว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุด หากเทียบกับการจัดการความรุนแรงทางการเมืองในอดีตก่อนหน้า คือ กรณีเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาในปฏิบัติการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ (ผอ.ศอฉ.) และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผบ.ทบ. ในขณะนั้น) ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แรกเริ่ม กรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้สืบสวนกรณีการสลายการชุมนุมครั้งนั้น เป็นฝ่ายยื่นฟ้องทั้งสามคน ต่อศาลอาญาในความผิดฐานพยายามฆ่าและร่วมกันฆ่าผู้อื่นด้วยการสั่งให้ใช้อาวุธและกระสุนปืนจริงเข้าสลายการชุมนุม เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 แต่คดีความไม่มีความคืบหน้ามากนัก

จนมาถึงหลังการรัฐประหารปี 2557 กระบวนยุติธรรมที่ควรดำเนินไปให้ถึงที่สุดด้วยการสอบสวนข้อเท็จจริง เผยแพร่ข้อมูลลักษณะการกระทำความผิด และลงโทษผู้กระทำความผิด ศาลอาญากลับพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามคน โดยให้เหตุผลว่าคดีนี้ อยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากการกระทำของทั้งสองคนเป็นการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ใช่การกระทำผิดทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ และหาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ผู้เสียหายจะต้องยื่นคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้แม้ว่าฝ่ายผู้เสียหายจะได้ยื่นอุทธรณ์ฎีกาไปแล้วก็ตาม ศาลฎีกายังคงพิพากษายืนให้ยกฟ้องด้วยเหตุผลเดียวกัน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560[32]

คำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว เป็นการพิจารณาคดีที่ไม่ได้เข้าไปแตะต้องข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงอันเป็นเนื้อหาสาระสำคัญในคำฟ้อง จึงไม่มีการชี้ความผิดหรือแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นสืบพยานหลักฐานใดๆ เปลี่ยนให้กลไกการทำงานของศาลยุติธรรมที่ควรมุ่งใช้กฎหมายลงโทษผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกกระทำความรุนแรง กลับกลายเป็นปฏิบัติการทางกฎหมาย ที่บิดเบือน กลบเกลื่อน ซ่อนเร้น การกระทำความรุนแรงของรัฐในเหตุการณ์สลายการชุมนุม และมีส่วนช่วยในการปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐให้รอดพ้นจากความรับผิดเสียเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนให้ การมีคำสั่งให้นำกองกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และกระบวนการพิจารณาคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้ก่อความรุนแรงในฐานะเป็น “ผู้ใช้” ให้กระทำความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา เป็นเพียงการกระทำความผิดใน “ข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ” เท่านั้น

ปรากฏการณ์ทางกฎหมายนี้ สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของโครงสร้างระบบกฎหมายไทยที่เป็นอยู่ ซึ่งมีการแบ่งแยกการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมาย ออกจากกระทำความผิดทางอาญาโดยทั่วไป และเรียกว่าเป็น “การกระทำผิดทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ” ถือเป็นการยืนยันหลักความไม่เสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายของบุคคลปัจเจกบุคคลตาม “หลักการปกครองโดยกฎหมายแบบไทยๆ” ให้เห็นอย่างชัดเจน อีกทั้ง ยังเปิดช่องผู้มีอำนาจฉวยโอกาสเอากลไกของสถาบันกฎหมายมาปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความรุนแรงโดยอ้างอำนาจตามบทบัญญัติกฎหมาย ให้รอดพ้นความรับผิดไปได้

กรณีนี้เป็นอีกครั้ง ปฏิบัติการทางกฎหมายที่ไม่เอาผิดกับผู้กระทำความรุนแรง ส่งผลเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และค้ำจุนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ที่คอยกดทับสถานะของเหยื่อความรุนแรง รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้อยู่ต่ำกว่า หรือด้อยกว่า คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้แก่ ชนชั้นนำและผู้กุมอำนาจรัฐ ดำรงอยู่ต่อไป จนท้ายที่สุดก็เป็นการเพิกเฉยต่อความอยุติธรรม ความรุนแรง ละทิ้งและทำลายหลักประกันในชีวิต สร้างความเปราะบางให้กับพลเมืองของรัฐไทยให้ต้องอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรงได้ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้มีคำพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม

นอกเหนือจากการย่ำอยู่กับที่ของคดีอาญา ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า มีครอบครัวของเหยื่อความรุนแรงจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้แก่ ครอบครัวของสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ และครอบครัวของกมนเกด อัคฮาด ได้ร่วมกันยื่นฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ต่ออดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและอดีต รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. สุเทพ เทือกสุบรรณ ในความผิดฐานละเมิด แต่ทว่า คดีดังกล่าวก็ต้องเป็นอันยุติลง หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีมติคณะรัฐมนตรีให้จ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงผู้ที่ทรัพย์สินเสียหายจากการสลายการชุมนุม เนื่องจากแบบฟอร์มยินยอมรับเงินเยียวยาได้ระบุว่า “ผู้รับเงินต้องยินยอมสละสิทธิรับเงินช่วยเหลืออื่นๆ จากภาครัฐ และต้องไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐอีก”[33]

 

ภาพจาก ThaiPublica

 

ป.ป.ช. ไม่ชี้มูลความผิด : ทางตันของกระบวนการยุติธรรม

กระบวนการสร้างความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงส่วนสุดท้าย ที่เปรียบเสมือนการนำพากระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความรุนแรงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ต้องมาถึงทางตัน คือ กรณีผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากกลไกการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้มีอำนาจที่แท้จริงในการไต่สวนข้อเท็จจริงชี้มูลความผิด และส่งรายงาน เอกสาร พยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาลงโทษ[34] อภิสิทธิ์-สุเทพ-อนุพงษ์ ต่อไปในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้กระทำความผิดอาญาขณะดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นไปตามที่ศาลอาญามีคำพิพากษายกคำฟ้องของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่เป็นผู้ยื่นฟ้องในตอนแรก

วันที่ 29 ธันวาคม 2558 ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหากรณี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวก ใช้กำลังปราบปรามเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นอันตกไป โดยชี้ว่าการสลายชุมนุมของรัฐบาล และ ศอฉ. เป็นไปตามหลักสากล และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พร้อมเน้นย้ำว่าการชุมนุม “มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมจึงมีเหตุจำเป็นที่ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง” ซึ่งหากเหยื่อความรุนแรง หรือผู้เสียหาย จะเอาผิดกับทหารที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตก็สามารถยื่นฟ้องเป็นรายคนไปได้[35]  โดยให้ส่งเรื่องกลับไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 89/2[36] ตอกย้ำว่า เหยื่อความรุนแรง และผู้เสียหาย ไม่สามารถดำเนินคดีใดๆ กับเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชา และผู้สั่งการได้อีก

แม้ว่า จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง จะยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ขอให้หยิบยกสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องการกล่าวหานายอภิสิทธิ์กับพวก ร่วมกันสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงขึ้นพิจารณาใหม่อีกครั้ง ก่อนที่ศาลอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและการฟ้องคดีผิดอำนาจศาลเพียงไม่กี่วัน ป.ป.ช. ก็มีมติยกคำร้องดังกล่าวอีกครั้ง ด้วยเหตุผลว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่[37] พร้อมทั้งยืนยันว่า ปฏิบัติการความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการใช้อาวุธสสงคราม กระสุนจริง และยุทธวิธีการซุ่มยิงนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่มี “การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” และ “การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง”

คำร้องขอให้ ป.ป.ช. พิจารณาคำร้องใหม่ที่ตั้งประเด็นไว้ว่า กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่รอบคอบ ไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือ และสองมาตรฐานเมื่อเทียบกับกรณีความรุนแรงวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การสลายการชุมนุมของรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นั้น “ไม่ปรากฏแนวทางการปฏิบัติที่เป็นไปตามขั้นตอนและหลักการสากล มีการใช้แก๊สน้ำตาชนิดยิงและขว้างเพื่อผลักดันประชาชนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดทางเข้ารัฐสภา…มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก บางคนขาขาด นิ้วขาด และน่องเป็นแผลฉกรรจ์…โดยสื่อมวลชนได้เสนอข่าวการสลายการชุมนุมด้วยการใช้แก๊สน้ำตาซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าวตลอดทั้งวัน สมชาย ในฐานะนายกรัฐมนตรี กับพวก ก็ไม่ได้สั่งระงับหรือยับยั้งการปฏิบัติการดังกล่าว”[38]

ส่วนเหตุการณ์สลายการชุมนุมของ นปช. ป.ป.ช. มองว่า “…อภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี กับพวก ได้มีการสั่งการโดยมีแนวทางการปฏิบัติ และเน้นย้ำการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทุกระดับตามขั้นตอน กฎและหลักการสากลในการสลายการชุมนุม” พร้อมระบุถ้อยคำประโยคเดิมอีกครั้งว่า ในเหตุการณ์นั้นปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนและตามคำสั่งของศาล “ว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอคืนพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง…”[39]

การพิจารณาคำร้องของ ป.ป.ช. ล้วนแสดงนัยยะของการสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำความรุนแรงให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย กฎหมายจึงไม่ได้เป็นสิ่งคุ้มครองประชาชนจากความรุนแรงโดยรัฐ แต่เป็นฐานอำนาจรับรองความรุนแรงให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายต่างหาก ส่วนข้อโต้แย้งความเป็นสองมาตรฐานระหว่างการพิจารณาการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ของรัฐบาลสมชาย ก็ไม่สู้จะมีน้ำหนักและรับฟังได้เท่าใดนัก เนื่องจากข้อเท็จจริง ความรุนแรงและพยานหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ต่อมวลชนกลุ่มแรกไม่ได้มีลักษณะแตกต่าง (ซึ่งบางกรณีอาจรุนแรงกว่า) กับมวลชนกลุ่มหลังแม้แต่น้อย พร้อมทั้งยังแฝงถึงการตีตราว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง เป็น “ผู้ก่อความไม่สงบในบ้านเมือง” รัฐจึงต้องใช้กำลังปราบปรามเพื่อให้เกิดความสงบสุข

ขณะเดียวกัน กรณีการอ้างอิงถึงพยานหลักฐานใหม่ของผู้ร้อง ซึ่งประกอบไปด้วย “1) วารสาร “เสนาธิปัตย์”  2) คำสั่ง ไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลอาญา กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553  3) แผ่นบันทึกภาพและเสียง (CD) “รุมยิงนกในกรง”  และ 4) แผ่นบันทึกภาพและเสียง (CD) “ยุทธการขอคืนพื้นที่ เมษา 53”” ป.ป.ช. พิจารณาแล้วก็ปัดตกไปราวกับเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายใดๆ ที่ควรค่าแก่การพิจารณา ด้วยเหตุผลว่า “…วารสาร “เสนาธิปัตย์” ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างนั้นไม่ใช่พยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริง เป็นแต่เพียงบทความทางวิชาการทหารเท่านั้น สำหรับคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และแผ่นบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างก็เป็นข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในสำนวนการไต่สวนและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยด้วยแล้ว จึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่เช่นกัน”[40]

จะเห็นได้ว่า ต่อให้เป็นความรุนแรงที่ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์ต่อ ป.ป.ช. แล้วก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นกลับไม่มีความหมายใดที่จะทำให้ ป.ป.ช. ตัดสินใจชี้มูลความผิด เพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลต่อไปได้ ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะมโนสำนึกของผู้มีอำนาจใน ป.ป.ช. ไม่ได้มองว่าการกระทำความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนคนเสื้อแดง เป็นการกระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด

ผลลัพธ์ทางกฎหมายของมติ ป.ป.ช. ทั้งสองครั้ง คือ ผู้เสียหายไม่สามารถดำเนินคดีใดๆ กับผู้สั่งการให้ใช้มาตรการรุนแรงต่อประชาชนได้เลยจวบจนถึงปัจจุบัน และเท่ากับว่า ประตูสู่ความยุติธรรมของเหยื่อได้ถูกปิดตายลงเป็นที่เรียบร้อย แม้ว่าการเสียชีวิตหลายกรณีในเหตุการณ์สลายการชุมนุมจะมีข้อมูลและการไต่สวนของศาลที่ชัดเจนว่าเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม[41]

 

ภาพจาก BenarNews

 

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดยังคงฝังลึก

ปฏิบัติการทางกฎหมายที่ได้ไล่เรียงมา ตอกย้ำให้เห็นว่า ระบบกฎหมายไทย ยังคงเป็นระบบกฎหมายที่ให้อำนาจอย่างล้นเกินแก่รัฐในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนตนได้โดยไม่ต้องรับผิด และเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เพื่อจะปกป้องให้การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นการกระทำที่มีความชอบธรรม ภายใต้คำว่า “เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย” ดังที่ หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เข้ามาจัดการความรุนแรงยอมรับกัน รวมไปถึงศาลยุติธรรม ที่พิจารณาให้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้บังคับบัญชาในการสั่งให้นำกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม เป็นเพียงการกระทำความผิดใน “ข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ” เท่านั้น

ขณะที่ “องค์กรอิสระ” ที่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 บนแนวคิดและหลักการที่ว่า จะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาถ่วงดุลอำนาจรัฐ ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่อำนาจ พร้อมทั้งปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทว่า ความเป็นจริง “องค์กรอิสระ” เช่น ป.ป.ช. หรือ กสม. ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการความรุนแรงครั้งนั้น กลับแสดงให้เห็นถึงความไร้การยึดโยงกับประชาชนอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะกรณีของ ป.ป.ช. ที่มีมติไม่ชี้มูลความผิด และรับรองให้การกระทำของรัฐบาลเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และหลักสากล

แสนยานุภาพปฏิบัติการทางกฎหมายที่เข้าไปจัดการกับความรุนแรงทางการเมือง ในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 จึงมีลักษณะเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง ที่ทำงานสอดรับกับทั้งความรุนแรงทางตรงโดยรัฐและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เป็นอยู่ในสังคมไทยได้อย่างแยบยล พร้อมทั้งทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่อความรุนแรง และชำระล้างความผิดให้กับผู้กระทำความผิดได้มีประสิทธิภาพ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทำความสะอาดชำระล้างคราบเลือดผู้เสียชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในกิจกรรม “วันบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ (big cleaning day)”

สุดท้าย กระบวนการก่อสภาวะการลอยนวลพ้นผิดผ่านปฏิบัติการทางกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่เผยตัวตนออกมาให้เห็นในช่วงเวลาหนึ่ง เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองก่อนหน้านี้ทั้งหมด แต่ในแง่ของโครงสร้างอำนาจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม มันย่อมส่งงผลลัพธ์ในระยะยาว เมื่อปรากฏขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่ระบบกฎหมายและสถาบันกฎหมาย ไม่เคยมอบบทเรียนแก่ผู้มีอำนาจรัฐ และสังคมไทยผ่านการดำเนินกระบวนการบุติธรรมลงโทษผู้ประหัตประหารประชาชน ความอัปลักษณ์ที่ผู้มีอำนาจรัฐพร้อมใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของตนได้ตลอดเวลา โดยที่สามารถลอยนวลพ้นผิดไปได้ทุกครั้ง ย่อมกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย

 

———————–

อ้างอิงท้ายบทความ

[1] ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53, ความจริงเพื่อความยุติธรรม เหตุการณ์และผลกระทบบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53. (กรุงเทพฯ : ศูนย์ข้อมูลฯ, 2555.)

[2] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127/ตอนที่ 59 ง/ฉบับพิเศษ หน้า 1 ลงวันที่ 7 เมษายน 2553.

[3] จักรกริช สังขมณี และสายชล ปัญญชิต, ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลในช่วงของความขัดแย้ง , ความจริงเพื่อความยุติธรรม เหตุการณ์และผลกระทบบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53. (กรุงเทพฯ : ศูนย์ข้อมูลฯ, 2555.) หน้า 540-558.

[4] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127/ตอนที่ 45 ง/ฉบับพิเศษ หน้า 13 ลงวันที่ 7 เมษายน 2553.

[5] ข่าวสด, ย้อน10เมษา53 ขอคืนพื้นที่ กระสุนจริง-คนตาย-ชายชุดดำ ที่สังคม อาจหลงลืม?, ข่าวสดออนไลน์, 10 เมษายน 2562. https://www.khaosod.co.th/politics/news_2400891  (สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563)

[6] เรื่องเดียวกัน.

[7] ประชาไท, โฆษก ศอฉ. ยอมรับแต่ง “ผังล้มเจ้า” เพื่อตอบโต้การใส่ร้ายท่านผู้หญิงจรุงจิตต์, ประชาไท, 26 พฤษภาคม 2554. https://prachatai.com/journal/2011/05/34974 (สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563)

[8] เรื่องเดียวกัน.

[9] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, 10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง : มองเมษา-พฤษภา 53 ผ่านวาทกรรม “จำไม่ลง”, สำนักข่าวบีบีซีไทย, 11 พฤษภาคม 2563. https://www.bbc.com/thai/thailand-52614304 (สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563)

[10] ขวัญระวี วังอุดม, บทวิเคราะห์การใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม , ความจริงเพื่อความยุติธรรม เหตุการณ์และผลกระทบบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53. (กรุงเทพฯ : ศูนย์ข้อมูลฯ, 2555.) หน้า 478-513.

[11] เรื่องเดียวกัน

[12] คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ, รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กรกฎาคม 2553 – กรกฎาคม 2555, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ, 2555).

[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 8

[14] ข่าวผู้จัดการ, “คณิต ณ นคร” เปรียบ “ทักษิณ” บิดเบือนกระบวนการยุติธรรมไม่ต่าง ‘ฮิตเลอร์’ กระหายสงคราม, 27 มีนาคม 2555, ผู้จัดการออนไลน์, https://mgronline.com/specialscoop/detail/9550000038715 (สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2564)

[15] คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 9

[16] พวงทอง ภวัครพันธุ์. ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด : องค์กรอิสระในกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553, ฟ้าเดียวกัน, 14(2), หน้า 143 – 144.

[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 152.

[18] คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 44 – 196.

[19] ประชาไท, คอป. เปิดรายงานสมบูรณ์ ยันฝีมือ‘ชายชุดดำ’ 9 ศพ- ศอฉ.อนุญาตใช้สไนเปอร์, 18 กันยายน 2555, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2012/09/42697 (สืบต้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564)

[20] คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 162-167.

[21] เรื่องเดียวกัน, หน้า 170-171.

[22] เรื่องเดียวกัน, หน้า 173.

[23] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2556)

[24] พวงทอง ภวัครพันธุ์. เรื่องเดียวกัน, 14(2), หน้า 153 – 157.

[25] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 34-38.

[26] ประชาไท, อนุกรรมการสิทธิฯ ส่งบันทึกถึง “อมรา พงศาพิชญ์”-แนะพิจารณาร่างรายงานกสม.ให้รอบคอบก่อนเผยแพร่, 9 กรกฎาคม 2554, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2011/07/35945 (สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564)

[27] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 46

[28] เรื่องเดียวกัน, หน้า 47

[29] เรื่องเดียวกัน.

[30] เรื่องเดียวกัน, หน้า 48

[31] เรื่องเดียวกัน

[32] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4288-4289/2560

[33] สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์, รวมทุกความตีบตัน: 10 ปีคดีคนตายจากการสลายชุมนุมปี 53 ไปถึงไหน, 30 พฤศจิกายน 2563, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2020/11/90617 (สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2564

[34] ข่าวสำนักงาน ป.ป.ช.,  ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหากรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวก สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ตกไป แต่ให้ส่งเรื่องการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหารไปยังดีเอสไอ เพื่อสอบสวนการกระทำผิดต่อไป, (นนทบุรี: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชติ, 2558) หน้า 1.

[35] ประชาไท, ป.ป.ช.มีมติให้ข้อกล่าวหากรณี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สลายชุมนุมแดงปี53 ตกไป, ประชาไท, 29 ธันวาคม 2558. https://prachatai.com/journal/2015/12/63226 (สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563)

[36] ข่าวสำนักงาน ป.ป.ช., เรื่องเดียวกัน.

[37] ไทยโพสต์, ป.ป.ช. มีมติไม่รื้อคดีสลายชุมนุมนปช.ปี 53 ระบุไม่มีหลักฐานใหม่, ไทยโพสต์, 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561 https://www.thaipost.net/main/detail/11901 (สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563)

[38] เรื่องเดียวกัน

[39] เรื่องเดียวกัน.

[40] ข่าวสำนักงาน ป.ป.ช.,  คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ กับพวกขอให้หยิบยกสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก ร่วมกันสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. ขึ้นพิจารณาใหม่ เหตุไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่, (นนทบุรี: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชติ, 2561), หน้า 4 – 5 .

[41] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, 10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง : มองเมษา-พฤษภา 53 ผ่านวาทกรรม “จำไม่ลง”, สำนักข่าวบีบีซีไทย, 11 พฤษภาคม 2563. https://www.bbc.com/thai/thailand-52614304 (สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563)

 

 

X