สภาวะลอยนวลพ้นผิดในเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535: การปกป้องผู้ก่อความรุนแรงโดยกฎหมาย

ภาสกร ญี่นาง

นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในวาระครบรอบ 29 ปี เหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะในการต่อสู้ของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย แต่ปัญหาสำคัญที่ยังไม่ได้รับการชำระสะสาง ให้เป็นที่กระจ่างแก่สังคมไทยมากนัก คือ เหตุเพราะใด ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงครั้งนั้น จึงไม่ได้รับการลงโทษตามกฎหมายจากผลการกระทำของตน รวมทั้ง ระบบกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายขณะนั้น มีปฏิบัติการอย่างไรบ้าง ในการจัดการกับความรุนแรงดังกล่าว

บทความนี้ จึงพยายามตอบคำถามดังกล่าว เพื่อเผยให้เห็นถึงลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของระบบกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งในแง่ของการมอบอำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ให้สามารถกระทำความรุนแรงต่อประชาชนอย่างชอบธรรม และการปกป้องคุ้มครองผู้กระทำความรุนแรงให้ลอยนวลพ้นผิดได้อย่างสิ้นเชิง ภายหลังจากที่เหตุการณ์สงบลง

.

.

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน: กระบวนการสร้างความชอบธรรมแก่ความรุนแรง

นับแต่การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูร ทั้งที่ ก่อนหน้า เคยป่าวประกาศต่อสาธารณชนว่า “จะไม่เป็นนายกฯ”[1] และได้หลั่งน้ำตาขณะกล่าวอำลาตำแหน่งผู้บัญชาการทางสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก ว่ามีความจำเป็นต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ”[2] ในช่วงเมษายนปี 2535 การเมืองไทยก็ถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศของความขัดแย้งทันที การออกมาคัดค้านไม่ยอมรับการเข้ารับตำแหน่งของพลเอกสุจินดา คราประยูร ในฐานะ “นายกฯ คนนอก” เริ่มจุดติด เมื่อร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร ตัดสินใจอดอาหารประท้วงเรียกร้องให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง[3]

กระแสการคัดค้านโหมกระหน่ำมากขึ้น ประชาชนจำนวนกว่าแสนคน ออกมาร่วมตัวชุมนุมประท้วง ทั้งบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และท้องสนามหลวง การชุมนุมครั้งนั้นยืนอยู่บนหลักการสำคัญสองประการ ได้แก่ หนึ่ง คัดค้านการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ คณะทหารผู้ทำการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534) และ สอง คัดค้านรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากได้รับการร่างขึ้นภายใต้อำนาจคณะ รสช.[4]

ความรุนแรงของเหตุการณ์ ปะทุขึ้นครั้งแรกในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม 2535[5] จากกรณีมวลชนกลุ่มหนึ่งเข้าเผชิญหน้ากับแนวกีดขวาง ระหว่างการเดินทางขึ้นสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปทางสี่แยกคอกวัว และขอร้องตำรวจให้เปิดทาง แต่ไม่สำเร็จ ประชาชนจึงพยายามฝ่าแนวกั้นโดยใช้ไม้กระแทกสิ่งกีดขวาง ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มมือและเข้าดึงลวดหนามออกจากถนน เป็นเหตุให้ พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำการฉีดน้ำสกัดฝูงชนทันทีที่กลุ่มผู้ชุมนุมรุกล้ำเข้ามา ผู้ชุมนุมบางรายที่เกิดอารมณ์ฉุนเฉียว ตอบโต้ด้วยการขว้างปาขวดน้ำ และก้อนหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงระดมกำลังเข้าระงับเหตุ จนเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต

ถัดจากนั้น วันที่ 18 พฤษภาคม 2535 เวลาเที่ยงคืนครึ่ง (คืนวันที่ 17) พลเอกสุจินดา คราประยูร จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ กทม. และปริมณฑล พร้อมบรรยายถึงสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ไว้ในหลักการและเหตุผลของประกาศว่า “โดยที่ปรากฏว่ามีบุคคลบางกลุ่ม ได้ก่อความไม่สงบขึ้นในเขตกทม. และปริมณฑล เป็นการกระทบกระเทือนสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งทำให้เกิดสถานการณ์อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร”

อีกทั้ง แถลงการณ์ของรัฐบาลที่ออกมาในเวลาไล่เรี่ยกัน ยังเน้นย้ำความชอบธรรมแก่การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการใช้ปฏิบัติการความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุม ซึ่งชี้แจงต่อสาธารณะว่า “ด้วยขณะนี้ ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มบุคคลร่วมกันก่อความไม่สงบขึ้น…จนถึงจลาจล รัฐบาลได้พยายามทำการป้องกันระงับมิให้เหตุการณ์ลุกลาม เพื่อความสงบสุขของประชาชน แต่กลุ่มบุคคลดังกล่าวหาได้หยุดยั้งการกระทำไม่ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเด็ดขาด เพื่อระงับเหตุการณ์อันอาจเป็นอันตรายต่อความสงบสุข และสวัสดิภาพของประชาชน โดยรัฐบาลจะใช้กำลังตำรวจและทหารตลอดจนการใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อระงับปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบโดยทันทีและเด็ดขาด เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ความสงบโดยเร็วที่สุด…”[6]

หลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลพลเอกสุจินดา รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ที่รัฐมีอำนาจเหนือสิทธิเสรีภาพและชีวิตของประชาชนอย่างสิ้นเชิง ก็ถูกประกอบสร้างขึ้น กฎหมายกลายเป็นเพียงเครื่องมือรองรับอำนาจความรุนแรงของรัฐ บทบัญญัติกฎหมายที่คอยเป็นกรอบจำกัดอำนาจรัฐ ไม่ให้กระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ล้วนถูกระงับการบังคับใช้ แต่อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ กลับได้รับอำนาจพิเศษแบบล้นเกิน เหนือชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ก่อให้เกิดการใช้อาวุธสังหารเข้าสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามกรอบของ “กฎหมาย” (พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495)

สภาวะบ้านเมืองภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุม ย่อมไม่ใช่ประธานแห่งสิทธิในชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของตนเองตามกฎหมายอีกต่อไป หากแต่เป็นเพียง “วัตถุแห่งอำนาจ” ที่ผู้อำนาจรัฐสามารถชี้เป็นชี้ตายได้ โดยมี “กฎหมาย” รับรองความชอบธรรมไว้แล้ว

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการออกแถลงการณ์ของรัฐบาลดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ระบบกฎหมายเข้ามามีส่วนร่วมกับความรุนแรงของรัฐอย่างแยบยล ผ่านการทำหน้าที่เป็นฐานรองรับความชอบธรรม ให้แก่ผู้มีอำนาจรัฐในการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือใช้ความรุนแรงด้วยกำลังอาวุธปราบปรามประชาชนอย่างเป็นระบบ ภายใต้ผ้าคลุมของคำว่า “ชอบด้วยกฎหมาย” และในนามของรัฐ

.

.

ปฏิบัติการทางกฎหมายสู่ “แผนไพรีพินาศ”

เมื่อกฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐล้นเกินเต็มที่แล้ว ปฏิบัติการตาม “แผนไพรีพินาศ/33” [7] จึงตามมาอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่ความเสียหายเป็นวงกว้าง ประชาชนหลายคนถูกสังหารด้วยอาวุธสงคราม ถูกจับกุม รวมไปถึงการลงโทษด้วยท่าฝึกทหาร ขณะถูกควบคุมตัว[8] จากการปฏิบัติตามแผนการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ

แผนไพรีพินาศ เป็นยุทธการในลักษณะของแผนเผชิญเหตุ จัดทำขึ้นโดยกองกำลังรักษาพระนครตั้งแต่ปี 2525 โดยอาศัยรากฐานจัดตั้งจากฝ่ายความมั่นคงภายในของประเทศเกาหลีใต้ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบ ได้แก่ ทหารบก ทหารอากาศ ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน นำไปปฏิบัติ ซึ่งแผนการนี้ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องบริบทแวดล้อมทางการเมืองตามยุคสมัย และแผนที่มีผลบังคับใช้ขณะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงพฤษภาเลือด 2535 คือ “แผนไพรีพินาศ/33” ซึ่งนำพาความรุนแรงเข้าปกคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลาถึง 3 วัน[9]

ตลอดเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและแผนไพรีพินาศ ตั้งแต่เช้าวันที่ 18 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 เกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลนำกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พร้อมอาวุธสงคราม จำนวนกว่า 10,000 คน รวมไปถึงรถถังหุ้มเกราะไม่ต่ำกว่า 5 คัน และรถจิ๊ปติดปืนกลอีกไม่ต่ำกว่า 20 คัน เข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และบนถนนราชดำเนิน เป็นเหตุให้มีตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจำนวน 44 คน สูญหาย 48 คน (คาดว่า ความเป็นจริงตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 500 คน) และบาดเจ็บอีกราว 2,000 คน[10]

“ประชาชน” ในช่วงเวลานั้น ได้ถูกรัฐทำให้มีสถานะเป็นศัตรูของชาติอย่างเสร็จสรรพ ผ่านปฏิบัติการทางกฎหมายของรัฐเอง ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด “ผู้ก่อความไม่สงบ” “เป็นอันตรายต่อความมั่นคง” “เป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ฯลฯ ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมตามแผนไพรีพินาศ ย่อมเป็นสิ่งชอบธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ดังที่ปรากฏในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ซึ่งมีการยอมรับว่า “ผู้บังคับบัญชาชั้นสูง และหน่วยทหารจะปฏิบัติไปตามขั้นตอนและอยู่ในขอบเขตทางกฎหมาย”[11] ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ความผิดพลาด ล้มเหลว และไม่บรรลุตามเป้าหมายเท่านั้น

สำหรับรัฐไทยแล้ว ระบบกฎหมาย จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการก่อความรุนแรงของรัฐ ไม่แพ้การใช้อาวุธสงคราม เพราะหากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐเอาไว้ การกระทำความรุนแรง จะถูกถือให้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และไม่สามารถการันตีได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะรอดพ้นจากความรับผิดทางกฎหมายได้ ดังนั้น เพื่อคงสถานะของรัฐ ที่ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เหนือชีวิตประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ปฏิบัติการทางกฎหมายที่คอยเป็นฐานรองรับอำนาจในการกระทำความรุนแรง จึงเป็นสิ่งสำคัญ

วันที่ 21 พฤษภาคม 2535 การชุมนุมยุติลงหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี กับ พลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำฝั่งผู้ชุมนุม มาเข้าเฝ้า พร้อมพระราชทานพระราชดำรัสแก่คนทั้งสอง ซึ่งมีการเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย จากนั้นทั้งสองก็ได้ออกมาแถลงร่วมกันทางโทรทัศน์ ขอให้ยุติการชุมนุม พลเอกสุจินดาแถลงว่าจะปล่อยตัวพลตรีจำลอง ตรากฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกจับกุม และจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว  4 วันถัดมา พลเอกสุจินดา ประกาศลาออกจากการเป็นนายกฯ และอานันท์ ปันยารชุน ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก่อนการเลือกตั้งในเวลาต่อมา

.

.

การปกป้องคุ้มครองผู้ก่อความรุนแรง: พระราชกำหนดนิรโทษกรรม

วันที่ 23 พฤษภาคม 2535 ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงยุติลงสองวัน ท่ามกลางกระแสการประณามและการเรียกร้องให้ลงโทษผู้กระทำความรุนแรงต่อประชาชน ทั้งจากเหล่าคณาจารย์มหาวิทยาลัยหลายสถาบัน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สภาทนายความ สมาคมนักข่าว และภาคประชาสังคม[12] แต่พลเอกสุจินดา ในฐานะผู้นำรัฐบาล กลับทำในสิ่งตรงกันข้ามด้วยการตรากฎหมายกำหนดนิรโทษกรรมออกมา โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อยกเว้นความผิดแก่กลุ่มประชาชนผู้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในขณะเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2535 ตามที่เคยร่วมกันมีคำแถลงการณ์ทางโทรทัศน์กับพลตรีจำลองว่า รัฐบาลจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุม และจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว[13]

การตรากฎหมายดังกล่าว พลเอกสุจินดาได้ “แหก” มติคณะรัฐมนตรีที่ตกลงกันว่าจะนิรโทษกรรมโดยการออกเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่กลับเปลี่ยนเป็นการออกพระราชกำหนด และแจ้งเป็นหนังสือเวียน[14] ให้ผู้เกี่ยวข้องในคณะรัฐมนตรีคัดค้านตามเวลาที่กำหนด พอถึงเวลามีเพียง มนตรี พงษ์พานิช เท่านั้นที่ทักท้วง เพราะเห็นควรให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ตกลงกันไว้ตอนแรก[15] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จึงดำเนินการออกเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรม

ในแง่นี้หมายความว่า จากกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งควรให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรากฎหมาย กลายเป็นการตรากฎหมายนิรโทษกรรมโดยคณะบุคคลที่ส่วนหนึ่งดำรงตำแหน่งผ่านการสืบทอดอำนาจหลังการรัฐประหารของ รสช. และเป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจากผู้ที่มีส่วนได้เสียในเหตุการณ์โดยตรงเสียเอง

ด้วยบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเนื้อหาสาระในบทบัญญัติ มาตรา 3 ที่กำหนดว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกัน…หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”[16] ซึ่งไม่ได้ระบุขอบเขตการนิรโทษกรรมอย่างเฉพาะเจาะจงว่า กฎหมายจะนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำลักษณะใด หรือ บุคคลใดบ้างในเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ดังนั้นแล้ว กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ย่อมมีผลเป็นการยกเว้นความผิดครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการ หรือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการก็ตาม

หากพิจารณาถึงเหตุผลการตรากฎหมายที่ระบุไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชกำหนดอย่างเป็นทางการพบว่า[17] ถ้อยคำในการให้เหตุผลทางกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าจะไม่ได้กล่าวว่าจะให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความรุนแรงไว้โดยตรง แต่ก็ได้เผยถึงนัยยะของความพยายามในการปกป้องคุ้มครองกลุ่มผู้มีอำนาจให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีอยู่ด้วย เริ่มตั้งแต่การอ้างว่า รัฐบาลได้ตรากฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อ “ให้เหตุการณ์สงบโดยรวดเร็ว” ทั้งๆ ที่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ความวุ่นวายหรือความรุนแรงในเหตุการณ์ เกิดขึ้นโดยการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายรัฐเป็นส่วนใหญ่ และเหตุการณ์นี้เป็นอีกครั้งที่ “ความสามัคคีระหว่างคนในชาติ” ถูกนำมาเป็นฉากบังหน้าให้ผู้มีอำนาจซ่อนเร้นการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากนี้ เพื่อให้พระราชกำหนดมีความชอบธรรม และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หมายเหตุท้ายพระราชกำหนด จึงต้องประดิษฐ์ถ้อยคำให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยอำนาจการออกกฎหมายระดับพระราชกำหนดของคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องอยู่บนเงื่อนไขเฉพาะกรณี “ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ”[18] เท่านั้น ซึ่งกรณีฉุกเฉินอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ดังกล่าว

รัฐบาลได้อ้างถึงสถานการณ์ที่มีประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุมราว 3,000 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมและควบคุมตัวเอาไว้ เนื่องจากเกรงว่าอาจส่งผลให้เกิด “ความเคียดแค้นขึ้นในหมู่ประชาชน และจะนำไปสู่ความไม่พอใจและชุมนุมต่อต้านขึ้นอีกได้” ซึ่งในประเด็นนี้ หากวิเคราะห์บนหลักคิดเรื่องความยุติธรรมที่สมเหตุสมผลกว่า ย่อมเห็นว่าการปล่อยผู้กระทำความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้ลอยนวลพ้นผิดไปได้อย่างหน้าตาเฉยต่างหากที่จะสร้างบรรยากาศความเคียดแค้นและความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

ความฉ้อฉลของรัฐบาลในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ปรากฏอย่างเด่นชัดในถ้อยคำการให้สัมภาษณ์ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี และ “เนติบริกร” ผู้มีบทบาทสำคัญในการตราพระราชกำหนด รวมถึงยังเคยเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ที่เป็นหนึ่งในชนวนความขัดแย้งทางการเมืองช่วงเวลานั้น มีชัย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนต่อประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบธรรมของกฎหมายนิรโทษกรรม โดยแฝงเหตุผลและเจตนารมณ์ทางกฎหมายที่แท้จริงว่า “‘ความจริง’ กฎหมายนิรโทษกรรมออกมาตามปกติ เหมือนกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ก็ออกมาในลักษณะอย่างนี้ ถ้าจะให้แยกแยะอะไรเดี๋ยวก็ต้องไปแยกตามความผิดนั้น ความผิดนี้หาทางยุติไม่ได้ การนิรโทษกรรมคือต้องการให้อภัยทุกคน จะได้ไม่ต้องมาหวาดระแวงอะไรกันอีก”[19]

การให้สัมภาษณ์ของ มีชัย เช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับการตอกย้ำถึงผลของกฎหมายนิรโทษกรรมจะเป็นการยกเว้นความผิดครอบคลุมทุกฝ่าย และกรณีเช่นนี้ก็เป็น “สัจธรรม” ของระบบกฎหมายไทยที่การลอยนวลพ้นผิดเป็นเรื่องปกติธรรมดา รวมทั้ง หากใช้สามัญสำนึกของปุถุชนทั่วไปแล้ว การแยกการกระทำความผิด ระหว่างการกระทำผิดตามกฎหมายของผู้ชุมนุมที่ “ริเริ่มจากความปรารถนาที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมมนูญ อันเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงกระทำได้” ตามคำปรารภของกฎหมายนิรโทษกรรมที่ตนได้เขียนเอาไว้ และการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังทางอาวุธต่อประชาชนจนเป็นเหตุมีผู้เสียชีวิต สูญหาย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ก็ไม่น่าเป็นเรื่องยากที่จะหาทางยุติอย่างที่ มีชัย ได้กล่าวไว้ เว้นแต่มีเจตนาฉ้อฉลด้วยการใช้กฎหมายเพื่อรับรอง กลบเกลื่อน ซ่อนเร้น บิดเบือนการกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ

กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายที่ตราออกมาโดยปราศจากความชอบธรรมหลายประการ ตั้งแต่ลักษณะการตรากฎหมายที่มาจากรัฐบาล ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ความรุนแรง และใช้วิธีการแจ้งเป็นหนังสือเวียน ทั้งๆ ที่มีการตกลงกันในตอนแรกว่าจะออกเป็นพระราชบัญญัติ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณา กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ จึงเป็นกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วม และขาดความเชื่อมโยงกับความเป็นประชาธิปไตย เป็นกฎหมายที่ผู้มีอำนาจและผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงตราขึ้นเพื่อลบล้างความผิดของตนเอง

.

Photo by FRANCIS SILVAN / AFP

การรับรองกฎหมายนิรโทษกรรม: คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

ด้วยกระแสต่อต้านในประเด็นเรื่องความชอบธรรม และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อพระราชกำหนดนิรโทษกรรมดังกล่าว ต้องเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาว่า จะอนุมัติผ่านพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้สามารถบังคับใช้เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติต่อไปหรือไม่ ส่งผลให้ ที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้พระราชกำหนดนิรโทษกรรมนี้ตกไป[20] ตามความคาดหมายของผู้คนในสังคมเวลานั้น

ทว่าปัญหา คือ สภาวะการลอยนวลพ้นผิดกลับไม่เปลี่ยนแปลงไป ผลทางกฎหมายที่เป็นการยกเว้นความผิดแก่ผู้มีส่วนร่วมกับความรุนแรง กลับไม่เป็นอันเสียไป ด้วยเหตุที่พระราชกำหนดตกไป ซึ่งทั้งหมด เกิดจากปฏิบัติการของสถาบันทางกฎหมายสำคัญอย่าง “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ที่มีคำวินิจฉัยรับรองให้พระราชกำหนดนิรโทษกรรมมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้ผลของการยกเว้นความผิดแก่ผู้ก่อความรุนแรงตามพระราชกำหนดดังกล่าวมีผลต่อไป แม้จะถูกสภาผู้แทนราษฎรตีตกไป ตามคำวินิจฉัยที่ 2/2535 และ 3/2535

การอัญเชิญพระราชดำรัสเพื่อทำคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 2/2535

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 2/2535 เป็นคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นก่อนสภาผู้แทนราษฎรจะตีตกพระราชกำหนดนิรโทษกรรม การยื่นต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัย อยู่ในช่วงเวลาหลังจากรัฐบาลพลเอกสุจินดาได้ตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมขึ้นเพียงประมาณหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น วันที่ 1 มิถุนายน 2535 ขณะที่มี มีชัย ฤชุพันธ์ ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อประธานสภา เรื่องการขอเสนอความเห็นว่า “พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 มาตรา 172 วรรคหนึ่ง” และให้ประธานส่งต่อไปคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว

วันที่ 28 กรกฎาคม 2535 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญทำคำวินิจฉัยออกมา รับรองให้พระราชกำหนดนิรโทษกรรมชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ “เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 172 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534” โดยให้เหตุผลว่า บ้านเมืองจำเป็นต้อง “แก้ไขเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น และให้เกิดความสามัคคีในประชาชนชาวไทย ดังนั้นการตราพระราชกำหนดฉบับนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะตามมาตรา 172 วรรคหนึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534”[21] ซึ่งเป็นการแสดงถึงภาวะที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความอยุติธรรมหรือการลอยนวลพ้นผิดที่จะเกิดขึ้นจากผลของพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฉบับนี้แต่อย่างใด

เหตุผลทางกฎหมายดังกล่าว หากพิจารณาตามหลักการและเหตุผลแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เกิดความสงบและการทำให้เกิดความสามัคคีของคนในชาติได้ หากยังปรากฏข้อเท็จจริงที่รัฐปล่อยให้เหยื่อความรุนแรงขณะนั้นต้องเผชิญชะตากรรมตามลำพัง โดยที่ผู้ก่อความรุนแรงไม่มีความรับผิดใดๆ ทางกฎหมาย รวมถึงการสร้างความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประเทศ หรือ “ความปลอดภัยของประชาชนชาวโดยทั่วกัน” สำหรับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญย่อมมิได้หมายความรวมถึง การสร้างบรรทัดฐานกระบวนการยุติธรรมหรือสร้างหลักประกันแก่ชีวิตของผู้คนในสังคมให้รอดพ้นภยันตรายจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐ และการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรง หากแต่เป็นความปลอดภัยของผู้ครองอำนาจ และระเบียบโครงสร้างทางอำนาจภายใต้สถานะดั้งเดิมเท่านั้น

อย่างไรก็ดี คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เหมือนว่าจะทราบดีอยู่แล้วว่าเหตุผลของตนไม่สู้จะมีเหตุผลทางกฎหมายที่หนักแน่นพอ จึงได้ยก หรือ “อัญเชิญ” พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9[22] ที่ให้ไว้กับพลตรีจำลอง ศรีเมือง และพลเอกสุจินดา คราประยูร ก่อนเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้นจะยุติลง โดยในคำวินิจฉัยมีการกล่าวถึงวนซ้ำไปมาถึงสามครั้ง ราวกับต้องหวังพึ่ง “ความศักดิ์สิทธิ์” เพื่อให้เกิดอภินิหารทางกฎหมายขึ้นมา

เนื้อหากระแสพระราชดำรัสที่ถูกนำมาใช้ประกอบการให้เหตุผลในคำวินิจฉัยดังกล่าว ได้ให้ความสำคัญไปที่ “ความสามัคคีของคนในชาติ” หรือการ “หันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน” เหนือกว่าความยุติธรรมที่ควรเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์นั้นอย่างตรงไปตรงมา “ปัญหาทุกวันนี้ คือ ความปลอดภัยและขวัญของประชาชน ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งทุกหนมีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่าประเทศชาติจะล่มจม…ก็ขอให้ท่าน โดยเฉพาะทั้งสองท่านพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง ช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคนต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากัน แก้ปัญหา…เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วก็ที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ…ถ้าสมมติว่ากรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง”[23]

แม้ว่า บริบทในเวลาที่พระราชดำรัสออกมา กับเวลาที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งพระราชดำรัสนั้น ก็ไม่ได้เป็นการสั่งหรือแทรกแซงการทำงานของคณะตุลาการให้ต้องวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดนิรโทษกรรมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ทว่า ในระบบกฎหมายและการปกครองที่กฎหมายไม่เคยเป็นใหญ่ การวินิจฉัยให้พระราชกำหนดนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้บุคคลอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือปกป้องตนเองจากการถูกดำเนินคดี ย่อมเสมือนเป็นการขัดพระราชประสงค์ของ “ผู้ยิ่งใหญ่” หรือ “ผู้ทรงความยุติธรรมหนึ่งเดียว” ของชาติ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ได้เอ่ยปากถึงความยุติธรรม แต่ให้ “หันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน” สถาบันกฎหมายของรัฐ อาจต้องรับรองให้พระราชกำหนดนิรโทษกรรมชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อไป

กรณีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นอีกว่า การแสวงหาความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องของประชาชน หากแต่ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร ล้วนเป็นเรื่องของกลุ่มชนชั้นนำผู้ครองอำนาจรัฐ หรือผู้อยู่จุดสูงสุดบนระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจ ว่าจะประทานหรือบันดาลให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนเบื้องล่างหรือไม่

 

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ลงนามในคำวินิจฉัยที่ 2/2535

.

การรับรองให้กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลต่อไปในคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3/2535

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3/2535 นี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่พระราชกำหนดนิรโทษกรรมถูกตีตกไปเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับอนุมัติให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับเป็นพระราชบัญญัติ และมีประกาศการไม่อนุมัติพระราชกำหนดลงราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 10 ตุลาคม 2535 ส่งผลให้สภาวะการลอยนวลพ้นผิดและสูตรสำเร็จของรัฐไทยที่ผู้มีอำนาจสามารถใช้ความรุนแรงต่อประชาชนได้โดยไม่ต้องรับผิด ถูกท้าทายอย่างหนัก ด้วยเหตุนี้ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น จึงตัดสินใจเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 20 ตุลาคม 2535 และมีมติเห็นสมควรว่า “มีปัญหาที่จะต้องตีความมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 207 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย”[24]

ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ทำคำวินิจฉัยในประเด็นต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรียื่นเรื่องมาให้ตีความปัญหาข้อกฎหมายมาตรา 172 วรรคสาม โดยอยู่ในประเด็นเรื่องข้อความที่ว่า “กิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น” มีความหมายอย่างไร และมีผลเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 3 ของพระราชกำหนดนิรโทษกรรมที่ว่า “ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง” เพียงใด[25]

ประเด็นข้างต้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อความที่ว่า “กิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น” หมายความถึง “กิจการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผลอันเกิดขึ้นจากบทบัญญัติของพระราชกำหนดหรือการกระทำผลของการกระทำ  ประโยชน์หรือสิ่งอื่นใดที่ได้เกิดขึ้น ได้มีขึ้น หรือได้รับไปแล้ว อันเนื่องจากการปฏิบัติการตามบทบัญญัตินิรโทษกรรมนั้นนับตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดมีผลให้บังคับจนถึงวันที่การไม่อนุมัติพระราชกำหนดมีผล กิจการดังกล่างนั้นย่อมเป็นไปกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น” ซึ่งจากการให้ความหมายเช่นนี้นั้นเท่ากับว่า ผลของกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีผลเป็นการยกเว้นความผิดครอบคลุมทุกฝ่าย ไม่เว้นแม้แค่ผู้ก่อความรุนแรง ผู้สั่งการให้ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาคม ย่อมไม่ถูกกระทบกระเทือน เพราะเหตุที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรม[26]

การตีความข้างต้น อาจไม่ต่างกับการวินิจฉัยว่า การตรากฎหมายของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงเพื่อปกป้องตนเองกับพรรคพวกให้ลอยนวลพ้นผิดไปได้นั้นเป็นการกระทำที่ยอมรับกันได้ สำหรับการวินิจฉัยประเด็นที่ว่า ข้อความดังกล่าวมีผลเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 3 ของพระราชกำหนดนิรโทษกรรมเพียงใด คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เห็นว่า เมื่อบทบัญญัติมาตรา 3 กำหนดให้ “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าว…หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

ฉะนั้น ข้อความที่ว่า “กิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น” คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้มีผลว่า นับตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดฉบับนี้มีผลใช้บังคับ กระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม ถ้าการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ผู้กระทำย่อมพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิงไปทันที และ “การพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง” นี้ย่อมมีอยู่ตลอดไป โดยไม่ถูกกระทบกระเทือน จากการที่พระราชกำหนดฉบับนี้ตกไป[27]

ท้ายที่สุด คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับที่ออกมา นำไปสู่ผลลัพธ์ทางกฎหมาย คือ การลอยนวลพ้นผิดอย่างสิ้นเชิงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย ไม่ได้มีเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่สังคม หรือสร้างหลักประสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด รวมทั้งยังทำงานร่วมกับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐไทย ราวกับว่าความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายไทยอย่างเบ็ดเสร็จ ผ่านปฏิบัติการทางกฎหมายที่เข้าไปบิดเบือน ซ่อนเร้น กลบเกลื่อน รวมถึงให้ความชอบธรรมแก่การกระทำความรุนแรงของรัฐ โดยไม่ต้องรับผิดใดๆ ทางกฎหมาย

.

ภาพจาก Getty Images

.

การลอยนวลพ้นผิดอย่างสิ้นเชิง: การยกฟ้องคดีญาติวีรชนเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง

แม้ว่านักวิชาการกฎหมายจำนวนหนึ่ง จะออกมาให้ความเห็นต่อคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ ทำนอง ผลการยกเว้นความผิดตามกฎหมายนิรโทษกรรมที่ถูกสภาผู้แทนฯ ตีตกไป มีแก่ประชาชนผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม ดำเนินคดีตามการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลเท่านั้น ไม่กินความถึงเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้สั่งการให้ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน[28] แต่ความจริงก็ปรากฏออกมาผ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2015 – 2016/2542 ที่มีการยืนยันว่า ผลของกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้สั่งการให้นำกำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชน

คำพิพากษาดังกล่าวว่าด้วยเรื่องที่ กลุ่มผู้เสียหายและญาติวีรชนพฤษภาคม 2535 ร่วมกันฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก และเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้บังคับบัญชาจำนวน 5 คน หนึ่งในนั้น คือ พลเอกสุจินดา คราประยูร ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะเกิดเหตุ

คำฟ้องระบุว่า ทั้งหมดได้ร่วมกันสั่งให้นำกองกำลังทหารและตำรวจติดอาวุธร้ายแรงเข้าปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน และหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลให้กองกำลังทหารและตำรวจอยู่ในระเบียบวินัย เป็นเหตุให้กองกำลังทหารและตำรวจใช้อาวุธปืนยิงและทุบตีปะชาชนโดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำ อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย เป็นให้ประชาชนถึงแก่ความตาย โจทก์จึงขอให้จำเลยทั้ง 5 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้ง 39 คนเป็นเงิน 17,652,390 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ[29]

เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดอย่างสิ้นเชิง เหล่าจำเลยให้การต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยคนใดหรือจำเลยทั้งหมดได้สั่งการหรือดำเนินการอย่างใดให้ทหารและตำรวจผู้ใดเข้าปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน และจำเลยคนใดหรือจำเลยทั้งหมดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างใดในการกำกับดูแลให้กองกำลังทหารและตำรวจอยู่ในระเบียบวินัยอันเป็นเหตุให้กองกำลังทหารและตำรวจใช้อาวุธปืนยิงและทุบตีประชาชน และไม่ได้บรรยายให้จำเลยเข้าใจได้ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายจากการกระทำของผู้ใด ณ ที่ใด เมื่อใด และอย่างไร

รวมทั้ง เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้ประชาชนมาชุมนุมกันตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา วันที่ 17 พฤษภาคม 2535 เวลากลางคืน ผู้ร่วมชุมนุมบางกลุ่มได้ร่วมกันก่อการจลาจล เผาสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจจนได้รับบาดเจ็บสาหัส และยังเข้ารื้อค้นทำลายและเอาไปซึ่งทรัพย์สินของทางราชการ สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น พลเอกสุจินดา คราประยูร ในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อให้เหตุการณ์เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495 มีจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ร่วมด้วยและมีประกาศอีกหลายฉบับเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจที่เหมาะสมและตามความจำเป็นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แต่การชุมนุมและการจลาจล ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีการเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง กรมสรรพากร กรมประชาสัมพันธ์ ทำลายไฟสัญญาณจราจร ป้อมตำรวจและรถโดยสารประจำทางพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อระงับยับยั้งความรุนแรงต่างๆ ให้เหตุการณ์สงบลง การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย[30]

นอกจากนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะจำเลย ยังอ้างอีกว่า[31] ภายหลังเกิดเหตุมีพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกัน ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 แล้ว ดังนั้นแม้การกระทำของจำเลยจะเป็นละเมิดต่อผู้อื่น กฎหมายก็บัญญัติให้พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง โดยผลของกฎหมายดังกล่าวโจทก์ทั้งสามสิบเก้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง[32]

จากนั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง”[33] คดีนี้ดำเนินไปถึงชั้นศาลฎีกา โดยมีประเด็นที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัย สองประเด็นหลักๆ  ข้อแรก โจทก์ฎีกาว่า การออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ไม่ชอบเพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาพิจารณาในประเด็นนี้โดยอ้างคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2535 ซึ่งวินิจฉัยให้ “การตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมเป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2534 คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมเป็นเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มาตรา 209 และมีผลผูกพันศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 268”

ข้อสอง การที่โจทก์ฎีกาในเรื่องข้อความที่ว่า[34] “ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น” ตามมาตรา 172 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ไม่หมายความรวมถึงความรับผิดของจำเลยในคดีนี้ ข้อนี้ ศาลฎีกาก็ได้อ้างถึงคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2535 ที่วินิจฉัยตีความข้อความที่ว่ากิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้นมีผล ให้หมายความถึง นับตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับและให้การกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกัน ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าว ถ้าการกระทำนั้นผิดกฎหมายผู้กระทำย่อมพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงไปทันที และการพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนี้ย่อมมีอยู่ตลอดไปโดยไม่ถูกกระทบกระเทือนจากการที่พระราชกำหนดฉบับนี้ตกไปเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ เพราะพระราชกำหนดก็มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 การไม่อนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฉบับนี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงผู้ซึ่งพระราชกำหนดบัญญัติให้พ้นจากความผิดและความรับผิดไปแล้ว ไม่ว่าบุคคลนั้นจะถูกร้องทุกข์ถูกกล่าวโทษ หรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วหรือไม่ก็ตาม อีกทั้ง คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันศาลยุติธรรมเช่นเดียวกันกับประเด็นแรก ฉะนั้น โจทก์ทั้งสามสิบเก้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสามสิบเก้าทุกข้อฟังไม่ขึ้น ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนตามศาลล่างที่พิพากษายกฟ้องโจทก์[35]

.

.

บทสรุป: ความอยุติธรรมเพื่อไม่ให้เปลี่ยนผ่าน

ปรากฏการณ์ทางกฎหมายที่ยกขึ้นมาอธิบาย ตอกย้ำว่า กระบวนการยุติธรรมไทยขาดความยึดโยงกับประชาชนอย่างสิ้นเชิง ระบบกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือของกลุ่มผู้กุมอำนาจรัฐเพื่อใช้ปกป้องคุ้มครองตนเองและพรรคพวกให้รอดพ้นจากความรับผิดเท่านั้น

อีกทั้ง เพื่อรักษาสภาวะการลอยนวลพ้นผิดในฐานะสถาบันทางการเมือง โดยทำหน้าที่ยึดอำนาจหลักส่วนๆ อื่นของโครงสร้างรัฐ ให้ดำรงอยู่ได้ในนามของรัฐไทยต่อไป สถาบันกฎหมายและระบบกฎหมายจึงต้องทำงานช่วยกันปกป้องผู้มีอำนาจจากความรับผิดทางกฎหมายให้ได้ ตรงกันข้าม หากสถาบันกฎหมายและระบบกฎหมาย หยิบยื่นความรับผิดแก่ผู้มีอำนาจรัฐที่กระทำความผิดต่อประชาชนอย่างตรงไปตรงมาตามหลักความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ย่อมเป็นการทำลายสภาวะการลอยนวลพ้นผิดที่คอยพยุงโครงสร้างอำนาจและระบบความสัมพันธ์ ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งมีสถานะเหนือกว่าให้พังครืนลงไป ระบบกฎหมายในรัฐไทยจึงไม่มีพื้นที่ให้กับกระบวนการยุติธรรมที่จะคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับเหยื่อได้ ไม่ว่าจะทางแพ่งหรือทางอาญาก็ตาม

เหตุการณ์ความรุนแรงพฤษภาคม 2535 นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ยังคงซ่อนเร้นความล้มเหลวไว้ในการสรรเสริญชัยชนะของประชาชน การลอยนวลพ้นผิดของผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า รัฐไทยยังคงไม่สามารถสถาปนานิติรัฐ และหลักความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเมืองระบอบประชาธิปไตย ให้ลงหลักปักฐานในสังคมได้

เมื่อปฏิบัติการทางกฎหมายของรัฐไทยและสถาบันทางกฎหมาย กลายเป็นตัวเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า ในความหมายของการเป็นสังคมที่ผู้คนมีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย หรือสังคมที่ปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่อย่างแท้จริง ปฏิบัติทางกฎหมายดังกล่าว จึงไม่ต่างจากความรุนแรงทางลักษณะหนึ่งที่กำหนดตำแหน่งแห่งที่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ตกเป็นเพียงเบี้ยล่างในความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน รวมถึงยังมีส่วนสนับสนุนรักษาระเบียบโครงสร้างทางสังคมที่มอบความเป็นอภิสิทธิ์ชนแก่คนบางกลุ่มให้อยู่เหนือกว่ากฎหมายดำเนินต่อไป เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่สามารถปลุกเร้าให้ความรุนแรงเช่นการเข่นฆ่าประชาชนปะทุขึ้นได้เสมอ

ยิ่งไปกว่านั้น หากว่าระบบกฎหมายทำให้การลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นประหนึ่งเป็นคุณค่า หรือแบบแผน ที่แฝงฝังอยู่ขนบธรรมเนียมประเพณีและสามัญสำนึกของผู้คนในสังคม ปรากฏการณ์เช่นนี้ ย่อมมีความหมายเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ที่สร้างความชอบธรรมแก่ความรุนแรงทางตรง และความรุนแรงเชิงโครงสร้างทั้งหลายให้เป็นสิ่งปกติธรรมดาของสังคม

ปฏิบัติการทางกฎหมายที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สะท้อนว่า กระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายไทยคงมีค่าเท่ากับเครื่องมือของผู้มีอำนาจและผู้ก่อความรุนแรงที่ใช้ในการบิดเบือน กลบเกลื่อน ซ่อนเร้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อปกป้องตนเองให้รอดพ้นจากการต้องถูกดำเนินคดีเท่านั้น โดยไม่ยึดโยงกับการปกป้องคุ้มครองชีวิต และสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่อย่างใด

.

—————————

อ้างอิงท้ายบทความ

[1] มติชน, 19 พฤศจิกายน 2534, หน้า 1

[2] วุฒิชาติ ชุ่มสนิท และฝ่ายวิชาการสารคดี, พฤษภาวิปโยค 35. ใน วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (บรรณาธิการ). รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย : รวม 3 เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภาวิปโยค 35. พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ: สารคดี, 2543). หน้า 190.

[3] เรื่องเดียวกัน,  หน้า 191

[4] เรื่องเดียวกัน,  หน้า 189.

[5] วุฒิชาติ ชุ่มสนิท และฝ่ายวิชาการสารคดี, เนื่องเดียวกัน, หน้า 223

[6] แถลงการณ์ของรัฐบาล ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109/ตอนที่ 59 หน้า 1 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2535

[7] แผนไพรีพินาศ/33 ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน

  1. ขั้นการเตรียมการ โดยให้ทุกหน่วย ออกหาข่าว รวบรวมข่าวสาร และเตรียมกำลัง เจ้าหน้าที่ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ในการปฏิบัติการ
  2. ขั้นป้องกัน ใช้กองกำลังตำรวจในการสกัดกั้น ให้การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ก่อความไม่สงบ ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์โดยถูกต้องและยุติการกระทำเอง ทางเจ้าหน้าที่จะปิดล้อมพื้นที่สำคัญ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งอารักขาสถานที่และบุคคลสำคัญของประเทศ
  3. ขั้นปราบปรามรุนแรงหากการปฏิบัติการขั้นที่ 2 หรือกองกำลังตำรวจ ไม่สามารถที่จะระงับสถานการณ์ได้สำเร็จ และสถานการณ์ทวีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้แล้ว จึงใช้กองกำลังของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เข้าระงับยับยั้งยุติภัยคุกคาม
  4. ขั้นสุดท้าย คือ การส่งมอบพื้นที่และความรับผิดชอบ ให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือตำรวจรับผิดชอบต่อไป เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย, ใน วุฒิชาติ ชุ่มสนิท และฝ่ายวิชาการสารคดี, เรื่องเดียวกัน, หน้า 244.

[8] วุฒิชาติ ชุ่มสนิท และฝ่ายวิชาการสารคดี, เรื่องเดียวกัน, หน้า 229.

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 244.

[10] รายงานพิเศษประชาไท, เปิดรายชื่อคนตาย พ.ค.35 และ พ.ค.53 – 7 ปี ความยุติธรรมที่ไม่ไปไหน, 19 พฤษภาคม 2560, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2017/05/71545 (สิบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2564)

[11] คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร, รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในเหตุการณ์ระหว่าง 17-20 พ.ค. 35. ใน ธนาพล อิ๋วสกุล, ประชาธิปไตยฉบับน้ำตา : ประมวลกิจกรรมของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ในรอบหนึ่งทศวรรษ (2535-2545), (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, 2545). หน้า 40.

[12] ไทยรัฐ, 23 พฤษภาคม 2535. หน้า 11.

[13] ไทยรัฐ, 22 พฤษภาคม 2535. หน้า 17

[14] ไทยรัฐ, 24 พฤษภาคม 2535. หน้า 22.

[15] เรื่องเดียวกัน.

[16] พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 มาตรา 3 บทบัญญัติว่า  “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าว ไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง”

[17] หมายเหตุท้ายพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 “โดยที่มีประชาชนชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์ได้ลุกลามจนมีการกระทำที่เป็นความผิดและเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของบุคคล ทั้งยังเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินรวมตลอดทั้งมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เมื่อได้คำนึงถึงว่าการกระทำนั้นได้ริเริ่มจากความปรารถนาที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงกระทำได้ ประกอบกับเพื่อให้เหตุการณ์สงบโดยรวดเร็ว และเกิดความสามัคคีระหว่างคนในชาติ จึงสมควรให้มีนิรโทษกรรมแก่บุคคลที่ได้กระทำหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว และโดยที่ในขณะนี้ได้มีการจับกุมบุคคลเป็นจำนวนมากมาควบคุมตัวไว้ แม้บางส่วนจะได้มีการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งต้องถูกควบคุมตัวอยู่ อันยังผลให้เกิดความเคียดแค้นขึ้นในหมู่ประชาชน และจะนำไปสู่ความไม่พอใจและชุมนุมต่อต้านขึ้นอีกได้ กรณีจึงเป็นการฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ขึ้น”

[18] หมายเหตุท้ายพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535.

[19] ไทยรัฐ, 25 พฤษภาคม 2535. หน้า 22

[20] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 1 ครั้งที่ 4/2535 (สมัยสามัญ ประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ 7  ตุลาคม พ.ศ. 2535 ณ ตึกรัฐสภา, หน้า 397.

[21] คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 2/2535 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 81 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2535, หน้า 26-27.

[22] เรื่องเดียวกัน, หน้า 26.

[23] เรื่องเดียวกัน, หน้า 25-26.

[24] คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คำร้องขอให้ตีความมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี, บทวิเคราะห์วิจารณ์คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ : พระราชกำหนดนิรโทษกรรม (กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536), หน้า 31.

[25] คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3/2535 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 113 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2535, หน้า 8

[26] เรื่องเดียวกัน.

[27] เรื่องเดียวกัน.

[28] กิตติศักดิ์ ปรกติ, พระราชกำหนดนิรโทษกรรม ยกเว้นความผิดแก่ทหารตำรวจที่ฆ่าประชาชนจริงหรือ?. ใน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. บทวิเคราะห์วิจารณ์คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ : พระราชกำหนดนิรโทษกรรม (กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, มุมมอง “ส.ศิวรักษ์” ต่อ พ.ร.ก. นิรโทษกรรม, เหลียวหลัง แลหน้า จากพฤษภาคม 2535. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2536), หน้า 113 – 116.

[29] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2015 – 2016/2542.

[30] เรื่องเดียวกัน.

[31] เรื่องเดียวกัน.

[32] เรื่องเดียวกัน.

[33] เรื่องเดียวกัน.

[34] เรื่องเดียวกัน.

[35] เรื่องเดียวกัน.

X