คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ “การปฏิรูปฯ เท่ากับ การล้มล้างฯ”: เมื่อประชาชนต้องกลายเป็นผู้ก่ออาชญากรรมทางความคิด

ภาสกร ญี่นาง

.

10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยชี้ให้การกระทำของ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งมีการประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยดังกล่าวได้จุดให้ความขัดแย้งทางการเมืองต้องเดือดปะทุขึ้นอีกครั้ง ก่อให้เกิดการถกเถียงทั้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง

สภาพบังคับของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะต่างจากคำพิพากษาของศาลทั่วไปที่จะมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความ แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมถึงองค์กรอื่นของรัฐ และเป็นเด็ดขาด ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ คำถาม คือ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว สังคมไทยจะเดินไปในทิศทางใดต่อไปหลังจากปฏิบัติการทางกฎหมายที่กำหนดให้ “การปฏิรูปฯ เท่ากับ การล้มล้างฯ”

บทความชิ้นนี้ จะพิจารณาปรากฏการณ์ดังกล่าว ผ่านมโนทัศน์ว่าด้วย “อาชญากรรมทางความคิด” ที่การเห็นต่างทางการเมือง เป็นอิสระจากผู้มีอำนาจ กำลังจะถูกถือให้เป็นอาชญากรรม ผ่านกลไกของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถูกถือว่าเป็นองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ

.

.

อาชญากรรมทางความคิด (Thought Crime)

การที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนสามารถมีความคิดเป็นของตนเอง ถือเป็นหนึ่งในเรื่องธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ และเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเคารพ หรือประกันสิทธิเสรีภาพดังกล่าว ตราบเท่าที่การแสดงความคิดเห็นของใครคนใด ไม่ไปละเมิดสิทธิหรือก่ออันตรายร้ายแรงต่อบุคคลอื่นๆ หรือสังคม แต่ถึงอย่างนั้น กลับไม่ใช่กับบางสังคมที่ผู้มีอำนาจรัฐมักพยายามขัดฝืนธรรมชาติดังกล่าว เพื่อเข้าควบคุม บงการ ความคิดของคนใต้ปกครอง ให้คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรักษาสถานภาพการเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่า ให้คงอยู่อย่างมั่นคง โดยยกเรื่องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และสันติภาพมาบังหน้า

คำว่า “อาชญากรรมทางความคิด” (Thought Crime) เป็นคำศัพท์สำคัญใน “1984” หนังสือนวนิยายการเมืองชื่อดัง ที่บัญญัติขึ้นโดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) เพื่อใช้อธิบาย พฤติกรรมหรือการกระทำในการก่อร่างความคิดอิสระแบบปัจเจก ให้แตกต่างไปจากบรรทัดฐานในคำสั่งสอนหรือเรื่องเล่าของผู้นำสมมติเทพอย่าง “พี่เบิ้ม” (big brother) ในฐานะตัวแสดงแทนระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จของประเทศ “โอเชียเนีย” (เมืองสมมติ) ที่กำเนิดจากลัทธิบูชาตัวบุคคลและการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) อย่างเข้มข้น โดยการกระทำดังกล่าวจะถูกมองว่าเป็นการสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระเบียบแห่งความเป็นเอกภาพของสังคม และการใช้อำนาจควบคุมให้ประชาชนมีความคิด มีพฤติกรรมเหมือนๆ กัน ในแบบที่ผู้มีอำนาจต้องการเท่านั้นที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเสถียรภาพของบ้านเมืองให้คงอยู่ได้

สิ่งที่ส่งผลให้การกระทำของปัจเจกบุคคล เข้าข่ายเป็นอาชญากรรมทางความคิดได้ คือ การทำลายความหมายของภาษาอย่างเป็นระบบ และสร้างภาษา “นิวสปีก” (Newspeak) ขึ้นมาแทน ผ่านกระบวนการลบถ้อยคำ ตลอดจนสามัญสำนึกบางอย่างที่แฝงอยู่ในถ้อยคำให้หายไป เพื่อบิดเบือนและทำลาย “ความจริง” ที่ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของชนชั้นปกครอง วิธีการควบคุมและปลูกฝังความคิดที่ใช้มากที่สุด คือ การสรรหาคำโกหก และสร้างกระบวนการคิดสองชั้น (doublethink) เปลี่ยนความหมายที่แท้จริงของคำบางคำไปแบบสิ้นเชิง ยกตัวอย่าง เช่น “สองบวกสองเท่ากับห้า” (2 + 2 = 5), สงครามคือสันติภาพ, เสรีภาพคือความเป็นทาส, อวิชชาคือกำลัง หรือในกลไกการทำงานของ “กระทรวงความรัก” ที่จะเน้นไปในทางสร้างความกลัว ทรมานทำลายตัวตนผู้ถูกกระทำจากเบื้องลึกเพื่อให้เกิดความรักพี่เบิ้มในท้ายที่สุด, “กระทรวงความจริง” ที่เป็นกลไกอำนาจ ซึ่งมีหน้าที่สร้างสรรค์คำโกหกบิดเบือนประวัติศาสตร์และความจริง เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง

ตรงกันข้าม หากปัจเจกบุคคลใด ไม่ยอมรับผลลัพธ์ที่ได้มาจากกระบวนการคิดสองชั้น หรือคอยยืนยันว่า สองบวกสองเท่ากับสี่ สงครามไม่ใช่สันติภาพ เสรีภาพไม่ใช่ความเป็นทาส ฯลฯ หรือกระทำ / คิด / เชื่อที่ต่างไปจากเรื่องเล่าหลักของสังคมที่ผู้มีอำนาจวางเอาไว้ คนเหล่านั้นย่อมตกเป็นอาชญากร ผู้ก่ออาชญากรรมทางความผิดที่ต้องถูกนำไปเข้ากระบวนการเปลี่ยนความคิด ด้วยวิธีการทรมานสารพัด จนกว่าตัวตนและความเป็นอิสระภายในจิตใจจะถูกทำลายจนหมดสิ้น

นอกจากนี้ กลไกอำนาจสำคัญที่จะให้ผู้มีอำนาจบรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าว คือ การใช้ตำรวจความคิด (thought police) ที่จะคอยปฏิบัติหน้าที่สอดส่อง เฝ้าระวัง สอดแนมทุกหนแห่ง เพื่อตรวจสอบสืบหาการกระทำที่บ่งชี้ว่ามีบุคคล เชื่อหรือคิดแตกต่างไปจากที่ชนชั้นปกครองต้องการหรือไม่ และหากตรวจพบก็จะดำเนินการจับกุม นำบุคคลเข้าขบวนการเปลี่ยนแปลงความคิดต่อไป

.

.

คนจำนวนหนึ่งต้องตกเป็น “อาชญากรทางความคิด” ผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ย่อมไม่เกินกว่าความคาดหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะสถาบันหนึ่งในเครือข่ายชนชั้นนำไทยที่ขาดความยึดโยงกับประชาชนอย่างสิ้นเชิง จะมีคำวินิจฉัยให้การกระทำของ รุ้ง อานนท์ และไมค์ ซึ่งชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่สิ่งที่ควรให้ความสนใจยังคงมีอีกหลายประการ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญจะฉุดรั้งประชาธิปไตยในไทยให้ถอยหลังไปได้ถึงเพียงใด ศาลจะยกเหตุผลใดบ้างมาประกอบคำวินิจฉัย และการให้เหตุผลเหล่านั้นแสดงนัยยะทางการเมืองอย่างไรบ้าง เป็นต้น

การชักแม่น้ำ เพื่อยกเหตุผลมาประกอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามหยุดยั้ง กดปราบความคิดแบบอิสระของผู้ถูกร้องทั้งสามคน ตลอดจนขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบันที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยศาลได้อาศัยอิทธิพลของเรื่องเล่าประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมมาเป็นกรอบในการทำคำวินิจฉัย ซึ่งยึดมั่นอุดมการณ์ที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของชาติ เป็นผู้ทรงคุณธรรม และดำรงอยู่จุดสูงสุดของโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบแนวดิ่งของรัฐไทย ไม่เหมือนกับชาตินิยมแบบอื่นๆ ที่ผู้คนล้วนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย

ขณะเดียวกัน การเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่เคียงข้างประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ และการขอให้มีระบบการตรวจสอบการกระทำหรืองบประมาณที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันฯ จำต้องปะทะกับเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่กษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะสมมติเทพแบบไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา เอกภาพที่ประชาชนทุกคนต้องเคารพ สักการะ เทิดทูนพระมหากษัตริย์อย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งกลุ่มชนชั้นนำพยายามรักษามาตลอด ได้ถูกคนรุ่นใหม่จำนวนมากท้าทายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กลุ่มชนชั้นผู้มีอำนาจจึงต้องอาศัยกลไกเชิงสถาบัน มาควบคุมความคิด ความเชื่อ และตอกย้ำ “ความจริง” แบบราชาชาตินิยมที่ตนและพรรคพวกเคยสถาปนาเอาไว้ เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพที่ผู้อยู่ใต้ปกครองเชื่องเชื่อต่ออำนาจให้ได้นานที่สุด

คล้ายกับใน 1984 วิธีการที่รัฐไทยใช้ควบคุมความคิดและบิดเบือนความจริง ก็คือ การกระทำต่อระบบภาษาที่มีอยู่เดิม และเปลี่ยนให้คำบางคำอยู่ในอีกความหมายหนึ่งที่สามารถรับใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ ด้วยกลไกเชิงสถาบัน

ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเท่ากับเป็นการทำลายความหมายของ “การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่ในความหมายทั่วไป หมายถึงการบูรณะปรับปรุงให้ดีขึ้น แล้วกำหนดความหมายใหม่ให้หมายถึง “การล้มล้างฯ” ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจคำว่า “ปฏิรูป” ก็ต้องอาศัยกระบวนการคิดสองชั้น เพราะหากบุคคลใดยังยืนยันว่า การปฏิรูปฯ คือ การปฏิรูปฯ ไม่ใช่การล้มล้าง และยังพยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อีก หรือเห็นด้วยกับจุดยืนดังกล่าว บุคคลนั้นย่อมตกเป็น “อาชญากรทางความคิด” ที่ต้องถูกกำจัดหรือเข้าสู่ขบวนการเปลี่ยนแปลงตัวตน

การทำลายความหมายเดิม และความชอบธรรมของการเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปฯ ยังดำเนินควบคู่ไปกับการผลิตซ้ำวาทกรรมภายใต้สูตรสำเร็จเกี่ยวกับ ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ และประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ที่ชนชั้นนำมักใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการกดปราบการต่อต้านจากเบื้องล่างเสมอมา อาทิ การอธิบายความเป็นชาติไทยโดยผูกติดแน่นแฟ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ว่า “พระมหากษัตริย์กับชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และจะดำรงอยู่ร่วมกันต่อไปในอนาคต แม้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทย เห็นพ้องต้องกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสถาบันหลักคู่ชาติไทย และถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้”

รวมทั้งการอ้างถึงประวัติศาสตร์ในตำราเรียนที่ออกแบบกันเองในกลุ่มชนชั้นปกครองและสะท้อนถึงอุดมการณ์ราชาชาตินิยมแบบสุดโต่ง ว่า “เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การปกครองของไทยอำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด นับแต่กรุงสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์”

แม้เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ศาลยกขึ้นประกอบคำวินิจฉัย จะสามารถโต้แย้งด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือข้อเท็จจริงในแง่มุมอื่นๆ ผ่านงานศึกษาทางวิชาการในปัจจุบันนับไม่ถ้วน จนทำให้ประวัติศาสตร์ตามแบบฉบับที่ไล่เรียงการก่อกำเนิดของชาติไทยโดยเริ่มตั้งแต่กรุงสุโขทัย จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ และยกเอากษัตริย์ขึ้นเป็นสมมติเทพ ไม่ต่างจากนิทานปรัมปรา แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อกลุ่มชนชั้นปกครองต้องการให้ความจริงทางประวัติศาสตร์ดำเนินไปในแบบที่เคยได้กล่าวอ้างมานับร้อยปี ก็คงต้องเป็นไปตามนั้น ส่วนการกระทำใดๆ ของปัจเจกบุคคลที่บั่นทอนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์และขัดแย้งต่อเรื่องเล่าดังกล่าว ก็จะถูกถือให้เป็น “อาชญากรรม” รูปแบบหนึ่ง

ดังกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การแสดงออกในการชุมนุมบางเหตุการณ์ รวมถึงบางส่วนของข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ที่ปรากฏในการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ว่ามีเจตนาซ่อนเร้นการล้มล้างการปกครอง ไม่ใช่การปฏิรูป

“ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้งมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ของผู้ถูกร้อง เช่น การยกเลิกมาตรา 6 การห้ามฟ้องร้องกษัตริย์ การยกเลิกการรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่กระทบสถานะของสถาบันกษัตริย์ ที่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติตลอดมา พฤติกรรมและเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป”

นอกจากนี้ ข้อสังเกต คำว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างถึงหลายแห่งในคำวินิจฉัย สามารถถูกพิจารณาผ่านกระบวนการคิดสองชั้น หรือภาษาแบบใหม่คล้ายกับภาษานิวสปีก ที่แสดงถึงความพยายามควบคุมความจริงและจิตใจของผู้อยู่ใต้ปกครองผ่านถ้อยคำบางคำ กล่าวคือ “ระบอบประชาธิปไตยฯ” ในที่นี้ อาจไม่ใช่ความหมายโดยทั่วไปในตำราเรียน แต่เป็นระบอบการปกครองบางอย่างที่ไม่สามารถตั้งชื่อให้มันได้ และอาจเรียกง่ายๆ ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่หลุดลอยไปจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ถือเอาประชาชนเป็นใหญ่ตามแบบฉบับของสังคมที่มีอารยะ

บริบทดังกล่าว ส่งผลให้การเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยของประชาชน อาจไม่ใช่การเรียกร้องประชาธิปไตยของผู้มีอำนาจ การถามหาความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ย่อมหมายถึงการท้าทายระเบียบดั้งเดิมของสังคมที่ผู้คนต้องมีความสัมพันธ์กันแบบแนวดิ่ง การมีความคิดเป็นอิสระ เป็นปัจเจกภาพ และเชื่อต่างจากที่ชนชั้นนำต้องการ ก็สามารถเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติได้ไม่แพ้การจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นต่อสู้

.

.

ประชาธิปไตยถดถอย พื้นที่การถกเถียงอย่างมีอารยะสูญหาย

การจัดการความขัดแย้งหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองหรือประเด็นใดๆ ก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ให้คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายสามารถสื่อสาร บอกเล่าปัญหา นำเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ และเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายถกเถียงกันได้อย่างมีอารยะ ภายใต้กรอบกฎกติกาและการเคารพสิทธิเสรีภาพของอีกฝ่าย เพื่อแสวงหาเป้าหมายร่วมกัน ทบทวนความเชื่อที่มีอยู่เดิม และนำพาสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ในแง่ที่ว่าทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ (Win-Win Situation) มากกว่าการที่มีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว (Winner takes all)

ปัญหา คือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่แปรให้คำที่นุ่มนวลที่สุดอย่างคำว่า “การปฏิรูปฯ” เปลี่ยนความหมายเป็น การล้มล้างระบอบการปกครองฯ ยิ่งตอกย้ำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นสถาบันที่ประชาชนไม่สามารถแตะต้องได้มากขึ้นไปอีก และมีผลเป็นการลบล้างพื้นที่การถกเถียงอย่างมีอารยะให้สูญสิ้นไป คงเหลือไว้เพียงแต่ “สภาวะยกเว้น” (state of exception) ที่รัฐสามารถใช้อำนาจปราบปรามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปฯ และระบอบประชาธิปไตยได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังแสดงนัยยะว่าชนชั้นนำและชนชั้นปกครองไม่ต้องการรับฟังข้อเรียกร้องเกี่ยวกับประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จากประชาชนอีกต่อไป เพราะถึงอย่างไร ประชาชนก็จะถูกถือว่าเป็นพวกล้มล้างการปกครองอยู่ดี

ขณะเดียวกัน มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่คำวินิจฉัยนี้จะส่งผลต่อคดีความซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันที่มีผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปฯ หลายคนถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวและคุมขัง โดยปราศจากสิทธิประกันตัว

ทั้งนี้ แม้ตามหลักกฎหมายพิจารณาความคดีอาญา โจทก์จะต้องแสดงพยานหลักฐาน สืบข้อเท็จจริงให้เห็น จนสิ้นข้อสงสัยว่า จำเลยและกลุ่มนักโทษทางการเมืองมีกระทำการล้มล้างการปกครองอย่างแท้จริง ทว่าในประเทศที่สถาบันกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไม่ยึดโยงกับประชาชน ขาดตอนจากความเป็นประชาธิปไตย และตกเป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นนำ เหตุการณ์การใช้กฎหมายแบบวิปริตผิดเพี้ยนและเหนือความคาดหมายของประชาชนล้วนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

คำวินิจฉัยดังกล่าว ได้เพิ่มระยะห่างระหว่างศักยภาพที่ประชาชนมี กับการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ผ่านข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ อย่างสันติ ให้กลายเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะต้องตกเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย และอาชญากรทางความคิด โดยสภาวะเช่นนี้ ย่อมไม่ต่างจากหน่อเชื้อของความรุนแรง ที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากฝ่ายประชาชน และฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ

การกำหนดสถานะให้ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้เปรียบเสมือนศัตรูของชาติ เท่ากับเป็นการปลดเปลื้องเอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกไปให้เหลือเพียงชีวิตที่เปราะบาง และสามารถเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยรัฐได้ตลอดเวลา เพราะรัฐมักอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติเพื่อสร้างความชอบธรรมในการกดปราบประชาชนที่ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจ ขณะเดียวกัน หากรัฐใช้ความรุนแรง เพื่อกดทับกระแสการเรียกร้องอันเชี่ยวกราก อาจทำให้สังคมมาถึงจุดที่ฝ่ายประชาชนต้องจนตรอก หมดสิ้นหนทางที่จะตอบโต้อำนาจด้วยสันติวิธี และหันมาเลือกใช้วิธีการรุนแรงโต้กลับ

แน่นอนว่า สงครามกลางเมือง ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะอาจต้องขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น ความสามารถในการถือครองอาวุธของประชากร การจัดสรรผลประโยชน์หรือทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม ความไร้เสถียรภาพของระบอบการเมืองและรัฐ เป็นต้น ทั้งนี้ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ธำรงไว้ซึ่งสถานะเหนือกฎหมายของสถาบันกษัตริย์ กำลังนำพาสังคมไทยไปสู่สภาวะแตกแยก โดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเส้นแบ่งสำคัญ ตลอดจนส่งเสริมความเกลียดชังให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และเมื่อผนวกกับปัญหาของโครงสร้างทางสังคมที่เครือข่ายชนชั้นนำมักเป็นฝ่ายที่สามารถตักตวงผลประโยชน์เอาไว้อยู่เพียงฝ่ายเดียว โดยอาศัยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่เหนือกว่า โดยบริบทดังกล่าวนี้ ย่อมถือเป็นเนื้อนาดินอย่างดีที่จะคอยบ่มเพาะให้ความรุนแรงหรือสงครามกลางเมืองปะทุขึ้นได้ในสังคมไทยภายภาคหน้า

.

.

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในฐานะ “ความรุนแรง” รูปแบบหนึ่ง

ดังนั้น ปฏิบัติการทางกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวโยงกับความเป็นการเมืองอย่างแยกกันไม่ขาด และมีประสิทธิภาพในการทำงานสอดรับกับการใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐได้อย่างแยบยล กล่าวคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจเป็น “การยัดเยียดชุดระบบความหมายหนึ่งๆ” ในลักษณะของการเป็นความรุนแรงเชิงภววิสัย (objective violence) ที่หลบซ่อนแฝงตัวอยู่ในพฤติกรรมอันซ้ำซากของสังคม บดบังความรับรู้ กดทับสำนึกความยุติธรรมของผู้คนจนก่อเกิดเป็นความเคยชิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สร้างอัตลักษณ์ทั้งของปัจเจกบุคคล ชุมชน รวมถึงสังคมและรัฐ การกระทำที่ขัดฝืนต่อความเคยชินดังกล่าว ย่อมต้องเข้าปะทะกับอัตลักษณ์เหล่านั้นโดยไม่อาจเลี่ยงได้

นอกจากนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจมีส่วนในการก่อรูปแบบของความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ (symbolic violence) ที่ทำให้ระบบการกดขี่หรือความรุนแรงต่อบุคคลผู้ต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งตกเป็นอาชญากรทางความคิด สามารถกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้และเป็นปกติ ตลอดจนมี “ความชอบธรรม” เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคุณค่าทางศีลธรรม หรือค่านิยมบางอย่างผ่านการใช้ภาษา เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และระบบความสัมพันธ์ของสังคมของสถาบันต่างๆ ที่ทำงานยึดโยงกันเป็นโครงข่ายเพื่อค้ำจุนความเป็นรัฐไทยตามแบบฉบับที่ชนชั้นนำสถาปนาเอาไว้ให้ดำรงอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม สถาบันที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการรักษาสถานะของชนชั้นนำ ย่อมหนีไม่พ้นสถาบันกฎหมาย ที่มีกลไกในการช่วยให้โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชนปรากฏออกมาอย่างเป็นรูปธรรม และระบุได้ชัดเจนว่า ใครมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหนภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าว ดังที่เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ท้ายที่สุด การทำให้คนต่อต้านอำนาจชนชั้นนำและสถานภาพดั้งเดิมของสังคมไทยตกเป็นอาชญากร โดยอาศัยกลไกเชิงสถาบันมาบิดเบือน ควบคุมความจริงและความหมายของถ้อยคำบางคำ ย่อมส่งผลให้การคุมขัง การอุ้มหาย การทำร้ายผู้เห็นต่าง ฯลฯ ไม่ว่าจะโดยกลไกทางกฎหมาย หรือเป็นการกระทำนอกกฎหมาย ล้วนเป็นสิ่งเสมือนชอบธรรมและรัฐสามารถกระทำได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ

กล่าวในอีกแง่หนึ่ง หากลองพิจารณาความเป็นไปได้ของผลลัพธ์หลังการมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นอกเหนือไปจากการกระทำความรุนแรงทางกายภาพ จะพบว่า แสนยานุภาพของกลไกเชิงสถาบันของสถาบันกฎหมายที่ถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องอำนาจของตนเอง อาจสร้างความเสียหาย รุนแรงไม่น้อยไปกว่าใช้กำลังทางอาวุธเข้าปราบปรามประชาชนแต่อย่างใด

.

————————————-

เอกสารอ้างอิง

จอร์จ ออร์เวลล์. หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่. รัศมี เผ่าเหลืองทอง, อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ (แปล). กรุงเทพ: สำนักพิมพ์สมมติ. 2557.

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์, เอกสารประกอบการสอนวิชาการระงับข้อพิพาททางเลือก, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2563.

บุญเลิศ วิเศษปรีชา. “สมควรแล้ว: การเป็นปกติวิสัย” ของความรุนแรงที่กระทำต่อคนไร้บ้านในมะลิลา. วารสารสิทธิและสันติศึกษา. (2)1. 103 – 140.

ปิยบุตร แสงกนกกุล. “สภาวะยกเว้น” ในความคิดของ Giorgio Agamben. ฟ้าเดียวกัน. 8(1). หน้า 84-91.

ศาลรัฐธรรมนูญชี้ ชุมนุม 10 สิงหา 63 “ล้มล้างการปกครอง” ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข. 10 พฤศจิกายน 2564. บีบีซีไทย. https://www.bbc.com/thai/thailand-59217832 สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล. ตุลาการธิปไตย. เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน รวมบทความว่าด้วยตุลาการภิวัฒน์ ตุลาการพันลึก และตุลาการธิปไตย. กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป, 2562.

สรวิศ ชัยนาม. Slavoj Zizek: ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย. กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ (แปล). กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2558.

.

X