ไม่ส่งศาล รธน. วินิจฉัย ศาลทหารเห็นเองว่าประกาศ/คำสั่ง คสช. ชอบด้วยกฎหมาย คดีพลเมืองรุกเดิน

ไม่ส่งศาล รธน. วินิจฉัย ศาลทหารเห็นเองว่าประกาศ/คำสั่ง คสช. ชอบด้วยกฎหมาย คดีพลเมืองรุกเดิน

11068302_802362449813611_648281810092203188_o

24 พ.ย. 2559 ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องที่ ‘พ่อน้องเฌอ’ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ใช้พิจารณาคดีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยวินิจฉัยว่าประกาศและคำสั่งของ คสช. ชอบด้วยกฎหมาย และการที่ไทยได้ขอเลี่ยงพันธกรณีระหว่างประเทศ ทำให้สามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมได้

เวลา 10.05 น. น.อ.สุรชัย สลามเต๊ะ พ.อ.ศุภชัย อินทรารุณ และ พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์ ตุลาการศาลทหารกรุงเทพ ออกนั่งพิจารณาคดีที่พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ถูกอัยการทหารฟ้องว่ากระทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แล้วข้อหานำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการจัดกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ และโพสต์เฟซบุ๊กว่าจะมีการเดินเพื่อแสดงออกว่าพลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร

ศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นต่อคำร้องที่พันธ์ศักดิ์ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมาย ใจความว่า การที่ คสช. ยึดอำนาจการปกครองสำเร็จ ย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งใด ๆ รวมถึงการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของบุคคลทั่วไป

นอกจากนี้ คสช. ยังได้ออกประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 47 บัญญัติให้ประกาศและคำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ได้ประกาศหรือสั่งนับตั้งการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเป็นที่สุด จึงเป็นการรับรองว่า ประกาศ คสช. ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

ศาลทหารกรุงเทพยังวินิจฉัยในข้อโต้แย้งของจำเลย เรื่องที่การประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญิติ บริหาร และตุลาการ เนื่องจากศาลทหารอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมซึ่งอยู่ในฝ่ายบริหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนตุลาการศาลทหารในปัจจุบัน เป็นรองหัวหน้าและประธานที่ปรึกษา คสช. ทั้งยังขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 ในเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมด้วยว่า พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 บัญญัติอำนาจของตุลาการและความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นการแบ่งแยกอำนาจและหลักความเป็นอิสระของตุลาการในการพิจารณาคดีไว้ชัดเจน

ส่วนข้อโต้แย้งเรื่องเรื่องศาลทหารไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้ขณะประกาศกฎอัยการศึก ขัดต่อประเพณีการปกครองและ พันธกรณระหว่างประเทศ ICCPR ที่กำหนดให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่า เมื่อประเทศไทยมีหนังสือแจ้งการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และขอใช้สิทธิเลี่ยงพันธกรณีระหว่างประเทศ ICCPR บางประการไว้แล้ว

ศาลทหารกรุงเทพจึงเห็นว่า บทบัญญัติใน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ที่ให้ศาลทหารสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้ผู้บัญชาการทหาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนตุลาการศาลทหาร และศาลทหารในระหว่างประกาศกฎอัยการศึกห้ามอุทธรณ์และฎีกา ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และ ICCPR อีกทั้ง รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 บัญญัติหลักเกณฑ์การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลทหาร ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่อาจส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดได้ ให้ยกคำร้องของจำเลย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า โดยปกติเมื่อคู่ความขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลที่รับคำร้องดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายที่อยู่ในคำร้องว่าจะชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ และแม้ในรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จะไม่มีบัญญัติโดยตรงที่ระบุให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อกฎหมาย แต่ใน มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ระบุว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ประเพณีดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 บัญญัติให้ศาลอันรวมถึงศาลทหาร มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมให้วินิจฉัยข้อกฎหมายได้

นอกจากนี้ ระหว่างที่ศาลกำลังอ่านคำสั่งดังกล่าว เจ้าหน้าที่ศาลทหารได้ยึดโทรศัพท์มือถือที่ปิดอยู่ และแบตเตอรี่สำรองของญาติจำเลย ซึ่งเข้าฟังการพิจารณาคดี และเปิดโทรศัพท์ของญาติจำเลยขึ้นมาตรวจสอบโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย เมื่อมีผู้โต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวถูกปิดอยู่ตลอด หากมีการเปิด-ปิดโทรศัพท์จะต้องมีเสียงดังให้ผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาได้ยิน แต่ระหว่างกระบวนพิจารณาไม่ได้มีเสียงเปิด-ปิดโทรศัพท์ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เปิดโทรศัพท์ขึ้นเอง เจ้าหน้าที่ศาลทหารจึงยอมคืนโทรศัพท์ให้แก่ญาติของจำเลย

ดาวน์โหลดคำสั่งศาลฉบับเต็มได้ที่นี่ PDF

X