ภาสกร ญี่นาง
นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
.
การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะราษฎรและประชาชนจำนวนมากกำลังจะข้ามพ้นปี 2563 นี้ไป แม้ “เพดาน” ข้อเรียกร้องได้พังทลายลงครั้งแล้วครั้งเล่า การต่อสู้เพื่อยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน กลับมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อจนเกือบมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด หรือผลสำเร็จของการต่อสู้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามถึงการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนครั้งนี้ ว่าจะนำพาบ้านเมืองไปสู่อะไร และที่สำคัญฝ่ายประชาชนจะ “ชนะ” หรือไม่
บทความชิ้นนี้ชวนมองสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่อย่างรอบด้านมากขึ้น แทนที่จะหันมาสนใจเรื่องที่ว่าการต่อสู้ของประชาชนครั้งนี้จะจบลงด้วยชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ แต่สิ่งที่ควรให้ความสนใจ คือการที่ประชาชนได้เริ่มเปิดฉากต่อสู้กับอำนาจที่ครอบงำสังคมมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ความก้าวหน้าหรือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจไม่ได้ปรากฏให้เห็น ณ จุดที่เป็น “เป้าหมาย” แต่กลับเผยออกมาแล้วในส่วน “วิธีการ” ต่อสู้ของประชาชน
ความสำเร็จที่ปราศจากชัยชนะ: การแพ้คดี และหนทางสู่ความยุติธรรมอันยาวไกล
งานศึกษาเรื่อง “Success Without Victory: Lost Legal Battles and the Long Road to Justice in America[1]” ถือเป็นหมุดหมายที่ดี ในการช่วยทำความเข้าใจว่าผลแพ้ชนะไม่ใช่สาระสำคัญของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมและการเปลี่ยนแปลง งานศึกษาชิ้นนี้เน้นไปที่การต่อสู้คดีในชั้นศาลซึ่งส่งผลต่อการเมือง มิใช่แค่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่สาระสำคัญหลายๆ เรื่องสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยได้เช่นกัน
Success Without Victory เป็นผลงานของ จูลส์ โลเบล (Jules Lobel) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายประจำมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก (University of Pittsburgh) เขียนขึ้นเพื่อทำลายกำแพงกั้นที่แบ่งแยกระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาลกับการต่อสู้ทางการเมือง อันเป็นจุดยืนเดียวกับสำนักนิติศาสตร์แนววิพากษ์ที่เสนอว่า “กฎหมาย คือ การเมือง” (Law is Politics) และมองว่าผลลัพธ์ทางกฎหมายไม่ว่าจะกรณีใดย่อมมีนัยยะและผลลัพธ์ในทางการเมืองแฝงอยู่เสมอ
งานของโลเบล ต้องการโต้แย้งกับวาทกรรมว่าด้วย “การแพ้ชนะคดี” โดยมีข้อเสนอหลักว่า “ต่อให้เป็นคดีความที่ไร้หนทางชนะในชั้นศาล แต่การต่อสู้คดีดังกล่าวก็อาจนำพามาซึ่งความสำเร็จทางการเมืองในระยะยาวได้ (long-term success)” ถ้อยคำในคำให้การ คำแถลงของคู่ความในคดี แม้จะสิ้นหวังขนาดไหนก็ตาม ก็อาจมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ “การพิจารณาคดี” (Trial) กลายเป็นแหล่งรวม “วาทกรรม” “การให้ความหมาย” และ “คำอธิบาย” แก่การต่อต้านอำนาจและสร้างความทรงจำร่วมกัน เพื่อปะทะกับความไม่เป็นธรรม และการกดขี่ข่มเหงได้ ไม่ต่างจากการออกมาต่อสู้บนท้องถนน
นักกฎหมายของผู้เป็นทาส และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ
โลเบลยกตัวอย่างคดีความหลายคดีที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน เพื่อนำมาอธิบายถึง “ความสำเร็จที่ปราศจากชัยชนะ” ซึ่งบทความนี้จะขอยกเพียงหนึ่งปรากฏการณ์ที่นับเป็นรากฐานการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของชาวแอฟริกันอเมริกันอย่างกว้างขวางหลังจากนั้น คือ การต่อสู้ของแซลมอน พี เชส (Salmon P. Chase) ผู้เป็น “Abolitionist” หรือ นักกฎหมายที่ไม่เห็นด้วยกับการกดคนลงเป็นทาส และการค้าทาส ในคดีปกป้องอิสรภาพของทาสผู้หลบหนี (Fugitive Slaves)[2]
คดีแรกของเชส เกี่ยวกับทาสรายหนึ่งนามว่า มาทิลดา ลอว์เรนซ์ (Matilda Lawrence) ในช่วงทศวรรษที่ 1830 มาทิลดาถูกจับกุมตามกฎหมายว่าด้วยทาสหลบหนี ค.ศ. 1793 (Fugitive Slave Act of 1793) โดยนักจับกุมทาส (slave catcher) ผู้ถูกว่าจ้างจากนายทาสของมาทิลดาเอง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ เจมส์ จี เบอร์นี (James G. Birney) ผู้มอบอิสรภาพแก่มาทิลดาหลังจากที่เธอหลบหนีเข้ามาในดินแดนของรัฐโอไฮโอ พร้อมรับเข้าทำงานเป็นแม่บ้านในฐานะเสรีชนคนหนึ่ง ไม่ใช่ทาสอีกต่อไป เบอร์นีต้องการให้ความช่วยเหลือแก่มาทิลดา และเห็นควรว่าต้องนำประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในชั้นศาล เพื่อไม่ให้ผู้เป็นทาสหลบหนีถูกนำตัวกลับไปเป็นทาสอีกครั้ง เบอร์นีจึงนำเรื่องมาแจ้งต่อสำนักงานกฎหมายของเชส[3]
Salmon Portland Chase (1808 – 1873) (ภาพจาก wikipedia)
ข้อสังเกตคือ การต่อสู้คดีดังกล่าวจะมิใช่เพียงการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของทาสหนึ่งคนเท่านั้น แต่นับว่าเป็นท้าทายต่อเพดานความคิดดั้งเดิมของประชาชนชาวอเมริกันอย่างยิ่ง เนื่องจากการกดคนลงเป็นทาสช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ถูกถือให้เป็นเรื่องปกติ อีกทั้ง ความเป็นทาสยังคงชอบด้วยกฎหมายในสังคมอเมริกัน และการเป็นทาสหลบหนีนั้นมีความผิด การต่อสู้คดีได้กินความไปถึงการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย Fugitive Slave Act 1793 อีกด้วย
บริบทการเมืองอเมริกันขณะนั้น การกระทำของเชส ไม่ต่างจากการเลือกเผชิญหน้ากับ “ความสิ้นหวัง” (hopeless) แต่ความสำคัญอยู่ตรงที่ข้อถกเถียง และคำให้การของเชสที่ถูกยกขึ้นมาระหว่างการต่อสู้คดี
เขาให้การต่อศาลว่า[4] “การกดคนลงเป็นทาสนั้น ขัดต่อสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ การที่มาทิลดาได้รับสถานะเป็นเสรีชนโดยนายทาส (master) แล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการได้รับคืนสิทธิตามธรรมชาติที่เป็นของมาทิลดาตั้งแต่แรกมาโดยชอบด้วยกฎหมาย สิทธิตามธรรมชาติที่กำหนดว่ามนุษย์นั้นมีเสรีภาพ จำเป็นต้องได้รับการตีความตามบทบัญญัติกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เพื่อเสริมให้คำว่า “เสรีภาพ” (Liberty) มีความหมายที่ชัดเจน[5]
เชสกล่าวต่ออีกว่า “สิทธิตามธรรมชาติในการมีเสรีภาพ” ได้รับการเน้นย้ำแต่แรกในคำประกาศอิสรภาพ ซึ่งเป็นหลักฐานในคดีโดยตัวมันเอง (self-evidence) ที่ยืนยันว่า “มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาให้เท่าเทียมกัน” (all men are created equal) มาทิลดาจึงเป็นผู้ที่ควรค่าแก่การเป็นอิสระ จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์บนพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าคดีนี้อยู่ในข้อยกเว้นตามกฎหมายบางประการ จึงจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ได้
ส่วนในข้อต่อสู้ของเชส ที่ชี้ให้เห็นว่า กฎหมาย Fugitive Slave Act ซึ่งกำหนดให้รัฐที่ไม่อนุญาตให้ทำการค้าทาส หรือ “free state” ต้องส่งทาสผู้หลบหนีกลับคืนแก่นายทาสนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เชส ให้เหตุผลว่า[6]
(1) รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะสั่งให้ทางการของรัฐ free state ทั้งหลาย ต้องส่งตัวผู้หลบหนีคืนแก่นายทาส
(2) กฎมายดังกล่าวละเมิดต่อบทบัญญัติตะวันตกเฉียงเหนือ (the Northwest Ordinance) ที่กำหนดให้รัฐโอไฮโอ เป็นรัฐ free state และ
(3) กฎหมายดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 4 (Fourth Amendment) อันว่าด้วย “สิทธิของประชาชนในเนื้อตัวร่างกาย เคหสถาน เอกสาร และทรัพย์สิน ที่จะมีความปลอดภัยจากการถูกตรวจค้นหรือยึดโดยไม่มีสาเหตุอันควร สิทธิเหล่านั้นจะละเมิดไม่ได้และจะออกหมายเพื่อกระทำดังกล่าวใดๆ ไม่ได้ เว้นแต่จะมีเหตุอันควรเชื่อถือซึ่งได้รับการยืนยันด้วยคำสาบานหรือคำปฏิญาณ และโดยเฉพาะต้องระบุสถานที่ที่จะค้นหรือบุคคลที่จะจับกุม หรือสิ่งที่จะยึดไว้ในหมายนั้น” และยังขัดต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 5 (Fifth Amendment) ที่ระบุว่า “บุคคลใดจะถูกบังคับให้ ให้การเป็นภัยแก่ตนเองในคดีอาญาไม่ได้ หรือจะถูกจำกัดสิทธิในชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน โดยไม่ต้องด้วยกระบวนความแห่งกฎหมาย (due process) ไม่ได้”
แผนที่บ่งชี้ตำแหน่ง รัฐ Free state และ Slave State (ภาพจาก wikipedia)
ข้อต่อสู้ข้างต้น เชสปิดท้ายด้วยการเรียกร้องให้ศาลต้องปล่อยตัวมาทิลดา “ในนามของความยุติธรรม เสรีภาพ และความเป็นมนุษย์โดยทั่วไปของพวกเราทุกคน” (“In the name of justice, of liberty and of our common humanity.”)
แม้เชสจะตระหนักดีว่า เขาต้องแพ้อย่างไร้ข้อกังขา ในข้อต่อสู้เกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย Fugitive Slave แต่เขาเชื่อว่ามันจะได้รับการพิสูจน์โดยประวัติศาสตร์เมื่อเวลาผ่านไป “ผมมั่นใจว่า เหตุผลของผม ไม่อาจจะโน้มน้าวให้ศาลตัดสินตามข้อเรียกร้องของผมได้ … แต่บางทีอาจจะเป็นภายภาคหน้าที่จะได้ประกาศให้ผู้คนในสังคมเห็นว่า การกดคนลงเป็นทาส และบทบัญญัติกฎหมายทาสหลบหนีนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมันเป็นการทำลายหลักการแห่งเสรีภาพของพลเมืองอเมริกัน”[7]
ผู้พิพากษารับฟังเชสด้วยความอดทนอดกลั้น แต่สุดท้าย ศาลยังคงพิพากษาให้เชสและมาทิลดาแพ้คดี บนพื้นฐานของกฎหมายที่เป็นอยู่ในสภาวะปัจจุบันที่ความเป็นทาสนั้นชอบด้วยกฎหมาย มาทิลดาถูกประกาศให้เป็นทาสของตระกูลลอว์เรนซ์ต่อไป พร้อมทั้งถูกส่งตัวข้ามแม่น้ำโอไฮโออย่างรวดเร็ว เพื่อไปยังรัฐเคนตักกี้ (Kentucky) ซึ่งเป็นรัฐที่ยอมรับการค้าทาส หรือ “Slave state” ขณะที่ มาทิลดาพยายามร้องขออิสรภาพได้ไม่นาน ท้ายสุดก็ถูกขายต่อไปที่ท่าเรือแห่งหนึ่งในนิวออร์ลีนส์ (New Orleans) และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวจากมาทิลดาอีกเลย[8]
ความพ่ายแพ้ กับอาการตาสว่างของผู้คน
กลยุทธ์หลักในการต่อสู้ แม้ว่าจะแพ้คดีภายหลัง แต่ดูเหมือนว่าเชสไม่ได้มุ่งไปที่การปลดปล่อยมาทิลดาให้ได้รับอิสรภาพเพียงอย่างเดียว แต่เขามีเป้าประสงค์ที่จะอาศัยคดีของมาทิลดา เพื่อมาท้าทายความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย Fugitive Slave Act of 1793 เขาได้งัดเอาเทคนิคและข้อถกเถียงทางกฎหมายจำนวนมากมาใช้การต่อสู้คดี และคำให้การเหล่านั้นได้กลายเป็นประเด็นหลักในการต่อสู้เพื่อทำให้การเป็นทาสหลบหนีนั้นชอบด้วยกฎหมาย จากการพยายามขยายขอบเขตของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง Fourth และ Fifth Amendments บนแนวคิดว่าด้วยสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และความคิดแบบสหพันธรัฐนิยม เพื่อยืนยันความเป็นมนุษย์ของทาส น่าสนใจว่าเชสทำเช่นนี้ เพื่อโต้ตอบการคัดค้านของฝ่ายตรงข้าม และท่ามกลางสัญญาณที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนจากผู้พิพากษาว่าวาทกรรมของเขานั้นผิดประเด็นโดยสิ้นเชิง
ภาพการ์ตูนวิพากษ์วิจารณ์กฎหมาย Fugitive Slave Act (ภาพจาก britannica)
นับจากความพ่ายแพ้ในคดีมาทิลดา ได้เกิดปรากฏการณ์การต่อสู้ของชาวแอฟริกันอเมริกันตามมาอีกจำนวนมาก ซึ่งเชสรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทนายความเช่นเดิม แต่คดีเหล่านี้เผยให้เห็นว่ามีการขยับเข้าใกล้ชัยชนะมากกว่าคดีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ
การต่อสู้คดีทาสหลบหนีนามว่า ซามูเอล วัตสัน (Samuel Watson) ในปี 1845 ซึ่งเชสยังใช้ข้อต่อสู้ในลักษณะเดียวกันกับคดีมาทิลดา พร้อมทั้งยืนยันว่าทาสที่ถูกนำตัวมาถึงดินแดนของรัฐ free state แล้ว ส่งผลให้ทาสผู้นั้นได้รับอิสรภาพโดยทันที แม้ศาลจะพิพากษาคดีให้เชสแพ้คดีอีกครั้ง แต่ความก้าวหน้าที่เห็นได้ชัดในคดีนี้ คือผู้พิพากษาได้ยอมรับอย่างเปิดเผยในหลักการเรื่องสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ดังที่ปรากฏในคำประกาศอิสรภาพ รวมถึงยอมรับเงื่อนไขที่ว่า หากทาสผู้หลบหนีสามารถเดินทางเข้าไปใน free state ได้แล้ว ผู้นั้นย่อมปลดแอกตนจากความเป็นทาส ในคำพิพากษาที่ตัดสินให้เชสแพ้คดีมีเหตุผลเพียงว่า พฤติการณ์ในคดียังไม่ถือว่าวัตสันได้หลบหนีเข้าไปในอาณาเขตของรัฐโอไฮโอ เนื่องจากตัวของวัตสันถูกจับกุมขณะอยู่บนเรือที่กำลังเทียบท่า และบทบัญญัติกฎหมายจะต้องมาก่อนเรื่องสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์[9]
เช่นเดียวกับ คดี จอห์น แวน แซนด์ท (John Van Zandt)[10] ที่ว่าด้วย ชาวนาคนหนึ่งชื่อว่า จอห์น แวน แซนด์ท ผู้รับไม่ได้กับการกดคนลงเป็นทาส ในวันที่ 21 เมษายน 1842 แวน แซนด์ท ได้พยายามช่วยเหลือทาสจำนวน 9 คน หลบหนีโดยใช้เกวียนของเขา เดินทางจากรัฐเคนตักกี้ ไปรัฐโอไฮโอ แต่ถูกดักจับได้โดยนักจับกุมทาสสองคนระหว่างเดินทาง ทาส 1 คนหนีไปได้ ส่วนอีก 8 คน ถูกนำตัวส่งกลับไปอยู่ในความครอบครองของ วาร์ตัน โจนส์ (Wharton Jones) นายทาสผู้ว่าจ้างนักจับกุมทาสทั้งสองคนด้วยตนเอง แวน แซนด์ท ถูกดำเนินคดีในข้อหาให้ความช่วยเหลือทาสหลบหนีตามกฎหมาย Fugitive Slave Act เชสรับช่วยต่อสู้คดีให้โดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ เพราะเขาเห็นโอกาสที่จะได้ใช้ห้องพิจารณาคดีของศาลในการเคลื่อนไหวต่อต้านการค้าทาสอีกครั้ง โดยมีอดีตวุฒิสมาชิก Thomas Morris ให้การช่วยเหลือ
เชสมองว่าไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร คดีนี้จะช่วยให้เขาสามารถสื่อสารต่อสาธารณะเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกดคนลงเป็นทาสตามทัศนะของเขาได้อีกครั้ง แม้ว่าเขาจะทราบดีถึงพยานหลักฐานอันแน่นหนาที่ชี้ให้เห็นถึงเจตนาในการกระทำผิดกฎหมายของ แวน แซนด์ท ซึ่งต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดว่า บุคคลที่พาขึ้นเกวียนมาด้วยล้วนเป็นทาสหลบหนีทั้งหมด[11]
คดี แวน แซนด์ท สร้างความสนใจให้แก่ผู้คนในรัฐโอไฮโออย่างมาก อารมณ์ความรู้สึกในการต่อต้านการค้าทาสขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการที่มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี และทุกคนล้วนเชื่อว่า แวน แซนด์ท ไม่ได้มีความผิด เชสใช้การต่อสู้บนหลักสิทธิตามธรรมชาติ และความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย Fugitive Slave Act เช่นเดียวกับคดีก่อนหน้านี้ ผู้พิพากษาในคดีนี้ได้ปฏิเสธและตีตกข้อเรียกร้องของเชสเหมือนกับคดีก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลว่าหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายอยู่เหนือกว่าเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ ทั้งเหล่าคณะลูกขุนยังขอให้มีการจ่ายค่าเสียหายแก่นายทาส อีกกว่า 1,200 เหรียญ[12]
แต่ถึงอย่างนั้น นี่เป็นอีกครั้งที่ศาลให้การยอมรับหลักการว่า “บุคคลใดอยู่ในรัฐ free state ย่อมไม่ใช่ทาสอีกต่อไป” คราวนี้ ข้อถกเถียงและคำให้การของเชสถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบขีดจำกัดของกฎหมายที่เป็นอยู่ ในความขัดแย้งกันระหว่างความเป็นมนุษย์ กับการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมทั้งพยายามสอดแทรกความคิดเกี่ยวกับกฎหมายธรรมชาติ และสิทธิธรรมชาติของมนุษย์เข้าไปในบทบัญญัติกฎหมายของรัฐ เพื่อไม่ให้ความคิดดังกล่าวเป็นเพียงนามธรรมที่เลื่อนลอย[13]
คดีดังกล่าว ป็นคดีแรกที่ดำเนินไปจนถึงชั้นศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ด้วยความดึงดันและนิสัยที่ชอบมองโลกในแง่ดีของเชส ทั้งๆ ที่รู้ดีอยู่แล้วว่าโอกาสที่จะชนะคดีมีอยู่น้อยนิด แต่ศรัทธาที่เชสมีต่อเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้ศาลคล้อยตามเลยแม้แต่น้อย เชสจึงกลายเป็นผู้ว่าความคดีในชั้นศาลทุกชั้น อย่างไรก็ดี จากการที่เขาย้ำแล้วย้ำอีกในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนไม่เว้นแม้แต่ทาส ประกอบกับความพยายามที่ไม่มีสิ้นสุด ถ้อยคำของเชสในห้องพิจารณาคดี ส่งผลให้ผู้คนในรัฐทางตอนเหนือ (Northerner) หลายพันคน เริ่มเข้าใจและมองว่ากฎหมาย Fugitive Slave Act นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญจริง[14]
ภาพการ์ตูนการติดตามจับทาสที่หลบหนี (ภาพจาก patrickmurfin)
ความสิ้นหวัง กับหนทางสู่ความสำเร็จ
ตัวอย่างการต่อสู้คดีข้างต้น โลเบลพยายามชี้ให้เห็นว่าแม้ข้อถกเถียงและการต่อสู้ในชั้นศาลจะไม่ได้นำพาไปสู่ชัยชนะทางคดีความ ทาสหลบหนีหลายคนถูกนำตัวกลับไปเป็นทาสหลังมีคำพิพากษา ยิ่งกว่านั้นในทุกคดี เชสรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องยากที่ศาลจะคล้อยตามและพิพากษาตัดสินตามข้อเรียกร้องและคำให้การของเขา ซึ่งไม่ต่างจากการเผชิญหน้ากับความสิ้นหวังตั้งแต่แรก แต่ทว่าคำพูดและคำให้การที่ถูกเปล่งออกมาในห้องพิจารณาคดีได้กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่การพัฒนาสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ การอ่านคำพิพากษาของผู้พิพากษาตัดสินคดี ยังแฝงแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจต่อจำเลยในคดีอย่างมีนัยสำคัญ
ปรากฏการณ์ดังกล่าว นับเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา และสร้างพื้นที่ต่อสู้ (platform) ของพรรครีพับลิกัน (Republican Party)[15] ซึ่งชูนโยบายว่า “สถาบันทาสเป็นภัยคุกคามต่อสหภาพและอนาคตของประเทศ” จนได้รับคะแนนความนิยมจากหมู่ชาวรัฐ free state ที่อยู่ทางตอนเหนือเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้ง และเลือก อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ไม่นานก็ได้มีการปูทางไปสู่การเลิกทาสได้ในที่สุดในปี 1865
การต่อสู้คดีโดยไม่ย่อท้อของเชส สร้างประวัติศาสตร์และมีผลทางจิตวิทยาต่อชาวแอฟริกันอเมริกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะในแง่การปลุก “จิตวิญญาณแห่งการขบถ” (the spirit of revolt)[16] เพื่อลุกขึ้นต่อต้านความอยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งหมด โลเบลมองว่าเป็นความสำเร็จที่น่าปรารถนายิ่งกว่าผลชนะในคดี
นอกจากนี้ แม้การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของทาสหลบหนีจะไม่ประสบกับความสำเร็จใดๆ ในช่วงเวลานั้น และปัจจุบันปัญหาเรื่องทาสจะถูกแทนที่ด้วยปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติ แต่ในระยะยาวแล้ว การต่อสู้ดังกล่าวได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อการปรับปรุงพัฒนาระบบกฎหมาย รวมถึงสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคมในอีกหลายประเด็นอย่างต่อเนื่อง อาทิ การคำนึงถึงสาระสำคัญของกระบวนความแห่งกฎหมาย (due process) และหลักความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย การตระหนักถึงความเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกันของคนอเมริกันทุกคน การใช้กรอบความคิดเกี่ยวกับสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์มาตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ[17] ตลอดจนการเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของสตรีอเมริกัน (women’s suffrage) ซึ่งต่อยอดมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านการค้าทาสในช่วงศตวรรษที่ 19 ด้วยเช่นกัน[18]
ข้อสำคัญ อานิสงส์ที่พบได้จากการต่อสู้ของเชส และเหล่านักกฎหมายผู้ไม่เห็นด้วยกับกดคนลงเป็นทาส คือการที่พวกเขาไม่สนใจถึงความเป็นไปได้ว่าจะชนะคดีเพียงอย่างเดียว แต่มีเพียงจิตใจที่แน่วแน่ ยืนอยู่บนฐานความยุติธรรมและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างมั่นคง บวกกับการมองโลกในแง่ดีและความพยายามไม่หยุดหย่อน ช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งการต่อสู้กับสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคม
ชัยชนะที่อาจ “นำพาพวกเราไปสู่กับดัก”
ในบทสรุป โลเบลสะท้อนออกมาว่า ผลลัพธ์ของการต่อสู้ทางการเมืองที่เรามักคาดหวังในเรื่องความสำเร็จกับความล้มเหลว อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลแพ้ชนะเสมอไป ความสำเร็จกับความล้มเหลวไม่ได้เป็นสองสิ่งที่แยกขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง แถมมีจุดคาบเกี่ยวกันและเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ความพ่ายแพ้หนึ่งๆ อาจนำมาซึ่งความสำเร็จ ขณะเดียวกันชัยชนะอันฉาบฉวยอาจทำให้ได้มาเพียงความสำเร็จที่ชั่วคราวหรือความล้มเหลวในเวลาต่อมาได้เช่นกัน[19]
ตัวอย่างเช่น คดี Brown v. Board of Education[20] ปี 1954 ซึ่งศาลสูงสหรัฐฯ เคยใช้วิสัยทัศน์โดยไม่สนใจเรื่องสีผิว (The vision of a color-blind) ในการตัดสินให้การแบ่งแยกโรงเรียนตามสีผิวของเด็กนักเรียน เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พร้อมปฏิเสธหลักการ “แบ่งแยกแต่เท่าเทียม” หรือ “separate but equal” ที่ฝังรากลึกลงในสังคมอเมริกันมาเป็นเวลานาน แม้ลินดา บราวน์ (Linda Brown) ผู้ฟ้องคดีจะเป็นฝ่ายชนะ และสามารถเข้าโรงเรียนที่ปฏิเสธรับคนผิวสีได้ แต่คำพิพากษาดังกล่าวกลับสร้างความปั่นป่วนแก่สังคมอเมริกันอยู่ไม่น้อย โรงเรียนที่ปฏิเสธรับคนผิวสีเข้าเรียนกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมและความสัมพันธ์ทางอำนาจด้านอื่นๆ ยังคงแบ่งแยกชัดเจนระหว่างคนขาวและคนผิวสี
Brown v. Board of Education (ภาพจาก thoughtco)
เช่นเดียวกับชัยชนะในคดี Miranda v. Arizona คดีประวัติศาสตร์ที่สร้างความตระหนักถึง “สิทธิที่จะเงียบ” (Right to Silent) ของผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาในชั้นจับกุม สู่การกำหนดห้ามไม่ให้ผู้พิพากษารับฟังคำสารภาพของจำเลยในคดีที่เกิดขึ้นในชั้นกุม แต่โลเบลชี้ให้เห็นว่า ชัยชนะครั้งนั้น “นำพาพวกเราไปสู่กับดัก” (led us into a trap) เกี่ยวกับปัญหาในกระบวนพิจารณาความอาญา เนื่องจากผลของคดีดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลสะเทือนใดๆ ต่อผู้พิพากษาในการจะตัดสินคดีลงโทษหรือไม่ลงโทษผู้ต้องหาซึ่งได้ให้คำรับสารภาพในชั้นจับกุม[21]
ในทัศนะของโลเบล ความหมายของคำว่า “ความสำเร็จ” กับ “ความล้มเหลว” ควรต้องถูกนิยามใหม่อย่างถอนรากถอนโคน แทนที่จะพิจารณาความสำเร็จหรือความล้มเหลวจากผลแพ้ชนะในการต่อสู้แต่ละครั้ง ไม่ว่าจะในชั้นศาลหรือในทางการเมือง เราควรหันไปเพ่งเล็งที่การแสวงหาวิถีชีวิตที่ปราศจากการถูกครอบงำโดยความเชื่อบางอย่างที่คอยกดทับความเป็นมนุษย์ การเผชิญหน้าและไม่ยอมจำนนกับความวิปริตผิดเพี้ยนในสังคม รวมถึงการยืนหยัดต่อสู้อย่างมั่นคงต่อหลักการประชาธิปไตยและความเป็นมนุษย์ แม้ว่า “ความพ่ายแพ้” จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม[22]
หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงชัยชนะในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยของขบวนการนักศึกษา และประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รวมถึงการต่อสู้ของประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2535 อาจไม่ต่างจากชัยชนะคดี Miranda v. Arizona และคดี Brown v. Board of Education ที่โลเบลอ้างถึงเท่าใดนัก ชัยชนะครั้งนั้นในสายตา ณ ขณะนั้นอาจเป็นการต่อสู้ที่น่าสรรเสริญและยกย่อง แต่ในทางผลลัพธ์แล้ว เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของระบอบประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรม และความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย มีการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ไม่ใช่ทรราชย์ การที่ท่าทีผู้มีอำนาจรัฐไทยหลังเหตุการณ์ความรุนแรงต่างพร้อมใจโยนความยุติธรรมทิ้งออกไป เผื่อแลกกับความสามัคคีปรองดองและความสงบเพียงชั่วคราว ซึ่งหลังจากนั้นได้กลายเป็นเสมือนหลุมกับดักขนาดใหญ่ที่พาทุกคนดิ่งลงเหวอีกครั้ง โดยเฉพาะกับความรุนแรง 6 ตุลาคม 2519 และการปราบเสื้อแดงเมื่อปี 2553
ภาพการชุมนุมของ “คณะราษฎร” เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 63 ที่ท้องสนามหลวง (ภาพจากข่าวสดออนไลน์)
ย้อนดูความสำเร็จ ในวันที่ (ยัง) ไม่ชนะ
จุดประสงค์ของบทความชิ้นนี้ ไม่ใช่การเสนอว่าการโหยหาหรือการเร่งรีบคาดหวังถึงชัยชนะเป็นเรื่องผิด เพียงแต่หากเป้าหมายที่ต้องการ หมายถึงการที่ผู้มีอำนาจยอมปฏิบัติตาม 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 จุดยืนของประชาชน รวมถึงเปลี่ยน 1 ความฝันในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างสง่างามให้กลายเป็นจริงได้[23] ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว เพราะมันคือการปะทะต่อสู้การระบอบการเมืองและโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยมาหลายศตวรรษ
อีกด้านหนึ่ง ผู้มีอำนาจและผู้ที่หวังตักตวงผลประโยชน์ต่างๆ จากระบอบการเมืองแบบดั้งเดิม ก็พร้อมจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องค้ำจุนระเบียบโครงสร้างทางอำนาจเอาไว้ โดยเฉพาะการอาศัยระบบกฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อกดปราบประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุม จนกระบวนการยุติธรรมและสถาบันทางกฎหมายต้องประสบปัญหาวิกฤตการณ์ความชอบธรรมและวิปริตผิดเพี้ยน จนเกือบจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย กรณีเช่นนี้ยิ่งทำให้การเข้าถึงเป้าหมายที่วางไว้เป็นไปได้ยากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ในเวลาที่วันแห่ง “ชัยชนะ” ของประชาชนยังมาไม่ถึง การต่อสู้อาจแฝง “ความสำเร็จ” ไว้แล้วในหลายประการ อาทิ กรณีเพดานข้อเรียกร้องที่พังทลายลงแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากสามข้อเรียกร้อง จนถึงการประกาศหนึ่งความฝันต่อเรื่องการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มีสถานะเท่าเทียมกับประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามวิถีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) อย่างแท้จริง
ความสำเร็จหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด คือปัจจุบันผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เริ่มตั้งคำถาม ศึกษา และวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสถาบันกษัตริย์ บนหลักการและเหตุผลมากยิ่งขึ้นทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ หากย้อนเวลากลับไปประมาณ 10 ปีก่อน คงแปลกไม่น้อยที่จะกล่าวว่าประชาชนจะลุกขึ้นมาเรียกร้องในประเด็นดังกล่าวเฉกเช่นทุกวันนี้
ขณะเดียวกัน สืบเนื่องจากเพดานที่ทลายลง เป็นเหตุให้ผู้มีอำนาจรัฐพยายามต้านทานกระแสความเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการทางกฎหมาย เพื่อกดปราบประชาชนผู้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น ความสำเร็จที่พบได้จากกรณีนี้ คือการถอดหน้ากากให้เห็นใบหน้าอันฉ้อฉลของผู้มีอำนาจ พร้อมยังเผยให้เห็นความเสื่อมถอยของระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ จนไม่สามารถดำรงอยู่ด้วย “ความยินยอม” ของผู้อยู่ใต้อำนาจ และเป็นวิกฤตการณ์ความชอบธรรมที่เหลือเพียงกำลัง “บังคับ” เท่านั้น ภายใต้วิกฤตการณ์ความชอบธรรมนี้จะช่วยเปิดพื้นที่การต่อสู้ทางวัฒนธรรมและช่วงชิงการอธิบายความหมายใหม่ๆ ต่อสรรพสิ่งในสังคม ซึ่งต้องปะทะกับ “ความหมายเดิมๆ” ที่ชนชั้นนำได้กำหนดเอาไว้ จนนำไปสู่การสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ การสถาปนาอำนาจนำใหม่ (New Hegemony) เพื่อให้วิกฤตการณ์คลี่คลายลง[24]
เหนือสิ่งอื่นใด ภาพการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ปรากฏขึ้นทั้งของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนคณะราษฎร 2563 เน้นย้ำให้เห็นว่า “จิตวิญญาณแห่งการขบถ” ได้สถิตแก่ผู้คนจำนวนมากเป็นที่เรียบร้อย นับเป็นก้าวแห่งความสำเร็จอันสำคัญ ที่นำพาประเทศไทยมาถึง “จุดที่ไม่มีทางหวนกลับ” (Point of no return) ได้อีกแล้ว
—————————
อ้างอิงท้ายบทความ
[1] Lobel, J., Success without Victory: Lost Legal Battles and the Long Road to Justice in America. (New York: New York University Press, 2003)
[2] Ibid, p. 51.
[3] Ibid, p. 50.
[4] Ibid, p. 54.
[5] Ibid, p. 55.
[6] Ibid.
[7] Ibid.
[8] Ibid, p 56.
[9] Ibid, p. 57-58.
[10] Ibid, p. 59.
[11] Ibid.
[12] Ibid, p 60.
[13] Ibid, p 61.
[14] Ibid.
[15] Ibid, p 264.
[16] Ibid, p. 119.
[17] Ibid, p. 72.
[18] Ibid, p. 73.
[19] Ibid, p. 264
[20] History.com Editors, Brown v. Board of Education, History, April 8, 2020, https://www.history.com/topics/black-history/brown-v-board-of-education-of-topeka (Retrieved December 19, 2020)
[21] Lobel, J., ibid, p. 266.
[22] Ibid, p. 267.
[23] สำนักข่าววอยซ์ออนไลน์. ‘ประชาชนปลดแอก’ ย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน, วอยซ์ออนไลน์, 12 สิงหาคม 2563, https://voicetv.co.th/read/isU07b6JB (สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2563)
[24] ภาสกร ญี่นาง, กฎหมายและการกดปราบทางการเมือง สู่ “วิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรม” (อีกครั้ง), ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 9 กันยายน 2563, https://tlhr2014.com/?p=21226 (สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2563)