“1 นาทีมันก็อาจจะทำให้คนตายได้เลยนะ”
ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ “แฟรงค์” หนุ่มวัย 20 ปีกล่าว ขณะเล่าถึงห้วงขณะที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนรุมทำร้ายเขาและเพื่อน ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในช่วงค่ำของวันที่ 7 สิงหาคม 2564
ในวันนั้นเอง ผู้ร่วมชุมนุมมารวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังกลุ่มเยาวชนปลดแอกและกลุ่ม REDEM ประกาศนัดหมายไว้ การลงสู่ท้องถนนในครั้งนั้นไม่ใช่เพียงเพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังรวมไปถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลใช้วัคซีน mRNA แทนวัคซีนของ “เจ้าสัว CP” และการกระจายงบประมาณของสถาบันกษัตริย์และกองทัพ ไปยังงบประมาณจัดการเชื้อไวรัสโควิด-19
เดิมที พระบรมมหาราชวังคือจุดหมายที่ถูกประกาศสำหรับการเดินขบวนครั้งนี้ ก่อนที่ผู้จัดจะเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมเป็นทำเนียบรัฐบาล และบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ ในกรมทหารราบที่ 1 ตามลำดับ ในช่วงบ่ายของวันนั้นผู้ชุมนุมจึงรวมพลกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปตามถนนเส้นทางถนนวิภาวดีเพื่อมุ่งหน้าสู่ที่พักของนายกรัฐมนตรี
ในฐานะประชาชนที่ไม่อาจทนสภาพสังคมที่ย่ำแย่ได้อีกต่อไป ณัฐนนท์เข้าร่วมการชุมนุม พร้อมพกพาความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นมาด้วย เขาเล่าว่าตัดสินใจออกมาแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของตนครั้งแรก คือการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อช่วงปี 2563 และปัจจุบันเขายังคงไปร่วมกับมวลชนคนอื่นในที่ชุมนุมอยู่เสมอ
ในวันที่ 7 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตอบโต้ความมุ่งมั่นของเขาด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และการใช้กำลังกับเขาและเพื่อนกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
เพื่อเตรียมการสลายการชุมนุมในวันนั้น กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ระดมตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจำนวน 38 กองร้อยเข้ามาในกรุงเทมหานครฯ คิดจำนวนเจ้าหน้าที่เป็นกว่า 5,700 นาย ส่วน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัยรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ประกาศว่าจะไม่ยินยอมให้ผู้ชุมนุมล้ำ “แนวเตือนสุดท้าย” ที่บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ไปสู่พระบรมมหาราชวัง
คำขู่เตือนจาก รอง ผบช.น. คือการส่งสัญญาณใช้ความรุนแรงขั้นเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้ชุมนุม “ล้ำเส้น” ที่ตำรวจกำหนดเอาไว้ เครื่องกีดขวางต่างๆ ที่ประกอบฉากทัศน์เขตพระนครยิ่งตอกย้ำท่าทีที่แข็งกร้าวไม่ประนีประนอมของฝั่งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นถังน้ำมันตู้รถไฟเก่า, แนวตู้คอนเทนเนอร์ หรือลวดหนามรอบแนวกั้น
แม้ว่าผู้ชุมนุมจะเปลี่ยนเส้นทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลและกรมทหารราบที่ 1 ตำรวจควบคุมฝูงชนยังคงติดตามมาสกัดขบวนประท้วงทั้ง 2 จุด โดยตั้งสิ่งกีดขวาง อาทิ ตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนาม รวมไปถึงแนวเจ้าหน้าที่ในเส้นทางการเดินขบวนประท้วง ทำให้มวลชนตกค้างอยู่ที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามเคลื่อนต่อไปและเข้าไปใกล้กับแนวกั้นของตำรวจ แต่พวกเขาไม่อาจทำเช่นนี้ต่อได้ เพราะปฏิบัติการสลายการชุมนุมระลอกใหม่ได้เริ่มต้นอีกครั้ง
ณัฐนนท์เล่าถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมว่า ในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. เขามาถึงสามเหลี่ยมดินแดงพร้อมกับมวลชนคนอื่นๆ ต่อมาขบวนผู้ชุมนุมจำเป็นต้องหยุดชะงัก เนื่องจากมีแนวตู้คอนเทนเนอร์กีดขวางเส้นทาง ในขณะที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนกระจายกำลังอยู่ในบริเวณโดยรอบ ทั้งด้านหลังตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งณัฐนนท์คาดการณ์มีจำนวน 3 กองร้อย ทั้งบนทางด่วนดินแดง และตลอดทั้งสองข้างของทางลงอุโมงค์ดินแดง
ณัฐนนท์ระบุว่า ตอนที่เขาเดินทางมาถึงแยกสามเหลี่ยมดินแดง ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้เริ่มยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมแล้ว เขาเห็นเจ้าหน้าที่ยกกระบอกปืนขึ้นสูง แล้วยิงลงมาจากทางด่วนและระนาบทั้งสองข้างบนอุโมงค์ ในระหว่างการสลายการชุมนุม ณัฐนนท์ได้ยินตำรวจชุดควบคุมฝูงชนประกาศซ้ำไปซ้ำมาว่า “ถ้าล้ำเข้ามาให้ยิงทันที ให้ยิงระดับเอวลงไป”
เจ้าหน้าที่ระดมยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดงไปเรื่อยๆ ณัฐนนท์เองถูกยิงเข้าที่ตาตุ่มเช่นกัน แต่เนื่องจากรองเท้าหุ้มข้อของเขามีความหนาพอประมาณ จึงไม่รู้สึกเจ็บปวดมากนัก
ต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. เขาเดินทางออกจากพื้นที่ปะทะเพื่อไปรวมตัวกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังจากนั้นเขาและเพื่อนคนหนึ่งจึงเดินทางกลับบ้านเพื่อพักเหนื่อยสักพัก
เมื่อย้อนกลับมาดู “หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย” (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ซึ่งรับรองโดยสหประชาชาติ พบบทบัญญัติเฉพาะที่ระบุชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องไม่ใช้อาวุธ ยกเว้นในกรณี 1) ป้องกันตัวเอง หรือปกป้องผู้อื่นจากภัยที่ทำให้ถึงแก่ความตาย หรือก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บสาหัส 2) ป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งสร้างภัยคุกคามต่อชีวิต 3) จับกุมบุคคลที่แสดงพฤติการณ์อันตราย และขัดขืนเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ 4) ป้องกันไม่ให้บุคคลดังกล่าวหลบหนี และในกรณีที่มาตรการที่รุนแรงน้อยกว่านี้ไม่อาจทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังเหล่านี้ การใช้อาวุธโดยเจตนาจะต้องดำเนินการภายใต้สถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เด็ดขาด โดยมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องรักษาชีวิตประชาชน
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ประกาศว่ากรมทหารราบที่ 1 เป็น “พื้นที่ห้ามเข้าโดยเด็ดขาด” และใช้ข้ออ้างนั้นยิงแก๊สน้ำตาใส่ขบวนประท้วง เพื่อบีบให้มวลชนถอยร่นไปที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อผู้ชุมนุมเคลื่อนเข้าไปใกล้แนวตู้คอนเทนเนอร์ ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้ยิงกระสุนยางและเข้าจับกุมผู้ชุมนุม โดยอ้างว่ามวลชนไม่เชื่อฟังคำสั่งห้ามไม่ให้เข้ามาในแนวยิงของเจ้าหน้าที่
ลำดับเหตุการณ์ #ม็อบ7สิงหา : #7สิงหามึงเจอกูแน่ โดย Mob Data Thailand
.
สื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานในเหตุการณ์วันนั้นให้การว่า ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนยิงกระสุนยางในลักษณะ “หว่านแห” มากกว่าจะเป็นการเล็งยิงรายบุคคล โดยเจ้าหน้าที่ได้ระดมยิงกระสุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งบนพื้นราบและจากมุมบนสูง และไม่ได้ประกาศคำสั่งหยุดยิงหรือระยะเวลาให้ถอยหนี ทำให้ผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 5 รายถูกกระสุนยาง แม้ว่าจะสวมใส่อุปกรณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นสื่อชัดเจน อาทิ หมวกกันน็อคที่มีคำว่า “Press” และปลอกแขนสื่อมวลชนสีขาว ซึ่งออกโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลเอง
การสลายการชุมนุมในวันที่ 7 สิงหาคม แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการยกระดับความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ ทั้งสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กร Human Rights Watch ประจำประเทศไทย, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ อีก 13 องค์กรได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมที่ละเมิดหลักการสากล ใช้กำลังไม่ได้สัดส่วนและเกินกว่าเหตุ และไม่แสดงให้เห็นถึงเจตนายุติภัยอันตราย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ใช้กำลังและเข้าจับกุมประชาชนโดยไม่แยกแยะว่าใครคือผู้ก่อเหตุรุนแรง และใช้อาวุธในลักษณะที่ก่ออันตรายให้กับเป้าหมาย ดังจะเห็นได้จากการกราดยิงกระสุนใส่ใครก็ตามที่ล่วงเข้ามาในแนวยิง จนนักข่าวหรือผู้ไม่ได้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม, แนววิถีกระสุนที่ลงมาจากด้านบนแทนที่จะมาจากแนวพื้นราบ, การยิงแก๊สน้ำตาลงกลางวงผู้ชุมนุม หรือปฏิบัติการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นบนสกายวอล์คสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่เพียงแต่ปรากฏอยู่ในรูปของการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาจำนวนมากเท่านั้น ในวันนั้นเองตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าจับกุมณัฐนนท์และเพื่อน และทำร้ายร่างกายทั้งสองโดยพลการ จนเขาได้รับบาดเจ็บทั่วทั้งร่าง
เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. ณัฐนนท์และเพื่อนออกจากบ้านและมุ่งตรงมาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอีกครั้ง แม้การชุมนุมจะยุติไปตั้งแต่เวลา 17.40 น. โดยประมาณ แต่เขายังเห็นตำรวจชุดควบคุมฝูงชนกระจายตัวอยู่ใต้สถานีรถไฟฟ้าพญาไท ในขณะที่บริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีรถฉีดน้ำและเจ้าหน้าที่บางส่วนประจำการอยู่
ณัฐนนท์และเพื่อนเข้าไปสังเกตการณ์ตรงบริเวณเกาะพญาไท ในระหว่างนั้น เขาเห็นประชาชนคนหนึ่งบีบแตรใส่แนวของตำรวจชุดควบคุมฝูงจากด้านหลัง และถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเขาออกไป ณัฐนนท์จึงขับรถจักรยานยนต์วนรอบอนุสาวรีย์ชัยพร้อมกับบีบแตรตลอดทาง
“มีอยู่ช่วงนึงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าบีบแตร แล้วเขาขึ้นรังปืนแล้วยิงมาใส่อ่ะครับ ผมรู้สึกได้ว่ามันมีแรงกระแทกเข้ามาที่หัวกันน็อค เป็นกระสุนยาง” ณัฐนนท์กล่าว เขาระบุว่าตนไม่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เนื่องจากเขาสวมใส่หมวกกันน็อคอยู่ ณ ขณะนั้น
ในขณะที่กำลังขับรถ ณัฐนนท์หันไปมองตำรวจชุดควบคุมฝูงชน รถของเขาจึงเสียหลักล้มลงตรงเกาะกลาง ณัฐนนท์ได้ยินเจ้าหน้าที่ตะโกนว่า “มันล้มแล้ว” ซ้ำไปซ้ำมา ก่อนจะรุดมาที่เขาและเพื่อนซึ่งกำลังนอนล้มอยู่ เขาและเพื่อนพยายามวิ่งหนีจากเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อเขาหันไปเหลือบมองทางด้านหลัง เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาประชิดตัวเสียแล้ว
ณัฐนนท์หกล้มขณะที่ถูกจับกุม โดยเขาไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเป็นการเผลอล้มเอง หรือว่าถูกเตะให้ล้มลงกันแน่ ในขณะที่นอนแนบไปกับพื้นถนน เขาได้ยินตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพูดว่า “เอาให้มันนอนเลย มึงเก๋าเหรอ” ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะร่วมกันทำร้าย โดยการเตะและกระทืบลงมาที่ร่างของทั้งสอง แม้ว่าณัฐนนท์จะใส่หมวกกันน็อคอยู่ แต่เขาจำได้ว่าตนถูกเตะเข้าที่ศีรษะหลายครั้งจนรู้สึกปวดอย่างมาก ทั้งเจ้าหน้าที่ยังด่าทอเขาและเพื่อนด้วยถ้อยคำหยาบคาย
ณัฐนนท์บรรยายความเจ็บปวด ณ ตอนนั้นว่า “รู้สึกถึงแต่รองเท้าคอมแบตทั้งนั้นเลยครับ”
ทั้งณัฐนนท์และเพื่อนโดนรุมทำร้ายอยู่เช่นนั้นเป็นเวลาประมาณ 1-2 นาที เขาทำได้แค่นอนขดตัว และตั้งการ์ดป้องกันหน้าอกเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยมากที่สุด
เมื่อเห็นว่าณัฐนนท์และเพื่อนไม่เคลื่อนไหวอีกต่อไป ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจำนวนหนึ่งถึงเข้ามาห้าม ในสายตาของณัฐนนท์ เขามองว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเพื่อสนองความสะใจของตัวเองเท่านั้น
“เราแค่รถล้ม [ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน] ไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำร้ายหรืออะไรด้วยซ้ำ เขาควรจะให้ความช่วยเหลือเรา” ณัฐนนท์กล่าว
หลังจากตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเลิกทำร้ายทั้งคู่ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งใช้สายเคเบิลมัดมือไพล่หลัง และคุมตัวเขาและเพื่อนไปที่ป้ายรถเมล์จุดหนึ่ง ณ บริเวณนั้นมีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจำนวน 1 กองร้อยประจำอยู่ เจ้าหน้าที่บางคนที่ถืออาวุธปืนได้เดินเข้ามาประกบตัวทั้งสองคน
ในเวลาต่อมา ตำรวจสันติบาลนายหนึ่งได้เข้ามาในพื้นที่ พร้อมกับโบกมือให้ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนแถวนั้นปล่อยตัวเขาไป ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่จึงเลิกควบคุมตัวณัฐนนท์และเพื่อน แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอิสระแล้ว ทั้งสองยังต้องปลดเครื่องพันธนาการด้วยตัวเอง เนื่องจากตำรวจไม่ได้นำสายเคเบิลออกให้
หลังจากเจ้าหน้าที่ปล่อยให้เขาและเพื่อนอยู่กันตามลำพัง ณัฐนนท์เดินไปที่รถจักรยานยนต์ของตนที่ล้มอยู่ตรงเกาะกลาง แต่เขากลับพบว่ากุญแจรถหายไปแล้ว จึงจำต้องเข็นรถไปจอดไว้หลังป้ายรถเมล์ และเรียกแท็กซี่กลับบ้านแทน
ณัฐนนท์เล่าว่าคืนนั้นเขารู้สึกปวดระบมไปทั้งร่างกาย โดยพบรอยแดงจากรองเท้าคอมแบตทั่วแผ่นหลัง อีกทั้งยังมีรอยช้ำที่เอวฝั่งซ้าย, ต้นขา, หัวไหล่ทั้ง 2 ข้าง, คาง และคอ โดยณัฐนนท์คาดการณ์ว่ารอยฟกช้ำ 2 รอยสุดท้ายเกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่เตะเสยหน้าของเขา
การเข้าจับกุมณัฐนนท์ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ร่างกายของเขาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงทรัพย์สินของเขาอีกด้วย นอกเหนือไปจากกุญแจรถที่หายไปแล้ว หน้าปัดเรือนไมล์รถจักรยานยนต์ของณัฐนนท์แตกร้าวเช่นกัน เขาเล่าว่ารถของเขาเพียงแต่เสยเกาะกลาง และไม่ได้ล้มลงไปทั้งคัน เขาจึงเชื่อว่ารอยแตกดังกล่าวเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ในระหว่างใช้กำลังจับกุมเขา
“มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องครับ [ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน] ไม่ควรจะทำอย่างนั้นด้วยซ้ำ เขาควรจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือเรา พอรถล้ม ต่อให้เราบีบแตร เบิ้ลเครื่องใส่ เขาก็ควรจะควบคุมอารมณ์ให้ดีกว่านี้ ไม่ควรที่จะเข้ามาทำร้ายร่างกายเราถึงขนาดนั้น” ณัฐนนท์กล่าว
ณัฐนนท์เผยว่ากำลังใจของตนดีอยู่ เขาหัวเราะเบา ๆ และยืนยันว่ายังไม่รู้สึกกลัวที่จะออกไปชุมนุมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ใช้กำลังได้ทิ้งคำถามหนึ่งไว้ในใจของเขาอยู่ และเขาต้องการฝากคำถามนั้นไปถึงเหล่าผู้ทำหน้าที่ “พิทักษ์สันติราษฎร์” เช่นกัน
“ที่ฝึกซ้อมกันมา คุณทำมาเพื่อรับใช้ใครกันแน่”
.
อนึ่ง ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร คือหนึ่งในประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันทุบรถผู้ต้องขัง และพยายามชิงตัว “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก หลังทั้งสองถูกอายัดจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไป สน.ประชาชื่น เมื่อคืนวันที่ 30 ต.ค. 2563 ในวันนั้นเขาโดนรถผู้ต้องขังชนและลากไปกับพื้นถนนจนมีบาดแผล ทำให้เขาแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ทุ่งสองห้อง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันทำร้ายเจ้าหน้าที่” และข้อหาอื่นๆ กับเขา รวมทั้งสิ้น 7 ข้อแทน
ต่อมาอัยการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา และผู้พิพากษามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวณัฐนนท์และจำเลยคนอื่นๆ อีก 4 คน โดยอ้างว่าจำเลยจะไปกระทำอันตรายประการอื่นหากถูกปล่อยตัว
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพรวม 84 วันณัฐนนท์ได้รับการประกันตัวหลังยื่นคำร้องขอถึง 4 ครั้ง นับเป็นเวลาเกือบ 3 เดือนที่เขาต้องสูญเสียอิสรภาพโดยยังไม่ถูกพิพากษา
.