ให้ประกัน “ณัฐนนท์-ธวัช” คดีล้อมรถ พร้อมเงื่อนไข “ห้ามร่วมกิจกรรมที่ก่อความวุ่นวาย” 

วันนี้ (18 พ.ค. 64) เวลา 10.30 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร (จำเลยที่ 1) และธวัช สุขประเสริฐ (จำเลยที่ 2) 2 จำเลยคดีล้อมรถควบคุมตัว “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ขณะตำรวจอายัดตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไป สน.ประชาชื่น เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 หลังทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 4 ของณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร จำเลยที่ 1 และ ธวัช สุขประเสริฐ จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2564 

ต่อมา เวลา 14.10 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวทั้งสอง โดยกำหนดเงื่อนไขและวงเงินประกันในลักษณะเดียวกันกับจำเลยอีก 3 รายที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (13 พ.ค. 64) ได้แก่ ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และให้มาศาลตามนัด พร้อมกับวางเงินประกันคนละ 25,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

>>> ย้อนอ่านคำร้องขอปล่อยชั่วคราวครั้งที่ 4: จับตา! ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอประกัน “ณัฐนนท์-ธวัช” คดีล้อมรถ 18 พ.ค. นี้

ณ ห้องพิจารณา 912 เวลา 09.45 น.  มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษา ออกพิจารณาคดี โดยก่อนการไต่สวนคดี ผู้พิพากษาได้สอบถามว่า หลังปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 3-5 เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีการส่งตัวจำเลยทั้งสามไปรักษาพยาบาลโดยทันทีหรือไม่ ทนายความจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า จำเลยทั้งสามได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที หลังได้รับการปล่อยตัว ด้านศักดิ์ชัย (จำเลยที่ 3) เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาจักรีนฤบดินทร์ ส่วนสมคิด (จำเลยที่ 4) และฉลวย (จำเลยที่ 5) ได้เข้ารับการรักษาใน Hospitel ที่ทางกลุ่มเส้นด้ายช่วยประสานงาน 

ทนายยังแถลงต่อศาลอีกว่า ถ้าหากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ จำเลยที่ 1 จะเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยทันที ด้านจำเลยที่ 2 ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 และถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทนายความและนายประกันของจำเลยที่ 2 ได้ประสานงานกับกลุ่มเส้นด้าย เพื่อนำรถพยาบาลไปรับตัวจำเลยที่ 2 เพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที เมื่อได้รับการปล่อยตัว

ในการไต่สวนคำร้องขอประกันครั้งนี้ประกอบไปด้วยพยานทั้งหมด 6 ปาก ได้แก่ มารดาของณัฐนนท์เบิกความในฐานะนายประกัน, ประธานหมู่บ้านของณัฐนนท์เบิกความในฐานะผู้กำกับดูแล, ทนายความจำลยที่ 1 ในฐานะผู้รับรองบันทึกถ้อยคำแถลงของจำเลยที่ 1, เพื่อนร่วมงานของธวัช, หัวหน้างานของธวัชเบิกความในฐานะผู้กำกับดูแล และทนายความจำเลยที่ 4 

ทั้งนี้ วันนี้ ไม่มีการเบิกตัวจำเลยทั้งสองผ่านวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ หลังศาลมีคำสั่งงดไต่สวนจำเลย โดยทนายจำเลยได้ยื่นบันทึกถ้อยคำแถลงของจำเลยทั้งสองคู่กับคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้วเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 64 บันทึกดังกล่าวระบุ จำเลยนั้นรับเงื่อนไขที่ศาลกำหนด และตั้งผู้กำกับดูแลจำเลยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว โดยมีลายมือชื่อของจำเลยท้ายเอกสาร

.

ไต่สวนคำร้องขอประกันณัฐนนท์ (จำเลยที่ 1) 

มารดาของณัฐนนท์เข้าเบิกความเป็นพยานปากแรก ระบุ ก่อนณัฐนนท์ถูกคุมขังในเรือนจำ ทำงานที่คลังสินค้าของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน โดยก่อนหน้านี้เคยทำงานอยู่บริษัทรักษาความปลอดภัยที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง นอกจากนี้ณัฐนนท์มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อยู่อาศัยกับมารดาและยาย ปรากฎหลักฐานตามทะเบียนบ้าน พยานยังระบุอีกว่า พยานและประธานหมู่บ้านจะเป็นผู้กำกับดูแลจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล 

ต่อมา ประธานหมู่บ้านของณัฐนนท์เข้าเบิกความว่า รู้จักณัฐนนท์มานานหลายปี เนื่องจากครอบครัวของณัฐนนท์เป็นลูกบ้านตั้งแต่เริ่มโครงการ ส่วนพยานได้รับเลือกให้เป็นประธานหมู่บ้านมาตั้งแต่ปี 2563 ประธานหมู่บ้านยังชี้ว่า ภายในหมู่บ้านมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด และถ้าหากได้ณัฐนนท์ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะให้มารายงานต่อประธานหมู่บ้าน เมื่อเดินทางออกนอกพื้นที่

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายจำเลยที่ 1 เข้าเบิกความพยานปากสุดท้ายว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 64 ได้เข้าเยี่ยมณัฐนนท์ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ได้ผู้คุยเกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อปฎิบัติตามข้อกำหนดของศาลผ่านโทรศัพท์ เนื่องจากณัฐนนท์ยังไม่ติดเชื้อโควิด-19 ในวันดังกล่าว ทนายจำเลยได้นำเอกสารบันทึกถ้อยคำแถลงของณัฐนนท์ไปอธิบายและทำความเข้าใจกับณัฐนนท์ ด้านณัฐนนท์ยืนยันจะปฎิบัติตามคำสั่งศาล และไม่หลบหนี และจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานหมู่บ้าน จึงลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำแถลง พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ลงลายมือชื่อรับรอง

นอกจากนี้ จันทร์จิรายังเบิกความอีกว่า ส่วนกรณีศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ทนายความได้ประสานงานกับคลินิกเทคนิคการแพทย์ ให้ณัฐนนท์ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ทันที หากได้รับการปล่อยตัวภายในเวลาทำการของคลินิกในวันนี้

.

ไต่สวนคำร้องขอประกันธวัช (จำเลยที่ 2)

เพื่อนร่วมงานของธวัชเข้าเบิกความเข้าเป็นพยานว่า รู้จักธวัชมาเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ก่อนทำงานที่บริษัทนี้ ขณะนั้น ธวัชทำงานเป็นช่างเทคนิค และเป็นผู้ชักชวนให้พยานเข้าทำงานที่นี่ เท่าที่พยานรู้จัก ธวัชเป็นคนอัธยาศัยดี เป็นเสาหลักของครอบครัว และมีบุตร 2 คน อายุ 5 ปี และ 11 ปี 

ในส่วนของความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน พยานยืนยันว่า ธวัชเป็นคนทำงานดี ไปทำงานแต่เช้า หนึ่งปีลางานไม่ถึง 5 วัน 

ต่อคำถามทนายจำเลยว่า ทราบหรือไม่ว่าธวัชถูกดำเนินคดีอย่างไรบ้าง พยานตอบว่า ธวัชไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่จับกุม แต่ไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ด้วยตนเองทุกครั้ง สำหรับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ ธวัชเคยเล่าให้พยานฟังว่า ตนเพียงแค่ขี่รถจักรยานยนต์ไปดูเหตุการณ์ ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ 

พยานทราบว่า ปัจจุบันธวัชติดเชื้อโควิด-19ในเรือนจำ พยานได้ประสานกับทนายความไว้แล้วว่า หากธวัชได้ประกันจะมีรถมารับไปตรวจอาการและนำส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยพยานได้ขอเอกสาร ความเห็นของแพทย์ และแบบบันทึกการส่งตัวของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไว้แล้ว

พยานเบิกความอีกว่า เนื่องจากธวัชถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทำให้ต้องคืนบ้านเช่าที่เคยอยู่อาศัย ทางบริษัทจึงตกลงให้นำของใช้ส่วนตัวมาไว้ที่บริษัท และถ้าหากธวัชได้รับการประกันตัว บริษัทจะรับเข้าทำงานต่อและให้พักอาศัยที่บริษัท 

ต่อมา ผู้จัดการฝ่ายช่างเทคนิค หัวหน้างานของธวัช ได้ขึ้นเบิกความว่า รู้จักกับธวัชตั้งแต่เป็นพนักงานของบริษัทนี้เป็นเวลาประมาณ 13 ปี ทำงานร่วมกันมาในตำแหน่งช่างเทคนิค ไม่เคยมีเรื่องทะเลาะวิวาท ธวัชไม่เคยทำให้บริษัทเสียหาย และมาทำงานแต่เช้า จนได้รางวัลพนักงานที่มาเช้าเกือบทุกปี

หัวหน้างานยังเบิกความอีกว่า ปกติธวัชเป็นคนเงียบๆ ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งหากได้รับการประกันตัว บริษัทก็ให้โอกาสในการเข้าทำงานต่อ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวอีกทั้งรับรองจะกำกับดูแลธวัชเป็นพิเศษ ไม่ให้มีความประพฤติแบบที่ถูกกล่าวหา

สุดท้าย ภาวิณี ชุมศรี ทนายจำเลยที่ 4 (สมคิด โตสอย) เข้าเบิกความว่า คดีนี้ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 64 พยานไต่สวนคำร้องขอประกันจำเลยที่ 3-5 ผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องควบคุมตัว โดยขณะนั้น  มีจำเลยที่ 2 ร่วมอยู่ด้วย พยานได้พูดคุยกับธวัชโดยถามว่า หากศาลให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไข ธวัชจะยอมรับเงื่อนไขหรือไม่ ธวัชแจ้งว่ายินดีรับเงื่อนไขโดยสมัครใจ และจะปฏิบัติตามคำสั่งศาลทุกประการ โดยพยานยังได้แจ้งธวัชว่า ได้ติดต่อหัวหน้างานให้เป็นผู้กำกับดูแล หากได้รับการประกันตัว ซึ่งธวัชก็ยินยอม

ต่อมาวันที่ 14 พ.ค. 64 พยานได้จัดทำบันทึกถ้อยคำตามที่พูดคุยกับธวัช และได้นำไปให้ธวัชลงลายมือชื่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากธวัชติดโควิด เจ้าหน้าที่ไม่ให้เยี่ยม พยานจึงฝากให้เจ้าหน้าที่นำไปให้ธวัชเป็นคนลงลายมือชื่อ โดยมีนายสยมภู ประภานนท์ หัวหน้างานโรงพยาบาลสนาม เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รับรองว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 จริง

นอกจากนี้พยานยังแนะนำให้ผู้ยื่นคำร้องขอประกันของธวัชประสานกับกลุ่มเส้นด้ายให้ช่วยรับธวัชไปดูแลรักษาต่อหากได้รับการประกันตัว ทั้งนี้ กลุ่มเส้นด้ายเป็นกลุ่มที่นำตัวจำเลยที่ 4 ไปรักษาพยาบาล

.

ศาลให้ประกัน พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

เวลา 14.10 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ได้อ่านคำสั่งให้ประกันตัวทั้งสอง โดยท้าวความถึงคำเบิกความของพยานทั้งหมด รวมไปถึงคำเบิกความของพยานผู้รับรองว่าจะเป็นผู้กำกับดูแลจำเลยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล ทั้งระบุว่า เหตุในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจะต้องเป็นเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 

พิเคราะห์เห็นว่า จำเลยที่ 1-2 ไปพบพนักงานสอบสวนตามนัด น่าเชื่อว่าจะไม่หลบหนี คดีนี้พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยไม่อยู่ในฐานะที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ จำเลยที่ 1-2 ได้แถลงต่อศาลโดยสมัครใจว่าจะไม่ไปเข้าร่วมการชุมนุมก่อความวุ่นวาย พร้อมกับมีประธานชุมชนของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยที่ 1 และ หัวหน้างานของจำเลยที่ 2 เป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยที่ 2 ส่วนผู้ยื่นประกันเป็นญาติและบุคคลใกล้ชิด ถือว่าหลักประกันมีความน่าเชื่อถือ

กรณีนี้ พฤติการณ์คดีเปลี่ยนแปลงไป มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1-2 ในวงเงินประกัน 25,000 บาท พร้อมเงื่อนไข ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และให้มาศาลตามนัด

หลังศาลอ่านคำสั่งให้ประกันตัว ได้อ่านกระบวนพิจารณาคดี ซึ่งระบุให้ จำเลยที่ 1 นำผลการตรวจโควิด-19 มายืนยันต่อศาลภายใน 3 วันว่าได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อจริง และให้ส่งจำเลยที่ 2 เข้ารับรักษาในโรงพยาบาล 

คำสั่งดังกล่าวทำให้ ณัฐนนท์ และธวัช ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 21.30 น.  หลังถูกขังระหว่างพิจารณาคดีรวม 84 วัน หรือนับเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ด้านณัฐนนท์ได้อดอาหารเรียกร้องสิทธิการประกันตัวรวม 25  วัน ส่วนธวัชนั้นติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำ พร้อมกับผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อย่างน้อยถึง 1,851 รายจากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 3,023 ราย หรือคิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังทั้งหมด (อ้างอิง: รายงานสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 18 พ.ค. 64 จากงานประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ยังคงเหลือผู้ต้องขังคดีทางการเมืองยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวอย่างน้อย 6 คน ในเรือนจำพิเศษธนบุรี และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำยังคงเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดมีรายงานจากกรมราชทัณฑ์ว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศอย่างน้อย 11,670 ราย และวันนี้ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 1,408 ราย (อ้างอิง: รายงานสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 18 พ.ค. 64 จากงานประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ และ ผู้ต้องขังป่วยโควิดเพิ่ม 1,408 ราย จาก 7 เรือนจำ เผยสาเหตุการติดเชื้อ ตามลำดับ) 

      >> สถิติผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองระหว่างการต่อสู้คดี ปี 2564

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ให้ประกัน “สมคิด-ฉลวย-ศักดิ์ชัย” หลังถูกจองจำเกือบ 3 เดือนและติดโควิดในเรือนจำ ด้าน ศักดิ์ชัย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

อ่านคำฟ้องคดีนี้>> เปิดคำฟ้องคดีทุบรถควบคุม “ไมค์-เพนกวิน” โทษหนักสุดจำคุก 7 ปีครึ่ง แต่ศาลไม่ให้ประกัน ขณะ 1 ในจำเลยยืนยันไม่ได้ร่วมชุมนุม

อ่านข้อมูลคดีทั้งหมด>> 5 ประชาชนถูกกล่าวหา ขัดขวางรถควบคุมตัว “ไมค์-เพนกวิน”

“พ่อไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยซ้ำ​”: คำบอกเล่าลูกชายผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีทุบรถควบคุม ไมค์-เพนกวิน

“ถ้าความยุติธรรมมีจริง ลูกแม่คงได้ออกมาแล้ว”: เสียงของยายและแม่ในวันที่ “ณัฐนนท์” ผู้ต้องขังคดีทุบรถควบคุมไมค์-เพนกวิน ยังถูกพรากอิสรภาพ 

X