เปิดคำร้องยื่นประกันครั้งที่ 3 จำเลย 5 คน คดีทุบรถผู้ต้องขัง ‘ไมค์’ – ‘เพนกวิน’ ก่อนศาลสั่งยกฯ อีก

29 มีนาคม 2564 – วันนี้ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 3 พร้อมคำร้องประกอบฯ ในคดีความของประชาชน 5 ราย ถูกดำเนินคดีจากกรณีขัดขวางและทุบรถควบคุมผู้ต้องขังระหว่างการควบคุมตัวเพนกวินและไมค์ ไปยัง สน.ประชาชื่น ในช่วงคืนวันที่ 30 ตุลาคม 2563 โดยในการยื่นประกันครั้งนี้ได้วางหลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

สำหรับคดีนี้ ทั้ง 5 คน ได้แก่ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร, ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์ ถูกอัยการยื่นฟ้องต่อศาล ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา นับเป็นเวลาถึง 34 วันแล้ว ที่พวกเขาต้องสูญเสียอิสภาพไประหว่างการพิจารณาคดี

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในช่วงราว 14.30 . ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง โดยเห็นว่าศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยแสดงเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

………..

ในส่วนเนื้อหาในคำร้องประกอบฯ การยื่นขอปล่อยตัว ระบุว่า จำเลยที่ 1 – 5 ได้ขอยื่นประกันตัวโดยวางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 100,000 บาท

ส่วนต่อมาเท้าความถึงการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ คือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และวันที่ 1 มีนาคม 2564 ซึ่งถูกศาลยกคำร้องทั้ง 2 ครั้ง ก่อนที่ต่อมาทางจำเลยจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลชั้นต้นเมื่อเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564

ในคำร้องยังระบุอีกว่า พฤติการณ์ตามฟ้องของโจทก์นั้น โจทก์บรรยายฟ้องเกินกว่าการกระทำของจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหามาตั้งแต่ในชั้นสอบสวน และขอยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ภายหลังเกิดเหตุคดี จำเลยก็ไม่เคยถูกดำเนินคดีอีก ทั้งจำเลยยังเป็นแค่ประชาชนที่อยู่บริเวณที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่ได้เป็นแกนนำ 

ในส่วนของข้อหามาตรา 140 วรรคท้าย ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดไม่เกิน 7 ปี 6 เดือน เจ้าหน้าที่ศาลได้ระบุมาตรฐานกลางหลักประกันจำเลยที่ 1 – 4 คนละ 25,000 บาท และ 50,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 5  การยื่นหลักประกันในวันนี้จึงน่าเชื่อถือว่าจำเลยจะไม่หลบหนี หากศาลต้องการกำหนดเงื่อนไขใดๆ ประกอบการปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยยินดีปฏิบัติตาม

คดีนี้พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา และนัดอื่นๆ ซึ่งจำเลยทุกคนก็ได้ปฏิบัติตามในทุกนัด จำเลยไม่เคยถูกออกหมายจับ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่มีอิทธิพลจนสามารถไปยุ่งเหยิงกับหลักฐานได้ การคุมขังจำเลยไว้จึงไม่เป็นผลดีต่อการพิจารณาคดี อีกทั้งคดีนี้ โจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาด้วย

คำร้องยังกล่าวถึงข้อมูลส่วนตัวของจำเลยแต่ละราย ระบุว่า จำเลยที่ 1 นอกจากจะประกอบอาชีพแล้ว ยังต้องเข้าศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน, จำเลยที่ 2 มีภาระที่ต้องส่งเสียบุตรวัยเรียนซึ่งยังเด็กอีก 2 คน และเขายังต้องทำหน้าที่เป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัว, จำเลยที่ 3 เองก็มีอายุมากถึง 62 ปี, จำเลยที่ 4 เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ต้องส่งเสียดูแลลูกถึง 2 คน อีกทั้งยังต้องเลี้ยงดูมารดาวัยชรา และจำเลยที่ 5 มีอายุมากแล้ว มีภาระต้องเลี้ยงดูหลาน อีกทั้งยังเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง

คดีนี้ โจทก์เพียงยื่นฟ้องเท่านั้น ยังไม่ได้มีการสืบพยาน และจำเลยได้ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวนถึงชั้นศาล ซึ่งจำเลยจะนำหลักฐานเพื่อแสดงความบริสุทธิ์มาให้พิจารณาในชั้นสืบพยาน หากอาศัยเหตุพฤติการณ์ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเหตุไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ย่อมไม่เป็นธรรมกับจำเลย เนื่องจากจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่าจำเลยทำความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่ต้องถูกคุมขังระหว่างพิจารณาเสมือนได้รับโทษอาญา ทำให้จำเลยต้องสูญเสียอิสรภาพ ได้รับความเดือดร้อน ทั้งยังทำให้จำเลยเสียโอกาสในการแสวงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง 

ในคดีอื่นที่ถูกดำเนินคดีข้อหาเดียวกัน หรือแม้แต่ข้อหาร้ายแรง กระทั่งคดีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว ศาลก็ใช้ดุลยพินิจให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีได้ นอกจากนี้ จำเลยในคดีนี้ยังให้ความร่วมมือตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนและทางพนักงานอัยการมาโดยตลอด ทั้งยังไม่เคยกระทำผิดกฎหมาย จึงไม่มีเหตุให้ควรเชื่อหากปล่อยตัวแล้วจะหลบหนี

ในส่วนท้ายคำร้อง ได้ยืนยันหลักประกันสิทธิสำคัญในกระบวนการยุติธรรมอาญา คือ การที่ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งถูกรับรองอย่างชัดเจนในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยได้ร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และสิทธิดังกล่าวยังได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 29 วรรค 2 และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 สิทธิที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์มีขึ้นเพราะกฎหมายอาญาเป็นดาบสองคมที่รัฐอาจใช้ได้ทั้งเพื่อจัดการผู้กระทำความผิด และทิ่มแทงประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งประชาชนที่ใช้สิทธิตามกฎหมายไปในทางที่ขัดแย้งกับรัฐบาล

ดังนั้น ศาลในฐานะหนึ่งในเสาหลักแห่งอำนาจอธิปไตยจะต้องเป็นผู้คุ้มครองสิทธิของประชาชน ซึ่งประชาชนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย แต่ยังรวมถึงประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดอาญาด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิโดยอำนาจรัฐ

การควบคุมตัวจำเลยระหว่างพิจารณาคดีจะต้องกระทำโดยได้สัดส่วนและด้วยความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น กล่าวคือ จะต้องทำในเวลาจำกัดไม่ปล่อยเนิ่นช้าจนเกินไป และต้องไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า         

คำร้องยังระบุว่าหากศาลเห็นว่าต้องวางหลักประกันเพิ่ม ขอให้ศาลกำหนดหลักประกันให้จำเลยด้วย หรือหากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติม จำเลยรับว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัดทุกประการ 

 

X