เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยม “น้ำ” วารุณี ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 ในคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัข โดยศาลอุทธรณ์รวมถึงศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี
วันที่ทนายเข้าเยี่ยมนี้นับเป็นการอดอาหารประท้วงวันที่ 8 ของวารุณี การแสดงออกดังกล่าวดำเนินมาตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงของวันที่ 21 ส.ค. 2566 มีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวและประท้วงต่อศาลที่มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา โดยเธอได้ยกระดับเป็นการอดอาหารและน้ำ ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. เป็นต้นมา โดยจะจำกัดการดื่มน้ำเฉพาะเวลารับประทานยานอนหลับและยารักษาโรคอารมณ์สองขั้วเท่านั้น
ผลข้างเคียงจากการอดอาหาร-น้ำ รุนแรงมากขึ้น
วันนี้เราสังเกตเห็นว่า วารุณีดูอ่อนเพลีย ไม่สดใส ใบหน้าซูบตอบและสีหน้าซีดเหลือง เธอบอกว่าเพื่อนผู้ต้องขังทักบ่อยครั้งว่า ‘หน้าเหลืองมาก, กินน้ำหรือกินนมสักกล่องไหม’ นอกจากนี้ วารุณีมีอาการปากแห้งผาก ไม่ค่อยมีแรงยิ้มและหัวเราะเหมือนเคย คิดและตอบสนองช้ากว่าปกติ เธอบอกว่ารู้สึกเพลีย เหนื่อยหอบ หายใจถี่รู้สึกกระหายน้ำมาก รู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกายและรู้สึกปวดท้องตลอด แต่ยังพอทนได้อยู่ ส่วนความหิวเธอบอกว่าตอนนี้รู้สึกว่า ‘ชินชา’ กับมันไปแล้ว
“ตอนนี้ปวดท้องประจำเดือนด้วย ทรมานมาก ทั้งที่ตอนอยู่ข้างนอกไม่เคยปวดขนาดนี้”
เธอบอกว่า “เหนื่อย แค่นั่งอยู่เฉยๆ ชีพจรก็เต้นเร็วกว่าปกติแล้ว” วันนี้เธอได้รับการตรวจค่าชีพจร ซึ่งปรากฏว่าค่าชีพจรของเธอนั้นอยู่ที่ 115 ครั้งต่อนาที ค่าชีพจรปกตินั้นควรจะอยู่ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที แปลว่า ชีพจรของวารุณีขณะนี้นั้นเต้นเร็วกว่าปกติ แม้เธอจะไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายหนักหรือออกกำลังกายก็ตาม
ตอนนี้วารุณีได้รับการตรวจวัดชีพจรทุกวัน เพราะเธออยากรู้ว่า ‘ความรู้สึกเหนื่อย’ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกไปเองหรือไม่ “มันเหนื่อยจริงๆ ค่ะ วันศุกร์ที่แล้วก็วัดค่าชีพจรได้ 125 ครั้งต่อนาที ตอนเช้าอาบน้ำก็รู้สึกว่าไม่มีแรงยกขันเลย แค่นั่งหายใจเฉยๆ ก็เหนื่อยแล้ว …”
ปัจจุบันน้ำหนักตัวของวารุณีลดลงประมาณ 3 กก. แล้ว จากก่อนหน้านี้เธอหนัก 37.2 กก. ตอนนี้เหลือประมาณ 34.4 กก. อ้างอิงจากการชั่งน้ำหนักครั้งล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (25 ส.ค.) วารุณีเล่าเรื่องน้ำหนักพร้อมยกแขนขวาให้เราดูว่าตอนนี้เธอผอมลงจน ‘แขนลีบเล็ก’ กว่าปกติแล้ว
“หนูดูโทรมไม่ไหวแล้ว อีกอย่างคือ ‘ตัวร้อนมาก’ เพราะเหงื่อไม่ออกเลย ร่างกายไม่ได้ระบายความร้อน”
ตอนนี้แพทย์ในเรือนจำได้จ่ายยาให้วารุณีเพิ่มอีก 2 ตัว ได้แก่ ‘ยาคลายเครียด’ และ ‘ยาเพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับ’ “พอได้กินยามันก็นอนหลับได้ค่ะ แต่ยาเพิ่มประสิทธิภาพการนอนนี่แรงมาก กินแค่ครึ่งเม็ดหนูก็รู้สึกหน้ามืด ยกหัวไม่ขึ้น ปวดท้องจนต้องเกร็งนิ้วเท้า แต่วันถัดไปก็ดีขึ้นค่ะ”
“หนูเพิ่งรู้ว่า สิ่งที่ทรมานที่สุดไม่ใช่การอดอาหาร แต่มันคือ ‘การอดน้ำ’ หนูรู้สึกกระหายน้ำมาก ทรมานสุดๆ เวลาเห็นคนได้กินน้ำ เราจะรู้สึกอยากดื่มน้ำมาก ยิ่งช่วงกลางวันที่อากาศร้อน เสื้อผ้าที่เราใส่ก็ไม่ได้ถ่ายเทอากาศเลย น้ำลายมันจะเหนียวขึ้นมากๆ ปากมันก็จะแห้ง แล้วก็รู้สึกขมในปากเหมือนจะเป็นไข้ หนูเลยต้องขอน้ำแข็งก้อนเล็กๆ (เธอทำมือให้ดูว่าก้อนเล็กเท่า 1 ข้อนิ้วชี้) ที่เพื่อนทุบมากิน เพื่อให้อาการดีขึ้น แต่ไม่ได้กินตลอดนะคะ แค่ช่วงที่ร้อนมากจนทนไม่ไหวเท่านั้น”
“เวลากินยาแล้วต้องกินน้ำ ใจหนึ่งก็อยากกินเยอะๆ แต่ก็พยายามข่มไว้ตลอดค่ะ กินทีละอึกสองอึก ให้สามารถกลืนยาได้ ปริมาณรวมๆ แล้วจะไม่เกิน 150-170 มล.”
“เรือนจำไม่ให้ทำอะไรเลย ให้หนูนั่งเฉยๆ แต่มันจะมีงานเล็กน้อยที่ต้องใช้แรง อย่างกวาดแดนอะไรพวกนี้ หนูทำไม่ไหว เพื่อนมาช่วยทำให้ หนูก็ซื้อขนมตอบแทนค่ะ แต่ตัวเองไม่ได้กินสักอย่าง”
แทบจะไม่ใช่ ‘พี่น้อง’ เราเหมือน ‘แม่ลูก’ มากกว่า
วารุณีเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของเธอกับน้องสาวว่า น้องสาวเป็นคนที่เธอห่วงใยมากที่สุด และน่าจะได้รับผลกระทบทางจิตใจจากการที่เธออดอาหารมากที่สุดเช่นกัน
“หนูกับน้องสาวเหมือน ‘แม่ลูก’ กันมากกว่า เพราะแม่พวกเราเสียไปตอนหนูเรียนอยู่ปี 4 ตอนนั้นน้องสาวอยู่ ม.4 พอจบมหาลัยฯ หนูก็ทำงานเลี้ยงดูน้องสาวมาตลอด หนูมีน้องชายอีกคนหนึ่งด้วย แต่ตอนนี้เขาสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว แต่น้องสาวยังไม่ได้งานทำ หนูก็เลยยังดูแลอยู่
“พวกเรามีความผูกพันกันมาก น้องสาวเลยรับไม่ได้ถ้าหนูจะเป็นอะไรไป” วารุณีพูดด้วยเสียงสั่นเครือ และเริ่มมีน้ำตาคลอ
“มันอาจจะดูใจร้ายที่พูดกับน้องไปว่า ‘ลองมาอยู่ในคุกดูไหม’ แต่หนูก็อยากให้น้องเข้าใจในมุมของหนูด้วย ตอนนี้ก็ยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายของครอบครัวอยู่ค่ะ หนูถึงได้จะพยายามออกไปให้ได้เร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้”
แต่ล่าสุดน้องสาวของวารุณีได้งานแล้ว เรื่องนี้ทำให้ยิ้มออกได้ “ดีใจ รู้สึกเบาใจขึ้น ตอนนี้เหลือแค่เอาตัวเองออกไปข้างนอกให้ได้แล้ว เพราะน้องสาวบอกว่า อยากพาไปเลี้ยงข้าวด้วยเงินเดือนเดือนแรก เขาก็คงอยากตอบแทนเนอะ (ยิ้ม)
“ไม่ว่าคนข้างนอกจะมองหนูยังไง แต่อยากบอกเขาว่า อย่ามองคนแค่ด้านเดียว หนูเองก็เป็นคนธรรมดาที่พยายามดูแลครอบครัวไม่ให้ขาดตกบกพร่องเหมือนหลายๆ คน”
‘กินข้าวด้วยกันนะ’ วงเสวนาถึงผู้ถูกอุ้มหาย
เราเล่าให้วารุณีฟังว่าในวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการจัดงาน ‘กินข้าวด้วยกันนะ’ เพื่อเล่าถึงผู้ถูกอุ้มหายในมุมมองของญาติที่ยังอยู่รอคอยผ่านเมนูที่ผู้สูญหายชอบรับประทาน วารุณีฟังแล้วทำตาโต เพราะเธอเองก็มีความสนใจในประเด็นเหล่านี้อยู่แล้ว
“อยากออกไปดูอะ (หัวเราะ) ความรู้สึกแรกคือ ผู้จัดงานเขาคิดได้ยังไง เป็นการพูดถึงคนที่ถูกอุ้มหายโดยใช้สิ่งที่เขาชอบจริงๆ อย่างเมนูโปรด ขนลุก! มันดีพมาก
“หนูเข้าใจเลยนะ ตอนที่ยังไม่อดอาหาร เวลาคนข้างนอกสั่งอาหารที่เราชอบมาให้ ถ้าเป็นพวกแหนมหรือพวกแกงรสจัดใดๆ หนูจะรู้เลยว่า เออ นี่แหละเพื่อนแท้ นี่แหละน้องรัก เพราะเขารู้ว่าถ้าสั่งอะไรเข้ามาแล้วจะทำให้เรากินข้าวได้เยอะขึ้น มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและดีมากๆ ไม่รู้จะพูดยังไง
กำลังใจจากทุกคน
เราเล่าให้วารุณีฟังถึง ‘กำลังใจ’ จากคนข้างนอก ตอนนี้มีคนหลายกลุ่มให้กำลังใจเธออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การจัดกิจกรรมไปจนถึงการใช้พื้นที่สื่อของมือเล่าเรื่องของถึงวารุณีและปัญหาของมาตรา 112
กลุ่มทะลุแก๊สยังคงมาจุดพลุให้กำลังใจวารุณีและผู้ต้องขังทางการเมืองอยู่เรื่อยๆ และไม่นานมานี้ ‘Poetry of Bitch’ เพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามกว่า 1,800,000 บัญชี ได้ออกมาโพสต์สรุปประเด็นเรื่องราวของวารุณีให้สังคมเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีผู้กดถูกใจกว่า 17,000 ครั้ง และถูกกดแชร์อีกกว่า 2,000 ครั้ง
วารุณีที่ได้ยินก็รู้สึกซาบซึ้งใจจนเกือบร้องไห้ออกมาและบอกว่า “ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ ไม่ได้คิดว่าเขาจะสรุปเรื่องของเราเลย ทั้งที่มันเป็นเรื่องการเมือง หากเขาเผยแพร่ไป อาจจะทำให้มีบางฝ่ายไม่พอใจก็ได้ แต่เขาก็ยังเลือกสื่อสารให้ หนูเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้คนทั่วไปสนใจผลกระทบของมาตรา 112 มากขึ้นด้วยค่ะ”
“ได้ยินเสียงพลุแล้ว ดังสนั่นหวั่นไหว (ยิ้ม)
“เพื่อนทั้งเรือนจำลุกดูกันหมด ขอบคุณมากที่ทำเพื่อหนู ขอบคุณทุกคน ฝากบอกพวกเขาว่า ขอบคุณสำหรับทุกอย่างเลยนะคะ การเปลี่ยนแปลงมันจะมาจากสิ่งเล็กๆ ที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการจุดพลุ ช่วยแชร์ข่าว ติดแฮชแท็ก หรือการให้กำลังใจหนูบนอินเทอร์เน็ต อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ ของทุกคน แต่มันทำให้หัวใจหนูพองโต และมีพละกำลังในการก้าวข้ามความลำบากนี้ไปให้ได้ แค่ทุกคนไม่ลืมหนู ไม่ลืมเพื่อนในเรือนจำก็พอแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หนูขอให้ตัวเองและผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคนมีความอดทนมากพอ จนถึงวันที่เป็นของเราได้”
เราให้วารุณีดูรูปวาดและข้อความที่คนข้างนอกเขียนมาให้กำลังใจ ซึ่งเป็นไม่กี่เรื่องที่ทำให้เธอยิ้มออก น้ำอยากให้ส่งเอกสารทั้งรูปวาดและข้อความเหล่านั้นเข้ามา แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ใช่เอกสารที่เกี่ยวกับคดี หากส่งเข้าไปต้องส่งเป็นแบบจดหมายเท่านั้น
“ขอบคุณมากค่ะ ขอบคุณทุกคนเลย” น้ำพูดด้วยแววตาตื้นตันใจ “รูปวาดสวยมาก น่ารักมาก เมื่อวานได้ยินเสียงพลุด้วย ต้องขอบคุณทุกคนจริงๆ ที่ยังไม่ลืมหนู”
สุดท้ายเราแจ้งผลการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวต่อศาลฎีกาเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่า ศาลฎีกายกคำร้องเช่นเดิม
น้ำพยักหน้า ดูไม่ยินดียินร้ายเท่าไหร่และบอกกับเราว่า “ตอนนี้ไม่มีแรงคิดอะไรแล้วค่ะ คาดหวังกับความอดทนของตัวเองมากกว่าว่าจะ ‘อดทน’ ได้นานแค่ไหน คาดหวังว่าหนูจะชินกับความเจ็บปวดทางกายและความหิวโหยมากขึ้น”