ศาลอาญาให้ประกันตัว “รุ้ง” โดยมีเงื่อนไขห้ามกระทำเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

6 พ.ค. 64 ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ หลังทนายความยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 รวมทั้งไต่สวนขอปล่อยตัวชั่วคราวกรณีของ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ที่ทนายความยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 64 ก่อนที่จะมีการไต่สวนเพียงกรณีของรุ้ง โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 2 แสนบาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้กระทำการใดในลักษณะที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

เวลา 10:05 น. ณ ห้องพิจารณา 902 “รุ้ง” ปนัสยา ถูกนำตัวจากทัณฑสถานหญิงกลางเข้ามาในห้องพิจารณา แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่อนุญาตให้ทนายความนั่งข้างๆ เธอ ทนายจึงต้องนำเก้าอี้มานั่งฝั่งตรงกันข้าม

ภายในห้องพิจารณาคดี มีผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณา ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ชายสามคนและหญิงสองคน ในส่วนของญาติมีแม่ของเพนกวิน, พ่อแม่ของรุ้ง และ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยยังคงมีการเก็บโทรศัพท์ผู้เข้าฟังการไต่สวนเช่นเดิม

จากนั้น ได้มีการปรึกษาหารือถึงเรื่องที่จะไม่มีการเบิกตัว “เพนกวิน” พริษฐ์ และ “แอมมี่” ไชยอมร มาในวันนี้ เนื่องจากมีหนังสือของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แจ้งถึงเรื่องการกักตัวเพนกวินและแอมมี่ เพื่อดูอาการภายหลังสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด ได้แก่ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อีกรายหนึ่ง  ซึ่งจะครบกำหนด 14 วัน ในวันที่ 7 พ.ค. โดยทนายความจำเลยเพิ่งทราบเรื่องเช้าวันนี้ ทำให้ทนายและญาติพยายามจะเจรจากับทางราชทัณฑ์ ขอให้ทำการเบิกตัวทั้งคู่ มาไต่สวนพร้อมกับรุ้งในวันนี้

ในวันนี้มีการเปิดห้องถ่ายทอดการไต่สวนผ่านจอดภาพ โดยมีสื่อมวลชน, ส.ส.จากพรรคก้าวไกล และตัวแทนสถานทูต เข้าฟังด้วย 

เวลา 10.15 น. ในการไต่สวนคำร้องของปนัสยา มีผู้พิพากษา 4 คน นั่งบัลลังก์ โดยสองคน ได้แก่ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา พิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ และ เทวัญ รอดเจริญ การไต่สวน มีพยานจำนวน 5 ปาก ขึ้นเบิกความ โดยมีรุ้งเป็นผู้เบิกความคนแรก 

ปนัสยาเบิกความว่าปัจจุบัน เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันอาศัยอยู่กับครอบครัว มีพ่อแม่และพี่สาว ตนไปรับทราบนัดที่อัยการด้วยตนเองมาโดยตลอดและมาตามนัดในวันที่มีการฟ้องคดีนี้ สำหรับข้อกล่าวหาในคดีนี้ ตนให้การปฎิเสธทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล 

ปนัสยายังตอบทนายจำเลยว่า ในคดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาเดียวกันได้รับการอนุญาตประกันตัวแล้ว 3 คน ภายใต้เงื่อนไขว่า 1. จะไม่กระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ 2. ห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ศาลอนุญาต 3. จะแต่งตั้งทนายความเพื่อกลับเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดี 

ศาลได้ขอให้ปนัสยาแถลงเงื่อนไขดังกล่าวอีกครั้ง โดยปนัสยาได้กล่าวย้ำและตอบศาลถามเกี่ยวกับความสมัครใจในการแถลงเงื่อนไข ว่าการแถลงเงื่อนไขนี้เป็นการแถลงอย่างสมัครใจ นอกจากนี้ยังรับว่าตนยินดีจะอยู่ในการกำกับดูแลของรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา ของมหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ 

ฝ่ายอัยการ ได้ถามว่าปนัสยาได้สาบานว่าจะปฎิบัติตามที่ได้กล่าวไว้ใช่หรือไม่ ปนัสยาตอบว่าใช่ นอกจากนี้ยังได้แถลงเพิ่มเติมว่าหากศาลจะยินยอมให้ติดกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ EM ตนก็ยินยอม

เวลา 10.40 น. ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองอธิบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ขึ้นเบิกความว่าปนัสยาไม่เคยทำผิดวินัยในฐานะนักศึกษา และหากศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข ตนรับว่าจะช่วยกำกับดูแล โดยอัยการถามว่าจะมีวิธีควบคุมอย่างไร อาจารย์ตอบว่า จะสื่อสารกับนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอและทำงานร่วมกับอาจารย์ในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในการช่วยกำกับดูแล

10.45 และ 11.00 น. แม่และพ่อของปนัสยา เบิกความ ตามลำดับโดยกล่าวว่า ปนัสยาพักอาศัยอยู่กับพ่อแม่และพ่อแม่เป็นผู้ส่งเสียเลี้ยงดู ก่อนเกิดเหตุในคดี ปนัสยาไม่เคยต้องโทษที่มีคำพิพากษาจำคุกมาก่อน และมีความประพฤติเรียบร้อย หากได้รับการอนุญาตปล่อยตัวจะช่วยกำกับดูแลให้ปฎิบัติตามเงื่อนไขของศาลและมั่นใจว่าปนัสยาจะสามารถปฏิบัติตามได้

10.50 น. เจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงกลางขึ้นเบิกความ โดยเบิกความว่าปนัสยาไม่เคยกระทำความผิดวินัยในเรือนจำ โดยระหว่างที่ถูกควบคุมตัวได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี

ภายหลังจบการไต่สวน ศาลได้นัดอ่านคำสั่งในเวลา 14.00 น. แต่ต่อมาเลื่อนเวลาออกไป

เวลา 16.40 น. ศาลได้เบิกตัวปนัสยาขึ้นมายังห้องพิจารณา จนเวลา 17.00 น. นายพิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้ประกันตัวปนัสยา โดยเห็นว่าปนัสยายังเป็นนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พักอาศัยอยู่กับบิดามารดา จำเลยได้แถลงว่าจะไม่ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แถลงว่าจำเลยมีความประพฤติดี ประกอบกับได้มีการแต่งตั้งทนายความ เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีของศาล

ศาลพิเคราะห์เห็นว่าเหตุในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจะต้องเป็นเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 คือ 1) จำเลยจะหลบหนี 2) จำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 3) จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น 4) หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ  5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

ศาลเห็นว่ากรณีนี้ จำเลยเดินทางมาศาลตามนัดโดยตลอด จึงเชื่อว่าจะไม่หลบหนี ส่วนกรณีพยานหลักฐานนั้น จำเลยเป็นเพียงนักศึกษาจึงเชื่อว่าจำเลยไม่สามารถไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานได้ นอกจากนั้นหลักประกันในวันนี้ ผู้ขอประกันไม่เคยทำผิดสัญญาประกัน และมีเงินสดจำนวน 200,000 บาท จึงเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือ 

กรณีจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอว่าจะเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยกำหนดห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้จำเลยมาศาลตามนัดโดยเคร่งครัด 

ศาลอาญากำหนดวันนัดพร้อมคดีอีกครั้งในวันที่ 12 พ.ค. 64 

ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้ปนัสยาจะได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง โดยเธอถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 64 รวมระยะเวลาทั้งหมด 60 วัน โดยมีการยื่นขอประกันตัวมาแล้วทั้งหมด 6 ครั้ง (รวมครั้งนี้)

คดีนี้สืบเนื่องจากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีและตกเป็นจำเลยทั้งสิ้น 22 คน ในหลายข้อหา โดยมี 7 คน ถูกฟ้องในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ซึ่งจำเลยทั้งหมดที่ถูกคุมขังได้ยื่นประกันมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ “แบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2564 ภายหลังถูกคุมขังรวม 60 วัน ขณะที่สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 ภายหลังถูกคุมขังรวม 74 และ 47 วันตามลำดับ โดยยังมีผู้ที่ถูกคุมขังในคดีนี้อีก 3 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลอาญาให้ประกันตัว “สมยศ-ไผ่” กำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

ศาลยกคำร้องขอประกัน “จัสติน” ครั้งที่ 5 เหตุผู้ต้องหาเป็นโควิด ไต่สวนไม่ได้ แม้เจ้าตัวชี้ต้องได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

อาจารย์ มธ. ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขอให้ “รุ้ง-เพนกวิน” ได้เรียนหนังสือในเรือนจำ ย้ำเป็นสิทธิพื้นฐานตาม รธน.

ศาลให้ประกันเฉพาะ “หมอลำแบงค์” ด้าน “สมยศ-ไผ่” ถูกยกคำร้อง แม้แถลงรับเงื่อนไขเช่นเดียวกัน ระบุเหตุคำแถลงไม่น่าเชื่อถือ

.

X