ศาลอาญาไต่สวนคำร้องขอประกันตัว ‘รุ้ง’ 2 คดี ก่อนให้ประกันไปสอบถึง 12 ม.ค. 65 ภายใต้ 5 เงื่อนไข

30 พ.ย. 64 ที่ศาลาอาญา ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในสองคดีที่ถูกออกหมายขัง ได้แก่ คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 และคดีชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 โดยทั้งสองคดีมีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องดังกล่าว

เวลา 13.30 น. ศาลได้ไต่สวนปนัสยา โดยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง มีบิดามารดาของปนัสยา และ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาร่วมไต่สวน 

ปนัสยา ได้แถลงต่อศาล ว่าตนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และขณะนี้อยู่ในช่วงสอบปลายภาคการศึกษาที่ 1 ซึ่งมีกำหนดระหว่างวันที่ 2 ธ.ค. ถึง 17 ธ.ค. 64  โดยรายวิชาที่เธอลงทะเบียนเรียน มีทั้งรูปแบบการสอบที่ไปทำข้อสอบ และการทำรายงานการศึกษาวิจัย นอกจากนั้นยังมีวิชาที่มีการบ้านเพื่อเก็บคะแนน ซึ่งหลังเธอถูกคุมขัง ไม่สามารถทำงานดังกล่าวได้ หากได้รับการปล่อยตัวไป ก็ต้องไปทำงานชิ้นนั้นให้แล้วเสร็จ

ปนัสยาระบุว่า ในภาคเรียนที่ 2 ยังมีรายวิชาการวิจัย ซึ่งต้องจัดทำรายงานลักษณะธีสิส เพื่อจบการศึกษาด้วย ซึ่งมีระยะเวลาการจัดทำในช่วงเทอมหน้าตลอดทั้งเทอม ซึ่งหากจัดทำธีสิสดังกล่าวไม่ผ่าน ก็ต้องทำการลงทะเบียนใหม่อีก

ทนายความได้สอบถามปนัสยา ว่าหากเสนอเงื่อนไขต่างๆ ในการปล่อยตัวชั่วคราว ได้แก่ เงื่อนไม่กระทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร, ไม่ออกนอกเคหสถาน เว้นแต่ไปศึกษาเล่าเรียน ไปรักษาพยาบาล หรือไปพิจารณาคดีต่างๆ รวมทั้งการติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) รวมทั้งมีการตั้งผู้กำกับดูแล ปนัสยาจะสามารถรับเงื่อนไขได้หรือไม่ ปนัสยาได้ตอบรับเงื่อนไขดังกล่าวทั้งหมด

จากนั้น บุญเลิศ วิเศษปรีชา ได้ขึ้นเป็นพยานในการไต่สวน โดยบุญเลิศแถลงว่าตนเป็นอาจารย์ในคณะของปนัสยา และเป็นผู้สอนรายวิชา 1 วิชา ในเทอมนี้ ที่ปนัสยาลงทะเบียนเรียน โดยเนื้อหาวิชาของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีการฝึกนักศึกษาให้ทำวิจัยเพื่อวิเคราะห์ปัญหาสังคม โดยเชื่อมโยงกับเนื้อหาในห้องเรียน การวัดผลการเรียนจึงไม่ใช่เพียงการวัดผลจากการสอบในห้องเท่านั้น 

บุญเลิศ ระบุว่าอาจารย์แต่ละวิชาจะให้นักศึกษาจัดทำรายงาน ซึ่งบางวิชาต้องมีการเก็บข้อมูลภาคสนาม หรือทำการสัมภาษณ์ ทำให้แต่ละวิชาต้องให้เวลานักศึกษาจัดทำและส่งรายงาน เช่น ในวิชา “มานุษยวิทยาเมือง” ที่ตนสอน แม้จะมีวันสอบไล่ในวันที่ 14 ธ.ค. 64 แต่ก็มีการตกลงกับนักศึกษาในห้องเรียนให้ส่งรายงานภายในวันที่ 25 ธ.ค. 64 หรือวิชา “การวิจัยทางมานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วรรณา” ที่ปนัสยาลงทะเบียน ผู้สอนก็ได้กำหนดเวลาการส่งรายงานภายในวันที่ 31 ธ.ค. 64 โดยอาจารย์จะขยายเวลาได้ไม่เกินวันที่ 12 ม.ค. 65 ซึ่งต้องส่งเกรดต่อมหาวิทยาลัยต่อไป

บุญเลิศ ยังระบุว่าในเทอมที่ 2 ของนักศึกษาปี 4 ยังมีวิชาการศึกษาวิจัยส่วนบุคคล หรือที่นักศึกษาเรียกกันว่าวิชาธีสิส คล้ายกับการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท แต่มีขนาดเล็กกว่า ต้องใช้เวลาทำตลอดภาคการศึกษาที่ 2 ซึ่งหากนักศึกษาไม่ผ่านวิชานี้ ก็จะไม่สามารถจบการศึกษาได้

บุญเลิศแถลงต่อศาล ว่าตนยินดีเป็นผู้กำกับดูแลปนัสยา ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล โดยก่อนหน้านี้ปนัสยาก็ให้ความร่วมมือด้วยดีมาตลอด

จากนั้น บิดาของปนัสยา ได้ขึ้นเบิกความเป็นพยานปากที่ 3 ในการไต่สวน โดยยืนยันว่าทางครอบครัวพร้อมที่จะเป็นผู้กำกับดูแล ให้ปนัสยาปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ หากศาลกำหนดเพื่อให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยจะพยายามเฝ้าดูลูกต่อไป หลังได้รับการประกันตัวเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ปนัสยาก็ไม่ได้กล่าวปราศรัยพาดพิงสถาบันฯ เพียงแต่ได้ไปร่วมกิจกรรมในประเด็นอื่นๆ เช่น เรียกร้องให้คนเท่ากัน หรือเรื่องความหลากหลายทางเพศ

นอกจากน้้นบิดาของปนัสยายังแถลงว่า ปนัสยายังต้องดูแลแมว และหนูแฮมสเตอร์ที่อยู่ที่บ้านด้วย

การไต่สวนพยานทั้งสามปาก เสร็จสิ้นเวลา 14.45 น. โดยศาลได้ระบุหลังการไต่สวน ว่าจะไปหารือในที่ประชุมของผู้บริหารศาลอาญา และหากไม่มีเหตุขัดข้อง จะสามารถอ่านคำสั่งได้ภายในวันนี้

หลังรอคอยราวหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เวลา 16.20 น. ศาลได้ขึ้นอ่านคำสั่งให้ปนัสยา และพยานทั้งหมดฟัง โดยศาลสั่งในลักษณะเดียวกันในทั้งสองคดีที่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 

ศาลอาญาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าศาลนี้มีคำสั่งให้ยกเลิกการปล่อยตัวชั่วคราว และขังจำเลยไว้ เนื่องจากเกรงว่าจำเลย จะก่อเหตุร้ายประการอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 (3) อย่างไรก็ดี การพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นการใช้อำนาจของรัฐเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งศาลจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการก่อเหตุร้ายกับสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา โดยไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

ดังนั้น การที่จำเลยมีภาระในเรื่องการเรียนที่จะต้องเสียหายจากการคุมขัง จึงเป็นเหตุที่สามารถได้รับการพิจารณา เมื่อคำนึงถึงความเสียหายที่จำเลยอาจก่อขึ้นอีกนั้น อาจจำกัดควบคุมได้โดยการที่จำเลยยินยอมและตั้งใจปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ของศาลที่เข้มงวดยิ่งขึ้นและด้วยการกำหนดเงื่อนไข เงื่อนเวลา และมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสม

ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาพิจารณาแล้ว จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอย่างจำกัด โดยให้มีผลเฉพาะตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2565 กำหนดเงื่อนไข

  1. ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
  2. ห้ามจำเลยเข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
  3. ห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานตลอดเวลา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปเรียนไปสอบ ไปติดต่อราชการที่ศาลอื่น หรือมีเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล 
  4. ห้ามจำเลยออกนอกราชอาณาจักร
  5. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

ศาลได้สั่งให้ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นผู้กำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งศาล โดยหากผิดสัญญาประกัน ให้ปรับเป็นเงิน 90,000 บาท โดยไม่เรียกหลักประกัน

คำสั่งศาลลงนามโดย นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์

หลังคำสั่งของศาลดังกล่าว ปนัสยาจะยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากยังมีหมายขังในอีก 2 คดี ได้แก่ คดี #แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และคดีชุมนุม #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทั้งสองคดีมีข้อหาหลักตามมาตรา 112 และทนายความเตรียมจะยื่นขอประกันตัวในทั้งสองคดีต่อไปในวันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค. 64)

ทั้งนี้ ปนัสยาถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 64 รวมระยะเวลา 16 วันแล้ว

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลสั่งเพิกถอนประกัน “รุ้ง” คดี #19กันยา อ้างเหตุโพสต์ชวนปชช.แต่งชุดดำ สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ด้าน “แอมมี่-ไมค์” ไม่ถอนประกัน แต่ถูกเพิ่มเงื่อนไข

สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี

.

X