บันทึก 2 ทนายความ: “ยืนทระนงองอาจ เมื่อเบื้องหน้ายังมีหวัง” รุ้ง ปนัสยา กับการถูกคุมขังอีกครั้ง

9 มีนาคม 2564 

หวนเยือนทัณฑสถานหญิงอีกครั้ง ด้วยประสบการณ์ครั้งก่อนเมื่อเดือนตุลาคม 2563 สอนเราให้เตรียมเอกสารขอเยี่ยมพร้อมจากบ้าน (ใบขอเยี่ยม, สำเนาใบอนุญาตทนายความ และสำเนาใบแต่งตั้งทนายความ) เมื่อไปถึง ก็ตรงไปยื่นเจ้าหน้าที่ และดูเหมือนว่า เจ้าหน้าที่คล้ายรู้และคาดได้ว่าเราจะมา เจ้าหน้าที่คนเดิมบอกทันทีว่า ทนายรอรับของน้องรุ้งกลับด้วยนะจ๊ะ

ระหว่างรอเวลาเข้าเยี่ยม เราได้เจอครอบครัวของรุ้งที่มารอ สัมผัสความเข้มแข็งที่โอบกอดครอบครัวของน้อง ประสบการณ์จากกระบวนการครั้งก่อน สอนให้รู้ว่าต้องทำอะไร อย่างไร เช่น ต้องเตรียมแว่นสายตาสำหรับรุ้งแบบไหน ต้องถามหาเสื้อผ้าของน้องในวันที่ใส่เข้าเรือนจำ เพราะครั้งก่อนไม่ได้คืน ต้องฝากเงินและซื้อของที่ช่องไหน 

แต่ครั้งนี้ก็ไม่ได้ง่ายกว่าครั้งที่แล้ว เพราะตั้งต้นด้วยความอยุติธรรม ยิ่งเหตุการณ์สะเทือนใจที่พี่สาวและครอบครัวไม่ได้เจอหน้าน้องก่อนจะถูกส่งขึ้นรถไปเรือนจำเพื่อคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ความเจ็บปวดยังคงปรากฏชัดบนสีหน้าและแววตาของพี่สาว เธออาจเตรียมใจไว้บ้าง แต่ไม่ได้เต็มร้อยว่าน้องจะไม่ได้ประกันตัว แต่ที่ไม่เคยคิดเลย คือความโหดร้ายเลือดเย็นของการกีดกันไม่ให้ครอบครัวได้พบ ได้กอดบอกลา

และวันนี้เป็นอีกครั้งที่ต้องผิดหวัง ญาติผู้ต้องขังทุกคนยังถูกจำกัดสิทธิการเยี่ยมในช่วงโควิด แม้ว่าทางทัณฑสถานหญิงจะมีการเปิดให้ญาติลงคิวเยี่ยมผ่านทางไลน์ แต่การจัดการระบบคิว และการอำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องขังได้พบญาติๆ ยังคงไม่เพียงพอและทั่วถึง จึงมีเพียงแค่ทนายความที่มีสิทธิเยี่ยม ซึ่งจริงๆ แล้ว ผู้ต้องขังย่อมต้องอยากได้พบญาติ คนรัก และเพื่อนๆ  ที่ไม่ใช่เพียงทนายความ

เมื่อถึงคิวเยี่ยม เจ้าหน้าที่มาตามเรา สองเท้าพาเดินจ้ำกลับไปที่อาคารเยี่ยม เก็บมือถือในล๊อกเกอร์ หยิบเอกสาร พร้อมรายงาน “ผู้หญิงทระนงองอาจ” เข้าไปให้รุ้งดู

การเยี่ยมสำหรับทนายยังเหมือนเดิม คือผ่านโทรศัพท์ มองกันผ่านกระจกและลูกกรง วันนี้ที่ช่อง 39 เรามองหาและเจอรุ้งชะเง้อรอพร้อมยิ้มรับ

หยิบโทรศัพท์ ก่อนทักทาย “เจอกันในที่แบบนี้อีกจนได้” รุ้งยิ้มและหัวเราะขำในท่าที

“ก็บอกแล้วว่าเวลาเจอกันข้างนอก ก็ตามสบาย ใช้เวลาและชีวิตให้เต็มที่อย่างอิสระ ไปอยู่กับที่บ้าน กับเพื่อน กับแฟน ส่วนเรานัดกินข้าวกันปีละครั้งก็พอ แต่ถ้ารุ้งต้องกลับมาสถานที่แบบนี้ จะมีพี่มาเจอน้องเอง”

“ออกไปแล้วนัดกินข้าวกันอีกนะ” รุ้งอ้อน

ก่อนอื่น เราหยิบรายงานเรื่อง ทระนงองอาจ: ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในแนวหน้าของการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของไทย ที่พิมพ์โดยองค์กรสิทธิระหว่างประเทศ เปิดให้เธอดู รุ้งเผยยิ้มใหญ่เมื่อเห็นภาพถ่ายสมัยที่ผมเธอยังยาว สมัยที่เราทั้งคู่ต่างชมกันเองว่า “สวยเนอะ” เราคุยกันต่อเรื่องคดีและขั้นตอนกฎหมาย เข้าใจให้ตรงกันอีกทีว่าครั้งนี้คือการขังระหว่างพิจารณาคดี รุ้งพยักหน้ารับรู้ว่าครั้งนี้ไม่ใช่แบบครั้งก่อนที่เป็นการฝากขังระหว่างชั้นสอบสวนของตำรวจ ซึ่งมีกำหนดเป็นครั้งละไม่เกิน 12 วัน รวมกันไม่เกิน 48 หรือ 84 วัน

หากเรายื่นประกันและศาลยังไม่ให้ประกันต่อไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุนอกตัวบทกฎหมาย สิ่งที่จะเสียคือกระบวนการยุติธรรมไทยที่ฝังภาวะไร้ศรัทธาลงในหัวใจคนรุ่นใหม่ ในวันข้างหน้าที่สังคมยังต้องหมุนไป

อย่างไรก็ตาม รุ้งบอกว่า เธอหวังว่าโอกาสและสิทธิในการศึกษาของเธอจะได้รับการคุ้มครอง เพราะใกล้จะสอบกลางภาคแล้วในสัปดาห์หน้า การปล่อยตัวชั่วคราว ไม่เพียงเป็นไปตามสิทธิของจำเลย ตามกฎหมายที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุด แต่ยังเป็นการประกันสิทธิในการได้ศึกษาของนักศึกษาด้วย

รุ้งถามถึงเพื่อนๆ ภายหลังจากเหตุการณ์ที่เธอถูกส่งตัวไปเรือนจำโดยที่ไม่มีใครได้ร่ำลา ปฏิกิริยาของผู้คนต่อเรื่องนี้ และเรื่องที่ ไมค์, ไผ่ และโตโต้ ถูกส่งไปเรือนจำพิเศษธนบุรี ไม่ใช่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทุกคนก็เพิ่งจะมาทราบเรื่องเมื่อเช้า เราสะท้อนให้รุ้งฟังถึงความกังวลเรื่องการย้ายที่คุมขังทั้ง 3 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างถึงประเด็นเรื่องความปลอดภัย

เราเล่าต่อว่ามีการประกาศแต่งชุดดำ ติดโบว์ดำ ไว้อาลัยให้กระบวนการยุติธรรม รวมถึงกิจกรรมหน้าศาลและหน้าเรือนจำ นัยน์ตาของรุ้งสะท้อนความเชื่อมั่น

ครั้งนี้ สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ที่ที่แปลกเกินไปสำหรับเธออีกต่อไป เธอบอกว่าเมื่อคืนนอนหลับ อาจจะเพราะเหนื่อย ช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยได้พัก “ตอนนี้ชิวววว” รุ้งยิ้ม ตอบแฝงทีเล่น เราเชื่อว่าเธอหมายความเช่นนั้นอยู่ในทีว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเธอ แต่เราไม่เชื่อว่านี่คือที่ที่เธอควรอยู่ และ ชิว อนาคตที่กลับถูกจองจำในคุก แล้วข้างหน้าข้างนอกจะเป็นอย่างไร?

รุ้งฝากข้อความถึงครอบครัว เพื่อนๆ และประชาชนที่รักประชาธิปไตยทุกคน ใจความก็ย้ำว่าเธอไม่ท้อใจ ตราบที่ข้างนอกยังไปต่อด้วยสันติวิธี

เราจะชนะแน่ ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล

รุ้งผู้กำลังใจดี ทิ้งทายกับเรา “ไม่มีอะไรที่น่าท้อใจ เพราะรู้ว่าคนที่ยังอยู่ข้างนอก จะคงสู้อย่างต่อเนื่อง”

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บันทึกเยี่ยม รุ้ง ปนัสยา: 3 กระเบื้องครึ่ง ก็เยอะแล้ว

11 มีนาคม 2564

วันที่ 4 ของการควบคุมตัว รุ้ง ปนัสยา แม้ว่าขณะนี้จะมีประชาชนที่ถูกขังเนื่องจากทำกิจกรรมทางการเมืองกว่า 17 คน แต่รุ้งเป็นผู้หญิงคนเดียวในจำนวนดังกล่าว ความจริงตัวเลขนี้ก็น่าจะสะท้อนอะไรบางอย่างเช่นกัน เช่นเดียวกับตอนที่ 14 นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกคุมขังในปี 2558 ในเวลานั้นมี ลูกเกด ชลธิชา เป็นผู้หญิงหนึ่งเดียว

อาคารเยี่ยมของทัณฑสถานหญิงกลางน่าจะเพิ่งก่อสร้างไม่นาน เราเคยมาเยี่ยมผู้ต้องขังเมื่อหลายปีก่อน สมัยนั้นสภาพเก่าและทรุดโทรมกว่านี้มาก สภาพอาคารเยี่ยมตอนนี้ดูดีและสะอาดสะอ้าน พอทำให้คนด้านนอกที่ไปเยี่ยมไม่หดหู่เกินไป แต่กระนั้นความเหลื่อมล้ำก็สะท้อนออกมาให้เห็นอยู่ดี เรานั่งอยู่อีกด้านของกระจกภายในห้องเยี่ยมของทนายความติดเครื่องปรับอากาศ ในขณะอีกฝั่งของกระจกรุ้งนั่งเหงื่อไหลไคลย้อย แม้จะมีพัดลมติดอยู่ก็ตาม

ระหว่างการพูดคุย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ขอแทรกบทสนทนา และแจ้งรุ้งว่าคุยเสร็จให้ไปพบคุณด้านใน มีคนมารอพบ โดย คุณเป็นสรรพนามเรียกเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ นี่คืออีกหนึ่งความเหลื่อมล้ำในเรือนจำหรือเปล่า เราคิดในใจ

หลังเจ้าหน้าที่จากไป รุ้งบอกว่าเมื่อวานมีพนักงานสอบสวนมาจะแจ้งข้อหาเพิ่มและเตรียมทนายความมาด้วย แต่รุ้งปฏิเสธที่จะรับทราบข้อกล่าวหา และแจ้งว่าจะรอทนายความของตนเองเท่านั้น

นอกจากเล่าความคืบหน้าของคดี และแจ้งว่าพรุ่งนี้จะยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง เราก็เริ่มอ่านข้อความที่ครอบครัวและเพื่อนฝูงฝากมาให้ฟัง รุ้งน้ำตาไหล แต่ก็ยังมีรอยยิ้ม และฝากความคิดถึงถึงคนข้างนอก

เราถามถึงความเป็นอยู่ด้านใน

หนนี้ดีกว่าคราวที่แล้ว คราวที่แล้ว (ตุลาคม 2563) มีคนในห้องกักตัว 30 คน รอบนี้มี 26 คน ก็แออัดน้อยหน่อย กิจวัตรประจำวัน ตื่นมาก็อ่านหนังสือ ทานข้าว ดูทีวี อาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงกักตัว (จากสถานการณ์โควิด) เลยยังไม่ได้ทำอะไรมาก

ที่นอน นอนกระเบื้องขนาดสามแผ่นครึ่งพี่ ถือว่าเยอะแล้ว ยังใช้ผ้าห่มสามผืนเหมือนเดิม (ผืนหนึ่งไว้หนุน ผืนหนึ่งรองบนพื้นและอีกผืนใช้ห่มนอน) คราวนี้อากาศร้อน แต่ก็ดีกว่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วหนาว

ตอนนี้เรายังไม่ถูกตัดผมและยังไม่ถูกย้อมสีผม ดีกว่าคราวที่แล้ว

สบายดี ไม่เครียดมาก ให้ผ่านไปวันๆ รอวันได้ออกไป

ก่อนจากกัน เราชูนิ้วโป้งว่า เยี่ยมให้หนึ่งนิ้วให้กำลังใจ จากนั้นก็ชูสองนิ้วเพื่อบอกว่าสู้ๆ แต่รุ้งชูสามนิ้วพร้อมรอยยิ้มให้เรากลับมา

หลังเยี่ยมเสร็จเราออกมาพบครอบครัวรุ้ง แม้จะไม่ได้เข้าเยี่ยมเพราะยังอยู่ระหว่างการกักตัว แต่ครอบครัวรุ้งก็มารอพบทนาย ฝากสิ่งของและกำลังใจให้ 

ใช่,กำลังใจสิ่งสำคัญที่ทำให้คนเราอยู่ได้ในห้วงเวลาวิกฤตเช่นนี้

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

นักวิชาการนิติศาสตร์ถกสิทธิประกันตัว: เป็นเรื่องอันตราย หากศาลเชื่อเพียงพยานหลักฐานตร.

บันทึกทนายความ: ในห้องพิจารณาคดีที่ ‘อานนท์ นำภา’ สวมชุดครุยทับชุดนักโทษ

ย้อนดูคดี ม.112 ยุค คสช. กับสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมที่หายไป หลังจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

X