ย้อนดูคดี ม.112 ยุค คสช. กับสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมที่หายไป หลังจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

เมื่อ 7 ปีก่อน หลังการรัฐประหาร ภายใต้การครองอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีผู้ถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 169 คดี

การดำเนินคดีมาตรา 112 ในยุค คสช. และปัจจุบัน มีข้อแตกต่างบางประการ เช่น ในปัจจุบัน (ปลายปี 2563-64) เจ้าหน้าที่ตำรวจมักออกเป็นหมายเรียกให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหา และปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมไว้เหมือนในช่วงก่อนหน้านี้ที่ส่วนใหญ่ศาลออกหมายจับให้จับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดี และผู้ต้องหามักไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ชั้นสอบสวน จนกระทั่งชั้นพิจารณาคดี 

อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการยื่นฟ้องคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร สำหรับอานนท์, สมยศ, ปติวัฒน์ และพริษฐ์ รวมไปถึงคดีชุมนุม MobFest สำหรับพริษฐ์ในข้อหาเดียวกัน แนวทางการดำเนินคดีมาตรา 112 ในปี 2564 เริ่มมีแนวทางคล้ายคลึงกับช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอีกครั้ง เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวทั้ง 4 คนในระหว่างพิจารณาคดี แม้การปล่อยตัวชั่วคราวจะเป็นสิทธิพึงมีของผู้ต้องหาและจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 และหลักที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาและจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด (Presumption of Innocence) 

ปัญหาของการไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีมาตรา 112 เป็นปัจจัยหนึ่งที่บีบบังคับให้จำเลยที่เดิมต้องการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ตัดสินใจรับสารภาพ เนื่องจากหากรับสารภาพให้คดีสิ้นสุด อาจมีโอกาสออกจากเรือนจำเร็วกว่าตัดสินใจสู้คดี เช่น ในกรณีของภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า หลังตัดสินใจรับสารภาพ พวกเขาถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ 2 ปี  ขณะที่กรณีของสิรภพที่ต่อสู้คดี ต้องถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีถึง 4 ปี 11 เดือน 

ทั้งนี้ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) หนึ่งในกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) เคยให้ความเห็นต่อกรณีการควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 ว่าเป็น “การควบคุมตัวโดยพลการ” และการบังคับใช้บทบัญญัติดังกล่าวมีปัญหาการตีความที่คลุมเครือ และไม่ได้สัดส่วนความผิด

ในวาระที่ 4 แกนนำราษฎรยังคงไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนคดีมาตรา 112 ในยุค คสช. ที่จำเลยถูกลิดรอนสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจสู้คดีสำหรับผู้ถูกจองจำและครอบครัว

‘กอฟ-แบงค์ เจ้าสาวหมาป่า’ รับสารภาพ ติดคุก 2 ปี หลังยื่นประกันถึง 4 ครั้ง แต่ศาลไม่ให้ประกัน

เดือนสิงหาคม ปี 2557 “กอฟ” ภรณ์ทิพย์ นักกิจกรรมกลุ่มประกายไฟในขณะนั้น และ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญาในข้อหามาตรา 112 จากกรณีมีส่วนร่วมในละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ซึ่งกลุ่มประกายไฟการละครจัดแสดงในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ในปี 2556 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นับเป็นครั้งแรกที่รัฐดำเนินคดีกับการแสดงออกผ่านงานศิลปะ 

ทั้งคู่ไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนและระหว่างพิจารณาคดี เดิมนั้นทั้งสองคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน แต่หลังจากถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดีเป็นเวลา 4 เดือน ยื่นประกันตัวทั้งหมด 4 ครั้ง และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี  ทั้งสองคนตัดสินใจรับสารภาพในชั้นศาลเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 57 เพื่อให้คดีถึงที่สุดโดยเร็ว ก่อนที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือคนละ 2 ปี 6 เดือนในวันที่ 23 ก.พ. 58

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการได้ให้ความเห็นเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 57 และ 2 ธ.ค. 58 ต่อกรณีการไม่ให้ประกันปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ตามลำดับว่า เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ ถือเป็นการริดรอนเสรีภาพของภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ อันละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 9 และข้อ 19 และเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 (3) และข้อ 19 (2) พร้อมขอให้รัฐปล่อยตัวและจ่ายค่าสินไหมทดแทน

อย่างไรก็ตาม รัฐไม่ได้ปล่อยตัวภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ หรือชดใช้สินไหมแต่อย่างใด ทั้งสองคนรับโทษจำคุกในเรือนจำเป็นเวลา 2 ปี 12 วัน สำหรับภรณ์ทิพย์ และ 1 ปี 11 เดือน 27 วัน สำหรับปติวัฒน์ จึงได้รับการปล่อยตัว 

ปัจจุบัน ปติวัฒน์ยังถูกดำเนินคดีข้อหานี้และถูกขังในเรือนจำซ้ำอีก ราวกับว่าเขาจะต้องเผชิญกับการคุมขังก่อนถูกตัดสินว่ามีความผิดอีกครั้ง ซึ่งเคยบีบบังคับให้เขารับสารภาพเมื่อคราวก่อน

>> ฐานข้อมูลคดีนี้ https://database.tlhr2014.com/public/case/1/

>> ความคิดเห็น UN ต่อกรณีแบงค์-ภรณ์ทิพย์ https://tlhr2014.com/archives/3587

>> อ่านหนังสือ “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” เขียนโดยภรณ์ทิพย์ ขณะอยู่ในเรือนจำ https://readjournal.org/product/kolf/

“พงษ์ศักดิ์” ถูกตัดสินจำคุก 30 ปี หลังรับสารภาพโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 6 ข้อความ

เดือนธันวาคม ปี 2557 พงษ์ศักดิ์ (สงวนนามสกุล) อดีตมัคคุเทศก์ถูกทหารและตำรวจเข้าจับกุมที่จังหวัดพิษณุโลก ขณะเดินทางไปพบเพื่อนที่รู้จักกันผ่านเฟซบุ๊ก หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวเขาไปซักถามที่ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก เป็นเวลา 3 คืน ก่อนควบคุมตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) กรุงเทพฯ โดยปิดตาและใส่กุญแจมือเขาตลอดเวลา 

หลังถูกคุมตัวเพื่อซักถามในค่ายทหารรวม 7 วัน เขาถูกส่งตัวให้ตำรวจดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 58/2557 และคดีตามมาตรา 112 พร้อมด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊กชื่อ “Sam Parr” รวม 6 ครั้ง เช่น ข้อความเกี่ยวกับการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ร่วมงานศพ “น้องโบว์” อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ พงษ์ศักดิ์ตัดสินใจรับสารภาพในชั้นสอบสวน  โดยไม่มีทนายเข้าร่วมการสอบสวนด้วย

เขาถูกฝากขังในชั้นสอบสวน และไม่สามารถยื่นประกันตัวได้ เพราะมีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ ต่อมา ศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุก 60 ปี เนื่องจากรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 30 ปี นับเป็นคดีที่มีโทษจำคุกสูงสุดในช่วงปี 57-58 

ทั้งนี้ เขาไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ เนื่องจากคดีนี้ถูกฟ้องต่อศาลทหารและการกระทำที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นระหว่างประกาศกฎอัยการศึก จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุดในศาลทหารชั้นต้น โดยพงษ์ศักดิ์ไม่มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาที่ลงโทษจำคุกยาวนานเกินกว่าเหตุได้

สำหรับคดีของพงษ์ศักดิ์ คณะการทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการชี้อีกว่า การควบคุมตัวจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์เป็นการจำกัดสิทธิเสรึภาพการแสดงออกภายใต้ ICCPR ข้อ 19 ทั้งการควบคุมเช่นนี้ไม่เป็นสัดส่วนเหมาะสม ถ้าข้อความที่พงษ์ศักดิ์เผยแพร่นั้นหมิ่นประมาทจริง ควรมีมาตรการที่อยู่ในขอบเขตทางแพ่งได้

นอกจากนี้ คณะทำงานยังให้ความเห็นว่า พงษ์ศักดิ์ไม่ได้รับสิทธิที่ได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เนื่องจากคดีของเขาถูกพิจารณาบนศาลทหารที่ไม่ได้เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และถูกสั่งให้พิจารณาลับ ทั้งยังไม่ได้รับสิทธิให้เข้าถึงทนายความในช่วงการสอบสวนหรือระหว่างที่ถูกควบคุมตัวภายในค่ายทหาร

>> ฐานข้อมูลคดีนี้ https://database.tlhr2014.com/public/case/484/

>> อ่านความเห็นของคณะการทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการต่อคดีนี้ https://www.ohchr.org/Documents/Issues/Detention/Opinions/Session77/A-HRC-WGAD-2016-44_en.pdf

“ไผ่ ดาวดิน” รับสารภาพแชร์เฟซบุ๊ก BBC เกี่ยวกับร. 10 หลังศาลไม่ให้ประกัน​ถึง 10 ครั้ง

1 ธ.ค. 59 หลังรัชกาลที่ 9 สวรรคตได้ราว 2 เดือนสำนักข่าวบีบีซีไทย ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” และมีผู้แชร์บทความนี้บนเฟซบุ๊กไปกว่า 2,800 ครั้ง แต่ “ไผ่ ดาวดิน” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ตูน” ชนกนันท์ รวมทรัพย์ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารกลับถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยเป็นคดี 112 คดีแรกหลังรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ 

สำหรับจตุภัทร์ เขาถูกจับกุมตามหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่นในวันที่ 3 ธ.ค. 59 ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากนั้น ถูกนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังในวันถัดมา ทนายยื่นประกันตัวด้วยเงินสดจำนวน 400,000 บาท ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมใดๆ นอกเหนือจากที่ศาลระบุไว้ในสัญญาประกัน 

อย่างไรก็ตาม จตุภัทร์ถูกเพิกถอนประกันจากการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กส่วนตัวในเดือนเดียวกัน ศาลจังหวัดขอนแก่นระบุเหตุผลว่า การกระทำของจตุภัทร์มีพฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ จึงทำให้จตุภัทร์ถูกควบคุมตัวไปยังทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นหลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนเพียง 18 วัน 

แม้ทนายความจะยื่นประกันตัวอีกถึง 10 ครั้ง ในระยะเวลา 6 เดือน ด้วยวงเงินสูงสุด 700,000 บาท ยื่นอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งเพิกถอนประกัน และอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน 2 ครั้ง แต่ศาลมีคำสั่งไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งแต่อย่างใด แม้ทนายจะให้เหตุผลว่า จตุภัทร์จำเป็นต้องเรียนหนังสือและเตรียมตัวสอบวิชาสุดท้ายในระดับปริญญาตรี คำสั่งศาลนี้จึงทำให้เขาถูกควบคุมตัวเรื่อยมา ทั้งในชั้นฝากขังและระหว่างพิจารณาคดีหลังอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 9 ก.พ. 60 

เมื่อถึงวันสืบพยาน ศาลยังมีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับ ไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์ อันขัดกับหลักพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ต่อมา ช่วงเช้าของวันที่ 15 ส.ค. 60 แม่ของจตุภัทร์ขอคุยกับจตุภัทร์เป็นการส่วนตัว ก่อนที่เขาจะกลับคำให้การเป็นรับสารภาพทั้งน้ำตา แม้ใจต้องการจะต่อสู้ แต่การถูกดำเนินคดีและการถูกจองจำมาเกือบ 8 เดือน โดยเห็นได้ชัดว่าไม่ได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมนั้น สร้างปัญหาอันซับซ้อนในชีวิตของไผ่และครอบครัว

หลังเขารับสารภาพ ศาลอ่านคำพิพากษาในช่วงบ่ายทันที และตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี  จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยศาลอ่านคำพิพากษาลับ ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าร่วม ทั้งยังไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยหรือประเด็นแห่งคดีแต่อย่างใด 

ปี 62 จตุภัทร์ถึงได้รับการปล่อยตัว หลังถูกคุมขังทั้งหมด 2 ปี 4 เดือน 20 วัน ระหว่างการคุมขัง ทำให้เขาต้องสอบวิชาสุดท้ายในเรือนจำ ไม่ได้รับปริญญาพร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่น และเสียโอกาสในชีวิตอีกหลายอย่าง

คดีของจตุภัทร์มีประเด็นการละเมิดสิทธิหลายแง่มุม ตามความเห็นของคณะการทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ เช่น การเพิกถอนประกันตัวจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อาจถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกที่เกินสัดส่วน ทั้งยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดี ทำให้ไม่ได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม 

อีกทั้ง กรณีนี้ยังแสดงให้เห็นว่าการจองจำระหว่างพิจารณาคดีอาจบีบบังคับให้จำเลยต้องกลับคำให้การ รับสารภาพ ดังที่ไผ่เคยให้สัมภาษณ์ว่า 

“มันมีชุดประสบการณ์หนึ่ง คำอธิบายหนึ่ง ที่ผมคิดว่ามันเฉียบดี มันเกิดจากประสบการณ์ตรงของเพื่อนพี่น้องผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหลาย คือ ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน รับสารภาพติดพอประมาณ’ คือคนที่สู้คดี มันติดอยู่แล้วล่ะ ระหว่างสู้คดี แล้วมันนานไง แล้วถ้าคุณแพ้ คุณติดโทษเต็มๆ เลย ยิ่งนาน แต่ถ้าเลือกรับสารภาพ มันลดกึ่งหนึ่ง เทียบกับสู้ต่อไป แต่ติดไปอีกปีสองปี ก็เลยต้องเลือกรับสารภาพกันให้ได้ออกเร็วกว่า แม้จะไม่ได้กระทำความผิดจริงๆ ก็ตาม”

>> ฐานข้อมูลคดีนี้ https://database.tlhr2014.com/public/case/248/lawsuit/37/

>> อ่านเรื่องราวของไผ่ ดาวดินกับการจองจำ 2 ปี 4 เดือน https://tlhr2014.com/archives/12835

“เธียรสุธรรม” ถูกจำคุก 25 ปี หลังรับโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง-วิจารณ์ คสช. 

ช่วงสิ้นปี 57 เธียรสุธรรม (สงวนนามสกุล) พร้อมภรรยา ถูกเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวในบ้านพัก เพื่อนำตัวมาสอบปากคำที่ มทบ.11 โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าร่วม ก่อนที่ผู้บังคับกองร้อย กองบังคับการกองพันทหารราบ มทบ.11 จะส่งตัวเขาให้กับเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ควบคุมตัวตามหมายจับของศาลทหาร ข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโพสต์ 5 ข้อความในเฟซบุ๊กชื่อ ‘ใหญ่ แดงเดือด’ วิจารณ์หลักเศรษฐกิจพอเพียง และการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของ คสช. 

ขณะนั้น เธียรสุธรรมกำลังสร้างธุรกิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงครอบครัว พร้อมลูก 2 คนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา แต่แผนชีวิตของเขาต้องหยุดชะงัก เมื่อไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและระหว่างพิจารณาคดี ทำให้เขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำจนศาลตัดสินพิพากษาลงโทษกระทงละ 10 ปี ทั้งหมด 5 กระทง รวม 50 ปี เนื่องจากเขารับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ศาลจึงลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 25 ปี ถือเป็นคดีแรกที่ศาลทหารมีการลงโทษจำคุกสูงถึง 50 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และมีผลให้คดีถึงที่สุดโดยจำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา เนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีในศาลทหารขณะมีประกาศกฎอัยการศึก 

แม้เธียรสุธรรมจะรับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่ขณะที่เขาถูกสอบสวน เขาไม่ได้รับสิทธิให้เข้าถึงทนายความ คดีของเขาถูกพิจารณาบนศาลทหาร ทั้งยังไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและระหว่างพิจารณาคดี แม้มีการยื่นประกันตัวถึง 6 ครั้ง จึงถือว่าเขาไม่ได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรม โดยคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการให้ความเห็นว่า การจำคุกครั้งนี้เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่ไม่จำเป็นและเหมาะสม ตามข้อ 19 (3) ของ ICCPR ที่กำหนดเป็นข้อยกเว้นให้สามารถจำกัดเสรีภาพการแสดงออกได้ และยังชี้ว่า ถ้าหากการโพสต์ข้อความเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลก็ควรดำเนินคดีในทางแพ่งมากกว่าเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งเพียงพอสำหรับการปกป้องสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

หลังถูกคุมขังมาถึง 4 ปี เธียรสุธรรมถึงได้รับการปล่อยตัว แต่ในช่วงเวลา 4 ปีที่เธียรสุธรรมเสียอิสรภาพให้กับเรือนจำ ภรรยาต้องขายบ้านที่เคยอยู่ เพื่อนำมาใช้ดำรงชีพต่อไป

>> ฐานข้อมูลคดีนี้ https://database.tlhr2014.com/public/case/515/

>> เปิดใจภรรยา ‘ใหญ่ แดงเดือด’ ผู้ต้องขัง 112 โทษสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยสำนักข่าวประชาไท https://prachatai.com/journal/2015/06/59682

“ศศิพิมล” รับสารภาพ จำคุก 28 ปี ศาลเคยไม่ให้ประกัน แม้เจ้าตัวยืนยันไม่ใช่ผู้โพสต์ 7 ข้อความในเฟซบุ๊ก 

ศศิพิมล เป็นพนักงานโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ และแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกสาวสองคน วัย 9 ปี และ 6 ปี (ขณะเกิดเหตุ) เมื่อช่วงเช้าวันหนึ่งในเดือนกันยายน ปี 2557 เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นบ้านตามหมายค้นและถูกนำตัวมาสอบสวนที่ สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ โดยเจ้าหน้าที่นำคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง และมือถือ 1 เครื่องไปตรวจสอบ พร้อมกับนำรูปภาพโพสต์เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” มาให้เธอยืนยันว่าเป็นผู้โพสต์หรือไม่

แม้เธอจะยืนยันว่าไม่ใช่ผู้โพสต์ แต่พนักงานสอบสวนหว่านล้อมให้รับสารภาพ อ้างว่าเป็นโทษไม่ร้ายแรง เรื่องจะจบไป และจะได้รับการปล่อยตัว ประกอบกับหัวหน้างานโทรมาตามให้เธอรีบไปทำงานและลูกที่ไม่สบาย ทำให้เธอรับสารภาพไปตามที่พนักงานสอบสวนบอก หวังให้เรื่องจบ จะได้ไปทำภารกิจของตัวเองต่อ  โดยไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วย แต่อีก 5 เดือนถัดมา เจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ให้ศศิพิมลเข้าไปเซ็นเอกสารที่โรงพัก เมื่อไปถึงเธอกลับถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 จากการโพสต์ 6 ข้อความในเฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” 

ในวันเดียวกัน เธอถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหาร โดยไม่ได้เตรียมตัวใดๆ มาก่อนล่วงหน้า แม่ของเธอรีบเดินทางตามไปเช่าหลักทรัพย์ เพื่อยื่นประกันตัวด้วยเงิน 400,000 บาท อย่างไรก็ตาม ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัว และแม้แม่จะยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีก 2 ครั้ง โดยเช่าหลักทรัพย์ยื่นประกันตัวถึง 4.5 แสนบาท ศาลก็คงไม่ให้ประกันตัวเช่นเดิม ทั้งตำรวจยังแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากการโพสต์เฟซบุ๊กอีก 1 ข้อความ

ศศิพิมลถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่จนครบ 7 ผัด ก่อนที่อัยการทหารจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ในวันครบกำหนดฝากขังผัดสุดท้าย ในชั้นศาล ช่วงแรกศศิพิมลต้องการให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีหลังปรึกษากับทนายความ ทว่า ในเวลาต่อมา เธอตัดสินใจกลับคำให้การและรับสารภาพ หลังปรึกษากับทนายอีกครั้งก่อนเริ่มสืบพยาน และเห็นแม่ของเธอต้องดำเนินเรื่องต่างๆ ขณะที่เธออยู่ในเรือนจำ 

ในวันที่เธอรับสารภาพนั้นเอง ศาลทหารก็มีคำพิพากษาทันทีในวันเดียวกัน ลงโทษจำคุก 56 ปี ลดโทษครึ่งหนึ่งจากเหตุที่จำเลยรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา คงเหลือโทษจำคุก 28 ปี  

กรณีศศิพิมลเป็นอีกกรณีที่ชี้ชัดว่า การไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยคดีมาตรา 112 ทั้งในชั้นสอบสวนและระหว่างพิจารณาคดีนั้นบีบบังคับให้ผู้ต้องหาต้องยอมรับสารภาพ ไม่ต่อสู้คดี แม้อาจมีโอกาสสู้คดี แต่น้อยคนนักที่จะยอมเสียเวลาในชีวิต โดยทิ้งภาระเบื้องหลังไว้ให้คนในครอบครัว แลกกับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน

“สิรภพ” ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเกือบ 5 ปี หลังยืนยันต่อสู้คดี 112 

ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในยุค คสช. “สิรภพ” หรือที่รู้จักกันในนามปากกาบนโลกออนไลน์ว่า “รุ่งศิลา” เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ยืนยันให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี จากการถูกกล่าวหาว่า บทกลอน ภาพ และข้อความ รวม 3 โพสต์ ที่เผยแพร่บนเว็บบอร์ดประชาไทและเว็บส่วนตัวในปี 2552, 2556 และ 2557 มีเจตนาสื่อถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 9 ชี้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทางการเมือง และการรัฐประหาร 

สิรภพถูกเจ้าหน้าที่ บก.ปอท. เข้าจับกุมในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังถูกควบคุมตัวไปในค่ายทหารเป็นเวลา 7 วัน และถูกนำตัวไปดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช.  

เขายืนยันให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดี แม้คดีของเขาต้องถูกพิจารณาในศาลทหารที่กระบวนการเป็นไปอย่างล่าช้า โดยในระยะเวลา 5 ปีของการพิจารณาคดี  ศาลทหารสืบพยานโจทก์ไปได้เพียง 4 ปาก และยังมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ แม้แต่ครอบครัวของสิรภพก็ไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ 

นอกจากนี้ ศาลทหารยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว หลังยื่นประกันทั้งหมด 7 ครั้ง ในวงเงินสูงสุด 500,000 บาท เขาใช้ชีวิตในเรือนจำเป็นเวลาทั้งหมด 4 ปี 11 เดือน นับเป็นจำเลยคดี ม. 112 ในยุค คสช.ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาที่ยาวนานที่สุด  

ต่อมา ศาลทหารให้ประกันในวงเงิน 500,000 บาท หลังคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ลงความเห็นว่ากรณีการคุมขังสิรภพเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวสิรภพโดยทันที

>> ดูฐานข้อมูลคดีนี้ https://database.tlhr2014.com/public/case/580/
>> อ่านเหตุผลที่สิรภพตัดสินใจสู้คดีม.112 แม้ต้องแลกอิสรภาพในชีวิตให้กับเรือนจำเกือบ 5 ปี https://tlhr2014.com/archives/25137
>> อ่านคำเบิกความพยานคดี 112 “สิรภพ” การช่วงชิงความหมายของภาพและข้อความ สื่อว่า ร.9 ก่อความวุ่นวาย-อยู่เบื้องหลังรัฐประหารหรือไม่ https://tlhr2014.com/archives/26121

จำเลยมาตรา 112 กับสิทธิการได้รับพิจารณาคดีที่เป็นธรรมที่หายไป

นอกเหนือจากคดีที่ยกมานี้ ยังมีอีกหลายกรณีที่จำเลยมาตรา 112 ไม่ได้รับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ไม่ได้รับการประกันตัว ไม่ได้รับการพิจารณาคดีที่รวดเร็ว ซึ่งกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้จำเลยคดี 112 ต้องรับสารภาพ แลกโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์กับการร่นระยะเวลาในเรือนจำ

ทั้งนี้ ในงานเสวนา “คำพิพากษาศาล” เมื่อปี 2560 สาวตรี สุขศรี อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้ความเห็นในคดีมาตรา 112 ของ “ไผ่ ดาวดิน” ว่า การไม่ได้ประกันตัวในคดี 112 ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการต่อสู้คดี เพราะไม่สามารถออกไปหาพยานหลักฐานภายนอกได้ รวมทั้งไม่ได้ปรึกษาทนายอย่างเป็นการส่วนตัว ทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดี 112 ส่วนใหญ่ ถูกบังคับโดยอ้อมให้รับสารภาพ ซึ่งความเห็นนี้ยังสอดคล้องกับสภาวะที่จำเลย 112 คนอื่นๆ ต้องเผชิญ

แม้คดีมาตรา 112 ของ 4 ราษฎรจะเกิดขึ้นหลังยุค คสช. แต่มาตรการการดำเนินคดีหลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาลกลับเหมือนเรื่องเล่าซ้ำเดิมที่พยายามจำกัดสิทธิของจำเลย จนกว่าพวกเขาจะยอมศิโรราบให้กับคำรับสารภาพ แม้พวกเขายังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าผิดจริง 

>> อ่านความเห็นสิทธิได้รับการประกันตัวในคดี 112 จากงานเสวนา ‘คำพิพากษาศาล’ เมื่อปี 2560 https://prachatai.com/journal/2017/03/70652

X