ยื่นประกันตัว “ไผ่-แบงค์-สมยศ” ครั้งที่ 6 ศาลสั่งไต่สวนคำร้องก่อนนัดฟังคำสั่ง 9 เม.ย. นี้ 

5 เม.ย. 64 เวลา 10.30 น. ทนายความพร้อมนายประกัน ได้เดินทางมายังศาลอาญา รัชดา เพื่อยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม จำเลยมาตรา 112 ในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมาเป็นเวลา 56 วันแล้ว สำหรับสมยศและปติวัฒน์ ส่วนจตุภัทร์ถูกขังมา 29 วัน โดยศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หลังการยื่นคำร้องศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนในเวลา 15.30 น. 

การยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ นับเป็นการยื่นครั้งที่ 6 ของสมยศและปติวัฒน์ และครั้งที่ 4 ของจตุภัทร์ โดยใช้เงินสดเป็นหลักทรัพย์ประกันคนละ 100,000 บาท และมีประเด็นสำคัญในคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 64 ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานของคู่ความในคดีนี้ โดยในวันดังกล่าว จำเลยทั้งสามได้แถลงว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จำเลยทั้งสามจะยอมรับเงื่อนไขที่ศาลกำหนด โดยศาลได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 29 มี.ค. 64 และศาลได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าจะแจ้งเงื่อนไขดังกล่าวให้กับศาลที่มีอำนาจในการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทราบว่าเป็นเหตุสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวได้หรือไม่ 

กรณีดังกล่าวจำเลยเห็นว่าเป็นกรณีสำคัญที่อาจทำให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยได้ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามกฎหมายให้จำเลยปฏิบัติตาม จำเลยยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลไว้


คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวของจตุภัทร์ ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า 

  1. การใช้เงินสดเป็นหลักประกันจำนวน 100,000 บาท เป็นเงินจำนวนที่สูงอันเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือได้ว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี
  2. คดีนี้ทนายความจำเลยได้ตรวจสำนวนคดีแล้วพบว่ามีพยานเอกสารเป็นจำนวนมาก การที่จำเลยถูกขังไว้ระหว่างพิจารณาคดีทำให้จำเลยไม่สามารถอ่านเอกสารซึ่งเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ อันเป็นอุปสรรคในการต่อสู้คดีของจำเลยทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายคุ้มครองไว้
  3. จำเลยเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกมาโดยตลอด ไม่เคยหลบหนี และเดินทางมาพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัดทุกนัด จำเลยยืนยันความในความบริสุทธิ์พร้อมจะต่อสู้คดีตามกฎหมายไม่เคยคิดจะหลบหนี 
  4. จำเลยถูกคุมขังไว้ตามหมายขังของศาลมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทว่าก็ไม่ปรากฏว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะแตกต่างไปจากก่อนหน้าที่จำเลยถูกคุมขังไว้ กรณีจึงเชื่อได้ว่าการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยไปก็ไม่ส่งผลใด ๆ ต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
  5. จำเลยเป็นนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล การคุมขังจำเลยไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของจำเลย ซึ่งยังไม่ได้ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด โดยไม่อาจเยียวยาด้วยหนทางอื่นได้ 
  6. หลักประกันสิทธิอันสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือ การที่ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้ถูกรับรองไว้อย่างชัดเจนในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญไทย ตลอดจนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยในมาตรา 107 และ 108/1 ระบุไว้ว่า “จำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” แสดงให้เห็นว่าการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นโดยหลักทำไม่ได้ 
  7. จำเลยเป็นเพียงบุคคลที่ถูกโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้นยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิด การถูกฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เหตุผลที่จำเลยจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี เพราะจำเลยเชื่อมั่นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ทั้งนี้ ในคดีข้อหาทางการเมืองคดีอื่น แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ก็ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อันถือเป็นแนวบรรทัดฐานที่ดีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญา 
  8. การใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือการใช้เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นเครื่องมือแสดงออกซึ่งเจตจำนงอย่างเสรีของพลเมือง ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย
  9. ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเดือดร้อน ประชาชนได้รับความทุกข์ยากลำบากทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ ระบบกฎหมายพังทลายลง ไร้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม คงมีเพียงอำนาจศาลเท่านั้นที่จะเป็นเสาหลักอันสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ช่วยสร้างหลักประกันสิทธิและฟื้นฟูให้ระบบกฎหมาย หลักนิติรัฐ นิติธรรม กลับคืนสู่ประเทศโดยเร็ว 

สำหรับคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวของสมยศ ระบุเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 

  1. จำเลยมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง และยังมีอายุมากแล้ว หากไม่หากไม่ได้รับการประกันตัวย่อมทำให้จำเลยและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง 
  2. แม้ว่าเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งคำร้องโดยมีการให้เหตุผลที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยว่า “การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยที่ 3  ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน”
    การให้เหตุผลของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่ามีความสอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์เพียงใด เพราะเท่ากับศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามที่ถูกฟ้องไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่า 1. จำเลยทำจริงหรือไม่ 2. การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ และ 3.จำเลยมีอำนาจกระทำตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อยังไม่ได้มีการพิจารณาสืบพยานจนสิ้นข้อสงสัย การวินิจฉัยการกระทำของจำเลยไปล่วงหน้าและนำมาเป็นเหตุผลในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงขัดต่อหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ขัดแย้งกับพันธกรณีที่ไทยมีต่อนานาประเทศ รัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันล้วนแต่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ในการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์, สมยศ และหมอลำแบงค์ แถลงยืนยันว่า จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล โดยนายประกันของทั้งสาม ได้แก่ พริ้ม บุญภัทรรักษา และชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงรับรองว่า จะดูแลจำเลยทั้งสามให้ปฏิบัติเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล หากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

อัยการแถลงว่า เนื่องจากมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นใหม่ จำเลยทั้งสามมีผู้รับรองคอยดูแลให้ปฏิบัติตามสัญญาที่แถลงไว้ต่อศาล โจทก์จึงไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้เป็นดุลยพินิจของศาล

ศาลนัดฟังคําสั่งว่าจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสามหรือไม่ในวันที่ 9 เม.ย. 64 เวลา 11.00 น. 

คดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีและตกเป็นจำเลยทั้งสิ้น 22 คน ในหลายข้อหา โดยมี 7 คน ถูกฟ้องในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ซึ่งทั้งหมดไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แม้ยื่นประกันมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันด้วย นอกจากสมยศและปติวัฒน์ อานนท์ นำภา และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ก็ถูกขังมาเกือบ 2 เดือนแล้ว ขณะที่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกขังมาเกือบ 1 เดือน ปัจจุบันพริษฐ์ อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวมากว่า 20 วัน และปนัสยาอดอาหารมาแล้ว 1 สัปดาห์   

ส่วนอีก 15 คน ถูกฟ้องในฐานความผิด ยุยงปลุกปั่น และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 เป็นหลัก ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว

อ่านเนื้อหาและความคืบหน้าคดีที่>> ชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ถูกดำเนินคดี ม.112, 116, 215

 

X