ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอปล่อยตัว “4 ราษฎร” เป็นครั้งที่ 2 อ้างไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม


27 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 10.15 น. ศาลอาญา รัชดาฯ อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 26 ก.พ. 2564 ไม่อนุญาตให้
ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี 4 นักกิจกรรม “ราษฎร” “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และ #ม็อบ14พฤศจิกา หรือ MobFest 

คำสั่งศาลอุทธรณ์ในทั้ง 2 คดี ระบุเหตุผลเหมือนกันว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณามาแล้ว อีกทั้งเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว”

คำสั่งศาลอุทธรณ์ 2 ฉบับนี้ มีขึ้นในวันเดียวกับที่ทนายความเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอาญาทั้งสองคดี ในเวลาประมาณ 13.30 น. ของวันที่ 26 ก.พ. 2564 กรณีศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้งสี่ หลังทนายความยื่นประกันตัวเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา  

     >> ศาลชั้นต้นไม่ให้ประกัน 4 ราษฎร หลังยื่นประกันครั้งที่ 3 ด้วยเงินสดคนละ 400,000 บาท

คำสั่งศาลอุทธรณ์ 2 ฉบับนี้ ยังมีขึ้นหลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัว 8 แกนนำ กปปส. ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 จำคุก 4 ปี 8 เดือน – 9 ปี 24 เดือน กรณีชุมนุมล้มการเลือกตั้ง ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ยึดสถานที่ราชการ เพื่อขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2556 ระบุว่าพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วจำเลยเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นมาก่อน ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไม่มาศาลตามกำหนดนัด แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่โทษจำคุกสำหรับความผิดในแต่ละกระทงก็ไม่สูงนัก อีกทั้งจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ตีราคาประกัน 800,000 บาท และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น” 

การยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน 4 นักกิจกรรม ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอาญา ลงวันที่ 9 ก.พ. 2564 

     >> อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันอานนท์-เพนกวิน-แบงค์-สมยศ ชี้ขัดหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุด

     >> ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน 4 แกนนำราษฎร ชี้ปราศรัยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ แม้ยังไม่มีคำพิพากษา

คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน “4 ราษฎร” หลังศาลอุทธรณ์ให้ประกัน 8 แกนนำ กปปส. ชี้เป็นแนวบรรทัดฐานที่ดีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพจำเลย 

คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาลอาญา ฉบับลงวันที่ 22 ก.พ. 2564 พริษฐ์, อานนท์, ปติวัฒน์ และสมยศ  ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันจำเลยทั้งสี่ เพื่อให้จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรม โดยให้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยประกอบการพิจารณาด้วย ระบุเหตุผลโดยสรุปดังนี้

1. เหตุที่ถูกฟ้องคดีนี้  จำเลยทั้งสี่กระทำโดยเปิดเผยและเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยสงบสันติและปราศจากอาวุธตามที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  จำเลยทั้งสี่แสดงความคิดอย่างบริสุทธิ์ใจเพื่อให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นไปตามหลักการพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  การกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่ถูกฟ้องในคดีนี้ไม่ใช่การกระทำที่เป็นความผิดโดยตัวเอง    เพียงการพูดความคิดเห็นโดยมีเหตุผลประกอบย่อมไม่อาจจะตีความว่าเป็นการก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้

โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าการกล่าวแสดงความคิดเห็นของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องของโจทก์เป็นดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ อย่างไร  และที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาทำลายสถาบันกษัตริย์นั้นไม่เป็นดังที่โจทก์ฟ้องอย่างยิ่ง  จำเลยทั้งสี่จึงขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ประกอบการพิจารณาคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวของจำเลยทั้งสี่ด้วย  

นอกจากนี้ หลังจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกดำเนินคดีนี้ ก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีใด ๆ อีก ดังนั้นที่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ากรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ จะไปก่อเหตุเช่นเดียวกับที่ถูกฟ้องอีก จึงคลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริง

2. หลักประกันของจำเลยทั้งสี่ในคราวนี้ เป็นเงินจำนวนที่สูงถึงคนละ 400,000 บาท ซึ่งสูงกว่าการขอประกันในครั้งก่อน  อีกทั้ง นายประกันซึ่งได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้งสี่ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ และอาจารย์พนัส  ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ โดยนายประกันทั้งสองเป็นอดีตอาจารย์และข้าราชการระดับสูง เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือและได้รับความยอมรับนับถือในสังคม จึงประกอบเป็นเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไม่หลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น และการปล่อยตัวไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณา

3. หากจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวย่อมจะเดือดร้อนอย่างยิ่งและทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลยทั้งสี่ กล่าวคือ

พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทำรายงานต่าง ๆ และเข้าสอบให้ครบตามกำหนดหลักสูตรของมหาวิทยาลัย หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็จะไม่สามารถไปศึกษาต่อตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้ อันจะทำให้ผู้ร้องไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางการศึกษาและอนาคตทางการศึกษาของจำเลยอย่างร้ายแรง  ประกอบกับจำเลยมีโรคประจำตัวป่วยเป็นโรคหอบหืด การถูกขังไว้ในเรือนจำซึ่งแออัดอาจทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น และอาจทำให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

อานนท์ นำภา ประกอบวิชาชีพทนายความ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องเดินทางมาศาลเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง มีภาระหน้าที่จะต้องรับผิดชอบว่าความหรือให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายในคดีสิทธิมนุษยชนหลายคดี และตลอดทั้งเดือนมีนาคม 2564 ก็จะต้องทำหน้าที่ทนายความจำเลยในศาลอาญา หากจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวย่อมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทนายความได้ และอาจจะกระทบต่อสิทธิของจำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีนั้น ๆ ด้วย 

ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้มประกอบอาชีพเป็นหมอลำ มีภาระหน้าที่ต้องหาเลี้ยงชีพและเลี้ยงดูครอบครัว หากไม่ได้รับการประกันตัวย่อมทำให้จำเลยและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง

สมยศ พฤกษเกษมสุข ประกอบอาชีพรับจ้าง มีภาระหน้าที่ต้องหาเลี้ยงชีพและเลี้ยงดูครอบครัว และยังมีอายุมากแล้ว หากไม่ได้รับการประกันตัวย่อมทำให้จำเลยและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง

4. จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี หรือไม่มาตามกำหนดนัด กล่าวคือ ในคดีนี้แม้จำเลยจะเคยถูกจับกุมตามหมายจับ แต่ก็เป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่เคยออกหมายเรียกจำเลยมาก่อน และเป็นการจับกุมในความผิดอื่นไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อมาเมื่อพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกจำเลยมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามมาตรา 112 จำเลยทั้งสี่ได้ไปพบพนักงานสอบสวน และปฏิบัติตามนัดของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทุกนัด แม้แต่ในวันนัดส่งตัวฟ้องคดีนี้ และโจทก์ก็ไม่คัดค้านการประกันตัวแต่อย่างใด

สำหรับคดีความผิดลักษณะเดียวกันนี้ พริษฐ์เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2563 ในคดีของศาลอาญา และเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลจังหวัดธัญบุรี จำเลยก็ไม่เคยหลบหนีแต่อย่างใด 

อานนท์เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 8 และ 20 ส.ค. 2563 ในคดีของศาลอาญา และศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ได้เคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีของศาลจังหวัดเชียงใหม่ จำเลยก็เดินทางไปศาลในทุกคดีตามกำหนดโดยตลอดไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเป็นหลักประกันอีกชั้นหนึ่งว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยจะไม่หลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นใดอีก

5. หลักประกันสิทธิอันสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาคือการที่ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองไว้อย่างชัดเจน ซึ่งกติกาดังกล่าวเป็นหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศฉบับที่สำคัญที่สุด และไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2539 สิทธิดังกล่าวยังได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรค 2 และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227

สิทธิที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์มีขึ้นเพราะกฎหมายอาญาเป็นดาบสองคมที่รัฐอาจใช้ได้ทั้งเพื่อจัดการผู้กระทำความผิด และทิ่มแทงประชาชนผู้บริสุทธิ์  ซึ่งรวมทั้งประชาชนที่ใช้สิทธิตามกฎหมายไปในทางที่ขัดแย้งกับรัฐบาล ดังนั้น ศาลในฐานะหนึ่งในเสาหลักแห่งอำนาจอธิปไตยจึงต้องเป็นผู้คุ้มครองสิทธิของประชาชน  ซึ่งรวมถึงประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดอาญาอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิโดยอำนาจรัฐ 

การควบคุมตัวจำเลยทั้งสี่ระหว่างการพิจารณาคดีจะต้องกระทำโดยได้สัดส่วนและด้วยความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น ทั้งนี้ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 และ 108/1 “จำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” โดย “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อ” เหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้  บทบัญญัติกฎหมายนี้แสดงให้เห็นว่าการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นโดยหลักทำไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุผลตามที่มาตรา 108/1 กำหนด อันได้แก่การหลบหนี การไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน การไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือพิจารณาคดี 

จำเลยทั้งสี่เป็นเพียงบุคคลที่ถูกโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้นยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิด การที่ศาลให้เหตุผลว่าหากจำเลยทั้งสี่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว  จะกระทำในลักษณะที่ถูกฟ้องในคดีนี้อีก เป็นการตีความโดยคลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย กล่าวคือ การกระทำในลักษณะที่ถูกฟ้องคดีนี้ไม่ใช่การกระทำที่จะก่อให้เกิดอันตรายประการอื่นแต่อย่างใด  

อีกทั้งในคดีข้อหาทางการเมืองคดีอื่น แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ก็ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อันถือเป็นแนวบรรทัดฐานที่ดีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญา

6. การใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือการใช้เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นเครื่องมือแสดงออกซึ่งเจตจำนงอย่างเสรีของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อเป็นเครื่องสะท้อนและกระตุ้นเตือน “รัฐบาล” ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนให้มากที่สุด และเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน  เสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการชุมนุม จึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญซึ่งในทางสากลให้การยอมรับ ดังนั้นแล้วประชาชนทั่วไปจึงสามารถใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย

จำเลยทั้งสี่เป็นผู้เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และหลักสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่ประชาชนได้รับความทุกข์ยากลำบากทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกหย่อมหญ้าเช่นนี้ ก็คงมีเพียงอำนาจศาลเท่านั้น ที่จะช่วยถ่วงดุล ตรวจสอบ คานอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมิให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเป็นเสาหลักอันสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ช่วยสร้างหลักประกันสิทธิและฟื้นฟูให้ระบบกฎหมาย หลักนิติรัฐ นิติธรรม กลับคืนสู่ประเทศโดยเร็ว 

จำเลยขอให้คำมั่นว่าจำเลยจะไม่หลบหนี และจะปฏิบัติตามนัดของศาลโดยเคร่งครัด หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยทั้งสี่จะต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเท่าใด ขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดกำหนดวงเงินหลักประกันตามควรแก่กรณี และจำเลยทั้งสี่ยินดีวางหลักประกันตามวงเงินที่ศาลเรียกต่อไป

 

X